Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (21 พ.ย.) นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ให้การรับรอง นายราล์ฟ แอล บอยส์ จูเนียร์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้ทีอำนาจเต็ม แห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่นายมีชัยเข้ารับตำแหน่งและเพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั่วไประหว่างสหรัฐฯกับประเทศไทย โดยได้ใช้เวลาในการหารือประมาณ 30 นาที


 


นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ขอบคุณนายราล์ฟ บอยส์ ที่ช่วยเหลือประเทศไทย โดยไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งนายราล์ฟ บอยส์ ได้บอกว่า การที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้พบกับประธานาธิบดีจอร์ช บุช ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น เพราะทำให้ประธานาธิบดีเข้าใจประเทศไทยดี


 


นายราล์ฟบอยส์ ได้แสดงความกังวลถึงระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัยได้บอกว่ากำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนคือประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตามนายราล์ฟ บอยส์ ไม่ได้สอบถามถึงเรื่อง การยกเลิกกฎอัยการศึก เนื่องจากท่านอยู่ประเทศไทยมานานจึงเข้าใจได้ดี


 


นายมีชัย ยังกล่าวถึงขั้นตอนภายหลังที่ได้รายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 2,000 คน ว่า เมื่อได้รับรายชื่อแล้วจะมีการประกาศหลักเกณฑ์ กำหนดวันประชุม ซึ่งคาดว่าจะหลังวันที่ 10 ธ.ค. เพราะระหว่างนี้จะต้องมีการนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จากนั้นจะส่งรายชื่อทั้งหมดให้สมาชิกแต่ละคนได้ศึกษา เพื่อไม่ให้เสียเวลาในขั้นตอนการเลือก ส่วนสถานที่ทางสำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้เตรียมสถานที่การประชุมไว้ที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี


 


นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ประธานอนุกรรมการให้คำแนะนำและวินิจฉัยการดำเนินการขององค์กรหรือคณะบุคคล กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทางอนุกรรมาธิการฯ มีการทำหนังสือคู่มือถามตอบเพื่อให้คำแนะนะ คำวินิจฉัย การดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ โดยได้ส่งให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อเป็นคู่มือในการตรวจสอบการสรรหาฯ และคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ที่มาจากตัวแทนภาคและกลุ่ม ซึ่งเชื่อว่าเมื่อคัดสรรได้ 2,000 คนปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายด้วยดี เพราะมาจากหลากหลายอาชีพ


       


คมช.กลัวข้อครหา เปลี่ยนใจไม่เลือกสมัชชาฯ ทั้งหมด


พล.ต. ปัญญา รอดเชื้อ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกและอนุกรรมการฯกล่าวว่าในบัญชีที่ 8 ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะคัดเลือก115 คนนั้น ขณะนี้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.ได้ออกประกาศ คมช.ในเรื่องของหลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในส่วนของ คมช.ว่าจะมีการแบ่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ร่วมสรรหา โดยจะมีภาคบุคคลสรรหา 45 คน ได้แก่ประธานสภานิติบัญญัติ 5 คน ประธานศาลฎีกา 5 คน ประธานศาลปกครองสูงสุด 5 คน อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ(นาย อานันท์ ปันยารชุน )3 คน ประธาน ป.ป.ช. 3 คน ประธาน กกต. 3 คน ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3 คน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 3 คน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 3 คน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ3 คน ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) 3 คน ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 3 คน เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 3 คน


 


นอกจากนี้ยังมีภาคองค์กรสรรหา 50 คน ได้แก่ คณะกรรมการกฤษฏีกา เลือกกันเอง 10 คน ที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เลือกกันเอง 5 คน สมาคมสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบรมราชชูปถัมภ์ ในสมเด็จพระเทพฯ เลือกกันเอง 5 คน ยุวชนประชาธิปไตยของรัฐสภา เลือกกันเอง 5 คน กรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เลือกกันเอง 5 คน คณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 15 คน


 


 "ในส่วน คมช.จะพิจารณาเสนอบุคคลเพียง 20 เท่านั้น เพราะกลัวข้อครหาที่ว่า คมช.เลือกคนที่จะเข้าไปนั่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ทั้งๆ ที่ คมช.สามารถ เสนอได้115คนก็ได้แต่เสนอไปเพียง 20 คนและเชื่อว่าในสัดส่วน 20 คน คงไม่สามารถล็อบบี้ให้เข้าไปนั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ เรื่องนี้ขอให้ดูในอนาคต ซึ่งอยากให้จับตากลุ่มอื่นมากกว่า"


         


 ประกาศ2พันชื่อสมัชชาฯได้ในสัปดาห์นี้


นายสุพจน์ ไข่มุกต์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ในคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาสมัชชาแห่งชาติจำนวน 2,000คน ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่กดส.จังหวัดจะส่งรายชื่อมายังส่วนกลางว่า ขณะนี้มีการทยอยส่งรายชื่อมาเรื่อยๆ แล้ว คาดว่าจะได้รายชื่อครบทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ และประกาศรายชื่อทั้ง 2,000 คนได้ และจะมีการทูลเกล้าฯ ส่วนการประชุมเพื่อเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน คาดว่าจะประชุมได้หลังจากประกาศรายชื่อ 1 เดือน


 


ส่วนแนวคิดการจัด 2,000 คนเป็น 2 บัญชี คือบัญชีคนที่เป็น สมาชิกพรรคการเมือง และบัญชีปลอดการเมือง ก็จะยังมีอยู่เพื่อให้สมาชิก ได้ทราบข้อมูลของแต่ละคนและป้องกันการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าข้างตัวเอง โดยเบื้องต้นคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะไม่มีสิทธิ ได้รับการคัดเลือกเป็น 200 คน แต่มีสิทธิที่จะเลือกผู้อื่นได้ และยังคิดด้วยว่าจะให้สมัชชาฯแสดงวิสัยทัศน์ด้วยหรือไม่ ถ้าแสดงวิสัยทัศน์คาดว่า น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการประชุมเพื่อคัดเลือกเหลือ 200 คน


 


นอกจากนี้หลังจากที่มีการคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คนและคมช.เลือก ให้เหลือ 100 คนเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้ว ผู้ที่เป็นสมัชชาฯ 1,900 คน กดส.จะไม่ทอดทิ้ง และกำลังหาสูตรว่าจะให้มีบทบาทอะไร อาจเป็นอนุกรรมการติดตามผลและสังเกตการณ์การร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นพี่เลี้ยงเชื่อมข้อมูลของ สภาร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน ซึ่งวันที่ 23 พ.ย.อนุฯประชาสัมพันธ์จะหารือว่าทั้ง 1,900 คนที่เหลือจะมีบทบาทอย่างไร


         


สำหรับระเบียบการเลือกกันเองจาก 2,000 คนให้เหลือ 200 คน มีกระแสข่าวว่าจะเปิดให้เลือกอิสระคือเลือกข้ามกลุ่มได้นั้น นายสุพจน์ กล่าวว่า โมเดลที่น่าจะเป็นไปได้สูงสุดคือ การแบ่งสมาชิกเป็น 4 ภาค คือ ภาครัฐ เอกชน วิชาการ และสังคม มีสัดส่วนใกล้เคียงกันและห้ามเลือกข้ามกลุ่ม ก็จะทำให้ได้สัดส่วนพอเหมาะ และป้องกันบล็อกโหวต อย่างไรก็ดีต้องให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติโดยตำแหน่งตัดสินใจว่าจะกำหนดวิธีการเลือกอย่างไร


 


 


ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net