Skip to main content
sharethis

กว่า 3 ปีที่เมียนมาตกอยู่ภายใต้ความมืดมิดของเงารัฐประหาร และสงครามกลาางเมือง คนพม่า ‘ต้อง’ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น แต่เหตุผลหลักไม่ได้เพื่อการรักษ์โลก แต่เพื่อ 'ความอยู่รอด'

 

หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 มาเปย์เปย์* (นามสมมติ) กำลังเรียน ป.ตรีวิศวะไฟฟ้าเป็นปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยในประเทศเมียนมา เด็กสาวเชื่อว่าเธอจะได้ทำงานที่มั่นคงหลังเรียนจบ ภาคส่วนพลังงานในประเทศช่วงที่ผ่านมากำลังเติบโตก้าวหน้า แม้ว่าจะมีผู้หญิงทำงานในวงการนี้น้อย เพราะตำแหน่งงานมักเปิดรับแต่ผู้ชาย ด้วยความคาดหวังว่าจะเดินทางทำงานตามต่างจังหวัดที่กำลังสร้างสายส่งและโรงไฟฟ้าสะดวกกว่า

สาวชาวพม่าเชื่อว่าเธอจะทำได้ดีไม่แพ้กันผู้ชายคนไหน ยิ่งครอบครัวเชียร์ให้เรียนต่อในเส้นทางอาชีพนี้ที่ดูจะรุ่งเรืองพร้อมๆ กับอนาคตความรุ่งโรจน์ของภาคพลังงานในเมียนมา

"ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้น คิดว่าประเทศเราจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าและขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ" มาเปย์เปย์ นึกย้อน "แต่พอเกิดรัฐประหาร ความหวังก็แตกกระจาย" 

พัฒนาการถอยหลังของความมั่นคงด้านพลังงาน

ปัจจุบัน ประเทศเมียนมามีอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทห่างไกล ช่วงปี 2560 ซึ่งเมียนมากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ เมียนมาได้พัฒนาด้านพลังงานเป็นอย่างมาก การเข้าถึงไฟฟ้าของครัวเรือนจาก 39 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 เพิ่มเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารนำโดยพลเอก มินอ่องหลาย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ตอนกุมภาพันธ์​ 2564 ทำให้การพัฒนาดังกล่าวหยุดชะงัก ภาคส่วนพลังงานได้รับผลกระทบอย่างมาก เกิดภาวะไฟดับทั่วประเทศ

มาเปย์เปย์​ และนักเรียนนักศึกษาอีกมากมายปฏิเสธที่จะเรียนในระบบการศึกษาของคณะรัฐประหาร เธอจึงหนีจากเมืองไปอาศัยอยู่รัฐกะเรนนี ทางตะวันออกของประเทศติดกับชายแดนแม่ฮ่องสอน ซึ่งกองกำลังติดอาวุธปฏิปักษ์กองทัพพม่ามีอิทธิพลอยู่

3 ปีล่วงเลยมา หญิงสาวอายุ 24 ปีสลัดคราบนักศึกษาวิศวะฯ กลายเป็นนักข่าว เธอเชื่อว่าพลังของข่าวสารจะทำให้ผู้คนหูตาสว่างจากการปกครองของทหาร มาเปย์เปย์ อาศัยชาร์จแบตมือถือจากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อติดตามข่าวสารและรายงานเรื่องราวในพื้นที่สู่โลกภายนอก

"ที่รัฐกะเรนนีและพื้นที่ชนบทวันนี้ คนส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ และใช้เครื่องปั่นไฟดีเซลเสริมช่วงเวลาฝนตก แต่เรามีไฟพอใช้แค่ชาร์จอุปกรณ์​จำเป็น ผลิตไฟฟ้าได้ไม่พอใช้เปิดไฟกลางคืน ส่วนอาหารการกิน เราใช้ฟืนทำกับข้าว" อดีต นศ.วิศวะ เล่า

เมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งที่เคยมีไฟฟ้าให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ก็ประสบปัญหาไฟฟ้าดับ ณ วันของการรายงานข่าว คนในย่างกุ้งเจอภาวะไร้ไฟฟ้าให้บริการไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ข้อมูลจากธนาคารโลกเผยว่า กำลังผลิตไฟฟ้าเต็มกำลังผลิตในเมียนมาก่อนรัฐประหารอยู่ที่ 7,179 เมกะวัตต์​ (MW) ต่อวัน แต่ได้ตกฮวบเหลือเพียง 2,964 MW ช่วงปลายปี 2565

ธุรกิจรายย่อยและบ้านเรือนพากันพึ่งพาเครื่องปั่นไฟเชื้อเพลิงดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ​ ความต้องการเชื้อเพลิงที่มากขึ้น ทำให้ราคาดีเซลพุ่งขึ้นสูง พร้อมๆ กับปัจจัยค่าเงินจั๊ตอ่อนตัวรุนแรง ทำให้สินค้านำเข้ายิ่งถีบราคาขึ้น

ราคาเชื้อเพลิงดีเซลที่ปั๊มน้ำมันในย่างกุ้ง สิงหาคม 2567 แสดงให้เห็นว่าราคาสูงขึ้นสามเท่าก่อนรัฐประหาร เครดิต Visual Rebellion Myanmar

นอกจากปัญหาข้างต้น ยังเกิดการเก็งกำไรนำน้ำมันมาขายนอกปั๊ม "ถ้าซื้อน้ำมันนอกปั๊ม จะแพงกว่าอีก แถมยังได้ไม่ครบลิตร" คนขับรถมอเตอร์ไซค์พ่วงในย่างกุ้ง เล่าให้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นฟัง

ราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นกระทบกับการเดินทางในย่างกุ้ง ส่งผลรถเมล์ให้บริการไม่สม่ำเสมอและค่าแท็กซี่ราคาแพงขึ้น "เราต่อคิวรอที่ปั๊มน้ำมันนานมาก แต่ก็ไม่ได้เติม" คนขับรถแท็กซี่คนหนึ่งในย่านจีมยิ้นดาง (Kyee Myint Daing) ในนครย่างกุ้ง กล่าว เขาและคนขับรถคนอื่นๆ มักจะนอนในรถทั้งคืนเพื่อต่อคิวยาวหน้าปั๊มน้ำมัน เพื่อรอเชื้อเพลิงมาส่งแล้วเปิดขาย

การเปลี่ยนผ่านพลังงานแบบบังคับ

การล้มพังของภาคพลังงานเมียนมาหลังวิกฤตการเมืองเป็นผลพวงจากลักษณะผูกขาดการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ศูนย์กลาง​ หลังรัฐประหาร ประชาชนชาวพม่าพากันปฏิเสธไม่จ่ายบิลค่าไฟเพื่อแสดงการไม่ยอมรับคณะรัฐประหารที่สถาปนาเป็นรัฐบาล กระทรวงพลังงานไฟฟ้าของเมียนมารายงานว่า กลุ่มต่อต้านได้โจมตีโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟกว่า 229 ครั้งตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ถึงเมษายน 2566

การคว่ำบาตรโดยนักลงทุนต่างชาติยิ่งซ้ำเติมภาคส่วนพลังงาน ซึ่งพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ (56% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ) และการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ (41%) นักลงทุนต่างชาติทยอยถอนตัวจากโครงการด้านพลังงาน โดยอ้างการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดในประเทศ เมื่อสิงหาคมปี 2567 โรงไฟฟ้าสิงคโปร์ Sembcorp ที่ย่านมยินชาน (Myingyan) เมืองมัณฑะเลย์ ​ได้หยุดการผลิต โดยให้เหตุผลถึงการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จากการรายงานข่าว ยังไม่พบว่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและจีนหยุดดำเนินการ

เมื่อกรกฎาคม 2567 นักกิจกรรมชาวไทยกลุ่มพันธมิตรชานม (MTAT) ยื่นหนังสือถึง กมธ.ความมั่นคงฯ แสดงกังวลเรื่องการลงทุนพลังงานของไทยที่อาจเป็นท่อน้ำเลี้ยงกองทัพพม่า เครดิต 'Visual Rebellion Myanmar'

ขณะที่ผู้นำทั่วโลกกำลังถกเถียงกันเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูพลังงานทางเลือกด้วยเหตุผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศเมียนมาซึ่งตกอยู่ในความขัดแย้งได้ผลักให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานที่ผลิตในครัวเรือน (off-grid) ด้วยความจำเป็น ในพื้นที่ชายแดนอย่างรัฐกะเรนนีที่มาเปย์เปย์ อาศัยอยู่ แผงโซลาร์เซลล์กลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลัก โดยนำเข้าอุปกรณ์มาจากไทย แต่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังมีปัญหา

"ในตลาดโลก ราคาแผงโซลาร์เซลล์กำลังถูกลง แต่ในประเทศเรา ราคาโซลาร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ” มินมิน (นามสมมติ) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชาวพม่า อธิบาย ให้เหตุผลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย สงครามที่ยืดเยื้อและการขาดแคลนอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัย

ราคาอุปกรณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด (สิงหาคม 2567) จากการสำรวจราคาตลาดในเมืองย่างกุ้ง ชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พื้นฐานสำหรับชาร์จมือถือขนาดกำลังผลิต 9 โวลล์ 3.5 วัตต์ ซึ่งมาพร้อมช่องชาร์จ ขายในราคา 55,000 จั๊ต (894 บาท) และระบบแผงโซลาร์แบบ 7 แอมป์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมากขึ้น เพียงพอสำหรับชาร์จอุปกรณ์ปล่อยไวไฟมีราคา 200,000 จั๊ด (3,250 บาท) ส่วนระบบที่ประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถจ่ายไฟให้ทีวีและอุปกรณ์ทำอาหารได้นั้นราคาสูงถึงสี่ล้านจั๊ต (64,999 บาท)

ในพื้นที่ชนบท ราคาอุปกรณ์ยิ่งสูงกว่าในเมือง และร้านค้ามักจะขายอุปกรณ์โดยไม่ให้บริการช่วยติดตั้งหรือรับประกัน ขณะที่ในเขตที่การต่อสู้รุนแรงอย่างภูมิภาคสะกาย อุปกรณ์หายากกว่าพื้นที่ชายแดน นอกจากนี้ กองทัพมักยึดแผงโซลาร์เซลล์เวลาขนผ่านจุดตรวจ คนในพื้นที่จึงมักใช้เครื่องปั่นไฟ

นักวิชาการพลังงาน มินมิน เสริมว่า "การติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน ซึ่งอาจดูคล้ายอุปกรณ์สงครามในสายตากองทัพพม่า การขนส่งผ่านจุดตรวจจึงเสี่ยงมาก"

ก่อนหน้ารัฐประหาร หน้าฝนมักจะเป็นช่วงเดือนที่เมียนมาผลิตไฟฟ้าได้มากจากเขื่อน แต่วันนี้ ฝนกลับเป็นอุปสรรคให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นี้ยังไม่นับว่าการผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์นั้นไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ซึ่งการต่อสู้รุนแรง เพราะคนยังต้องเก็บข้าวของหนีบ่อยๆ

ครอบครัวในภูมิภาคสะกาย ตอนกลางประเทศเมียนมา เตรียมแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งเองที่บ้าน กุมภาพันธ์ 2566 เครดิต Visual Rebellion Myanmar

วิศวกรจำเป็น

แม้ว่าการพัฒนาพลังงานทางเลือกอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญลำดับแรกในประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม แต่ผู้คนกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มก็เห็นโอกาสสร้างสรรค์ในภาวะวิกฤตทับซ้อน

ที่ประเทศตะวันออกกลาง ผู้ลี้ภัยหญิงกว่า 500 คนจากประเทศซีเรียและประเทศในทวีปแอฟริกาได้เข้าร่วมอบรมทักษะวิศวกรรมไฟฟ้ากับองค์กรประชาสังคม IMECE ตั้งแต่ปี 2561

ที่ศูนย์ฝึกที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเขตอิซมิน (Izmir) ประเทศตุรกี  ผู้เข้าร่วมจะเข้าร่วมโครงการเป็นเวลา2 สัปดาห์ ช่วยกันประกอบพาวเวอร์แบงก์ขนาดพกพา ซึ่งมีความจุไฟฟ้าสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ 3ครั้ง พาวเวอร์แบงค์นี้จะส่งต่อไปตามค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนตุรกี เพื่อให้ผู้ลี้ภัยสามารถมีมือถือติดตัว ไว้เป็นไฟฉาย เครื่องมือนำทางและช่องทางติดต่อกับครอบครัว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2554 ประเทศตุรกีและเพื่อนบ้านประสบกับวิกฤตผู้ลี้ภัย หลังจากทางการซีเรียปราบปรามขบวนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้ความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยเลวร้ายลง ข้อมูลของ UNHCR เผยว่าตุรกีรองรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ลงทะเบียนกว่า 3.2 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยสัญชาติอื่นๆ กว่าอีก 222,000 คน

“หลายคนมักคิดว่าพลังงานเป็นไม่ใช่เรื่องสำคัญในวิกฤต เพราะผู้ลี้ภัยกังวลว่าจะมีข้าวมื้อต่อไปหรือเปล่ามากกว่า” บิลิงเค มาร์ตัน ผู้จัดการโครงการโซลาร์เอจ (Solar Age) จากองค์กร IMECE กล่าว เธอชี้ว่าแม้แต่ผู้หญิงที่เข้าร่วมอบรมกับโครงการกับองค์กรก็เชื่อเช่นนั้น “แต่พลังงานเป็นเรื่องสำคัญมากในวิกฤตมนุษยธรรม”

นอกจากโครงการโซลาร์เอจจะจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้ผู้ลี้ภัยแล้ว โครงการอบรมยังฝึกทักษะให้ผู้ลี้ภัยผู้หญิง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้พวกเธอใช้หางานต่อเมื่อย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่สามแล้ว “ผู้หญิงและเด็กได้รับผลกระทบมาจากวิกฤต โครงการตั้งใจจะสร้างความเป็นอิสระทางการเงินให้กับพวกเธอ” มาร์ตันเสริม

ในรัฐกะเรนนี มาเปย์เปย์ ใช้ความรู้ที่เคยเรียนเรื่องวิศวกรรมไฟฟ้ามาแนะนำคนรอบข้างเรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์และวิธีเลือกแบตเตอรี่ หญิงสาวย้ำว่ายังมีหลายเรื่องที่เธอไม่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วมาเรียนรู้หน้างาน

รถยนต์เข้าคิวเติมน้ำมันที่ปั้ม นครย่างกุ้ง เมื่อสิงหาคม 2567 เครดิต Visual Rebellion Myanmar

นักวิชาการพลังงาน มินมิน เองเชื่อคล้ายกันว่า การที่ผู้คนสามารถติดตั้งและผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เขามองว่าวันนี้คนพม่าส่วนมากรู้จักวิธีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยตันเองแล้ว แต่ยังขาดความเข้าใจวิธีการบำรุงรักษา รวมถึงวิธีติดตั้งให้ปลอดภัย เช่น ถ้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้วไม่เหลือพื้นที่ว่างให้อากาศวิ่งผ่าน อาจจะก่อให้เกิดความร้อนและไฟช็อตได้

"พลังงานแสงอาทิตย์และการผลิตพลังงานขนาดย่อยจะช่วยกระจายการผลิตไฟฟ้าของเมียนมาได้” มินมิน เล่าถึงความคาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพลังงานในเมียนมา “ถ้าแต่ละรัฐสามารถบริหารจัดการพลังงานเองได้ ผู้คนจะมีทางเลือกใช้ไฟฟ้ามากขึ้นวันที่ระบบกลางล่ม แถมครัวเรือนอาจจะสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้าด้วย”

ข่าวชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการการทำสื่อและงานภาพในประเด็นการทหาร สันติภาพและสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงโดย APWLD

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษทาง Visual Rebellion Myanmar

หมายเหตุ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเมื่อ 2 กันยายน 2567

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net