Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 








 

 

 

 

 

ในห้วงเวลานี้ ขณะที่เราเดินห้างฯ ถนนข้าวสาร หรือสถานที่สาธารณะอื่นใด โดยเฉพาะย่านที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ  อย่างน้อยที่สุด ผู้อยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสพติดข้อมูลข่าวสารอย่างเอาจริงเอาจัง ย่อมมีความหวาดหวั่นซ่อนอยู่ลึกๆ กันถ้วนทุกคน

 


ตัวอย่าง"การก่อการร้าย" ในสถานการณ์ระดับโลก ประกอบกับความขมึงตึงของสถานการณ์ความรุนแรงในบ้านตัวเองที่ทำท่าพร้อม"ขยายพื้นที่" บอกกับเราๆ ท่านๆ ซึ่งเป็น "ผู้ดู" ที่ล้วนมีโอกาสกลายเป็น "เหยื่อ" ว่า ชีวิตสมัยใหม่นั้นยังต้องอาศัย "โชค" อยู่มาก... โชคดีก็ดีไป โชคร้ายอาจเดินไปหาระเบิด ...


 


มันอาจเป็นสภาพการณ์คล้ายกับที่ชัยรัตน์ เจริญสินโอฬาร นิยามไว้กิ๊บเก๋ว่า "การเมืองฟองสบู่" เพราะการก่อการร้ายได้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองในโลกยุคหลังสงครามเย็นที่ความมั่นคงปลอดภัยพร้อมจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ได้ทุกเมื่อนั้น ไม่แตกต่างจากฟองสบู่ของระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนแต่อย่างใด


 


ในสภาวะเช่นนี้ ข่าวสารข้อมูลพากันวิ่งวุ่นจนสามัญชนคนกินข้าวแกงแทบจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ท่ามกลางเปลวเพลิงที่โหมอยู่มิขาด ทำลายชีวิตผู้คนอย่างไม่ไว้หน้าอิฐหน้าพรหม


 


ไม่แปลกที่อารมณ์ความรู้สึกของใครจะเป็นไปในทางเศร้าสลด ฉงนฉงาย และอาจเลยไปถึงความเคียดแค้นชิงชัง ซึ่งแปรผันไปตามดีกรี "ความรักชาติ" การเทิดทูน "ความมั่นคง" กับอีกด้านหนึ่งคือ ความเข้าใจพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ในมิติอื่น เช่น ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ


 


ในส่วนของบุคคลผู้ยึดเอา "สันติวิธี" เป็นที่ตั้ง ย่อมไม่เห็นด้วยกับรัฐในการตอบโต้ศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยความรุนแรง (ซึ่งไปกระทบคนอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐในการจัดการปัญหา อันเป็นการเพิ่มอำนาจให้ตนเอง โดยควักล้วงเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปอย่างถ้วนหน้า


 


แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีทีท่าจะบรรเทาเบาบาง ก็ทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนต่อสังคมการเมืองไทย  ที่สำคัญ มันท้าทายต่อสติปัญญาผู้คนยิ่งกว่ารายการเกมเศรษฐีมากนัก.......


----------------


 


เป็นโอกาสอันดีที่ชั้นเรียนวิชาสัมมนาปัญหาทฤษฎีการเมืองปัจจุบัน ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ โดยรศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ กล้าหาญชาญชัยพอที่จะยกประเด็นร้อนฉ่าเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้าย (Terrorism) มาร่ำเรียนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีนักศึกษา 4-5 คนที่สนใจและพร้อมจะตื่นแต่เช้า...รวมถึง "นักศึกษาโข่ง" บางคน


 


ตำราหลักที่แปลมาอ่านกันคือ "คู่มือการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า" (The No-Nonsense Guide to Terrorism) แต่งโดยโจนาธาน บาร์เกอร์ นักเขียนและนักวิจัยที่เคยสอนรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา เป็นเวลานานปี แม้เนื้อหาจะเน้นปรากฏการณ์ระดับโลกเป็นหลัก แต่จากวิธีคิด และการจัดการของรัฐที่สอดคล้องตรงกันดั่งนัดหมาย ทำให้เทียบเคียงปรากฏการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้น ระหว่างสากลและท้องถิ่นได้ไม่ยาก


 


หนังสือเล่มนี้ให้นิยาม "การก่อการร้าย" ว่าต้องมีเงื่อนไขหลักบางประการ คือ 1) เป็นการใช้หรือคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง 2) ต่อเป้าหมายพลเรือน 3) เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดจะก่อให้เกิด "ความกลัว" อันถือเป็นกุญแจสำคัญในทางการเมืองเลยทีเดียว


 


โดยการนิยามเช่นนี้มันทำให้เราเห็นว่ากรณีการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร นั้นก็เป็นการก่อการร้าย หากแต่กระทำโดยรัฐ และเมื่อมองย้อนไปในอดีต หรือแม้กระทั่งปัจจุบันเราจะพบว่ารัฐ ผู้ต่อสู้กับการก่อการร้ายก็มักใช้วิธีการก่อการร้ายเสียเองในหลายกรณี และกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีที่ทำให้การต่อสู้ไม่รู้จบสิ้น


 


ที่สำคัญ ความคิดสร้างสรรค์ของปฏิบัติการก่อการร้าย ที่สามารถแปลงเครื่องไม้เครื่องมือสามัญในสังคมมาเป็นอาวุธทรงพลานุภาพในการทำลายล้าง ประกอบกับเทคโนโลยี ความสลับซับซ้อนและเครือข่ายที่โยงใยกันอีรุงตุงนังของโลกสมัยใหม่ ยิ่งเป็นจุดอ่อนเปราะในการโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "สิทธิเสรีภาพ" ในระบอบประชาธิปไตยก็ถูกผู้ก่อการร้ายฉวยใช้ ทั้งเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร การเดินทาง การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ 


 


ดังนั้น สำหรับนักการทหาร  "สิทธิพลเมือง" จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางสงครามต่อต้านการก่อการร้าย !!!


 


เมื่อศักยภาพของการโจมตีดังที่กล่าวมาแล้วนั้นยากจะคาดเดาและป้องกัน สำหรับรัฐทั่วโลกเส้นแบ่งระหว่างสมรภูมิกับพื้นที่ทั่วไป, ทหารกับพลเรือน, การรบกับการเมือง จึงต้องสลายหายไป หรือพูดให้ง่ายว่า พร้อมจะ "ทำสงคราม" กับทุกคนในทุกที่


 


สภาพการณ์ที่รัฐยกเลิกเส้นแบ่งที่ว่า และขยายอำนาจมากดทับสิทธิเสรีภาพของผู้คน เพื่อควานหาผู้ก่อการร้าย แทบจะเป็นแบบเดียวกันทั่วโลก โดยสะท้อนชัดเจนในการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับความชอบธรรมในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของแต่ละประเทศ


 


ข้อมูลจาก Human Rights Watch และ Amnesty International ระบุไว้ดังนี้


 


อินเดีย รัฐสภาได้ออกบัญญัติป้องกันการก่อการร้าย POTA มาโดยนิยามการก่อการร้ายไว้กว้างขวางถึงการกระทำที่ "เจตนาที่จะคุกคามเอกภาพและบูรณภาพของอินเดีย หรือสร้างความหวาดกลัวภัยสยองขึ้นในหมู่ประชาชนส่วนหนึ่งส่วนใด" ซึ่งทำให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากว่ากฎหมายเท่าที่มีอยู่ก็เพียงพอจะจัดการปัญหาได้โดยไม่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น


 


ออสเตรเลีย กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายรอการพิจารณาของรัฐสภา รวมถึงข้อเสนอให้สั่งห้ามกลุ่มบางกลุ่มและลดทอนสิทธิของผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวลง และยังมีการเร่งรัดออกกฎหมายว่าด้วยการขอลี้ภัยที่เข้มงวดขึ้นด้วย


 


แคนาดา รัฐบัญญัติต่อต้านการก่อการร้ายถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นว่าร่างฉบับก่อนๆ แต่ความเสี่ยงที่กิจกรรมโดยสันติจะถูกถือเป็นอาชญากรรมยังมีอยู่ และมีกฎหมายที่สร้างอุปสรรคขัดขวางการขอลี้ภัย รวมถึงกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยสาธารณะที่กองทัพสามารถประกาศ "เขตควบคุมการเข้าถึง" ณ ที่ใดก็ตามที่เป็นที่เก็บยุทโธปกรณ์ทางทหาร


 


จีน  มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญาของตนเพื่อ "ลงโทษอาชญากรรมก่อการร้าย ประกันความมั่นคงแห่งชาติ และเชิดชูความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม"


 


โคลัมเบีย ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับหนึ่ง ซึ่งจะเสริมการไม่ต้องถูกลงโทษให้เข้มแข็งขึ้นนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และกำลังจะมีกฎหมายความมั่นคงที่เข้มงวดฉบับใหม่ออกมา


 


เยอรมนี กฎหมายออกใหม่ขยายเหตุผลรองรับการปฏิเสธคำขอลี้ภัยให้กว้างขึ้น และให้อำนาจในการสั่งห้ามกลุ่มต่างๆ ที่ "สนับสนุนองค์การในหรือนอกประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นต้นเหตุ คุกคาม หรือกระทำการโจมตีต่อบุคคลหรือสิ่งของ หรือหากแม้นองค์กรเหล่านี้เป็นอันตรายต่อความเป็ฯระเบียบเรียบร้อยและมั่นคงของส่วนร่วม"


 


อินโดนีเซีย รัฐมนตรียุติธรรมและสิทธิมนุษยชนประกาศว่าร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่เสนอโดยรัฐบาล เพื่อยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้น มีบทลงโทษตั้งแต่จำคุกห้าปีถึงประหารชีวิต สำหรับโทษฐานก่อกวนความมั่นคงและทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะเสียหาย


 


จอร์แดน บทแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาขยายคำว่า "การก่อการร้าย" ให้ครอบคลุมการก่อความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม องค์กรสาธารณะ เอกชนหรือระหว่างประเทศ หรือคณะทูตด้วย มันยังเสริมสร้างอำนาจในการสั่งปิดสิ่งพิมพ์ใดๆ ก็ตามที่ผลิตข่าวสารอันเป็น "เท็จ" หรือหมิ่นประมาทซึ่งอาจ "บ่อนทำลายเอกภาพแห่งชาติหรือชื่อเสียงของประเทศ"


 


ปากีสถาน รัฐกำหนดต่อต้านการก่อการร้ายฉบับแก้ไขเพิ่มเติม บ่อนทำลายความเป็นอิสระของตุลาการโดยกำหนดให้มีนายทหารร่วมอยู่ในคณะผู้พิพากษาที่ไต่สวนความผิดฐาน "ก่อการร้าย" ด้วย โทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ของปากีสถานก็มาจากการตัดสินของศาลต่อต้านการก่อการร้ายเหล่านี้นี่เอง อีกทั้งรัฐบาลยังได้พยายามปราบปรามการชุมนุมแสดงพลังโดยพรรคศาสนาทั้งหลายอีกด้วย


 


ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย ที่เพิ่งออกไม้เด็ดล่าสุด คือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถือเป็นสุดยอดกฎหมายเพิ่มอำนาจรัฐในการใช้ความรุนแรงได้อย่างเต็มที่ที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยมีมา


 


สภาพการณ์ของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (war on terrorism) กล่าวให้ถึงที่สุดได้กลายเป็นสงครามต่อต้านเสรีภาพ (war on freedom) เพราะเปิดโอกาสให้รัฐสามารถประกาศสภาวะฉุกเฉินได้ง่ายขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมตลอดเวลา


 


นอกจากการเตรียมพร้อมแล้ว สงครามต่อต้านการก่อการร้ายยังลากยาวไปถึงนโยบายโจมตีก่อน (Preemption war) ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดีบุช ทำให้บรรทัดฐานของโลกนี้ชักทะแม่งๆ อย่างที่ชัยรัตน์ เจริญสินโอฬารว่าไว้คือ จากเดิมที่เน้นการสร้างสันติภาพด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม กลายเป็นการทำสงครามเพื่อสร้างสันติภาพ


 


ขณะเดียวกันปัญหาสำคัญๆ ของโลกหรือของท้องถิ่นที่มีความสำคัญและกระทบกับผู้คนจำนวนไม่น้อยเช่นกัน กลับถูกวาระของสงครามนี้เบียดขับ ครอบงำ จนหาที่ทางในความสนใจของสาธารณะได้ลำบากยิ่ง


 


อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนชัดว่า วิธีคิด-วิธีการ-ภาษาของ "สงคราม" ทั้งในระดับสากลและระดับท้องถิ่น นอกจากจะไม่ทำให้ผู้ก่อการร้ายสงบเสงี่ยมเจียมตัวลงแล้ว ยังทำให้ปฏิบัติการความรุนแรงมีความเข้มข้นขึ้น


 


ประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น ทั้งจากการก่อการร้ายภาครัฐและการก่อการร้ายโดยผู้ก่อการ ขณะที่ประชาชนโดยทั่วไปก็หวาดผวากับความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น "เหยื่อ" ของความรุนแรงจากสารพัดวิธีการที่สร้างสรรค์


 


แม้คนทั่วไปส่วนใหญ่จะรู้สึกโกรธแค้นปฏิบัติการที่ไร้มนุษยธรรมเหล่านั้นเพียงใด แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ก่อประโยชน์ หากเรามัวแต่นั่งก่นด่าผู้ก่อการด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมที่แบ่ง คนชั่ว - คนดี ชัดเจน อันอาจนำไปสู่การสนับสนุนมาตรการสุดโต่งที่รังแต่จะขยายความรุนแรงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น


 


ไม่ก่อประโยชน์ หากมัวแต่สิ้นหวัง เมื่อตระหนักได้ว่าโลกไม่เคยเปลี่ยนไป นับตั้งแต่มนุษย์กลุ่มแรกลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันและกัน


 


สำหรับสังคมไทย อาจถึงขั้นอันตรายอย่างยิ่ง หากเรายินยอมเพิ่มอำนาจและฝากความหวังในการจัดการปัญหาไว้กับรัฐนายทุน ผู้ไม่ประสากับปัญหาความมั่นคง ไม่ละเอียดอ่อนกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และสาละวนอยู่กับการใช้กำลังวิ่งไล่จับ "อาการ" ของปัญหา โดยละเลยการค้นหาและแก้ไขต้นเหตุอื่นๆ ของปัญหา


 


 "พวกท่านให้รัฐมีอำนาจมากเกินไป รัฐจะต้องไม่เรียกร้องในสิ่งที่รัฐบังคับขืนไม่ได้.....ในนามของสวรรค์ คนที่มุ่งให้รัฐกลายเป็นโรงเรียนสอนศีลธรรม ไม่รู้ตัวเลยว่า ได้ทำบาปกรรมเพียงไหน รัฐมักถูกทำให้เป็นนรกโดยคนที่ต้องการทำรัฐให้เป็นสวรรค์สำหรับตนเสมอ" Friedrich Holderlin, "Hyperion" (1970)


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net