Skip to main content
sharethis

แบงก์ชาติย้ำ กนง.ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด ชี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมีบ้างแต่ไม่มากขนาดนั้น โดยจะพิจารณาเพื่อดำเนินนโยบายจาก 3 ปัจจัยคือ แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และ ภาพรวมการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลก

20 ก.ย. 2567 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ระดับ 0.50% นั้นไม่ได้จำเป็นว่า ธปท. จะต้องลดตาม เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกับฮ่องกงหรือบางประเทศในตะวันออกกลาง ที่จะต้องลดดอกเบี้ยตามไปโดยปริยาย

เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 0.50% ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่น้อย ถึงกระนั้นตลาดก็สามารถคาดการณ์และรองรับได้ระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขนาดนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาระบบธนาคารเป็นหลัก

สำหรับการดำเนินนโยบายในด้านการเงินของไทย ธปท. ยังคงเน้นพิจารณาจาก 3 ปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่

  1. แนวโน้มเศรษฐกิจ
  2. อัตราเงินเฟ้อ
  3. ภาพรวมการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลก

เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่ ธปท. มี แต่ ธปท. ใช้เครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการทำงาน เป็นนโยบายแบบผสมผสาน โดยยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วย เช่น การลดภาระหนี้ของคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ผลมากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ การที่เฟดลดดอกเบี้ยแรงถึง 0.5% ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศได้ลดดอกเบี้ยตาม อย่าง อินโดนีเซีย ทางธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี โดยลด 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 6% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ลดก่อนที่เฟดจะประกาศเสียอีก และถือเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ ก.พ. 2564

ขณะที่ ช่อง TNN รายงานว่า ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ได้คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท.ก็จะยังไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ เหตุผลคือต้องรอดูภาวะฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ว่ามีความเป็นไปได้ที่ตัวเลข GDP จะชะลอมากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้หรือไม่ และผลกระทบของน้ำท่วมต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและภาคการเกษตรจะมีมากเท่าใดรวมถึง ธปท.จะต้องรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิดีสหรัฐฯ ว่าจะส่งผลต่อทิศทางนโยบายกีดกันการค้ามากเพียงไร

หลายฝ่ายเรียกร้องลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจ

ช่อง TNN รายงานว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องการให้มีการลดดอกเบี้ย โดย ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ถ้าหากว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ตามเฟด จะทำให้เกิดการสร้างดีมานด์ใหม่การซื้อที่อยู่อาศัยได้ในช่วงไตรมาส 4 ที่มีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่รอโอนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในนี้ก็มีตลาดต่างชาติด้วย เมื่อดอกเบี้ยลดลงก็จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง กระตุ้นให้ต่างชาติโอนมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าคนไทยก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหลายคนแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องการให้ ธปท. ลดดอกเบี้ย เพื่อติดเครื่องยนต์ให้กับเศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับข้อติดขัดทุกภาคส่วน ไล่มาตั้งแต่สถานการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งปี 66 ที่ไร้เสถียรภาพ ตั้งรัฐบาลได้ช้าจนทำให้ พรบ.งบประมาณ 2567 ล่าช้าตามไปด้วย, นโยบายเรือธงดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลนำเสนอว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียน ก็ยังไม่แน่นอน รวมถึงเม็ดเงินที่ได้จากภาคท่องเที่ยวก็ไม่ได้มีหวังเท่าที่ควร

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net