Skip to main content
sharethis

24 ส.ค. 2549 - สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ มหาวิทยาลัยเพื่อการค้า หรือเพื่อสังคม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. และมีการถกเถียงกันถึงประเด็นที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในปัจจุบันคำนึงถึงการแข่งขันมากกว่าจะคำนึงถึงการปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตร  


 


นายพิภพ ธงไชย กรรมการเลขานุการมูลนิธิเด็ก กล่าวว่า เมื่อมีการเปิดให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาเปิดในไทย มหาวิทยาลัยของไทยก็มุ่งแต่จะแข่งขันปรับการศึกษาเป็นการค้า จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยจะมีหน้าที่ขายวิชา เปิดหลักสูตรหลากหลายให้เลือกสรร แต่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อความรู้ แต่เป็นการศึกษาเพื่อใช้ในการเลื่อนฐานะทางสังคมเท่านั้น อีกทั้งยังคำนึงถึงความคุ้มทุน ถ้าเทอมไหนมีนักศึกษาน้อยก็ปิดหลักสูตรเพราะไม่คุ้ม แต่ไม่ได้มองการศึกษาเพื่อบริการสังคม และเปลี่ยนบทบาทอาจารย์จากผู้คงแก่เรียนเป็นผู้ประกอบการ ทางวิชาการเท่านั้น


 


ทั้งนี้ นายพิภพกล่าวว่าทางออกที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้เพื่อสังคมจะต้องเริ่มต้นที่อาจารย์ผู้สอน ควรจะมีความกล้าคิด กล้าทำ และต้องศึกษาวิจัยค้นหาความจริงมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจ


 


ทางด้านผศ.ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ อาจารย์สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าหากสถาบันใดต้องการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ก็จะต้องจัดการศึกษาในหลักสูตรที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนได้เรียน เช่น วัฒนธรรมอำนาจนิยม บริโภคนิยม หลักสูตรอารยะขัดขืน หรือเรียนรู้การประท้วงรัฐในรูปแบบที่สุภาพ เป็นต้น


 


ส่วนการที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบก็จะต้องไม่มุ่งเพื่อการค้าแต่เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้รู้อื่น ๆ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ได้มีส่วนร่วมแสดงบทบาทการให้ความรู้ด้วย


 


ขณะเดียวกัน นายจอน อึ๊งภากรณ์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต้องมีโครงสร้างบริหารที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนบริหารแบบประชาธิปไตย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ จะเริ่มขึ้นด้วยการสู้กับระบบเผด็จการบริหารของมหาวิทยาลัย ที่มีก๊กสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีเป็นพวกเดียวกัน ทั้งยังต้องมาเจอคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นตอไม้ขวางอยู่อีก เห็นได้จากร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพาที่วุฒิสภาแก้ไขให้มีตัวแทนนักศึกษาและสภาอาจารย์ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร แต่ กกอ.ก็อ้างว่าจะทำให้เสียความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งที่เป็นเลิศทางวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นแค่คำหลอกลวงที่ไม่มีอยู่จริง อีกทั้งยังให้อำนาจผู้บริหารสูงมากจนเป็นระบบอธิการบดีซีอีโอไปแล้ว


นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษาไทยแย่มานานและไม่ได้พัฒนาขึ้น ขณะที่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็สนองตอบธุรกิจมากกว่ารับใช้สังคมก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ประเทศอังกฤษเองก็พบว่า มีธุรกิจการเขียนบทความให้กับนักศึกษาในราคา 1 แสนบาท ส่วนประเทศไทยตนนึกถึงธุรกิจการติว การขายข้อสอบบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง


 


อย่างไรก็ตาม นายจอนกล่าวว่าในวุฒิสภาต่อสู้กับเรื่องมหาวิทยาลัยเพื่อการค้ามาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งตนเห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ต้องออกนอกระบบราชการจริงๆ ไม่ใช่ระบบการบริหารงานแบบเผด็จการ และสนับสนุนให้มีการประเมินผลงานอาจารย์ เพื่อจะได้เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมอาจารย์ที่เคยเชื่อมั่นว่าจะอยู่ในวิชาชีพได้อย่างมั่นคงแม้จะไม่เข้าสอน แต่มหาวิทยาลัยยังต้องเป็นของรัฐ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพราะการศึกษาเป็นสวัสดิการที่สังคมต้องได้รับอย่างเสมอภาคกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net