Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-24  ส.ค.2548              แก่เหมืองฝายโบราณครวญ "ทักษิณ" ไม่รักบ้านเกิด สั่งรื้อฝายโบราณที่สร้างสมัยพระเจ้ามังราย  เรียกร้องให้ระงับคำสั่งรื้อ  ก่อนที่แผ่นดินเชียงใหม่-ลำพูนจะลุกเป็นไฟ


 


นายหมื่น  ทิพยเนตร  ผู้อาวุโสวัย  77  ปี  ประธานเหมืองฝายพญาคำ  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  กล่าวว่า  ตั้งแต่เป็นประธานเหมืองฝายมากว่า  40  ปี  ก็เคยรู้เคยเห็นมาอยู่ว่า เคยมีน้ำท่วมแบบนี้  แต่ไม่เคยคิด เหมือนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ที่ออกมาพูดว่า  สาเหตุที่น้ำท่วมนั้นมาจากฝาย  3  แห่ง  ซึ่งเป็นไปไม่ได้  เพราะตัวฝายนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบพนังถนนอยู่แล้ว


 


"จริงๆ  โครงการที่จะรื้อฝายพญาคำ  ฝายท่าวังตาล  และฝายหนองผึ้งนั้นมีมานานแล้ว  ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร  ศิลปอาชา  แต่หลังจากที่พวกเราไปยื่นหนังสือคัดค้าน  เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในเขตเชียงใหม่และลำพูน  และได้มีการระงับโครงการนี้ไว้


 


แต่มาถึงยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  และเป็นลูกคนเมือง นอกจากไม่ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเก่าแก่นี้ไว้  กลับมีความคิดที่จะรื้อทำลายทิ้ง  ซึ่งคนเชียงใหม่  ลำพูน รับไม่ได้  และจะพร้อมที่จะออกมาเรียกร้องคัดค้านจนถึงที่สุด  แม้ว่าแผ่นดินจะลุกเป็นไฟก็ตาม" นายหมื่น  กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม  ประธานเหมืองฝายพญาคำ  กล่าวย้ำอีกว่า  อยากขอให้ นายกฯ ทักษิณ  ได้คิดใหม่  และระงับการรื้อฝายทั้ง  3  แห่งนั้นไว้  ก่อนที่ปัญหาความขัดแย้งจะรุนแรงมากกว่านี้


 


ทั้งนี้  เหมืองฝายพญาคำ  มีอายุกว่า 1,000  ปี  สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามังราย  โดยในครั้งนั้น  มีเจ้าพญาคำ  เป็นผู้วางแผน และได้รวบรวมชาวบ้านในเขตปกครองพื้นที่เชียงใหม่  ลำพูน  ที่มีพื้นที่ติดต่อกัน  มาร่วมกันขุดลอกลำเหมือง  และร่วมกันสร้างฝายธรรมชาติกันขึ้น  ตั้งแต่ปี พ.ศ.1100  เป็นต้นมา


 


เหมืองฝายพญาคำ  จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้านนามาช้านาน  ที่มีการผันน้ำเข้าลำเหมืองไปหล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนตั้งแต่ ต.ท่าศาลา  อ.เมือง จ.เชียงใหม่  ยาวไปถึงเขต อ.สารภี  จ.เชียงใหม่  จนถึงเขต ต.ป่าแดด  อ.เมือง  จ.ลำพูน  ซึ่งนายหมื่น  ทิพยเนตร  ได้สืบทอดเป็นประธานเหมืองฝายพญาคำ  มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497  มาจนถึงปัจจุบัน  โดยมีผู้ใช้น้ำในชุมชนลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด  204  หมู่บ้าน  และมีพื้นที่รับน้ำทั้งหมดประมาณ  30,000  กว่าไร่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net