'ยูเนสโก' ประกาศ "เมืองโบราณศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แห่งที่ 4 ในประเทศไทย ต่อจากเมืองสุโขทัย และบริวาร อยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
19 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ไทยพีบีเอส และมติชน ออนไลน์ รายงานวันนี้ (19 ก.ย.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ต่อจากเมืองสุโขทัย และบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย
มติชน รายงานต่อว่า สำหรับการขึ้นเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก เริ่มขึ้นเมื่อ 9 เม.ย. 2562 และมีมติเห็นชอบ เอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อบรรจุลงในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก โดยให้ประธานกรรมการแห่งชาติ ว่าอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในหนังสือถึงศูนย์มรดกโลก (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 เมื่อปี 2562 ที่ประชุมได้ให้การรับรองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย เมืองโบราณศรีเทพ ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก

เขาคลังใน ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ (ที่มา: เว็บไซต์สำรวจพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงกรมศิลปากร)
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จ้างที่ปรึกษาจัดทำเอกสารการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก
ต่อมา เมื่อ 10 ธ.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอเเหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก
จากนั้น 19 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา และลงมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ และเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ลงนามในเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 ประธานกรรมการแห่งชาติฯ ได้ลงนามในหนังสือถึงศูนย์มรดกโลกจัดส่งเอกสารการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ ฉบับสมบูรณ์ เข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ภายหลังจากการที่ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข 2 ครั้ง
กระทั่ง 16 ก.ย. 2565 Ms.Jigna Desai ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดียจากองค์กรที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรม (ICOMOS) ได้เดินทางมาตรวจประเมินพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวช้อง
ต่อมา 26 พ.ย. 2565 ICOMOS จัดการประชุมหารือ ICOMOS World Heritage Panel เพื่อประเมินการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก ผ่านการประชุมทางไกล โดยมีผู้แทนกรมศิลปากร และ สผ.เข้าร่วม และมีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนชื่อแหล่งจาก “The Ancient Town of Si Thep” เป็นชื่ออื่นที่สามารถสื่อถึงแหล่งที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันในการนำเสนอ
21 ธ.ค. 2565 สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ในฐานะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก จัดส่งรายงานความก้าวหน้าการประเมินการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก พร้อมขอรับข้อมูลในประเด็นต่างๆ และ สผ.ได้จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลก ตามที่ ICOMOS ร้องขอ
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา มีการพิจารณาการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก ในวาระการประชุมที่ 45COM 8B.41 (ร่าง) ข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลก (Inscribe) พร้อมขอให้ไทยดำเนินการในเรื่องต่างๆ รวม 11 ข้อ
กระทั่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในวันนี้