Skip to main content
sharethis

 

รัฐบาลญี่ปุ่นให้คำมั่นจัดสรรเงินทุน 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการช่วยเหลือเด็กข้ามชาติในด้านการศึกษาผ่านช่องทางดิจิทัลและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อช่วยในการฟื้นฟูการเรียนรู้และปกป้องพวกเขาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และการแสวงประโยชน์จากแรงงานเด็ก

22 ธันวาคม 2565 กรุงเทพฯ — องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศโครงการใหม่ในด้านการศึกษาและความมั่นคงทางอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือในเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และปกป้องพวกเขาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และการแสวงประโยชน์จากแรงงานเด็ก

โครงการริเริ่มใหม่นี้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2566 จะสนับสนุนการเรียนรู้แบบดิจิทัลเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ในยุคหลังการระบาดใหญ่ ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านอาหาร และจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย ให้กับศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชนพลัดถิ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นให้คำมั่นจัดสรรเงินทุนมากกว่า 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ยูเนสโกสำหรับโครงการนี้ คุณโอบะ ยูอิจิ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตและอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น และคุณชิเงรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการสํานักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นผู้แทนทบวงการชํานัญพิเศษของสหประชาชาติด้านการศึกษา ได้ลงนามในหนังสือเพื่อการเตรียมการสำหรับโครงการดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ

ขณะที่วิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้น มีการเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น จำนวนเด็กข้ามชาติที่ลงทะเบียนเรียนในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชนพลัดถิ่น 65 แห่งใน 5 อำเภอชายแดนในจังหวัดตาก เพิ่มขึ้นจาก 10,808 คนในเดือนมิถุนายน 2565 เป็น 11,584 คนในเดือนกันยายน 2565 เด็กมากมายในจำนวนนี้กำลังหลบหนีจากความรุนแรงและจำเป็นต้องรับเข้าศูนย์การเรียนรู้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีที่พักพิงและได้รับความปลอดภัย

คุณอาโอยางิกล่าวว่า ‘ในวันนี้ผมรู้สึกยินดียิ่งที่ได้ลงนามในเอกสารฉบับนี้กับรัฐบาลญี่ปุ่น โครงการนี้จะจัดสรรให้เด็กข้ามชาติชาวเมียนมาอย่างน้อย 3,000 คนได้รับอาหาร การศึกษา และการเรียนรู้ผ่านช่องทางดิจิทัล โครงการนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ 3,000 คนเหล่านี้จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมในอนาคตโดยอาศัยการศึกษา ซึ่งชะงักงันไปในปัจจุบันเพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศ’

คุณโอบะ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้แทนถาวรของญี่ปุ่นประจำคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) ด้วย กล่าวว่า ‘การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนหรือขาดการเรียนรู้ ทำให้เสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และการเอารัดเอาเปรียบ โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงของมนุษย์’

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการร่วมนี้จะประกาศในช่วงต้นปี 2566
รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการการศึกษาในสถานการณ์ฉุกเฉินของยูเนสโกได้ที่ https://www.unesco.org/en/education/emergencies

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net