Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ ยืนจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ‘ปาฏิหาริย์’ พ่อลูกอ่อนอายุ 27 ปี คดีมาตรา 112-พ.ร.บ.คอมฯ ปมคอมเมนต์โพสต์เฟซบุ๊ก 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' แม้เจ้าตัวไม่ได้ไปศาล

 

20 ก.ย. 2567 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวานนี้ (19 ก.ย.) เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดี มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) ของ ‘ปาฏิหาริย์’ (สงวนนามสกุล) พ่อลูกอ่อนอายุ 27 ปี จากการแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊ก "Somsak Jeamteerasakul" เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 เมื่อ 12 พ.ค. 2564 โดยจำเลยไม่ได้มาศาล และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

ย้อนรอยคดีของปาฏิหาริย์

เมื่อ 27 ธ.ค. 2564 ปาฏิหาริย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากบ้านพัก ตามหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 15 พ.ย. 2564 นำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยอ้างว่าก่อนหน้านี้เคยส่งหมายเรียกมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ปาฏิหาริย์ไม่ได้ไปรายงานตัวตามหมายเรียก ปาฏิหาริย์ ยืนยันว่า หลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการมาติดหมายเรียกที่หน้าบ้านเขาอย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

ต่อมา เมื่อ 24 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สั่งฟ้องคดีต่อศาลและวันที่ 11 เม.ย. 2566 ก่อนเริ่มสืบพยานครั้งแรก ปาฏิหาริย์ แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงงดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนมีคำพิพากษา

เมื่อ 23 พ.ค. 2566 ศาลอาญา รัชดาฯ มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความร้ายแรงกระทบต่อประมุขของประเทศ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ใช่เหตุเพียงพอให้รอการลงโทษได้

ปาฏิหาริย์ ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี และได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ และก่อนหน้านี้ในนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในเดือน ส.ค. 2567 ปาฏิหาริย์ไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้เขาถูกออกหมายจับ และศาลนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันนี้ (19 ก.ย.)

พิพากษายืนไม่รอลงอาญา จำคุก 3 ปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์แล้วไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ศาลมองไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

วานนี้ (19 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณา 609 เวลา 9.00 น. โจทก์และจำเลยไม่ได้เดินทางมาห้องพิจารณา มีเพียงทนายจำเลย และผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การฟังคำพิพากษา

เวลา 09.15 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลส่งหมายนัดให้แก่จำเลยโดยชอบแล้ว การที่จำเลยไม่มาศาลถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี เมื่อศาลออกหมายจับเกิน 1 เดือนแล้ว ยังไม่สามารถจับตัวได้ เห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย และถือว่าจำเลยรับทราบคำพิพากษาแล้ว

ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยสรุป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์แสดงข้อความอาฆาตมาดร้ายซึ่งข้อความมีความรุนแรง บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าวได้ สร้างความเสื่อมเสียแก่พระมหากษัตริย์และสร้างความไม่สบายใจแก่ประชาชนที่พบเห็น เห็นสมควรว่าต้องกำราบปราบปรามจำเลยให้หลาบจำ

ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 25 ปี มีความนึกคิดรู้ผิดชอบชั่วดีไม่สามารถอ้างว่ากระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือทำไปโดยพลาดได้ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเป็นเสาหลักของครอบครัว มีลูกวัย 2 ปีเศษ และจำเลยได้กระทำความผิดเป็นครั้งแรกไม่ใช่เหตุเพียงพอให้รอการลงโทษได้

ในส่วนที่จำเลยได้มีการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นเพียงความสำนึกผิดส่วนหนึ่งของจำเลย ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ และศาลได้ออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมารับโทษ

นอกจากคดีของปาฏิหาริย์ ยังมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีก 3 คดี ที่พบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดี “นันท์” (นามสมมติ), คดี “ภู” (นามสมมติ) และคดี “ลักขณา” (นามสมมติ) ทั้งหมดถูกดำเนินคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 168 คดี จาก 306 คดี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net