Skip to main content
sharethis

โดย ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์ สำนักข่าวครอบครัว มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว


 


21 มิ.ย. 2549 ผลวิจัยเผย เด็กมัธยมเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องดีและจำเป็นต้องใช้ นักสันติวิธีระบุเด็กจัดการความขัดแย้งไม่เป็น เพราะไม่มีใครสอน ต้องเริ่มแก้ที่ครอบครัวและโรงเรียน จิตแพทย์แนะนำวิธีสังเกตลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย


 


จากเหตุการณ์นักเรียนหญิงร่วมโรงเรียนตบตีกันอย่างรุนแรง แถมถ่ายภาพไปเผยแพร่ต่อเป็นคลิปวีดีโอตามที่เป็นข่าว โดยตำรวจกำลังเร่งตามตัวแม่ของเด็กหญิงทั้งสองคนมาให้ปากคำ และผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์นนทบุรี ที่เกิดเหตุ เตรียมให้นักเรียนซึ่งเป็นผู้ทำร้ายไปขอขมาเพื่อนเพื่อให้เรื่องจบลงด้วยดี ล่าสุด หลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและเสนอทางออกต่อเรื่องนี้


 


น..ส. นารี เจริญผลพิริยะ นักฝึกอบรมสันติวิธีประจำศูนย์ข่าวสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความขัดแย้ง กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นปัญหาขั้นรุนแรงที่ต้องตรวจสอบสาเหตุว่าทำไมเด็กลุกขึ้นมาทำแบบนี้ และน่าตกใจมากที่เด็กผู้กระทำรุนแรงอายุน้อยลงกว่าในอดีต รวมทั้งมีการถ่ายภาพไว้ด้วย ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องถ่ายภาพไว้ อาจเป็นการนำภาพความรุนแรงไปผลิตซ้ำ หรือเด็กอาจมองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องดี หากนักเรียนทะเลาะกัน ครูควรเข้าไปเจรจา แทนการปล่อยให้เด็กไกล่เกลี่ยกันเอง


 


น.ส. นารี กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เด็กอาจไม่รู้วิธีจัดการที่ถูกต้อง เพราะเห็นแต่ตัวอย่างจากโทรทัศน์ที่ใช้วิธีตบตีกัน โรงเรียนและครอบครัวจึงควรสอนการแก้ไขความขัดแย้งวิธีอื่นๆนอกจากการจัดการด้วยความรุนแรง โดยเด็กควรได้เรียนเรื่องการจัดการความขัดแย้งตั้งแต่เล็ก และได้รับการปลูกฝังความคิดเรื่องการเคารพในสิทธิร่างกายของผู้อื่น เพราะการกระทำเกิดจากความคิด ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่ได้สนใจเรื่องนี้จริงจัง มองเป็นแค่ปัญหาระดับปรากฏการณ์มากกว่าปัญหาฐานรากที่ต้องแก้ไข การแก้ต้องเริ่มที่ทัศนคติของครอบครัวและครูก่อน สำหรับในประเทศไทยนั้น ตนยังไม่พบการใช้หลักสูตรการจัดการความขัดแย้งในโรงเรียน แต่เคยพบหนังสือหลักสูตรการจัดการความขัดแย้งที่ที่เวียงจันทน์ ซึ่งคนไทยเป็นผู้เขียน คาดว่าน่าจะมีการสอนเรื่องนี้ในประเทศลาว


 


ทางด้าน รศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า พบปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นมีมากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากสาเหตุหลักสามประการ คือ หนึ่ง สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยคนในสังคมยอมรับพฤติกรรมทางศีลธรรมที่ย่อหย่อนจากในอดีต สอง มีสิ่งแวดล้อมหลายย่างที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น ยาเสพติด วัตถุนิยม และสื่อ สาม สิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนเองก็กระตุ้นในเกิดความรุนแรง


 


ในส่วนของครอบครัว น.พ.รณชัยกล่าวว่า พ่อแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานของตนเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง โดยดูจากนิสัยของเด็ก เช่น ก้าวร้าว เอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมไปในทางเสื่อมเสีย เช่น สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือบ่อยๆไหม ถ้าเป็นเช่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงตามมา นอกจากนี้ยังต้องสังเกตเพื่อนๆลูกด้วยว่า เป็นเด็กกลุ่มไหน มีพฤติกรรมอย่างไร นอกจากนี้ในบางกรณี เด็กมีการกระทำรุนแรงให้เห็นอย่างชัดเจน แต่พ่อแม่อาจไม่อยากยอมรับว่าลูกของตนเป็นเช่นนั้น จึงละเลย ไม่ได้ป้องกันปัญหาความรุนแรงขนาดหนักที่เกิดตามมาภายหลัง


 


นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ ระพีพัฒน์ ศรีมาลา มหาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547 เรื่องปัจจัยและความคิดเห็นของนักเรียนมัธยมศึกษาต่อการใช้ความรุนแรงในกรุงเทพมหานคร พบว่า สาเหตุที่นักเรียนมัธยมศึกษาใช้ความรุนแรงเกิดจากปัจจัยภายในตัวเด็กเอง ได้แก่ การขาดความควบคุมอารมณ์ การแสดงออกเพื่อสร้างจุดเด่นให้ผู้อื่นยอมรับ รวมทั้งเป็นค่านิยม และเรื่องของศักดิ์ศรี ส่วนปัจจัยภายนอกได้แก่ การไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ปกครอง การขาดความอบอุ่นในครอบครัว การแสดงความรุนแรงในครอบครัว กฎระเบียบของโรงเรียนไม่เข้มงวด การแก้แค้นแทนเพื่อน การลงโทษของครู และอิทธิพลของสื่อในปัจจุบัน ส่วนความเห็นต่อการใช้ความรุนแรงนั้น เด็กมัธยมในกรุงเทพฯ เห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งเหมาะสม กับเห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่จำเป็นต้องใช้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net