Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ่ายแก่ๆ วันอาทิตย์ต้นเดือนตุลาคม หลัง คลินิกกฎหมาย ได้เวลาปิดทำการ ข้าพเจ้าจึงได้โอกาสพูดคุยกับ พี่ ธนู เอกโชติ ทนายความหนุ่มอารมณ์ดี ที่ให้คำปรึกษารวมไปถึงดำเนินการเรื่องคดีให้กับคนงานพลัดถิ่นจากประเทศพม่า มุมหนึ่งริมทางเดินบนอาคารชั้นสอง ของสำนักงานแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร คือห้องทำงานของพี่ธนู

ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว หลังจากที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.) ได้ลงไปพูดคุยกับคนงานพม่าทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงมหาชัย จ.สมุทรสาคร ทำให้พบว่าปัญหาใหญ่คือการถูกละเมิดสิทธิ์ ทำให้ต้องกลับมานั่งพูดคุยหาแนวทางแก้ไขกันต่อ

เริ่มตั้งแต่ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความ จัดฝึกอบรม ทนาย
ความด้านแรงงาน
เพื่อสร้างความเข้าใจในสภาพปัญหา ไปจนถึงการจัดอบรม ทนายความอาสา ซึ่งทนายความอาสาทั้ง 12 คน นั่นเองได้ร่วมกันก่อตั้ง "คลินิกกฎหมาย" เพื่อให้คำปรึกษาในเรื่องคดีความกับคนงานข้ามชาติ และส่วนหนึ่งของทนายความอาสาจากสภาทนายความ ได้ตั้ง "อนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น แรงงานข้ามชาติ"

ในช่วงแรกคลินิกกฎหมายได้เปิดทำการ โดยใช้สำนักงานของมูลนิธิรักษ์ไทย พื้นที่มหาชัย ในทุกวันพุธ ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาในกรณีข้อพิพาทแรงงานกับนายจ้าง บางส่วนที่เป็นคดี
อาญาจะมีการส่งต่อให้สภาทนายความ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณทำให้ในช่วงแรกคลินิกกฎหมายจึงทำได้เพียงการให้คำปรึกษาเป็นหลัก

พี่ธนูเล่าถึงเส้นทางการเข้ามาทำงานว่า เริ่มจากการเข้ามาอบรมโครงการทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ของสภาทนายความเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากนั้นจึงได้เข้าร่วมงานในตำแหน่งรองเลขานุการด้านคดี สภาทนายความ และเป็นหนึ่งในทนายความคลินิกกฎหมาย ที่ผลัดเปลี่ยนกันลงไปให้คำปรึกษาแรงงานข้ามชาติ และกลายเป็นทนายความที่เห็นบ่อยครั้งจนคุ้นหน้าคุ้นตาในปัจจุบัน

"แต่เดิมเราจะให้คำปรึกษาและให้ความรู้ด้านสิทธิ์เป็นหลัก เมื่อมีคดีเกิดขึ้นจะรับเรื่องเบื้องต้นแล้วส่งให้สภาทนายความรับเรื่องต่อในการว่าความช่วยเหลือคดี ...แต่กว่าจะผ่านการพิจารณาของผู้ใหญ่มันยุ่งยากและนาน และรองรับได้เยงบางส่วน เลยตัดสินใจทำเองในบางคดีที่เร่งด่วนและไม่เกินกำลัง เพราะเขามาหาเราเขาอยากให้ช่วย เมื่อเราช่วยอะไรไม่ได้ให้แต่คำปรึกษาเขาก็ไม่อยากมาอีก เรามัวแต่คิดเรื่องนโยบายไม่ได้ เพราะเขาเดือดร้อนมีปัญหาเฉพาะหน้ามาหา"

พี่ธนูเล่าภาพต่อ ก่อนที่จะมาเป็นรูปลักษณ์ในปัจจุบันที่ต้องติดตามช่วยเหลือและว่าความให้กับคนงาน รวมทั้งมีการเปิดคลินิกกฎหมายที่กรุงเทพฯในทุกบ่ายวันอาทิตย์ แต่ด้วยงบประมาณที่เล็กน้อย ทำให้ภารกิจที่หนักหน่วงอยู่แล้วยิ่งหนักหนาขึ้นไปอีก

ตอนนี้พี่ธนูเล่าพร้อมอมยิ้มว่า ค่าใช้จ่ายมีให้ประมาณเดือนละ 2 พันบาท คงไม่ต้องถามว่าพอไหม ค่าโทรศัพท์ ค่ารถ แม้กระทั่งค่ารถค่าข้าวคนงานที่มาหา บ่อยครั้งที่ต้องดูแลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงวันหยุดที่ไม่ต้องพูดถึง เพราะตอนนี้เวลาให้คำปรึกษาไม่ได้จำกัดไว้ที่วันพุธและบ่ายวันอาทิตย์แล้ว พี่ธนูยังพูดด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่าโทรมาตอนไหนก็คุยตอนนั้น และถ้าว่างเมื่อไหร่ก็นัดพบกับคนงานตามสะดวก

สิ่งที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานตอนนี้ ยังรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างทนายทั้งสิบกว่าคนที่ยังมีทัศนคติแตกต่างกัน และจำนวนลดน้อยถอยลงไปตามเงื่อนไขของแต่ละคน ขณะเดียวกันคนงานที่มีปัญหาก็พยามยามเร่งรัดความช่วยเหลือ จนการสร้างความเข้าใจในขั้นตอนตลอดจนเงื่อนไขที่คดีความล้นมือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องพูดคุยกัน

สำหรับคดีที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่นายจ้างยึดบัตรคนงานไว้ นายจ้างไม่จ่ายค่าแรง ซึ่งพี่ธนูจะใช้การเจรจาต่อรองกับนายจ้างไม่ได้ถึงขั้นฟ้องศาล

"ส่วนใหญ่เมื่อเราเจรจากับนายจ้าง เขาจะกดจำนวนเงินลงจากที่คนงานควรจะได้ แต่คนงานเขาตกลง ...มันง่าย สะดวก เป็นการยินยอมทั้งสองฝ่าย ถามว่าเราอยากให้คนงานฟ้องไหม สู้ไหม อยาก เพราะมันไม่ดีกับกระบวนการแรงงาน แต่กฎหมายมันก็เปิดช่องให้ไกล่เกลี่ยตลอด และที่สำคัญคือตัวคนงานเขาไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของเขา มันเป็นเพียงการตัดปัญหา ...หรือบางคนไปถึงกระบวนการศาลจริงก็ไม่สู้ มันนาน มันท้อ"

คดีที่มีการฟ้องศาลคดีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเกินคาด คือ เมื่อปีที่ผ่านมาได้ฟ้องร้องคดีนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงคนงาน 6 หมื่นบาท ในการขึ้นศาลนัดแรก ปรากฏว่านายจ้างหอบเงินสดมาให้ โดยต่อรองเหลือ 5 หมื่น 5 พันบาท ซึ่งตอนนี้มีคดีฟ้องร้องในพื้นที่นครปฐมที่ผ่านมาสองปี แล้วและคน งานยังสู้อยู่ คดีคนงานมอญก่อสร้างสยามพารากอนถูกแท่งปูนทับ และคดีของคนงานมอญถูกไฟช็อตตาย ซึ่งล่าสุดภรรยาได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างเพียง 2 หมื่นบาท นอกนั้นส่วนมากเป็นคดีนายจ้างไม่จ่ายค่าแรง

"คดีบางคดี เช่น นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงเพียงหมื่นสองหมื่น ไม่ต้องถามว่าเขาจะมีเงินไปจ้างไหม เพราะถ้าชนะเขาก็ได้เงินแค่นั้น ถ้าเป็นทนายทั่วไปถามว่าเขาจะรับทำคดีให้ไหม คนงานมีเงินแค่นั้นจะไปขูดรีดเขาได้ยังไง เราเลยต้องทำต่อถึงแม้จะไม่มีเงิน ไม่มีคนช่วย"

คือคำตอบจากพี่ธนู ในการดำรงอยู่ของคลินิกกฎหมายเพื่อเยียวยารักษาความอยุติธรรมให้หมดไป ที่พึ่งเล็กๆสำหรับพวกเขา...คนงานพลัดถิ่น

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net