Skip to main content
sharethis




องค์การนิรโทษกรรมสากล (AI: Amnesty International) ฉลองวาระครบรอบการก่อตั้งปีที่ 45 ไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทางองค์การได้รณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกร่วมกันต่อต้านการปิดกั้นที่รัฐบาลแต่ละแห่งพยายามควบคุมไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวพันกับการเมืองซึ่งปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ต




ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกสามารถร่วมลงนามต่อต้านการปิดกั้นทางความคิดได้ที่ www.irrepressible.info เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกยกเลิกการใช้อำนาจรัฐตรวจสอบการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ปรากฏอยู่ตามเวบไซต์ พร้อมทั้งขอความสนับสนุนจากองค์กรเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ในการงดให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่มีพฤติกรรมปิดกั้นและแทรกแซงดังกล่าว


 


รายชื่อประเทศที่องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดอันดับว่ามีการใช้อำนาจรัฐควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต ได้แก่ จีน ตูนิเซีย เวียดนาม อิหร่าน อิสราเอล และหมู่เกาะมัลดีฟส์ ซึ่งแถลงการณ์ขององค์กรระบุว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพ และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นของประชาชน


 


ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่านักโทษการเมืองหลายคนถูกจับกุมและคุมขังเนื่องจากความพยายามที่จะส่งเสริมให้มีการแสดงความความคิดเห็นอย่างเสรีโดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น องค์การนิรโทษกรรมฯ จึงขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้โดยเร็ว


 


แม้ประเทศไทยจะไม่ติดอันดับประเทศที่ถูกควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ต แต่รัฐบาลได้สั่งดำเนินคดีด้วยการฟ้องสถานี ASTV ซึ่งมีผู้ถูกฟ้องคือ (1) นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล (2) นายพชร สมุทวณิช (3) นายขุนทอง ลอเสรีวานิช (4) นายศุภชัย วงศ์วรเศรษฐ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารบริษัทไทยเดย์ดอทคอมจำกัด ผู้ผลิตและออกอากาศรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ผ่านโทรทัศน์ระบบดาวเทียม รวมถึง (5) บริษัท ไทยเดย์ดอทคอม จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วยความผิดฐานร่วมกันดำเนินกิจการและให้บริการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต


 


อย่างไรก็ตาม รายการเมืองไทยรายสัปดาห์และการนำเสนอข่าวของเอเอสทีวีได้มีการเผยแพร่สัญญาณผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วยเช่นกัน การส่งสำนวนสั่งฟ้องไปยังอัยการเพื่อจัดการกับผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จึงได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก แม้ประชาชนบางกลุ่มอาจจะยังมีข้อกังขาเรื่องจุดมุ่งหมายในการนำเสนอข่าวของสถานีเอเอสทีวี แต่การตัดสินใจดำเนินคดีถูกฟ้องทั้งห้ารายก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่ารัฐบาลกระทำการเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากการดำเนินคดีนี้อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการแสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตของประชาชนส่วนที่เหลือ


 


ความน่าวิตกในเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดเป็นบทความไว้อย่างน่าสนใจโดย Don Sambandaraksa ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นครั้งแรกในเซกชั่น Outlook หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 และ "ประชาไท" ได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่บนเวบไซต์อีกต่อหนึ่ง


 


เอเอสทีวีท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาล


โดย Don Sambandaraksa


 


พวกเราหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการที่รัฐพยายามปิดสถานี ASTV โดยใช้อำนาจผ่านกรมประชาสัมพันธ์ โดยใช้กรมประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือ ซึ่ง ASTV เองต้องร้องขออำนาจศาลในการคุ้มกันตัวเองจากการถูกปิดสถานีโดยพลการ


 


ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เมื่อไรก็ตามที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาจะต้องกลายกรณีศึกษาเรื่องอิสรภาพของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย (ซึ่งที่จริงแล้วก็มีเหลืออยู่ไม่มากนัก) และน่าจับตาว่า ระบบศาลยุติธรรมและระบบราชการของไทยล้มเหลวที่จะจัดการกับกรอบความคิดที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไร


 


ASTV เป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของไทย ประชาชนสามารถซื้อจานรับดาวเทียมเพื่อรับสัญญาณในราคา 6,500 บาท โดยสามารถรับชมรายการต่างๆ ผ่านทางสถานีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน นอกจากนี้ ผู้ชมยังสามารถรับข้อมูลข่าวสารความคิดเห็นของฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งนี่น่าจะเป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องการกำจัด ASTV


 


โดยทั่วไป การได้รับใบอนุญาตในการเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาในการดำเนินการมาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2540 ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ในการจัดการคลื่นความถี่ของวิทยุโทรทัศน์และออกใบอนุญาตฯ แต่ผ่านมา 9 ปีแล้ว เราก็ยังไม่สามารถจัดตั้งกสช. ได้ ดังนั้น อำนาจความรับผิดชอบในการจัดการคลื่นความถี่ รวมถึงการควบคุมการส่งสัญญาณดาวเทียมเพื่อเผยแพร่ทางโทรทัศน์ดังกล่าวจึงตกอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรีที่โดยธรรมชาติแล้วมักจะไม่พอใจให้มีการออกอากาศในเรื่องไม่ดีของ "นาย"


 


ในปัจจุบันนี้ การซื้อจานดาวเทียมและรับชมช่องสัญญาณต่างๆ ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ช่องที่รับชมได้ส่วนใหญ่จะเป็นของจีนหรืออินเดีย แต่ก็ถือว่าถูกกฎหมายและไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต ซึ่งหากวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว ASTV่ ไม่ได้ใช้ช่องสัญญาณของไทย เพียงแต่ออกอากาศเป็นภาษาไทย ASTV โต้กลับว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดสัญญาณเถื่อน เพราะพวกเขาไม่ใช่สถานีของไทย


 


กรมประชาสัมพันธ์ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาจับผิดเรื่องการส่งสัญญาณแทน ขณะนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ี่เข้มงวดมากเี่กี่ยวกับการส่งสัญญาณดาวเทียมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ด้วย


 


ASTV เอาตัวรอดจากกฎหมายที่เข้มงวดเหล่านี้ด้วยการไม่ส่งสัญญาณดาวเทียมขึ้นจากฐานส่งในประเทศไทย แต่ใช้การส่งข้อมูลสดจากห้องส่งในกรุงเทพฯ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตไปยังสถานีส่งสัญญาณดาวเทียมที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์แทน


 


นับเป็นโชคดีของ ASTV แต่เป็นโชคร้ายของกรมประชาสัมพันธ์ ที่การสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ตสามารถทำให้ ASTV เป็นสถานีโทรทัศน์ได้โดยไม่ต้องเป็น "สถานีโทรทัศน์" ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย


 


ผู้ที่เห็นด้วยกับอิสรภาพในการสื่อสารย่อมยินดีด้วยกับเหตุการณ์นี้ แต่สำหรับผู้ที่เชื่อว่ารัฐควรควบคุมการสื่อสารเืพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกลวงย่อมรู้สึกผิดหวัง


 


ปัญหาที่ศาลจะต้องเจอก็คือ จะสั่งยุติการเผยแพร่ ASTV อย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต


 


ทุกวันนี้ ASTV ถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านทางอินเตอร์เน็ต แต่หากลองจินตนาการถึงการใช้อีเมลหรือการส่งไฟล์ข้อมูลหรือคลิปสด ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่าง FTP หรือ HTTP ไปยังสถานีโทรทัศน์ที่จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์หรือที่ใดก็ตามในโลกนี้ จะพบว่ามีกระบวนการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก  


 


ทั้งนี้ หากพิจารณาดูอีกที กระบวนการส่งข่าวผ่านอินเตอร์เน็ตดังกล่าวเป็นวิธีการที่องค์กรข่าว เช่น บีบีซี หรือ ซีเอ็นเอ็น ใช้อยู่ ในการรายงานข่าวแต่ละครั้ง โดยองค์การข่าวเหล่านั้นจะส่งคลิปข่าว (ทั้งข่าวสดหรืออีเมล์) ไปยังสถานีส่งสัญญาณของตนเพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้รับชมผ่านสัญญาณดาวเทียม


 


รัฐบาลจะจัดการกับ ASTV โดยไม่ส่งผลกระทบไปยังการรายงานข่าวของบีบีซี หรือซีเอ็นเอ็นได้อย่างไรเว้นเสียแต่ว่าจะมีคำสั่งพิเศษในการห้ามใช้อินเตอร์เน็ตเฉพาะเจาะจงไปที่ ASTV เพียงเจ้าเดียว หรือหากมีการสั่งห้าม ASTV ให้ยุติการส่งรูปเกิดขึ้น ก็อาจมีการให้ฐานความคิดเดียวกันนี้สั่งห้ามพวกเราซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปส่งอีเมล์แนบวิดีโอคลิปได้อีกด้วย


 


ลองคิดดูอีกที การที่รัฐควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตอาจจะเหมาะสมก็ได้ เพราะหาก ASTV สามารถเอาตัวรอดหลบหลีกกฎหมายได้ พวกลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหรือขบวนการก่อการร้ายก็จะดำเนินกิจกรรมของตนผ่านช่องโหว่ของกฎหมายได้เช่นเดียวกัน


 


สิ่งที่จะต้องพิจารณากันอีกหากมีการสั่งห้ามใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการส่งข่าวดังกล่าว คือ จะเป็นอย่างไรถ้าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียงแค่ต้องการพูดคุยผ่านทางวิีดีโอสามมิติ หรือเราจะต้องออกกฎหมายมารองรับการติดต่อสื่อสารดังกล่าว ซึ่งผู้ใช้อาจต้องมีการใช้ mini SD card เพื่อแสดงตนในฐานะผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในครัวเรือนทุกครั้งที่มีการติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ต


 


สำหรับผู้ที่มีรหัสผ่านส่วนตัวในการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต? หากเรามีการรับส่งข่าวสารข้อมูล น่าสงสัยว่า รัฐจะเข้ามาควบคุมด้วยการขอรหัสส่วนตัวของเราเพื่อตรวจสอบว่าเรากำลังส่งข้อมูลที่พวกเขาไม่ต้องการให้ส่งออกนอกประเทศหรือไม่


 


หากประเทศไทยพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้งานทางอินเตอร์เน็ตแทนที่จะควบคุม "การใช้งานในทางที่ผิด" สถานการณ์ก็อาจแย่ยิ่งกว่านั้น เพราะการอนุญาตแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลถือได้ว่าเป็นการปิดประตูไม่รับนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งกรณีของ ASTV ก็นับได้ว่าเป็นนวัตกรรม (ที่รัฐบาลไม่ยอมรับ) เช่นกัน


 


เป็นที่น่าจับตามองว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไรและจะมีมาตรการอย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อส่วนอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ การนำไปสู่การตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาล ท่ามกลางความเปลี่ยนของโลกในยุคที่กฎหมายเขียนอยู่บนกระดาษแทนการจารึกบนแผ่นหิน


 


เรื่องนี้นำไปสู่การตั้งคำถามทางรัฐศาสตร์ว่า การบริหารการปกครองรูปแบบใดที่ควรจะคงไว้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวายที่มากับเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อของโลก เรากำลังจะก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส หรือว่าเรากำลังถอยหลังลงคลองไปสู่ยุคสมัยที่ผู้คนต่างหวาดกลัวเทคโนโลยีและระบบราชการที่ล่าช้า เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net