ลีซู นาเลา...คนภูเขา กับการปรับตัว เมื่อยูเนสโกประกาศดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก

  • ย้อนดูประวัติศาสตร์เส้นทางของลีซู พร้อมเปิดมุมมอง 'อะลูมิ' ลูกสาวของภูเขา ผลกระทบนโยบายทวงคืนผืนป่า การมาของนโยบายรื้อความฝัน
  • กลับมาตั้งหลัก ต่อสู้ เรียนรู้ อยู่อย่างไรให้รอด ผ่านของดีที่มีอยู่ ภูมิปัญญาชนเผ่า ความมั่นคงทางอาหาร เปิดประชุม คิดค้นกลไกชาวบ้าน สร้างกติกาชุมชน บนวิถีชนเผ่า กับพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว
  • ชุมชนนาเลาจับมือกับคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เตรียมจัดทำห้องสมุดพร้อมมุมแสดงวัฒนธรรมลีซู เน้นออกแบบบนพื้นฐานเคารพและศรัทธาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชุน

เมื่อยูเนสโกประกาศให้ "ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา และนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของไทย จึงทำให้หลายองค์กรหลายหน่วงยงาน หลายชุมชนท้องถิ่นตื่นตัว และพยายามเรียนรู้ ตั้งรับปรับตัวกันยกใหญ่

หลังการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาแถลงเกี่ยวกับการประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ปีค.ศ.2021 โดยได้กล่าวว่า พื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว เป็นต้นแบบการทำงานที่ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง BCG Economy การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม แนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆในระดับประเทศและสากลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และ จ.เชียงใหม่  โดยเฉพาะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆพัฒนากลไกในพื้นที่ด้วยรูปแบบคนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน

“พื้นที่สงวนชีวมณฑล อธิบายง่าย ๆ คือ พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นตัวอย่างของคนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน คนดูแลป่า และป่าดูแลคน รักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ให้คนรุ่นต่อไป”

แน่นอน ชุมชนบ้านนาเลา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าลีซู และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านหลังของดอยหลวงเชียงดาวมาเนิ่นนาน ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ออกมาตั้งรับปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ หลังดอยเชียงดาว กลายเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก โดยเฉพาะในเรื่องของมิติการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม

ย้อนดูประวัติศาสตร์เส้นทางของลีซู

เมื่อพูดถึงความเป็นชนเผ่า ชาติพันธุ์ในประเทศไทย ลีซู (Lisu) ถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีเสน่ห์ มีสีสัน ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และการแต่งกาย ล้วนน่าสนใจมากอีกชนเผ่าหนึ่ง  ชนเผ่าลีซู (ลีซอ) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต-พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ทางตอนเหนือหุบเขาสาละวิน ในเขตมณฑลยูนนาน และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า

ชนเผ่าลีซู ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเมื่อ 4,000 ปี ที่ผ่านมา พวกเขาเคยมีอาณาจักรเป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติ ต่อมาชนเผ่าลีซู จึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้ กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน

หลังจากนั้นได้อพยพลงมาทางใต้  เนื่องจากเกิดการสู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกันไป เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 กลุ่มแรก มีเพียง 4 ครอบครัว ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวลีซู ถึงเรื่องราวการอพยพว่า ได้อพยพมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ ของเมืองเชียงตุงประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่น ฐานอยู่ที่บ้านลีซูห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย และต่อมาดได้โยกย้ายไปตั้งบ้านเรือน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่และสุโขทัย

ลีซูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ลีซูลายกับลีซูดำ ชาวลีซูที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำนั้นจะอยู่ในประเทศพม่าและจีน

เมื่อพูดถึงเรื่อง ภาษาของลีซู  ลีซอ อยู่กลุ่มเดียวกับ ลาหู่และอาข่า เรียกว่าโลโล กลุ่มโลโลมีความสัมพันธ์กับภาษาพม่า มีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ แต่ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับ ลีซูอที่นับถือศาสนาคริสต์ เป็นคริสเตียน ได้มีการใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่า และได้การใช้สืบทอดต่อๆ กันมา

ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ชนเผ่าลีซู ก็เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ไปตามดงดอยต่างๆ กระจายไปอยู่ในพื้นที่ครบทุกตำบลในเชียงดาว เช่น บ้านรินหลวง หนองแขม ป่าบงงาม ห้วยจะค่าน ห้วยน้ำริน ห้วยต้นโชค ห้วยโก๋ ห้วยน้ำฮาก  บ้านน้ำรู ป่าเกี๊ยะ ฟ้าสวย นาเลา เป็นต้น

อะลูมิ...ลูกสาวของภูเขา

“อะลูมิ เลายี่ปา” หญิงสาวชนเผ่าลีซูคนนี้ เธอเป็นลูกสาวของภูเขา เพราะลืมตาออกมาดูโลก ก็มองเห็นดอยหลวงเชียงดาว ตั้งตระหง่านเด่นชัด โอบกอดเธอไว้ทุกคืนและวัน

อะลูมิ เลายี่ปา

อะลูมิ เกิดและเติบโตที่บ้านฟ้าสวย หย่อมบ้านเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนาเลาใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาหลังดอยหลวงเชียงดาว เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่แฝงตัวอยู่เงียบๆ และสันโดษ นานๆ ถึงจะมีผู้คนจากข้างนอกเดินทางเข้าไปพบเจอ  จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้ คือจะมีลำธารเล็กๆ ไหลลงมาจากเทือกดอยหลวงเชียงดาว กลายเป็นร่องลำห้วยเล็กๆ ผ่านกลางหมู่บ้าน ในหน้าแล้งสายน้ำจะมุดหายไปในโพรงลึก แล้วไปโผล่ในถ้ำค้างคาวท้ายหมู่บ้าน ก่อนจะไหลลงไปกลายเป็นลำน้ำแม่ป่าเส้า แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำแตง ที่ตำบลเมืองคอง

“ตอนเด็กๆ ก็ใช้ชีวิตอยู่บนดอยนี้ตลอด เริ่มเรียนหนังสือในชุมชน ตอนนั้นมีศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านฟ้าสวย จากนั้นมีโอกาสย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบ้านถ้ำ จนจบชั้น ป.6 จึงเข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษา จนจบชั้น ม.6 ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม”

จากนั้น เธอมีโอกาสลงไปเรียนต่อในตัวอำเภอเชียงดาว จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงตัดสินใจเข้าไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยว จนจบปริญญาตรี กลับมาบ้านดอย

“ครั้งแรกที่ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาการท่องเที่ยว ก็ไม่คิดอะไรมาก รู้แต่ว่าชอบเที่ยว ชอบเดินทาง แต่เริ่มคิด และถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนก็คือ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นปีสอง ปีสาม พอกลับมาบ้านบนดอยในช่วงปิดเทอม ตอนนั้นพี่สาวกับพี่เขยเริ่มทำที่พักโฮมสเตย์ชื่อ “ระเบียงดาว” ที่บ้านนาเลาใหม่ ก็ได้อยู่ช่วยงานโฮมสเตย์ แล้วรับจ้างเป็นคนนำทาง พานักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว ก็จะมีรายได้ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ตามแต่ละทริป ก็ได้เงินมาเป็นค่าเทอม ส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี ในปี 2458”

อะลูมิ เธอเป็นลูกคนเดียวในครอบครัวเลายี่ปา ที่มีโอกาสลงไปเรียนหนังสือ จนจบระดับชั้นปริญญาตรี และเธอถือว่าเป็นลีซูคนแรกของหมู่บ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ที่เรียนจบถึงปริญญาตรีได้ พอเรียนจบแล้ว อะลูมิก็ตัดสินใจนำความรู้กลับมาบ้านดอย

“พอเรียนจบกลับมา  ก็ช่วยพี่สาวขายกาแฟ ที่ระเบียงดาว ก็สนุกดี ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอลูกค้านักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาทุกวัน”

ตอนนั้น อะลูมิ เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงตัดสินใจทำโฮมสเตย์ของตัวเอง ตั้งอยู่ภายในบริเวณระเบียงดาว โฮมสเตย์ ของพี่สาว ทำให้เธอมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักตลอดช่วงฤดูหนาว  และนั่นทำให้เธอรู้ว่า สิ่งที่เธอได้ตัดสินใจลงจากดอยไปเรียนหนังสือ และเลือกเรียนชั้นปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยว นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างน้อยเธอสามารถนำเอาความรู้นี้มาปรับใช้กับการท่องเที่ยวในชุมชนลีซูแห่งนี้ได้

ภาพเหตุการณ์ หน่วยพญาเสือรื้อโฮมสเตย์ บ้านนาเลา ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า 18-22 มกราคม 2562

นโยบายทวงคืนผืนป่า...การมาของนโยบายรื้อความฝัน

จู่ๆ ก็มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ของ คสช.เข้ามาในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งมีวิถีชีวิตและการทำมาหากินสัมพันธ์กับที่ดินและป่าไม้ ได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ หลายรายนั้นถูกจับกุมดำเนินคดี

ในที่สุด หน่วยพญาเสือ หรือหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า ก็เข้ามาปฏิบัติงานทวงคืนผืนป่า แต่งตั้งโดย คสช .ได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว ร่วม 100 นาย เข้ามายังพื้นที่หมู่บ้านนาเลาใหม่แห่งนี้  ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2562 โดยได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบบ้านพักนักท่องเที่ยว บริเวณบ้านนาเลาใหม่ หมู่ 10 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ ได้อ้างถึงบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินบ้านนาเลาใหม่ เมื่อวันที่ 7  พฤศจิกายน 2559 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดเงื่อนไขการแจ้งครอบครองที่ดินในเขตป่าตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 การปลูกพืชเสพติด (ฝิ่น) และการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าซึ่งตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ให้คงเหลือบ้านพักนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง พื้นที่กางเต็นท์ 4 หลัง ระเบียงชมวิว 1 ระเบียง

ส่งผลทำให้บ้านพักโฮมสเตย์ ระเบียงดาว ของพี่สาวถูกรื้อให้เหลือเพียง 2 หลัง และแน่นอน บ้านพักโฮมสเตย์ของอะลูมิ ที่ปลูกสร้างไว้ใกล้ๆ ก็ถูกรื้อไปด้วย ทำให้ความฝันของเธอนั้นสูญสลาย และทำให้วิถีชีวิตนั้นได้รับผลกระทบ แบบไม่ทันตั้งตัวกันเลย

“ตอนนั้น เรารู้สึกไม่ค่อยดีกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเลย ที่จู่ๆ ก็มาใช้คำสั่งกับชาวบ้านแบบนี้ มันไม่น่าเกิดขึ้น ทำไมไม่คุยกันดีๆ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ไปบุกรุกทำลายป่าอะไรเลย เราแค่ทำห้องพักอยู่ในโซนหมู่บ้านเท่านั้นเอง แต่กลับถูกเหมารวม ทำให้เราไม่ได้รับความเป็นเป็นธรรม ตอนนั้นก็พยายายามเรียกร้อง ไปร้องเรียนหลายๆ องค์กรหน่วยงาน แต่ก็ไม่เป็นผล”

ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามไปต่างๆ นานา

“ทำไมรัฐไม่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ทำไมต้องมาสร้างความขัดแย้ง สร้างกระแสให้ชาวบ้านทะเลาะกันด้วย ทำไมไม่เจรจาหาทางออกร่วมกัน”

ตั้งหลัก ต่อสู้ เรียนรู้ อยู่อย่างไรให้รอด

หลังจากที่ชุดหน่วยพญาเสือ เข้ามาและจากไปแล้ว ปล่อยให้ชาวบ้านชุมชนแห่งนี้ต้องคอยแก้และจัดการปัญหาด้วยตนเอง ทำให้เธอและชาวบ้าน ต้องค้นหาวิธีการเรียนรู้ปรับตัว ว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้รอด เมื่อทางการยังไม่อนุญาตให้เปิดโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวให้พักได้ แต่สามารถเข้าไปแวะเที่ยวในชุมชน หรือแวะถ่ายรูปทิวทัศน์ความงามของดอยหลวงเชียงดาวได้ตามปกติ

“ในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องรายได้โดยตรง เพราะบ้านนาเลาใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมความงามของธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ในขณะที่พักโฮมสเตย์ ทางเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังไม่อนุญาตเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและพักกัน แล้วมาเจอสถานการณ์โควิดอีก ทุกอย่างสะดุดไปหมด ปิดตัวยาว ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว”

อะลูมิ จึงตัดสินใจร่วมกับพี่สาวและน้องสาว ปรับลานหน้าบ้าน ให้กลายเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และจุดชมวิว เพื่อดึงดูดให้ลูกค้า นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาเที่ยวชมทิวทัศน์ความงามของดอยหลวงเชียงดาว

ที่น่าสนใจ ก็คือ อะลูมิ พยายามเรียนรู้และปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ในยุคโควิดแบบนี้  จึงได้ชวนพี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันทำ ‘น้ำพริกลีซูนรก’ ขายให้กับลูกค้าทางออนไลน์ สร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง

“เราใช้ล่าจวึ๊...เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของลีซูดั้งเดิม จะมีเมล็ดอวบอ้วน รสชาติเผ็ดไม่ธรรมดา ชาวบ้านจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามไร่ตามสันดอย เราเอามาทำ ‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ต่อมา เราทำน้ำพริกให้ลูกค้านักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักโฮมสเตย์“บ้านพักเฮือนสุข” ของเรา แล้วลูกค้าชอบ ติดใจในรสชาติน้ำพริกนรก จึงขอสั่งซื้อนำกลับไปทานต่อที่บ้าน หลังจากนั้น ก็จะมีลูกค้าประจำกลุ่มนี้ สั่งซื้อจากเราเป็นประจำทางออนไลน์ เราก็แพ็คใส่กระปุก จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ”

ของดีที่มีอยู่ ภูมิปัญญาชนเผ่า ความมั่นคงทางอาหาร

อะลูมิ บอกว่า วิถีชนเผ่าลีซู นั้นจะมีการปลูกข้าวไร่ ไว้กินปีต่อปีอยู่แล้ว

“พันธุ์ข้าวไร่ของชนเผ่าลีซูมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ที่ยังมีปลูกอยู่ คือ ‘หย้า ด่า แหล๊ะ’ หรือข้าวพันธุ์ลาย ‘หย้า ด่า มา’ หรือข้าวเม็ดใหญ่ ‘หย้า บี้ ฉวิ’ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวเมล็ดสีเขียว”

ภายในไร่ข้าว หรือในสวนใกล้ๆ บ้าน ก็จะปลูกพืชผักต่างๆ แซมไว้ ไม่ว่าจะเป็น พริก แตงกวา แตงเปรี้ยว ผักกาด ถั่วดำ ถั่วแดง ฟักทอง ฟักเขียว เต็มไปหมด

“ที่เด่นๆ ของลีซู ก็คืออุพิ ผักกาดดอยรสชาติขมๆ แต่อร่อยมาก นอกจากเราจะเก็บกันสดๆ มาทำอาหารแล้ว พี่น้องลีซูจะเอามาแปรรูปโดยเอาไปตากแห้ง แล้วเก็บใส่ถุงมัดไว้ พอถึงเวลาก็เอามาทำกับข้าว เราก็เอามาแช่น้ำแป๊บหนึ่ง แล้วก็เอาไปผัดหรือแกงใส่หมู ไก่ ก็อร่อยเลย...อีกอันหนึ่งก็คือ ‘อะ ปวู แกว๊ะ’ หรือ แตงเปรี้ยว ลูกใหญ่ๆ เนื้อเยอะ รสชาติออกเปรี้ยวๆ หน่อย แต่ทำอาหารได้อร่อยมาก”

นอกจากจะมีข้าว พืชผักในไร่แล้ว ชนเผ่าลีซูยังมีสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ เอาไว้ทำอาหารอีกด้วย

“ในช่วงปีใหม่ลีซู ชาวบ้านเขาจะฆ่าหมู เอามาเลี้ยงดูญาติๆ ได้ทานด้วยกันแล้ว สิ่งหนึ่งที่พี่น้องลีซูจะต้องทำ คือการนำหนังหมู เนื้อติดมัน มาเทลงในกระทะที่ตั้งไฟร้อนๆ จากนั้นทำการเคี่ยวเอาน้ำมันหมู จากนั้นรอให้เย็น ชาวบ้านจะเทลงไปในไห แล้วปิดฝาเก็บไว้ แบบนี้ เราก็สามารถมีน้ำมันหมูไว้ทำอาหารได้ตลอดทั้งปีกันเลยทีเดียว”

ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่

ประชุม คิดค้นกลไกชาวบ้าน สร้างกติกาชุมชน

หลังจากมาตรการล็อคดาวน์ เรื่องโควิด-19 ถูกยกเลิก อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เรื่องการทำโฮมสเตย์เริ่มผ่อนคลาย คลี่คลายลง ทำให้โฮมสเตย์ชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่ ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่ บอกว่า เราต้องการให้ชาวบ้านทุกคน ทำมาหากินกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จึงมีการประชุมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันสร้างกติกาชุมชนกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการทำโฮมสเตย์ของชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่

“โดยมติในที่ประชุมชาวบ้าน ให้ตั้งราคาค่าที่พักในอัตราเท่ากัน คือ ที่พักแบบบ้านหรือห้องพัก ให้คิดในราคาคนละ 650 บาท รวมอาหารเช้า และที่พักแบบเต็นท์นอน ให้คิดในราคาคนละ 550 บาท ถ้าเจ้าของโฮมสเตย์จะลดราคาต่ำกว่า ก็แล้วแต่ลูกค้ากับเจ้าของจะคุยกัน ตกลงกันเอง  แต่ห้ามตั้งราคาเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ แต่ราคาอาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้นะ  ที่สำคัญก็คือ ให้มีการหัก 50 บาทต่อคน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อจะได้นำเงินก้อนนี้ไปช่วยกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน และเข้าไปสนับสนุนเรื่องการจัดการไฟป่าในพื้นที่รอบๆ ดอยหลวงเชียงดาว”

เช่นเดียวกับ อะลูมิ ก็บอกย้ำว่า ตอนนี้ชาวบ้านมีความหวัง มีความฝันร่วมกันว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้ชุมชนของเราเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะที่ผ่าน เราเจอกับวิกฤติปัญหามากมาย ทั้งปัญหาภายในชุมชนเอง และปัญหาจากคนภายนอก จากภาครัฐด้วย

“มาถึงตรงนี้ เรามีกติกาชุมชนแล้ว ก็อยากให้พี่น้องชนเผ่าลีซูร่วมกันคิดเรื่องการท่องเที่ยวว่าทำอย่างไรให้มีความยั่งยืนจริงๆ ซึ่งในส่วนตัว อยากจะทำปฏิทินการท่องเที่ยวในชุมชนตลอดทั้งปี ว่าในแต่ละเดือน ชุมชนเรามีประเพณีวัฒนธรรมดีๆ อะไรบ้าง ที่จะนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเที่ยวชมกันตลอดทั้งปี”

ถ้าไล่เรียงวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าลีซูในรอบปี นั้นถือว่าน่าสนใจในหลายๆ ด้านเลยทีเดียว นับจากงานปลูกข้าวไร่ ช่วงต้นฤดูฝน เกี่ยวข้าวไร่ ในช่วงปลายปี งานทำบุญถวายพืชผลแรก ประเพณีกินข้าวใหม่ ประเพณีปีใหม่ลีซู งานปีใหม่น้อย งานทำบุญบรรพบุรุษ รวมไปถึงการรื้อฟื้นเรื่องการแต่งกายประจำเผ่า การแสดงดนตรีประจำเผ่า กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนนำมากระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ได้เป็นอย่างดี

อะลูมิ ยังบอกอีกว่า เรามีความฝันกันว่าอยากจะให้มี ‘ตลาดชุมชนคนลีซู’ โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องลีซูทั้งหย่อมบ้านฟ้าสวย นาเลาเก่า นาเลาใหม่ นำผลผลิตการเกษตร พืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งทุกคนปลูกไว้กินในไร่กันอยู่แล้ว อย่างเช่น ข้าวไร่ข้าวดอย พริก ฟักเขียว ฟักทอง แตงกวา น้ำพริก รวมไปถึงเสื้อผ้า ถุงย่าม เครื่องดนตรีชนเผ่า ของดีๆ เหล่านี้เรามีอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาวางขายในตลาดชุมชนของเราได้

วิถีชนเผ่า กับพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว

การจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทั้งด้านการอนุรักษ์ การท่องเที่ยว และส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่างๆ ในเขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว เกิดความยั่งยืนได้

วิมลมาศ นุ้ยภักดี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ และเป็นผู้เสนอให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ให้กับทางยูเนสโก (UNESCO) ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ที่ตนเองเสนอให้ทางยูเนสโกพิจารณา เพราะเรามองว่าดอยหลวงเชียงดาวนั้นมีจุดเด่น มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งมีแห่งเดียวของประเทศและของโลก มีพืชเฉพาะถิ่น 70 กว่าชนิด มีพรรณพืชมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอยู่ที่ดอยเชียงดาว นอกจากนั้น ยังมีสัตว์ป่าหายาก อย่างเช่น เลียงผา  ไก่ฟ้าลายขวาง หรือนกไต่ไม้ใหญ่ เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า ‘ชีวมณฑล’นั้นหมายถึง บ้านของสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมไปถึงป่า  ระบบนิเวศน์ สัตว์ป่า และมนุษย์ ให้อยู่อาศัยกันได้อย่างเกื้อกูล ทำอย่างไรจะให้มนุษย์นั้นสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ เราคงต้องมาวางแผนร่วมมือกันในการจัดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่กันต่อไป เช่น มีการสร้างแบรนด์สัญลักษณ์ของพื้นที่ชีวมณฑล ไปติดไว้ในผลิตภัณฑ์สินค้าของแต่ละชุมชน เพื่อสร้างมูลค่า สร้างคุณค่าว่าสินค้าของชาวบ้านนั้นได้รับการันตีจากยูเนสโก โดยเน้นสินค้าที่ปลอดสารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เหมือนหลายๆ ประเทศที่ทำกันมาก่อนแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ถ้าเราทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในเชียงดาว”

วิมลมาศ ยังบอกอีกว่า หลังจากนั้น ถ้ามีการขับเคลื่อนเดินหน้า ต่อไปเราอาจขยับนำไปสู่การตั้งกองทุนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว โดยมีเป้าหมาย ว่าใครจะได้รับประโยชน์จากพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็จะมีการจ่ายคืนกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อเข้ากองทุน เราเรียกว่า เป็นระบบจ่ายแทนคุณระบบนิเวศน์ ซึ่งระบบนี้ก็จะได้จากลูกหาบ ไกด์ คนขับรถนำเที่ยว นักท่องเที่ยว รวมไปถึงการขายผลิตภัณฑ์สินค้าและที่พัก ซึ่งรายได้ที่เข้าระบบจ่ายแทนคุณระบบนิเวศน์นี้ ก็สามารถนำไปบริหารจัดการเข้าไปช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่ดอยเชียงดาว รวมไปถึงการจัดการเรื่องไฟป่า การฟื้นฟู การดูแลเรื่องการทำงานของจิตอาสาต่างๆ ต่อไปได้

อะลูมิ เลายี่ปา บอกว่า พอรู้ข่าวบ้าง ว่าดอยหลวงเชียงดาว ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ก็รู้สึกดีใจ และรู้สึกว่าเป็นสิ่งดี ถ้าจะมาช่วยหนุนเสริมให้ชาวบ้าน ได้มีการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยว ให้คนในชุมชนสร้างรายได้ ก็พร้อมจะสนับสนุน

“เพราะตอนนี้หมู่บ้านเราก็มีมติชุมชนกันอยู่แล้ว  ว่าจะหักเงินจากค่าที่พักส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนช่วยกิจกรรม รวมไปถึงเรื่องการจัดการไฟป่า แต่ตอนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องพื้นที่สงวนชีวมณฑลเลย เพราะฉะนั้น อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาให้ความรู้แก่ชาวบ้านก่อนเป็นลำดับแรก จะดีมากๆ เลย”

เช่นเดียวกับ ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านนาเลาใหม่ ก็บอกว่า การที่มีการประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกนั้นเป็นสิ่งที่ดี

“แต่ปัญหาคือ ณ เวลานี้ ชาวบ้านบนดอย เขายังไม่รู้ ไม่เข้าใจเลยว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นคืออะไร แล้วชาวบ้านจะตั้งรับกับมันอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกฝ่าย จะต้องมาสร้างกระบวนการร่วมด้วยกัน ให้ป่าอยู่ได้ ดอยหลวงอยู่ได้ คนอยู่ได้ ไม่มีความขัดแย้งกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”

ชุมชนนาเลาจับมือกับคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เตรียมจัดทำห้องสมุดพร้อมมุมแสดงวัฒนธรรมลีซู เน้นออกแบบบนพื้นฐานเคารพและศรัทธาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชุน

ล่าสุด ชุมชนนาเลาได้จับมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมจัดทำโครงการสร้างห้องสมุดพร้อมมุมจัดแสดงวัฒนธรรมลีซูบ้านนาเลา โดยอาจารย์ทากะนาโอะ โทโดะ เป็นผู้บริหารโครงการ

ชาญพินิจ พันธุ์ยี่ปา ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาเลา บอกว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ทางนักศึกษาและอาจารย์จากจุฬาฯ จะมาทำโครงการนี้ให้กับชุมชน โดยจะมีการออกแบบจัดสร้างสิ่งปลูกสร้างในจุดชมวิวบนดอย โดยจะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ช่วยเผยแผ่วัฒนธรรมลีซู ซึ่งรวมถึงดนตรีชนเผ่าและงานหัตถกรรม เช่น งานผ้า งานปักผ้า งานสานไม้ไผ่และเครื่องดนตรีต่างๆ และวิถีชีวิตชนเผ่าลีซูด้วย แล้วยังมีมุมห้องสมุดเพื่อผู้สนใจจะได้เรียนรู้และเข้าใจเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าด้วย

ทั้งนี้ จะมีทีมออกแบบ คือกลุ่มนักศึกษาจะลงพื้นที่เยี่ยมชมหมู่บ้าน เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของชุมชน ในเรื่องสภาพพื้นที่ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมและงานหัตถกรรม รวมถึงวัตถุดิบวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในชุมชนด้วย พบปะพูดคุยเพื่อทราบความต้องการประโยชน์ใช้สอยของสิ่งปลูกสร้างที่จะทำร่วมกัน เรียนรู้เพื่อเข้าใจที่จะสื่อสารซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับทีมที่จะช่วยกันออกแบบสิ่งปลูกสร้างขนาดเล็กในความดูแลและให้คำปรึกษาของอาจารย์ผู้จัดการโครงการ โดยโครงการ  DDC ( Design Construction for Community) นี้เน้นการสร้างสรรค์งานทางสถาปัตยกรรมที่ออกแบบบนพื้นฐานความเคารพและศรัทธาในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชุน และยังสื่อสารเน้นย้ำความสวยงามตามธรรมชาติของดอยหลวงเชียงดาวอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนตุลาคมปีนี้

ภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ลีซู…       

หากใครเดินทางไปเที่ยวเชียงดาว บนเส้นทางภูเขา เชียงดาว-เมืองคอง ระหว่างทาง แวะไปเยือนหมู่บ้านนาเลาใหม่ แล้วเดินไปยังจุดชมวิว “บ้านพัก เฮือนสุข” โฮมสเตย์เล็กๆ ของอะลูมิ ก็มองเห็นเธอแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า สีสันสวยสดงดงาม คอยต้อนรับนักท่องเที่ยว บางครั้งเธอยืนขายสินค้าชนเผ่า บางครั้งก็สาละวนก่อไฟ ตั้งกา ต้มน้ำร้อน เตรียมชงชา กาแฟให้กับลูกค้า ที่มานั่งชมวิวดอยหลวงเชียงดาว

อะลูมิ พูดถึงอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าลีซู ว่า รู้สึกภูมิใจมาก ถึงแม้ว่าในวัยเด็ก เวลาลงดอยไปข้างล่าง ไปในตัวเมือง มักจะถูกล้อ ว่าเราเป็นคนป่า คนดอย ทำให้รู้สึกอาย เพราะถูกคนเขามองแบบนั้น

“แต่พอเราโตขึ้นมา ไม่รู้สึกอายแล้ว รู้สึกภาคภูมิใจมากๆ ตอนนี้ เวลาไปไหน จะใส่ชุดลีซูไปทุกๆที่เลย ไปเชียงใหม่ เดินทางนั่งรถ นั่งเครื่องบิน ไปกรุงเทพฯ ไปเที่ยวทะเล ภาคใต้ ก็ใส่ชุดลีซูให้คนเขามองไปเลย ทุกคนเริ่มสนใจ ก็แปลกดี”

เธอบอกอีกว่า รู้สึกดี และคิดถูกแล้ว ที่ชีวิตหวนคืนกลับมาบ้านเกิดบนดอยแห่งนี้

“ถึงแม้ว่าบนดอย ยังไม่มีไฟฟ้า แต่เรามีข้าวกิน เพราะพี่น้องลีซูทุกครอบครัวจะต้องทำไร่ข้าว ปลูกข้าวไร่ไว้กิน ต้องขอบคุณบรรพบุรุษของชนเผ่าลีซู ที่คอยสั่งสอนพวกเราเอาไว้ว่า...ชีวิตไม่มีอะไร ก็ขอให้มีข้าว ถ้ามีข้าว เราก็ไม่ตาย ส่วนพืชผักเราหาได้ง่ายๆ ตามไร่ตามดอย”

เช่นเดียวกับ พ่อเฒ่าหล้า เลายี่ปา ทุกเช้า พ่อเฒ่าจะชอบเดินมานั่งเคี้ยวหมาก เลี้ยงหลานตัวน้อย อยู่ข้างกองไฟ ครั้นพอมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแวะเวียนกันเข้ามานั่งทานอาหาร กาแฟ ตรงจุดชมวิว พ่อเฒ่าจะหยิบเอาซือบือ(ซึงหนังแลน) กับฟุหลุ (แคนน้ำเต้า) ออกมาเล่นให้นักท่องเที่ยวได้ฟังได้ชมกันทุกครั้ง

พอตกสาย ลูกค้าหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น ก่อนเดินทางกลับ ได้เดินเข้าไปจับมือร่ำลา ยกมือไหว้ขอพรพ่อเฒ่า พ่อเฒ่าหล้าตะโกนบอกทั้งสองคนด้วยเสียงดังพร้อมกับเสียงหัวเราะชอบใจ ทำให้ผู้คนที่พบเห็นรู้สึกและสัมผัสได้

ว่าชุมชนลีซู นาเลา ได้เริ่มเรียนรู้ ตั้งรับปรับตัว  ภายหลังยูเนสโกประกาศดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก เหมือนที่หลายๆ คนได้เน้นย้ำนั่นแหละว่า ทำอย่างไรให้คนอยู่ได้ และให้ธรรมชาติอยู่ได้ อย่างสมดุลและยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง

  • ยูเนสโกประกาศ "ดอยเชียงดาว" เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของไทย,ข่าวไทยพีบีเอส, 16 กันยายน 2564 https://news.thaipbs.or.th/content/307949
  • นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ กับภาพสะท้อน ‘อำนาจนิยม’ https://themomentum.co APR 4, 2018
  • หนังสือสารคดีชาติพันธุ์ “เด็กชายกับนกเงือก...ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง”,ภู เชียงดาว,สำนักพิมพ์วิถีชน,มกราคม 2547
  • ลีซู นาเลา ผู้เฒ่าแห่งความสุข กับลูกสาวของภูเขา,ภู เชียงดาว, นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 442 ประจำเดือนมกราคม 2565
  • คนท้องถิ่นปรับตัวอย่างไร : เมื่อดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก,องอาจ เดชา,ประชาไท, 24-12-2021 https://prachatai.com/journal/2021/12/96549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท