Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อีมัด มีเคย์ - ไอพีเอส
----------------------------
วอชิงตัน,(ไอพีเอส) เขื่อนแห่งใหม่ที่ใช้เงินลงทุนจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(ADB) ซึ่งมองกันว่าเป็นโชคดีของลาวนั้น อาจจะจบลงด้วยผลร้ายมากกว่าจะเป็นผลดีแก่ชาติและประชาชน,ทั้งนี้ตามความเห็นขององค์กรพัฒนาเอกชน

ธนาคารโลกได้มีมติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่จะให้เงินกู้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ "น้ำเทิน 2" จำนวน 1.25 พันล้านดอลลาร์ หลังจากศึกษาใคร่ครวญมาแล้วถึง 12 ปี

ส่วน ADB แถลงว่าจะให้เงินกู้แก่ลาว 120 ล้านดอลลาร์ และจะประกันความเสี่ยงทางการเมือง เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB)ก็จะตัดสินใจอนุมัติเงินกู้ให้ในเร็ววันนี้

ธนาคารโลก,ADB และ EIB ตัดสินใจปล่อยเงินกูระยะยาวเพื่อสนับสนุนกิจการด้านพลังงานแก่ประเทศไทยและประเทศลาว

โครงการนี้ดำเนินการโดย "บริษัทพลังงานน้ำเทิน2จำกัด" (NTPC) ซึ่งร่วมลงทุนโดยสถาบันการเงินต่างๆเช่น บริษัท EDF สากลแห่งฝรั่งเศส(35เปอร์เซ็นต์),รัฐบาลลาว(25เปอร์เซ็นต์),การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(25 เปอร์เซ็นต์) และ บริษัทอิตาเลียน-ไทย(15 เปอร์เซ็นต์)

อย่างไรก็ตาม,นักวิเคราะห์จำนวนมากกล่าวโจมตีธนาคารต่างๆที่ให้การสนับสนุนว่าสถาบันการเงินเหล่านั้นถูกชี้นำโดยธนาคารโลกที่เพิกเฉยนโยบายของตน ทั้งไม่ใส่ใจต่อชนชาติส่วนน้อย รวมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพในระยะยาวของประเทศที่ยากจนแห่งนี้

"ผมคิดว่าธนาคารโลกไม่ควรสนับสนุนโครงการนี้ เป็นโครงการที่เตรียมการแย่ สร้างขึ้นผิดที่ และด้วยเหตุผลที่ผิดพลาด" เดวิด เอฟ. ฮาเลส,นักกฏหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสถาบันเวิร์ลด์วอช,กล่าว

"โครงการนี้เสี่ยงต่อความยากจนของประชาชน,ต่อการคอร์รัปชั่น,การบริหารที่ผิดพลาด และความล้มเหลวทางการเงินของโครงการเป็นอย่างสูง" เขาว่า

ฮาเลสซึ่งเป็นประธานการเสวนาเชิงปฏิบัติการของโครงการน้ำเทิน2ให้กับธนาคารโลกเมื่อเดือนกันยายน 2004 กล่าวเตือนว่าการอนุมัติให้เงินกู้เพื่อสร้างเขื่อนน้ำเทินเท่ากับเปิดประตูให้กับข้อน่าสงสัยสองประการ

ธนาคารโลกกำลังปล่อยเงินกู้ 270 ล้านดอลลาร์และประกันความเสี่ยงให้กับโครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2009 เขื่อนซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้า 1,070 เม็กกะวัตต์นี้เกิดขึ้นจากการผันน้ำ 93% ในแม่น้ำเทินซึ่งตามปกติไหลลง สู่ลุ่มน้ำเซบั้งไฟ ทั้งนี้เพื่อป้อนกระแสไฟให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้จะก่อให้เกิดน้ำท่วมราว 40% เหนือที่ราบสูงนาไกเพื่อเปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำ 450 ตารางกิโลเมตร

หลายคนกล่าวว่าโครงการนี้จะเปลี่ยนสภาพของแม่น้ำทั้งสองสาย,ทำให้คนจนในพื้นที่หลายพันคนประสบกับภาวะไร้บ้าน,รบกวนวิถีชีวิตปกติของผู้คนอีกหลายหมื่นคน

แต่สถาบันการเงินเหล่านั้นแก้ตัวว่าน้ำเทิน 2 เป็นโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างในลาว ทำให้ประเทศได้รับเงินภาษี,ค่าสัมปทานและเงินปันผลถึงปีละ 150 ล้านดอลลาร์

ธนาคารโลกคุยว่ารายได้เหล่านั้นจะถูกนำไปใช้จ่ายในด้านสุขภาพ,การศึกษาประมาณ 30% หลังจากเปิดใช้เขื่อนในปีแรก ที่เหลือจะนำไปแก้ไขปัญหาความยากจนและปกป้องสิ่งแวดล้อม

ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนยังคุยว่าในระหว่างการก่อสร้างโครงการนี้จะทำให้คนมีงานทำราว 4,000 คนจากพลเมืองของลาวทั้งหมด 5.8 ล้านคน

ทว่าคำคุยโวดังกล่าวไม่สามารถคลายความกังวลให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆได้

เมื่อเดือนมีนาคม,เอ็นจีโอ.กว่า 150 องค์กรจาก 42 ประเทศ ได้ส่งจดหมายถึงนายเจมส์ วูลล์ฟ์เฟนสัน,ประธานธนาคารโลกเพื่อขอร้องมิให้สนับสนุนการสร้างเขื่อน ทั้งยังแจงประเด็นต่างๆที่พวกเขาวิตก

เมื่อเดือนที่แล้ว, ผู้คนในท้องถิ่นพากันออกมาประท้วงการสร้างเขื่อน เครือข่ายแม่น้ำนานาชาติซึ่งตั้งอยู่ในเบิร์คเลย์กล่าวเตือนว่าเขื่อนน้ำเทิน 2 จะทำให้ผู้คนไร้บ้านกว่า 6,000 คน และรบกวนวิถีชีวิตปกติของประชาชนราว 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในช่วงปลายแม่น้ำเซบั้งไฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของแม่น้ำโขง

ทางองค์กรแถลงว่าแผนการที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่มีอยู่จริง

หลายองค์กรตำหนิว่าโครงการนี้จะทำให้ชาวลาวต้อง "แบกภาระหนี้" ไปอีกหลายปีข้างหน้า

"โครงการน้ำเทิน 2 ควรจะได้รับการยกหนี้ให้ในที่สุด เนื่องจากไม่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ทั้งมิได้สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศลาวที่ทำให้จ่ายคืนหนี้ได้" แพทตริเซีย อาดัมส์,ผอ.บห.ขององค์กรพร็อบ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งแคนาดา,กล่าว

เธอชี้ข้อเท็จจริงให้ทราบว่าเมื่อวันที่ 28 มีนาคม รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่าจะยกเลิกหนี้ให้กับลาวที่กู้เงินไปใช้สร้างเขื่อนน้ำงึม,เขื่อนใหญ่ที่สุดในประเทศที่สร้างขึ้นเมื่อทศวรรษ 1970

"ประสบการณ์สอนว่าเขื่อนใหญ่ทำให้เป็นหนี้มาก" กรินน์ ไรเดอร์,ผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนพลังน้ำและผอ.นโยบายของแห่งพร็อบ อินเตอร์เนชั่นแนล,กล่าว

ผู้คัดค้านหลายรายแถลงว่าเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งที่ลงทุนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ,รวมทั้งธนาคารโลก,ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหลุมพรางทางการเงิน ที่ผู้กู้ไม่สามารถใช้หนี้คืนได้

ที่วอชิงตัน,เจ้าหน้าที่ด้านการคลังได้ตั้งข้อสงสัยต่อความสามารถของธนาคารโลกที่จะประกันว่ารายได้จากเขื่อนจะนำไปใช้จ่ายเพื่อลดทอนความยากจน ทั้งนี้เมื่อดูจากความผิดพลาดในการบริหารการเงินของรัฐบาลลาว

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้คือผลผลิตไฟฟ้าซึ่งบ่อยครั้งมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากน้ำในอ่างเหนือเขื่อนแห้งบ่อย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนขนาดใหญ่จะมีผลต่อการเกษตรและการประมงด้วย

"การสนับสนุนเขื่อนน้ำเทิน 2 ทำให้ธนาคารโลกพบกับความผิดพลาดซ้ำอีก จนกว่าจะยุติการสนับสนุนเขื่อนทั้งหมด" ไรเดอร์กล่าว

ฝ่ายสถาบันการเงินแก้ตัวว่าพวกเขาตระหนักถึงความเสี่ยงทั้งมวล และว่าได้เตรียมกลไกเพื่อแก้ไขความผิดพลาดไว้แล้ว

กลไกดังกล่าวคือความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคต่างๆเพื่อทำให้รัฐบาลลาวปรับปรุงตัวเองโดยผ่านระบบการตรวจสอบบัญชีและการสำรวจค่าใช้จ่ายสาธารณะ

"เรารู้ว่ามีความเสี่ยงหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราได้ศึกษาอย่างระมัดระวังร่วมกับรัฐบาลและสถาบันเพื่อการพัฒนาอื่นๆ" ฮารุฮิโกะ กูโรดา,ประธาน ADB ระบุในแถลงการณ์

"โครงการนี้จะปรับปรุงมาตรฐานชีวิตของชาวลาว นี่คือเหตุผลที่เราเข้ามาเกี่ยวข้อง เราคิดว่าความเสี่ยงสามารถแก้ไขได้ และมันจะได้รับการแก้ไขจากการเข้าไปเกี่ยวข้องของเรา" เขากล่าว

DEVELOPMENT-LAOS: Massive Dam Project Could Backfire
Emad Mekay

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net