Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดรายงาน 2 ฉบับเกี่ยวกับเยาวชนเกือบ 300 คนที่ต้องเผชิญหน้ากับคดีความเพียงเพราะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองในทางการเมือง แต่เมื่อพวกเขาต้องเข้าร่วม "มาตรการพิเศษฯ" ที่ใช้กับคดีเยาวชนเหมือนคนอื่นๆ กลับทำให้เห็นปัญหาที่อาจจะไม่ได้มีแค่เยาวชนในคดีการเมืองต้องเจอเท่านั้น

20 ก.ย.2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร่วมกันเปิดตัวรายงานเกี่ยวกับเยาวชนที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออกจนถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2563 และผลพวงจากกระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเสียหายกับอนาคตของพวกเขา

รายงานทั้ง 2 ฉบับ “จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี” ที่พูดถึงเรื่องการใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจถึงชั้นศาลในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปี 2563 ที่ทำให้มีเยาวชนถูกดำเนินคดี 286 คน คนทั้งคดีชุมนุมและคดีม.112 

ส่วนรายงานเล่มที่สองคือ “อิสรภาพแบบมีเงื่อนไข” พูดถึง “มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญา” ที่ศาลนำมาให้เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเลือกว่าจะสู้คดีที่อาจจะแพ้แล้วถูกลงโทษหรือจะรับสารภาพแล้วเข้าร่วมมาตรการพิเศษฯ เพื่อไม่ต้องเข้าสู่สถานพินิจ

"มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญา" ที่ถูกกล่าวถึงในทีนี้ เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้แทนการดำเนินคดีในศาลทั้งก่อนเยาวชนถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลหรือหลังฟ้องศาลไปแล้ว โดยมีหลักเกณฑ์คร่าวๆ คือถ้าเป็นกรณีก่อนถูกฟ้องต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ส่วนกรณีหลังฟ้องต้องเป็นคดีที่โทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี โดยทั้งสองกรณีต้องเป็นเยาวชนที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนเคยถูกลงโทษจำคุกในฐานความผิดที่ไม่ร้ายแรงมากนัก และยังถูกใช้เป็นมาตรการแทนการลงโทษด้วย โดยให้เจ้าหน้าที่สถานพินิจสืบเสาะประวัติและสอบปากคำเยาวชนก่อน

แซน อายุ 19 ปี สมาชิกของกลุ่มทะลุฟ้า แต่ก่อนหน้านั้นเธอก็ออกมาทำกิจกรรมภายในโรงเรียนตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปีแล้วพร้อมกับกระแสที่เกิดขึ้นในปี 2563 เนื่องจากเริ่มตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งที่นักเรียนต้องเจอไปอีกหลายปีในระบบการศึกษา

แต่เมื่อเธอออกมาตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยากทำและสิ่งที่ฝันแม้ว่าสภาพสังคมในปัจจุบันจะไม่ตอบโจทย์จะต้องไปตั้งคำถามกับใคร และเมื่อตั้งคำถามกับโรงเรียนก็ได้เพียงคำตอบว่า “เรียนๆ ไป อยู่ๆ ไปเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเองหรือถ้ามันไม่ดีจะทำยังไงได้” ก็ทำให้มีคำถามตามมาว่าคนหนึ่งคนทำได้แค่นี้เองหรือ

หลังจากนั้นก็ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองนอกโรงเรียนก็ถึงได้เห็นว่ายังมีปัญหาที่ใหญ่ยิ่งไปกว่าระบบการศึกษาและระบบการศึกษาจะไม่ถูกแก้ไขถ้าไม่แก้ไขโครงสร้างทางการเมือง แต่เมื่อเธอออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองกลับถูกติดตามคุกคามจนถึงบ้านและสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ ที่ทำให้เสียเวลา ถูกพรากชีวิตวัยเด็กและสุดท้ายก็ต้องออกจากโรงเรียนมาเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แทน

“กระบวนการยุติธรรมของผู้ใหญ่ว่าล้มเหลวแล้วของเยาวชนยิ่งล้มเหลวเข้าไปใหญ่ ตรงที่เป้าหมายหลักของศาลเยาวชนต้องเห็นประโยชน์หรือเห็นคุณภาพของเยาวชนเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่ผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ของศาลกลับตรงกันข้าม อันที่จริงเขาต้องมองเราว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนแต่สิ่งที่เป็นคือเขามองเราเป็นเด็กที่ไม่ดีต้องถูกอบรมสั่งสอนและการเข้ามาตรการพิเศษฯจะต้องรับสารภาพก่อน”

ทั้งนี้แซนมองว่าทำไมจะต้องรับสารภาพเพราะแค่ออกไปใช้สิทธิ์และสิ่งที่ทำไม่ได้ผิดแต่ก็ถูกบีบให้ต้องยอมรับสารภาพเพราะกระบวนการทางคดีมีความยุ่งยากมากและไม่ใช่แค่ตัวเธอเองแต่ยังไปถึงผู้ปกครองและคนรอบตัวด้วยและการรับสารภาพไปทั้งหมด 3 คดีเพื่อเข้าสู่ “มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญา” ซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ต่างกับการสู้คดีมากนักเพราะก็ต้องไปเจอกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เห็นคุณค่า แต่ตอนที่ยังสู้คดีก็ต้องเจอกับผู้พิพากษาที่ลดทอนความคิดความเชื่อ ไปจนถึงนักจิตวิทยาที่ไม่ได้เข้าใจสิทธิของเด็ก

แซนมองว่าถ้าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ผู้พิพากษาจะต้องเข้าใจสิทธิของเยาวชนไปจนถึงสิทธิพลเมืองให้มาก รวมถึงตระหนักถึงสิทธิตามกฎหมายสากลที่ไทยเองไปลงนามเอาไว้ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้พวกเขารู้จักเรื่องสิทธิอยู่ตลอด

“นอกจากนั้นต้องเป็นอิสระด้วย ในการพิพากษาคดีต่างๆ เกี่ยวกับคดี 112 ต้องยอมรับจริงๆ ว่าผู้พิพากษาไม่ได้เป็นอิสระแล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามดุลพินิจของผู้พิพากษา”

นอกจากนั้นถ้าอยากให้กระบวนการพิจารณาคดีเยาวชนก็ต้องให้เยาวชนเข้ามาร่วมออกแบบด้วยในทุกกิจกรรมทุกขั้นตอนที่เยาวชนจะต้องเจอ เพราะหากจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนก็ต้องให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมออกแบบด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

หลังจากแซนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ทำให้พอจะเห็นภาพแล้วว่าเยาวชนหนึ่งคนจะต้องเจอกับอะไรบ้างเมื่อออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองเพื่อแสดงออกทางการเมือง

(ซ้ายไปขวา) อัครชัย ชัยมณีการเกษ, คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ และ ผรันดา ปานแก้ว

อัครชัย ชัยมณีการเกษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอธิบายถึงสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมคดีของเยาวชนที่ตอนนี้มีเยาวชนถูกดำเนินคดีเกือบ 300 คนเพราะออกมาชุมนุมและใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อตั้งคำถามกับรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเยาวชนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 20 คนใน 24 คดีซึ่งเท่ากับว่ามีเด็กบางคนถูกดำเนินคดีมากกว่า 1 คดี แม้ว่าไทยจะลงนามในอนุสัญญาสิทธิเด็กที่รับรองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเยาวชนไว้ก็ตาม

อัครชัยชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดีกับเยาวชนด้วยมาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกที่รุนแรงเท่ากับข้อหาฆ่าโดยไม่เจตนาอีกทั้งกฎหมายมาตรานี้ยังอยู่ในหมวดกฎหมายความมั่นคงเท่ากับว่ารัฐไทยมองพวกเขาเป็นภัยความมั่นคงไปด้วย

ทั้งนี้เจ้าหน้าฝ่ายต่างประเทศระบุว่า กระบวนการตั้งแต่ชั้นจับกุมเยาวชนมีการใช้เครื่องมือพันธนาการทั้งที่กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าให้ใช้เท่าที่จำเป็นเช่น มีการขัดขืน และเมื่อพวกเขาถูกนำตัวส่งศาลเพื่อให้ตรวจสอบการจับกุมว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ศาลก็ยังเห็นว่าการจับกุมเป็นไปตามกฎหมายทั้งที่เด็กเหล่านี้บางครั้งก็ถูกส่งตัวไปศาลทั้งที่ยังมีบาดแผลที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บระหว่างจับกุม ไปจนถึงศาลไม่พิจารณาถึงความสมัครใจของเยาวชนและครอบครัวที่ต้องการให้มีคนนอกมาสังเกตการณ์คดีแต่อ้างเพียงเรื่องต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของเยาวชน

ผู้จัดการฝ่ายของคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ พูดถึงปัญหาของการใช้ “มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญา” กับคดีทางการเมืองว่า ทัศนคติของเจ้าหน้าที่สถานพินิจเองก็ไม่เป็นมิตรและชักจูงให้เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีรับสารภาพ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังเก็บข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีไปด้วยอย่างเช่น ประสบการณ์ทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่กับเพศใด

นอกจากนั้นผู้จัดการฝ่ายคดียังบอกอีกว่า ถ้าเยาวชนคนไหนจะเข้าร่วมมาตรการพิเศษนี้ก่อนฟ้องศาลเจ้าหน้าที่ก็จะให้เด็กรับสารภาพว่ากระทำผิดก่อนแม้ว่าตามกฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งมาตรการที่ใช้กำหนดให้เด็กต้องทำตามก็ไม่ได้รับฟังจากเด็กหรือครอบครัวของเด็กจริงๆ เช่น กำหนดเงื่อนไขทำงานต้องเป็นงานที่มีหลักแหล่งชัดเจนแม้ว่าเด็กจะขอช่วยพ่อแม่ทำงาน

คุ้มเกล้ามองว่า เยาวชนที่ออกมาก็คิดว่าใช้สิทธิ์ตามกฎหมายแล้วออกมาเขาทำได้ไม่ผิดกฎหมายถ้าเราเข้าใจเขาการออกแบบมาตรการที่ออกมาก็จะต่างออกไปและปรับปรุงให้ถูกต้องสำหรับเด็กที่ออกมาชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ส่วนเด็กบางส่วนที่อาจจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เช่นการพ่นสีหรือทำลายทรัพย์สินของรัฐเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านก็อาจจะกำหนดมาตรการอีกแบบที่พอเหมาะกับเหตุ

ผู้จัดการฝ่ายคดีเสนอว่าองค์กรอัยการและศาลเองก่อนที่จะให้เด็กเข้าร่วมมาตรการพิเศษก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเด็กผิดจริงก่อน เพราะถ้าเป็นการออกมาใช้สิทธิ์ตามกฎหมายแล้วอัยการก็ใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งไม่ฟ้องคดีได้ และควรเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนฟื้นฟูแก้ไขตัวเขาเองด้วยโดยคำนึงพฤติการณ์ของคดีและข้อหาที่ใช้ดำเนินคดีด้วย เช่นถ้าไม่ได้โดนคดียาเสพติดก็ไม่ต้องกำหนดให้ต้องตรวจปัสสาวะทุกครั้งที่มารายงานตัว เป็นต้น

ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความ กล่าวถึงสัดส่วนคดีของกลุ่มเยาวชนที่สู้จนคดีจบมีอยู่น้อยมากราวๆ 10 % เท่านั้น ส่วนใหญ่คือรับสารภาพเพื่อเข้ามาตรการพิเศษฯ พวกเขาก็จะสะเอนใจว่าทำไม่ต้องสำนึกในเรื่องที่เขาคิดว่าใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้วกลายเป็นความผิด และการเข้าร่วมมาตรการพิเศษก็ไม่ได้มีแค่เด็กที่ต้องไปศาลแต่ยังมีครอบครัวไปด้วยครอบครัวจึงต้องพร้อมไปกับเขาทั้งการไปรายงานตัว ทำกิจกรรมต่างๆ ตามเงื่อนไข แล้วคดีที่สู้จนจบศาลก็อาจจะสั่งให้เด็กต้องทำตามเงื่อนไขไม่ต่างจากการเข้าร่วมมาตรการ

ผรันดากล่าวว่า แม้จะเข้าไปร่วมมาตรการพิเศษฯ มาแล้วถ้ามีเงื่อนไขต้องเข้าร่วม 1 ปี ในระยะเวลา 1 ปีนี้ก็ต้องมารายงานตัวกับศาลแต่เด็กไม่ได้พร้อมที่จะต้องมาแบบนี้ได้ทุกคน หรือการกำหนดแผนให้เด็กต้องเข้าเรียนทุกคน แต่เด็กบางคนก็ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่แรก หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในระบบเมื่อเกิดคดีขึ้นมาแล้วก็ต้องออกจากโรงเรียนสุดท้ายก็ต้องไปเรียน กศน.กันหมดเพื่อให้เข้าเงื่อนไขว่ายังอยู่ในระบบการศึกษา แม้ว่าบางคนอาจจะอยากไปทำงานเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัวมากกว่า

“น้องบางคนที่พร้อมมีการศึกษามีครอบครัวสนับสนุนน้องสามารถจบแผนได้ น้องคนไหนที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์พ่อแม่อาจจะแยกทางกัน น้องๆ จะมีความลำบากมากในการติดต่อผู้ปกครองให้มาศาลทำให้บางครั้งน้องทำตามแผนไม่ได้ภายใน 1 ปีกลายเป็น 2 ปี บางคนโดนออกหมายจับเพราะว่าไม่สามารถนายประกันหรือผู้ปกครองมาเข้าแผนได้”

ผรันดาเห็นว่าเจ้าหน้าที่เองถึงจะเห็นว่าเด็กมีปัญหาอะไรแต่ก็ไม่แก้ไขแล้วก็ออกหมายจับอยู่ดี ทั้งที่ควรจะมาคุยกันดังนั้นทัศนคติของเจ้าหน้าที่ก็สำคัญและต้องทำงานเชิงรุกกว่านี้

ทิชา ณ นคร (กลาง) และ แซน(คนที่สองจากซ้าย) 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า รัฐไทยนำเด็กเข้ากระบวนการยุติธรรมไปจนถึงทำให้เป็นจำเลยแต่รัฐไม่เคยพยายามหาสาเหตุว่าทำไมเด็ฏถึงออกมาใช้เสรีภาพการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่กระโจนเข้าไปเพื่อที่จะจับกุมพวกเขาและใช้กฎหมายจัดการ แล้วเด็กเหล่านี้มาแบกรับภาระที่เกินอายุของพวกเขาแต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เด็กเหล่านี้ออกมารับภาระนี้ ทั้งที่ผู้ใหญ่จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมเด็กเหล่านี้ถึงทำสิ่งเหล่านี้

“การตั้งคำถามอาจหมายถึงการปฏิรูปทั้งระบบที่รัฐบาลต้องกระทำ เพื่อเปลี่ยนเสียงร้องหาอนาคตที่ดีกว่าของเด็กคนหนึ่งให้เป็นคำตอบของเด็กทุกๆ คน แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น” ผอ.บ้านกาญจนาฯ กล่าวว่ารัฐจะต้องกล้าที่จะเปลี่ยนเด็กเหล่านี้ให้เป็นโอกาสของสังคมไม่ใช่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นผู้ต้องหา

ทิชากล่าวว่าหลังจากมีอนุสัญญาสิทธิเด็กและไทยก็เข้าร่วมเป็นภาคีด้วยและมีเงื่อนไขที่รัฐไทยต้องทำก็คือปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญา รายงานสิทธิเด็กในไทยให้กับสหประชาชาติ และเด็กจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและอนุสัญญาก็ยังพูดถึงการแบ่งปันการมีอำนาจตัดสินใจระหว่างผู้ใหญ่และเด็กอีกด้วย แต่ไทยก็เข้าเป็นภาคีเพื่อเป็นสัญลักษณ์เท่านั้นแต่บางเรื่องก็ไม่ได้ทำ เพราะถ้าไทยต้องรายงานสิทธิเด็กว่าได้มีส่วนร่วมแค่ไหนไทยก็ถือว่าสอบตกมาตรฐานตามอนุสัญญา

ผอ.บ้านกาญจนาเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไทยต่างก็รู้แต่ไม่ได้ทำอะไรและเลือกที่จะ “อยู่เป็น” ถ้าพอจะรู้เรื่องเหล่านี้แต่เลือกจะปิดปากก็คิดว่าคนเหล่านี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เคารพตัวเองเลยแม้แต่น้อย และรัฐไทยก็ลืมรากเหง้าของความเป็นประชาชนไปแล้ว และการมีเด็กถูกจับมากมาย แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดสิ่งที่ควรจะพูดเราก็เป็นผู้สมคบคิดคนสำคัญที่ทำให้ประเทศนี้วินาศ

ศูนย์ทนายฯ ออกข้อเสนอแนะแก้ปัญหา

ในรายงานทั้งสองฉบับของศูนย์ทนายความฯ ระบุถึงข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาคดีของเยาวชนที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกทางการเมืองไปจนถึงข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการใช้มาตรการพิเศษฯ ด้วย โดยมีดังนี้

1. เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีอาญาทางการเมืองในเชิงหลักการคนในกระบวนการยุติธรรมเด็กทุกขั้นตอนควรเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน และไม่ใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อกดปราบอีกฝ่าย และปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองแบบ “นักโทษทางความคิด ไม่ใช่ อาชญากร”

2. ข้อเสนอแนะต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงและแบบการเก็บข้อมูล จัดให้มีสถานที่ที่เป็นมิตรต่อเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศและเคารพความเป็นส่วนตัวของเด็ก

3. ประการสำคัญ การใช้มาตรการพิเศษแทนมาตรการทางอาญาต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนให้ทำหน้าที่แบบไม่ตัดสินในตัวเด็กและเยาวชน และให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าเอกสาร ตลอดจนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดการใช้อำนาจ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กและเยาวชน

ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน

1. พนักงานอัยการ/ศาลเยาวชน ต้องประกันว่าคดีที่เข้าสู่การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดี จะถูกใช้สำหรับคดีที่เข้าข่ายว่ากระทำความผิดจริง และอัยการควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นความผิดหรือกรณีที่ไม่ควรฟ้อง

2. ผู้พิพากษา/ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ พนักงานคุมประพฤติและนักจิตวิทยาของศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาล ควรทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และคำนึงถึงพฤติการณ์คดีเป็นคดีกฎหมายที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป และสอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตของเด็กแต่ละราย และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่จำเป็น

3. นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ควรทำงานตามหลักวิชาชีพ ไม่ตัดสิน และเน้นให้คำปรึกษา เป็นพื้นที่ปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่เด็กต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

4. กระทรวงยุติธรรม ควรแก้ไขหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นนักจิตวิทยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เฉพาะผู้ที่มีวุฒิการศึกษาทางจิตวิทยา แพทยศาสตร์ หรือพยาบาลศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านจิตเวชศาสตร์หรือพัฒนาการเด็กเพียงเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์คุณสมบัติการขึ้นทะเบียนของนักสังคมสงเคราะห์ในปัจจุบันที่เปิดให้เฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาตเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการควบคุมคุณภาพของผู้ปฏิบัติงาน และควรปรับปรุงหลักสูตรการอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะที่สำคัญในการลดผลกระทบของเด็กในกระบวนการยุติธรรมได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

5.สถานพินิจฯ หรือศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาล ควรจัดทำปฏิทินกิจกรรมหรือโครงการฝึกอาชีพที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับจุดแข็งและความถนัดของเด็ก เพื่อให้เด็กเลือกตามความสนใจ โดยเพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง การมีสวนร่วมในสังคมประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็ก

6. ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาลควรให้ความสำคัญกับการบำบัดเยียวยาจิตใจเด็กมากกว่าการทำกิจกรรมตามมาตรการที่กำหนดมาเพียงอย่างเดียว และควรพัฒนาศักยภาพและทัศนคตินักจิตวิทยาให้สามารถสนับสนุนทางจิตใจและบำบัดเยียวยาเด็กที่ได้รับผละกระทบ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net