Skip to main content
sharethis

ส.ศิวรักษ์ชี้ ระบอบทักษิณเป็นผลพวงจากทุนนิยมอเมริกัน ในขณะที่คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อเน้น ก่อนการปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปสื่อสาธารณะก่อน


 


30 เม.ย.49 สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาวิชาการ "นิติธรรม" ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวปาฐกถานำว่า การปฏิรูปวัฒนธรรมการเมืองเพื่อความถูกต้องในแผ่นดิน เราต้องกล้าท้าทายแนวคิดกระแสหลักของไทยที่ถูกฝรั่งล้างสมองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเราต้องตระหนักให้ชัดว่า สิ่งที่เราเรียกว่า ความศิวิไลซ์แบบฝรั่ง ซึ่งกลายมาเป็นการพิจารณาและโลกาภิวัตน์นั้น ล้วนสรุปลงได้ว่า นั่นคือจักรวรรดินิยมอย่างใหม่ ซึ่งก็คือการหยิบฉวยผลประโยชน์จากประชาชนพลเมืองไปอย่างปราศจากความถูกต้องหรือความยุติธรรมด้วยประการทั้งปวง เราเคยถูกสอนให้เห็นว่า การปฏิวัติใหญ่ทางอุตสาหกรรมเป็นสัญลักษณ์ความเจริญและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แท้ที่จริงนั่นก็คือการขยายตัวทางลัทธิทุนนิยมที่ใช้ความรุนแรง การยึดครองแผ่นดินต่างๆ ทำลายล้างชนเผ่าต่างๆ เอาคนอื่นที่ไม่ใช่พวกตัวมาเป็นทาสกรรมกร


 


"ผู้นำประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่เดินตามก้นอภิมหาอำนาจ และส้องเสพสมคบกับบรรษัทข้ามชาติจำนวนน้อยโดยปราศจากมโนธรรมสำนึกและจริยธรรม ก็มีความเลวร้ายปานๆ กัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหรือใครก็ตาม ฉะนั้นการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ปลาสนาการไปนั้น วัฒนธรรมการเมืองยังคงผูกติดอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลกในทางทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่มีจักรวรรดิอเมริกันเป็นต้นตอ เราต้องไม่ลืมว่าความไม่เท่าเทียมกันมีความแตกต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ ระหว่างชนชั้นบนจำนวนน้อยกับมหาชนที่เป็นคนชั้นล่างโดยเอารัดเอาเปรียบนั้นได้แสดงออกในรูปแบบต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นระบบหนึ่งของทุนนิยมที่อนุญาตให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา" ปราชญ์สยามกล่าว


 


อาจารย์สุลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า ในโลกทุกวันนี้ความโลภแสดงออกทางลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งใครๆ ต่างสมาทานกันอย่างหน้าด้านๆ อย่างปราศจากความละอาย ผู้คนเชื่อว่าคำตอบของชีวิตคือเงินและวิทยาการทางโลก ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ให้โทษไม่น้อยกว่าให้ทุน ดังนั้นเราคงจะเห็นกันมาแล้วว่า การปฏิรูป การปฏิวัติที่แล้วๆ มาซึ่งเป็นไปในทางความรุนแรงล้มเหลวมาแล้วทั้งนั้น การปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมืองของเราจึงต้องเริ่มจากสันติภาวะภายในก่อน แล้วสร้างเครือข่ายให้ขยายออกไปด้วยการปลุกระดมพลังมวลชน กับการศึกษานอกระบบด้วยสื่อสารมวลชนนอกกระแสหลัก แม้จนการตั้งพรรคการเมืองที่ไม่ประสงค์อำนาจหรือความสำเร็จทางโภคทรัพย์ จากมิติและมรรควิธีเช่นนี้เท่านั้น ที่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และพลพรรคของเขาปลาสนาการแล้ว เราจึงจะเอาชนะคราบเผด็จการของทรัพย์และอำนาจให้ปลาสนาการไปได้โดยที่กระแสดังกล่าวผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมการเมืองไทย แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเลวร้ายลง หรือเข้มข้นขึ้นจำเดิม เราเดินตามก้นสหรัฐ ที่แล้วมานั้นวัฒนธรรมการเมืองดังกล่าวแนบสนิทอยู่กับความรุนแรง ชนิดรวมศูนย์อำนาจไว้กับคนจำนวนน้อย จากบนลงล่างอย่างปราศจากการตรวจสอบ อย่างไม่โปร่งใสของสื่อนั้น


 


ส. ศิวรักษ์ กล่าวว่า เมื่อเรากล้าเพ่งกล้าพินิจ กล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยจัดอดีตของเราเข้ากับรู้เท่าทันปัจจุบันอันผูกติดอยู่กับจักรวรรดิอเมริกัน และบรรษัทข้ามชาติและปลดแอกตัวเราออกเสีย ด้วยการใช้ไตรสิกขานอกเหนือวิธีวิทยาอย่างฝรั่งการปฏิวัติวัฒนธรรมทางเมืองจึงเกิดขึ้นได้ การปฎิรูปวัฒนธรรมการเมืองที่เนื้อหาสาระจึงจักเป็นไปได้ให้เกิดความถูกต้องในแผ่นดิน ตามที่ทุกๆ คนจักมีความศักดิ์ศรีอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่


 


ในช่วงที่สองวงเสวนายกประเด็นเรื่อง "การปฏิรูปสื่อก่อนปฏิรูปการเมือง" โดยมีนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเป็นผู้ดำเนินรายการ


 


นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้มีพื้นฐานและที่มาแตกต่างจากการปฏิรูปครั้งที่แล้ว จึงต้องเปลี่ยนกรอบความคิด และวิธีคิดจากเดิม ต้องผลักดันให้การเมืองภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองให้ได้ รวมทั้งต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ การเมืองโดยให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะทำได้หากผู้ปฏิรูปการเมืองปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความรู้และความคิด และต้องไม่ทอดทิ้งการได้มาซึ่งสื่อสาธารณะ

 


"การปฏิรูปการเมืองจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ รวมทั้งการดำรงอยู่ของระบอบทักษิณ และการที่ยังไม่ได้มาซึ่งสื่อสาธารณะ จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคมไม่ได้ และจะต้องยกระดับการรับรู้ของประชาชนโดยการดึงสื่อสาธารณะมาเป็นของประชาชน ก่อนที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง" นายเจริญ กล่าว


         


นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อ เสนอให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนฉบับเก่าได้แก่ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484, พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2498 และพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 เนื่องจากเป็นกฎหมายเก่าและขัดกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน


 


"เราต้องเรียกร้องให้รัฐปลดแอกสื่อให้เป็นสาธารณะ โดยเฉพาะช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ที่ใช้ภาษีของประชาชนไปบริหาร ต้องทำให้สามารถให้ความรู้ ความเข้าใจ และเป็นสื่อสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่" นางสาวสุภิญญากล่าว


 


นางสาวสุภิญญากล่าวต่อว่า แม้ปัจจุบันจะมีสื่อให้ความสนใจกับการให้พื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ลืมชนระดับล่างและคนจน ดังนั้นเมื่อปฏิรูปแล้ว นอกจากจะให้สื่อเป็นอิสระและเป็นสื่อสาธารณะจริงๆ แล้ว ยังต้องสนับสนุนให้มีสื่อเล็กๆ ที่เป็นสื่อของคนจนจริงๆ ด้วย


 


หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง "จะทำอย่างไร ให้ระบบนิติธรรมเป็นจริง" โดยนายแก้วสรร อติโพธิ รักษาการส.ว.กทม. และนายสมยศ เชื้อไทย นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


นายแก้วสรรกล่าวว่า ปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแก้โดยการทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย หมายถึงต้องทำให้กฎหมายยุติธรรมตั้งแต่ต้น ทั้งโครงสร้าง องค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล และการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องมีจริง ไม่ได้มีเพียงตัวอักษรในรัฐธรรมนูญ


 


นายแก้วสรรกล่าวต่อ กฎหมายไทยมีปัญหาในเรื่องของการออกแบบที่ให้อำนาจรัฐอย่างฟุ่มเฟือยแบบไร้เหตุผล โดยเฉพาะที่เป็นเรื่องต้องใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้เกิดปัญหาในการใช้กฎหมาย ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ก็ตาม รวมไปถึงองค์กรที่จะบังคบใช้กฎหมายว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มีการใช้กฎหมายเป็นไปเพื่อความยุติธรรม เช่น น่าจะมีการหาวิธีการให้อัยการสามารถเข้าไปคานอำนาจของตำรวจได้เพื่อไม่ปล่อยให้ตำรวจมีอำนาจรับผิดชอบเต็มพื้นที่จนทำตัวเป็นมาเฟียแบบนี้ ซึ่งในประเทศเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการที่อัยการสามารถสั่งฟ้องประธานบริษัทฮุนไดได้


 


"บ้านเมืองนี้ไม่มี "พลเมือง" มีแต่ "ราษฎร" เราต้องสร้างพลัง เพิ่มพลังให้ "ราษฎร" กลายเป็น "พลเมือง" ที่รักษาสิทธิและหน้าที่ของตน ประชาชนต้องช่างฟ้อง รัฐจึงจะทำงานดีขึ้น" นายแก้วสรรยกตัวอย่างกรณีที่มีประชาชนถูกเอาเปรียบจากรัฐในกรณีต่างๆที่เป็นผลกระทบสาธารณะ เช่น น้ำเสีย การสร้างเขื่อน ฯลฯ แต่ไม่มีใครกล้าออกหน้าฟ้องร้อง เพราะกลัวถูกอิทธิพลการเมือง


 


ทางด้านนายสมยศ เชื้อไทย อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่าการปฏิรูปการเมืองต้องแก้ 2 ระบบใหญ่คือ ระบบการเมืองและระบบกฎหมาย ระบบการเมืองต้องให้นายกฯเป็นคนดีและพร้อมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ ต้องเพิ่มระบบการถ่วงดุลให้ได้ ไม่ให้องค์กรใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนระบบกฎหมายต้องแก้ให้เป็นกฎหมายของเหตุผล คุ้มครองความเป็นธรรมและยุติธรรม


 


"รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เขียนไว้สวยหรู เรื่องการเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ แต่ไม่มีผลอะไร เพราะไม่มีองค์กรรองรับ ไม่มีกลไกผลักดันให้เป็นจริง 50,000 ชื่อเสนอไป แล้วผ่านไหม ไม่ผ่าน ขนาด ส.ส.ยังไม่สามารถเสนออะไรได้เลย หากไม่ใช่รัฐบาล" นายสมยศกล่าว


 


นายสมยศ กล่าวอีกว่า โครงสร้างของรัฐมีสองระดับคือบนและล่าง ระดับบนคือระบบการเมือง ส่วนระดับล่างคือระบบงานประจำ แต่ทุกวันนี้กลไกของเจ้าหน้าที่ในการใช้กฎหมายมีการใช้อำนาจเป็นใหญ่ เมื่อไม่กี่วันมานี้นายวาสนา เพิ่มลาภประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.)กล่าวว่า "เมื่อไม่เขียนไว้มันก็ไม่มีกฎหมาย ข้อเท็จจริงของกฎหมายคือคำสั่งของผู้มีอำนาจทางแผ่นดิน" ซึ่งประเด็นนี้สมาคมนิติศาสตร์ต่อต้านมาตลอดว่าเป็นทัศนคติที่ผิด ถามว่าฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ต้องเขียนไว้ไหมว่าผิดกฎหมาย ไม่ได้แยกจากศีลธรรมความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่อยู่ในคนที่เป็นสิ่งที่ร้อยรัดให้เราอยู่ด้วยกัน ดังนั้นกฎหมาย จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่จะทำให้มนุษย์อยู่ด้วยกันด้วยความเป็นธรรม


 


"เดี๋ยวนี้เราพูดเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมแยกจากกฎหมายกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าไม่ผิดกฎหมายแต่พ.ต.ท.ทักษิณทำผิดเรื่องศีลธรรม กฎหมายกับศีลธรรมเป็นเรื่องเดียวกันไม่อาจสามารถตัดสินในเรื่องที่เป็นกลางได้ เป็นเรื่องที่ตัดสินเช่นนี้ เป็นทฤษฏีกฎหมายเทคนิคเป็นมาตรการที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา"นายสมยศกล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net