Skip to main content
sharethis

1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนใน อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย เจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ อันเป็นผลพวงจากหางพายุ ‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำให้มีฝนตกหนักมากบริเวณต้นน้ำลำน้ำกกในฝั่งเมียนมา จนท่วมเข้าอำเภอเมืองเชียงรายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  

ถึงแม้ว่าระดับน้ำในตัวเมืองเชียงรายและแม่สายจะลดลง แต่สิ่งที่ไม่ได้ระบายไปพร้อมกับน้ำ คือคำถามว่าปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกครั้ง เพื่อนำมาสู่การป้องกันเหตุอุทกภัยในอนาคต

ประชาไทคุยกับ ‘มงคลกร ศรีวิชัย’ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโลโยลีมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำและภัยพิบัติ เพื่อร่วมถอดบทเรียนว่า ‘การสร้างสิ่งปลูกสร้าง และพัฒนาเมืองเชียงราย’ กำลังเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร

บทเรียนแม่น้ำกอน

อาจารย์จากเชียงราย วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้มาจากปริมาณฝนจำนวนมาก อันเป็นผลกระทบจากหางพายุไต้ฝุ่นยางิ และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำระเหยและกลั่นตัวกลายเป็นฝนปริมาณมากกว่าแต่ก่อน

หากถามว่าปัจจัยการพัฒนาเมืองเชียงราย มีผลทำให้น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงขึ้นหรือไม่ อาจารย์ผู้อาศัยในเชียงรายมานานกว่า 40 ปี กล่าวว่า มีผลเหมือนกัน เนื่องจากการพัฒนาเมืองเชียงรายบริเวณรอบลำน้ำต่างๆ ส่งผลให้ทางน้ำแคบลง และทำให้พื้นที่รองรับน้ำลดลง

ก่อนหน้านี้ย้อนไปเมื่อปี 2537 เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เชียงราย ปัญหาคือน้ำท่วมครั้งนั้นน้ำไม่ได้ล้นมาจากลำน้ำกก แต่มาจากลำน้ำกอน โดยหนึ่งในปัจจัยคือ มีโรงแรมมาสร้างในที่ดินริมตลิ่งของ 2 ฝั่งของลำน้ำกอน ทำให้แม่น้ำแคบลงและรองรับปริมาณน้ำไม่ได้เท่าเดิม น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมือง บทเรียนจากครั้งนั้นทำให้ทางการเชียงราย สร้างคลองผันน้ำกก-กอน เพื่อระบายน้ำไม่ให้ท่วมเขตตัวเมือง หรือเขตเศรษฐกิจ

การพัฒนาเมืองรอบลำน้ำกก มีผลต่อน้ำท่วม (?)

สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ มองว่า เนื่องจากมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลจากพม่าเข้ามาที่เชียงราย พอผ่านลำน้ำกก ซึ่งแต่เดิมรอบๆ ลำน้ำเป็นเรือกสวนไร่นา และเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ถูกประชาชนและรัฐเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น มีการถมที่สร้างสถานที่พักผ่อน โรงแรม ศูนย์ราชการ และอื่นๆ ส่งผลให้ลำน้ำแคบลงมาก

ปัจจัยที่ 2 คือการขยายเมือง การสร้างสนามบิน ถนนบายพาส หรือการสร้างบ้านจัดสรรต่างๆ ปัญหาที่เจอบ่อยๆ คือน้ำระบายไม่ทัน นอกจากนี้ เวลาน้ำหลากจากแม่น้ำหรือพื้นที่ป่า จะมาพร้อมกับดินตะกอนหรือโคลน ซึ่งจะไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้ระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพจากก่อนหน้านี้ที่เคยรับปริมาณน้ำฝน 30-40 มิลลิลิตร (มล.) ได้สบายๆ ก็ระบายไม่ได้

ผู้อ่านสามารถเลื่อนซ้าย-ขวา เพื่อดูภาพแม่น้ำกก ปี 2545 และ 2567 (สลับกัน)

พื้นที่ห่าง ‘ลำน้ำกก’ ยังไม่รอด

“พื้นที่น้ำท่วมปีนี้เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะเพราะว่าน้ำท่วมไหลบ่ามาไกล พื้นที่ที่เราคิดว่าไกลจากน้ำกก และปลอดภัย ต่อไปจะไม่ปลอดภัย”

มงคลกร อธิบายว่า เขาอาศัยที่บ้านดู่ ใน อ.เมือง ซึ่งห่างจากแม่น้ำกก ประมาณ 4-5 กม. ปกติคนที่บ้านดู่ ถ้าน้ำจะท่วม เขาจะสังเกตปริมาณน้ำที่น้ำตกโป่งพระบาท ถ้าน้ำที่โปร่งพระบาทเยอะ แสดงว่าต้องรีบเตรียมตัวรับน้ำท่วมแล้ว แต่ครั้งนี้เขาไม่เคยเจอสถานการณ์ที่น้ำล้นตลิ่งจากลำน้ำกก แล้วท่วมไกลถึงตำบลนางแล จ.เชียงราย

อาจารย์มงคลกร กล่าวเพิ่มว่า ปกติแม่น้ำกกมีความเสี่ยงจะล้นตลิ่ง ประมาณ 3-4 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง เพราะว่าแม่น้ำมีตลิ่งสูง ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำปกติ 2.8 เมตร ในฤดูน้ำหลากเจ้าหน้าที่จะทำคันดินด้วย แต่ปีนี้น้ำมาเกินพิกัดมากจริงๆ

“พ่อผมอายุ 75 ปี บอกว่าตั้งแต่เขาเล็กจนโตเขายังไม่เคยเห็นน้ำท่วม (อ.เมือง) เชียงราย แล้วลามมาถึงนางแลได้เลย นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ กล่าว

ทุกที่จะเผชิญความเสี่ยงเดียวกัน

ต่อไปทุกที่จะเผชิญความเสี่ยงจากอุทกภัยแบบเชียงรายมากขึ้น เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ เสนอว่า เราต้ององค์ความรู้ให้ประชาชนมากขึ้น และการสื่อสารการเตือนภัยที่เข้าใจง่าย เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนได้

"ตอนนี้เชียงรายเละมาก น้ำท่วมหมดเลย รถยนต์ดีๆ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านเหล้า ถ้าหากเรามีระบบการจัดการที่ดี หรือการเตือนภัยที่ดี ประชาชนสามารถรู้ข้อมูลต่างๆ และย้ายของไปยังจุดที่ปลอดภัย ความเสียหายตรงนี้จะไม่เกิด หลายคนตอนนี้ได้รับผลกระทบทางใจ เป็นภาวะซึมเศร้า" อาจารย์มงคลกร กล่าว 

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมพะเยา ก.ย. 2567

ข้อเสนอของอาจารย์มงคลกร เขาอยากฝากบอกถึงภาครัฐว่า ประชาชนฝากความหวังไว้กับพวกเขามาก อยากให้การพัฒนาเมืองควบคู่กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเส้นทางน้ำ ผังน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่แก้มลิง หรือเมื่อก่อนเชียงรายมีหนองบัวเยอะมาก แต่ตอนนี้ลดลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราต้องหาทางรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ไว้

“เราอยากให้เศรษฐกิจเราดีขึ้น ทุกคนเข้าใจ แต่เราจะพัฒนาอย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เชียงรายนี้ และเราจะพัฒนาเมืองที่จะส่งต่อให้คนรุ่นหลังอย่างไร เพราะลูกหลานคนเชียงรายจะอยู่ในพื้นที่เชียงรายต่อ” มงคลกร ทิ้งท้าย 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net