หอภาพยนตร์จัดโปรแกรม “ไทยแลนด์แดนเอ็กโซติก?”

นับจากผลงานที่ยังคงหายสาบสูญเรื่อง นางสาวสุวรรณ ภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรกที่ใช้นักแสดงคนไทย ของ เฮนรี แม็กเร ผู้สร้างหนังจากฮอลลีวูดที่เดินทางเข้ามาถ่ายทำในสยามเมื่อ พ.ศ. 2465 เวลาล่วงผ่านไปเกือบ 100 ปี หน้าตาของประเทศไทยได้รับการผลิตซ้ำผ่านสื่อภาพยนตร์ของคนต่างชาติอย่างต่อเนื่องภายใต้อารมณ์ความรู้สึกแปลกตาหรือที่เรียกกันว่า “เอ็กโซติก (Exotic)” ที่แม้จะมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ความซ้ำซากและแปลกใหม่ แต่ก็เป็นเสมือนกระจกสะท้อนบานใหญ่ที่เราไม่อาจหลบสายตา

ความเอ็กโซติกของเมืองไทยในหนังเป็นอย่างไร? ความเป็น “ตะวันออก” ของไทยสร้างความตื่นเต้นหรือฉงนฉงายให้คนทำหนังจากโลกตะวันตกอย่างไร? ภาพแทนของสยามในยุคแรกในสายตาคนต่างชาติคือป่า  ดินแดนที่ผู้คนมีวิถีชีวิตกับต้นไม้และผืนดิน อย่างที่ แมเรียน ซี. คูเปอร์ และ เออร์เนสต์ บี. โชดแซก สองผู้กำกับฮอลลีวูด ซึ่งต่อมาโด่งดังจาก King Kong (2476) นำเสนอไว้ใน ช้าง (Chang: A Drama of the Wilderness) หนังเงียบปี 2470 เช่นเดียวกับ ข้าวกำมือเดียว (2483) หนังสวีเดนที่เข้ามาถ่ายทำในเมืองไทยในอีก 13 ปีต่อมา และแม้เวลาจะผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ป่าของไทยยังคงได้รับการตีความในบริบทใหม่ ๆ อย่างเช่นในเรื่อง ป่า (2559) ของผู้กำกับชาวอังกฤษ พอล สเปอร์เรียร์ หรือ Pop Aye (2560) หนังสิงคโปร์ที่พูดถึงการโหยหาจิตวิญญาณธรรมชาติของคนเมือง ซึ่งมีสัตว์ป่าอย่าง “ช้าง” เป็นตัวนำเรื่อง

เมื่อสลัดตัวพ้นออกไปจากชายป่า ความเอ็กโซติกของไทยถูกนำเสนอผ่านภาพดินแดนในฝันของนักเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้กลายเป็นจุดขายสำคัญของหนังต่างประเทศหลายต่อหลายเรื่อง เช่น The Man with the Golden Gun (2517) The Hangover Part II (2554) Lost in Thailand (2555) แต่ในอีกมุม เมืองไทยกลับถูกจดจำในฐานะสถานที่ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและซอกหลืบแห่งความรุนแรง อย่างที่พบใน Bangkok Dangerous (2543) ของ ออกไซด์ และ แดนนี แปง และ Only God Forgives (2556) ของนิโคลัส วินดิง เรฟน์

อย่างไรก็ตาม ในด้านตรงกันข้าม ประเทศไทยยังนับตัวเองเป็นเมืองพุทธ ศาสนาพุทธและพระสงฆ์จึงถูกนับเป็นความเอ็กโซติกอย่างหนึ่งสำหรับชาวต่างชาติ เช่นในหนังสารคดีเยอรมัน เรื่อง ยุทธนา–ศิริพร (2506) ที่ได้ถ่ายทอดความหมายและประเพณีการบวชของชายไทยอย่างละเอียดลึกซึ้ง ในขณะที่ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับลูกครึ่งไอริช-ไทย ได้พยายามเข้าไปสำรวจสังคมพระไทยถึงก้นกุฏิใน ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murder (๒๕๕๔) และสุดท้ายแต่มักจะได้รับการกล่าวถึงเป็นอันดับแรกสุด เมื่อชายต่างชาตินึกถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ดีและแง่ลบ นั่นคือ “ผู้หญิงไทย” จนมีภาพยนตร์มากมายที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับหญิงสาวชาวไทยในความหมายที่แตกต่างกัน เช่น  Butterfly Man (2545) The Elephant King (2549) และ Soi Cowboy (2552)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของโปรแกรม “ไทยแลนด์แดนเอ็กโซติก?” ที่หอภาพยนตร์ได้คัดสรรภาพยนตร์ต่างประเทศหรือภาพบนตร์ที่กำกับโดยผู้กำกับต่างประเทศจำนวน 15 เรื่องที่ถ่ายทอดภาพเมืองไทยในมิติต่าง ๆ มาให้ชมตลอดเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2562 พร้อมด้วยกิจกรรมพิเศษ ลานดารา วิทยา ปานศรีงาม นักแสดงที่ปัจจุบันเป็นเสมือน “ใบหน้าของไทยในหนังต่างประเทศ”  ในวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม และรายการเสวนาภาพยนตร์ พูดคุยกับ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับและผู้สร้างภาพยนตร์ที่ร่วมงานกับกองถ่ายต่างประเทศที่ถ่ายทำในเมืองไทยจำนวนมาก ร่วมด้วย ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท