Skip to main content
sharethis


ประชาไท—9 ก.พ. 2549 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์ตั้งคำถามถึงภาคบังคับของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่อาจคุ้มครองผู้จัดรายการวิทยุชุมชนกรณีของนาย เสถียร จันทร ผู้จัดรายการวิทยุชุมชน จ.อ่างทอง ซึ่งถูกศาลชั้นต้น จ. อ่างทอง พิพากษาว่ามีความผิดตาม พรบ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และผิด กฎหมายอาญามาตรา 91

 


แถลงการณ์ดังกล่าวอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งระบุคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้หลายมาตรา ซึ่งมาตราที่เกี่ยวกับกรณีการกระจายเสียงของวิทยุชุมชนได้แก่ มาตรา 40 ซึ่งระบุเรื่องคลื่นความถี่มีใจความดังนี้


  


"คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุ โทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ


   


 ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ


  


การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม"


 


มาตรา 39 ระบุว่า


"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น..."


 


แถลงการณ์ของ AHRC ระบุว่าในขณะที่รัฐธรรมนูญได้ให้เสรีภาพในการพูด อันสอดคล้องกับมาตรฐานสากล แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีเครื่องมือที่สนับสนุนให้หลักการนี้เป็นจริง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยถูกจำกัดมาเป็นเวลานานแล้ว ภายใต้วัฒนธรรมของการไม่แสดงออก บุคคลเช่นนายเสถียร ถือว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคมไทย มีความกล้ามากขึ้นต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


 


" ผู้ที่ผิดต่อกรณีวิทยุชุมชนนั้นคือรัฐบาลไทยต่างหาก ไม่ใช่นายเสถียรที่มีความผิด นายเสถียรต่อสู้เพื่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐเป็นกลไกชะลอการใช้งานของรัฐธรรมนูญ เสถียรควรได้รับความชื่นชม จากการทำงานเพื่อชุมชนและสังคม และรัฐบาลควรรับผิดชอบต่อความล่าช้าที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถนำมาใช้ปกป้องสิทธิของประชาชน และทั้งหมดนี้ ประชาชนไทยควรตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญนั้น แท้จริงแล้วเกิดประโยชน์อะไรกับชีวิตของตนบ้าง และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรัฐธรรมนูญของเรา หาไม่แล้ว กรณีเช่นเสถียร ก็จะยังคงเกิดขึ้นท้าทายปัญหาหลักนิติธรรมและเสรีภาพทางการพูดของไทยต่อไป"


 


อนึ่ง กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย AHRC ก่อตั้งปี 2527 และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง


 


-------------------------------------------------------------------------


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


วิทยุชุมชนวิกฤติ ศาลชั้นต้นพิพากษา ผิด พรบ.วิทยุคมนาคม 2498


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=2472&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net