Skip to main content
sharethis

ประชาไท-5 ก.ย. 48         "กอส  ยืนยันจุดยืน ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นแกนหลัก ในการรับผิดชอบกรณี คนไทยมุสลิม 131คน ลี้ภัยไปประเทศมาเลเซีย ส่วนการประชุมวันนี้ เพียงรับฟังข้อมูลจาก เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ "กอส."ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น"นายโคทม อารียา รองคณะกรรม การอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) แถลงเมื่อค่ำวานนี้( 5 ก.ย.)


 


นายโคทมกล่าวว่า อยากฝากให้สื่อมวลชนช่วยติดตามสาเหตุการอพยพลี้ภัยของคนไทยมุสลิมที่แท้จริงให้ด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ได้นั้นแตกออกเป็นหลายทาง และทาง กอส.ยังไม่ได้สรุปความเห็นในกรณีดังกล่าว จึงยังไม่สามารถชี้แจงวันนี้ได้ เพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดตามมา


 


นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกอส. กล่าว ว่า ต้องหาสาเหตุที่ทำให้คนรู้สึกไม่มั่นคง ไม่มั่นใจให้ได้ และถ้ามีเหตุมาจากการปลุกปั่นหรือปล่อยข่าวลือ ก็ยิ่งต้องต้นตอหรอตัวคนกระทำว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไรให้ชัดเจน และต้องทำไห้ได้ เพราะมีคนอยู่ในพื้นที่เยอะมาก


 


ทั้งนี้ ต้องทำให้ทางประเทศมาเลเซียมั่นใจด้วย ว่าหากดำเนินการให้คนที่ลี้ภัยไปกลับมาแล้ว คนเหล่านั้นจะไม่เผชิญความกดดันจนต้องกลับไปประเทศมาเลเซียอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะจะทำให้ปัญหาเรื้อรังต่อ โดยความต้องการความมั่นใจของมาเลเซียอยู่บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม คือไม่ผลักใสกลับไปสู่ภาวะที่เป็นอันตราย เหมือนที่ไทย ใช้หลักเดียวกันนี้ กับ กรณีของผู้อพยพชาวเวียดนาม พม่า และอื่นๆ ที่เรารับเข้ามา


 


นายโคทม กล่าวอีกว่า กอส. ได้หารือถึงกรณี ชาวบ้านที่บ้านละหาร ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ปิดทางเข้าหมู่บ้านไม่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและทหารเข้า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความเชื่อว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิง นาย สะตอปา ยูโซะ โต๊ะอิหม่าม เสียชีวิต ว่าอาจทำให้เหตุการณ์ขยายตัวจนร้ายแรงขึ้น กอส.จึงมีข้อเสนอแนวทางสมานฉันท์ต่อรัฐบาลเป็นการเฉพาะหน้าว่า


 


ให้ถือว่าการชุมชนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีเนื่องจากประชาชนรู้สึกว่าเป็นเหยื่อของความรุนแรง ตามแนวทางที่รัฐบาลให้ไว้ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 187/ 2546 และเร่งจัดตั้งคณะกรรมการสันติสุขชุมชน ตามหนึ่งในมาตรการ 14 ข้อ ที่ กอส.เคยเสนอ และ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา


 


โดยคณะกรรมการดังกล่าวควรจะมีส่วนในตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ และนำผลการตรวจสอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว ควรประกอบไปด้วยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคมในพื้นที่


 


นอกจากนี้ รองประธานกอส.ยังกล่าวถึงวาระอื่นอีกว่า กอส. มีมติเสนอให้รัฐบาลตั้ง "ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"  โดยทางกอส. จะสนับสนุนให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความเป็นแกนหลักในการจัดตั้ง เพื่อช่วยเหลือและให้ความยุติธรรมในด้านคดีความกับคนในพื้นที่


 


รวมทั้ง กอส.ยังได้กำหนดมาตรการป้องกันต่อกรณีครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ตากใบ โดยเน้นไปที่การฝึกเจ้าหน้าที่ในการควบคุมฝูงชน และทำความเข้าใจหลักการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามโดยเฉพาะในช่วงเดือน รอมฎอน ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net