Skip to main content
sharethis

ที่ สม0001/01/297
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
422 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กทม.
10330
22 ธันวาคม 2547

เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
อ้างถึง หนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ สม 0001/01/272 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2547

ตามหนังสือที่อ้างถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอข้อคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติต่อรัฐบาล เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการคลี่คลายและแก้ไขสถานการณ์ กรณีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ด้วยความห่วงใยมาโดยตลอดและได้รวบรวมข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วพบว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าสถานตำรวจภูธรตากใบมีการกระทำที่ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตลอดจนขัดต่อปฏิญญาสากลและกติการะหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี หลายประการดังนี้

1) การสลายการชุมนุมด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนพร้อมกระสุนจริง เพื่อควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม จำนวน 7 ราย ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินสูญหายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีบุคคลสูญหายไปหลายราย ซึ่งแม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม แต่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็เป็นเสรีภาพที่บุคคลพึงกระทำได้ การจำกัดเสรีภาพใดๆ ควรจะต้องมีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริง และมีการประกันเสรีภาพดังกล่าวโดยกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เมื่อยังไม่มีการพิสูจน์ว่า บุคคลใดกระทำความผิด บุคคลนั้นก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่สมควรที่จะถูกกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพใดๆ

2) การควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมในลักษณะให้ถอดเสื้อและจับมัดมือไพล่หลัง แล้วให้นอนคว่ำหน้าอยู่ในบริเวณพื้นดินหรือร่างกายบางส่วนแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ตลอดจนการใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถตอบโต้การกระทำของผู้ใด เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวัง ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และลิดรอนสิทธิมนุษยชน

3) การเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 1,298 ราย ไปควบคุมไว้ ณ ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้นอนทับซ้อนกันประมาณ 4-5 ชั้น บนรถยนต์ที่ขนส่งภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดเป็นเวลานาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน78 ราย ซึ่งเป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งเป็นการทรมานและการทารุณกรรมที่ไม่ชอบอีกด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตระหนักถึงภารกิจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายาม
ดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งต้องเผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้ชุมนุมจนทำให้เจ้าหน้าที่บางคนได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใคร่กราบเรียนข้อคิดเห็นและแนวทางในการเยียวยาแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ผลยิ่งขึ้นดังนี้

1) รัฐบาลควรต้องเร่งพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินคดีและหรือลงโทษผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ ตลอดจนเร่งดำเนินการเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

2) รัฐบาลควรต้องเร่งคืนทรัพย์สินหรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้ถูกควบคุมตัวที่ทรัพย์สินสูญหายหรือ
เสียหายจากเหตุการณ์นี้

3) รัฐบาลควรต้องเร่งตรวจสอบหาความจริงในเรื่องผู้สูญหายในเหตุการณ์นี้แล้วแจ้งให้ประชาชนทราบ

4) รัฐบาลควรต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก ตลอดจนมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและบังคับใช้มาตรการดังกล่าว อย่างเคร่งครัดจริงจัง

5) รัฐบาลควรต้องทบทวนนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยด่วน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เคยมีข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และปรับให้มีความสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมให้เกิดความยอมรับในความหลากหลายทางความคิด ความรู้สึก วัฒนธรรมของประชาชนและการนับถือศาสนา ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว อันจะนำมาซึ่งความสงบและความสันติสุขแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าว

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินการคลี่คลายแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเร็วต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
นายเสน่ห์ จามริก
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net