Skip to main content
sharethis



 


 


ความลวงของความจริงใน 3 จังหวัดภาคใต้


"...ยิ่งพยายามเข้าใกล้ความจริงมากเท่าไหร่ เรากลับพบความไม่จริงมากขึ้นเรื่อยๆ (จนในที่สุดความจริง "ของเรา" ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น...แทบไม่หลงเหลืออยู่เลย)" (จากบทความ "ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" : วารสาร "ล้าหลัง" ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2548)


 


ภาพของความสูญเสีย ภาพของการปั่นป่วนก่อกวนพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมากมายตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมา แต่จะมีผู้รับสารสักกี่คนที่จะมีโอกาสตระหนักว่า อะไรคือข้อเท็จจริงซึ่งแฝงอยู่ในสารที่ส่งผ่านสื่อ (ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม) และอะไรคือความจริงที่เกิดขึ้นภายใต้วิกฤตการณ์ที่นำมาซึ่งความสูญเสียแบบรายวัน


 


อัศรี จารุโกศล อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) คือหนึ่งในจำนวนของผู้ต้องการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เธอบอกเล่าประสบการณ์การเข้าถึงความจริงของเธอว่า


 


 "ก่อนที่จะลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน ก็รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน เพราะในหัวเราพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้จะมีภาพของการวางระเบิดรางรถไฟ ภาพของการก่อการร้าย แต่ถ้าถามว่ากลัวตายไหม? คิดว่า หากคนเราจะตายอยู่ที่ไหนมันก็ตาย เลยไม่ได้รู้สึกกลัว... แต่พอลงไปในพื้นที่จริงๆ เรากลับได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคนในพื้นที่"  คำบอกเล่าจากสาวหน้าใส แฝงความน่าสนใจที่ว่า แม้จะมีมันสมองอันชาญฉลาดสักเพียงใด แต่หากสองเท้าไม่มีโอกาสเหยียบย่างลงสัมผัสผืนดินที่ข้อเท็จจริงบังเกิด ก็ยากนักที่เราจะเข้าถึงความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นได้


 


"อย่างตันหยงลิมอซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุสังหาร 2 นาวิกโยธิน เราก็ได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับโต๊ะอิหม่ามคนที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เมื่อเราไปพบเขาที่บ้านจริงๆ กลับพบว่า เขาเป็นอัมพฤกษ์ ทำให้เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น"


 


"สิ่งที่เราเคยได้รับฟังจากโทรทัศน์เกี่ยวกับความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ กับประสบการณ์ที่เราได้รับจากในพื้นที่จริงมันแตกต่างกันมาก...เมื่อเรากลับมากรุงเทพฯ เราก็เอาประสบการณ์ที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ซึ่งเราต่างเห็นตรงกันว่า ในฐานะของนักศึกษาเราน่าจะทำอะไรได้สักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้"


 


น.ส.สาลินี รัตนชัยสิทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่มีโอกาสสัมผัสข้อเท็จจริงบนผืนดินที่กำลังระอุ ให้ข้อมูลว่า "ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ แต่ว่าก็อยากจะลงไปให้รู้ว่าเรื่องราวเป็นยังไง มันรุนแรงจริงหรือเปล่า ใครที่เป็นคนผิด แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้รู้หรอกว่าใครถูกใครผิด รู้แต่ว่าเราเจอสิ่งที่ดีเจอเพื่อนที่ดี  


 


"ตอนที่ลงไปเราไม่ได้เจอแค่กลุ่มเพื่อนนักศึกษา มอ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) เราลงไปในพื้นที่ เจอชาวบ้าน เจอปราชญ์ชาวบ้าน ไปตามหาครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะ พอลงไปได้พูดคุยกับเขา เขาค่อนข้างให้ความสนใจกับความเป็นนักศึกษาของเรามาก เพราะถ้าปกติกับนักข่าว กับใครเขาจะไม่กล้าพูด แต่พอรู้ว่าเราเป็นนักศึกษา เขายินดีที่จะพูด


 


"เคยไปเจอบ้านหนึ่งเขาบอกว่าไม่ได้ต้องการอะไรจากนักศึกษามากมาย แต่เขาต้องการแค่ให้เราเป็นกระบอกเสียงให้เขา เพราะตามสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือทีวีมักจะลงข่าวว่า เดี๋ยวมีระเบิด บ้านนู้นบ้านนี้ แต่พอเราไปสัมผัสชีวิตเขาจริงๆ เรารู้สึกว่ายังมีแง่มุมดีๆ ที่ใครไม่ค่อยได้เห็นกัน ก็เลยเกิดโครงการนี้ขึ้นมา" โครงการที่ สาลินี กำลังพูดถึงคืองาน "Shout for the South" กิจกรรมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวอีกเสี้ยวหนึ่งของพื้นที่ภาคใต้ ผ่านมุมมองของนักศึกษามหาวิทยาลัย


 


"Shout for the South" ภาคใต้ความเข้าใจที่หลากหลาย


"ที่ผ่านมากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดภาคใต้ มักถูกนำเสนอในรูปแบบของงานวิชาการหรืออะไรที่หนักๆ แต่เราคิดว่าเราอยากให้คนเข้าใจง่าย เราจึงต้องสรรหาวิธีการบอกเล่าแบบที่เป็น Non วิชาการ" อุปนายก อมธ. กล่าวถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมในงาน Shout for the South กิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ที่ประกอบไปด้วยกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการศิลปะเกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ Photo Essay (ภาพถ่ายเชิงสารคดี) มุมจิบน้ำชาเสวนา มุมอาหารปักษ์ใต้ มุมเพนท์สกรีนเสื้อ ละครเร่ หรือแม้กระทั่งคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง


 


"เราไม่ได้ต้องการบอกว่าสถานการณ์ภาคใต้ใครผิดหรือถูก แต่อย่างน้อยเราอยากจะให้ส่วนกลางที่ไม่ค่อยได้รับรู้แง่มุมอีกแง่มุมหนึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้รับรู้ว่ามันยังมีความสันติ และยังมีเรื่องราวดีๆ เหตุการณ์ดีๆ อีกมากในพื้นที่ เราอยากให้เขาเข้าใจ และได้กลับไปคิดดูว่าเขาควรจะมองมุมต่างๆ นี้ยังไง" น.ส.สาลินี ผู้ดูแลการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่วิชาการ กล่าวถึงความคาดหวังในการจัดกิจกรรม


 


"ตอนที่เลือกจัดกิจกรรม เราจะเลือกที่ความสมัครใจ เจอเพื่อนคนไหนก็ชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้


ถ้าใครสนใจเขาก็จะเข้ามาคุยกับเรา เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะว่าอยากให้นักศึกษานำศาสตร์หรือวิชาการแต่ละแขนงที่ตัวเองเรียนรู้มาประยุกต์ใช้จริงๆ นักศึกษาถนัดด้านไหน ก็จะทำให้เขาทำได้ดี"


 


ด้าน น.ส.กอบกาญจน์ จารุธนศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่ประสานงานกิจกรรมการละเล่นและดนตรี กล่าวว่า "กอบไม่ได้ลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่พอเพื่อนมาชวนทำกิจกรรมก็รู้สึกสนใจอยากเข้ามาช่วยเพื่อน


 


"ในส่วนที่ กอบทำ ก็จะเกี่ยวข้องกับการหาสปอนเซอร์ที่จะสนับสนุนเรื่องของรางวัลสำหรับแจกให้ผู้ที่เข้ามาเล่นเกมส์ แล้วก็ติดต่อเรื่องของเครื่องดนตรีสำหรับการแสดง อย่างเรื่องของคอนเสิร์ต นภ พรชำนิ ตอนแรกเราแค่อยากจะติดต่อให้แต่งเพลงเกี่ยวกับภาคใต้ แต่พอดีทางบริษัทเขามีเพลงอยู่แล้วเขาก็ส่งมาให้เรา แล้วศิลปินเขาก็ยินดีมาช่วยในงาน


 


"โดยส่วนตัวจริงๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่อยากให้คนมากันเยอะๆ เพราะจากที่ผ่านมาเวลาจัดงานเกี่ยวกับภาคใต้ที่ฝั่งท่าพระจันทร์ จะไม่ค่อยมีคนมากัน แม้แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เองก็ไม่ค่อยสนใจ ครั้งนี้เราอยากให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้ามาเยอะๆ เพราะรายได้จากกิจกรรมครั้งนี้ เราจะนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้"


 


กอบกาญจน์ ยังแสดงความเห็นในเรื่องนักศึกษา กับกิจกรรมทางสังคมว่า "เราคงทำอะไรกับสังคมไม่ได้มากถ้าไม่เจอเหตุการณ์ที่รุนแรงจริงๆ ส่วนภาพการใช้ชีวิตของนักศึกษาปัจจุบันก็มีทั้งประเภทที่มาสวยอย่างเดียวก็มี บ้าเรียนก็มี คนที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคมจริงๆ ก็มี แต่จะตัดสินว่านักศึกษาพวกนี้เหลาะแหละก็ไม่ได้ เพราะคนที่ดีก็มีอยู่ แต่เราอาจจะมองไม่เห็นเขาเอง"


 


กิจกรรม Shout for the South จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่จะสามารถร้องตะโกน ให้สังคมรับรู้ว่าในวันนี้พวกเขายังมีตัวตน และพร้อมเสมอที่จะทำความดีตามแบบฉบับและความเข้าใจของพวกเขา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net