Skip to main content
sharethis


 


เรื่องโดย  อานุภาพ นุ่นสง สำนักข่าวประชาธรรม


 


เมื่อเร็วๆ นี้ กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ร่วมกับอุทยานแห่งชาติผาแดงมีนโยบายอพยพชาวเขาเผ่าลีซูบ้านนาอ่อน ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางป่า อีกทั้งตัวหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าต้นน้ำ และยังอยู่ในเขตพื้นที่ของสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม ดังนั้นภายใต้นโยบายการจัดระเบียบชุมชนของสถานีฯ จำเป็นต้องอพยพชาวบ้านนาอ่อนทั้งหมดออก!


 


อ้างโครงการพระราชดำริย้ายชาวบ้านออกจากป่า


"บ้านนาอ่อน" เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซู ตั้งอยู่ในเขต ม.1 ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีบ้านเรือนจำนวน 12 หลังคาเรือน ประชากร 52 คน


 


ในอดีตชาวบ้านแห่งนี้อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแปกแซมกับหมู่บ้านหินแตว ต.เปียงหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนาอ่อนประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยช่วงนั้นชาวบ้านต้องเผชิญปัญหามีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ขณะที่ที่ดินบางส่วนไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ ทำให้เกิดปัญหาข้าวไม่พอกิน อีกทั้งมักเกิดความขัดแย้งภายในหมู่บ้านเรื่องที่ดินทำกินอยู่เสมอ


 


ดังนั้นช่วงปี 2535 ชาวบ้านทั้งจากบ้านแปกแซมและบ้านหินแตวรวม 7 ครอบครัวได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณบ้านนาอ่อน หลังจากนั้นไม่นานนักมีชาวบ้านจากบ้านแปกแซมอีก 5 ครอบครัวได้อพยพมาสมทบรวมเป็น 12 ครอบครัว


 


จากสภาพพื้นที่ดินดำน้ำชุ่ม ไม่นานนักพื้นที่แห่งนั้นก็ปรากฏภาพไร่ข้าว ข้าวโพด ถั่ว พืชผักต่างๆ ชาวบ้านนาอ่อนสามารถปลูกข้าวได้จำนวนมาก เหลือกินทุกปีจนหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงมักไปซื้อข้าวของชาวบ้านนาอ่อนกินทุกปี และดูเหมือนว่าช่วงนี้ชาวบ้านต่างมีความหวังว่าพื้นที่แห่งใหม่นี้สามารถสร้างความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัยและการทำมาหากินให้กับพวกเขาได้


 


ทว่าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2543 มีการจัดตั้งสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 19,000 ไร่ โดยมีกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 เป็นผู้รับผิดชอบ


 


ที่สำคัญ สถานีฯดังกล่าวมีพื้นที่ทับซ้อนหมู่บ้านนาอ่อนเกือบทั้งหมู่บ้าน การกำหนดพื้นที่สถานีฯ ไม่มีการกันแนวเขตหมู่บ้านออกแต่อย่างใด !


 


สำหรับสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซมนั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มศักยภาพด้านการเกษตรให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ และรวมไปถึงการจัดระเบียบชุมชน บนพื้นฐานที่ต้องการให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี และป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ เป็นต้น


 


หลังจากนั้น ช่วงปี 2543-2544 อุทยานแห่งชาติผาแดง(เชียงดาว) ได้เข้าไปตั้งหน่วยบริเวณหมู่บ้านเพื่อปลูกป่าโดยมีชาวบ้านนาอ่อนและหมู่บ้านใกล้เคียงไปเป็นลูกจ้าง ทางอุทยานฯให้ค่าตอบแทนวันละ 80 บาทต่อคน งานที่ทำได้แก่ เพาะกล้าไม้ ดายหญ้า กำจัดวัชพืช ฯลฯ ต่อมาทางอุทยานฯพยายามขยายพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะติดตรงพื้นที่หมู่บ้าน ประกอบกับทางกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบสถานีฯ ก็มีแนวคิดว่าหากชุมชนนาอ่อนยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ของสถานีต่อไปนั้นก็มีแต่จะทำลายพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น


 


ดังนั้น เพื่อการขยายพื้นที่ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติผาแดงได้ร่วมกับกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 มีแนวคิดอพยพชาวบ้านนาอ่อนออกจากพื้นที่ดังกล่าวภายใต้ภาระกิจการจัดระเบียบชุมชน


 


กระทั่งวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เจ้าหน้าที่นำโดยนายสุนทร ธงนำราษฎร์ ปลัดป้องกัน อ.เวียงแหง พ.อ.เกษม วังสุนทร ผช.ผอ.โครงการฯ ทำการแทน ผอ.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติผาแดง พร้อมคณะที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.อ.เวียงแหง อส. ผู้ใหญ่บ้านแปกแซม จำนวนทั้งหมดประมาณ 20 คน ได้เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านนาอ่อนโดยแจ้งกับชาวบ้านว่าให้ชาวบ้านนาอ่อนทั้งหมดเตรียมตัวอพยพออกจากหมู่บ้านให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่จะทำการรื้อถอนและเผาบ้านพร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย


 


แน่นอนว่า กรณที่เกิดขึ้น ความหวังที่จะสร้างชุมชนนาอ่อนให้มีความมั่นคงในถิ่นที่อยู่อาศัย สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพอย่างพอเพียงได้พังทลายลงแต่บัดนั้น


 


บทเรียนอันซ้ำซากที่ยังคงอยู่ จะแก้อย่างไร?


 นายแอะต๊ะเป สินโล่ แกนนำชาวบ้านนาอ่อน กล่าวว่า การสั่งอพยพชาวบ้านนาอ่อนครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านเกิดความหวาดวิตกถึงความไม่มั่นคงต่อครอบครัวและวิถีชีวิต อีกทั้งยังกล่าวหาว่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงสามารถตรวจสอบได้ เพราะเมื่อป่าบริเวณนี้ถูกทำลายเจ้าหน้าที่มักกล่าวหาว่าชาวบ้านนาอ่อนเป็นผู้กระทำอยู่เสมอ โดยที่ไม่เคยตรวจสอบและสาวให้ถึงตัวการที่แท้จริงว่าเป็นคนจากหมู่บ้านอื่นหรือเป็นคนเมืองจากพื้นราบเป็นคนทำ


 


นายแอะต๊ะเป กล่าวต่อว่า เรื่องสถานที่รองรับหลังการอพยพก็เช่นเดียวกันที่ผ่านมาไม่เคยมีความชัดเจนว่าจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน แค่บอกลอยๆว่าจะให้ไปอยู่ที่บ้านแปกแซม แต่ที่ตนทราบพบว่าหมู่บ้านแปกแซมนั้นพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสมนั้นแทบไม่มี เพราะส่วนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้นั้นชาวบ้านแปกแซมจับจองกันหมดแล้ว ซึ่งกรณีนี้ราชการก็ยังไม่มีคำตอบกับชาวบ้านว่าจะเอาอย่างไร อย่างไรก็ตามจุดยืนของชาวบ้านนาอ่อนคือต้องการให้เจ้าหน้าที่กันแนวเขตพื้นที่หมู่บ้านออกจากสถานีฯ เพราะชุมชนตั้งถิ่นฐานมาก่อน ดังนั้นต้องให้ชาวบ้านต้องอาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ต่อไป


 


พ.อ.เกษม วังสุนทร ผช.ผอ.โครงการฯ ทำการแทน ผอ.โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 แจงว่า เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวมีแค่ 2 ชุมชนคือชุมชนแปกแซมกับชุมชนหินแตว ต่อมาชาวบ้านในชุมชนทั้งสองได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่บริเวณบ้านนาอ่อนเดิมทีไปกัน 7 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 12 หลังคาเรือน ขณะที่พื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านอยู่ในเขตสถานีฯ ซึ่งสถานีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2543 ในเนื้อที่กว่า 19,000 ไร่ ดังนั้นตนวิตกว่าในอนาคตหากปล่อยไว้เช่นนี้โดยไม่จัดการใดๆแล้วชุมชนอาจมีการขยายตัวและมีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น


 


"ปัญหานี้มีการหารือมาหลายครั้งแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ครั้งนี้กองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3 ดำเนินการภายใต้ภาระกิจของสถานีฯที่ระบุถึงอำนาจที่สามารถจัดระเบียบชุมชนได้ เรื่องนี้ต้องมองชาติเป็นที่ตั้ง ต้องเอาพื้นที่นาอ่อนมาเป็นผืนป่าเหมือนเดิม ชาวบ้านต้องออกไป ต้องอยู่ในกรอบกติกา หากปล่อยไว้ก็จะมีปัญหาบุกรุกพื้นที่อื่นๆต่อไปอีก" พ.อ.เกษม กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นชาวบ้านนาอ่อนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) ให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง


 


ดังนั้น วันที่ 12 ธันวาคม 2549 การประชุมหารือร่วมกันในกรณีการอพยพชาวบ้านนาอ่อนระหว่างกองอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองพลพัฒนาที่ 3, อำเภอเวียงแหง, อุทยานฯแห่งชาติผาแดง,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ศปส.,รวมทั้งส่วนราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องจึงเกิดขึ้น และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีองค์จากตัวแทนภาครัฐราชการ ตัวแทนคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนราษฎรในพื้นที่ ทำหน้าที่ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาและสถานะของที่ดินอย่างรอบด้าน และให้เสนอแนวทางเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างถูกต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


 


โดยคณะทำงานฯมีระยะเวลาการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันทำการนับจากมีคำสั่งแต่งตั้ง ที่สำคัญระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานให้ราชการยุติการอพยพชาวบ้านจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ และระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานให้ชาวบ้านยุติการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพิ่มเติมและห้ามบุกรุกทำประโยชน์ที่ดินเพิ่มเติม แต่ในพื้นที่ทำกินเดิมชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ นอกจากนี้ชาวบ้านต้องเป็นหูเป็นช่วยเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุหากมีการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่


 


นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) กล่าวว่า การสั่งอพยพชาวบ้านนาอ่อนที่เกิดขึ้นถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง และเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดจากน้ำมือของรัฐ ที่ผ่านมานั้นปัญหาลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นไปทั่วโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือโดยการอ้างว่าชาวบ้านทำลายป่า อีกทั้งที่ผ่านมาบทเรียนจากการอพยพชาวบ้านนั้นก็ชัดเจนในทุกพื้นที่ว่าจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งปัญหาเหล่านั้นเองยังไม่มีพื้นที่ใดที่รัฐสามารถจัดการหรือแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม


 


อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าแนวคิด สูตรสำเร็จในการจัดการป่าไม้ที่ว่าป่าจะสมบูรณ์ได้นั้นต้องปลอดคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชาวเขาที่ถือเป็นตัวการสำคัญในการทำลายป่า ความเชื่อเช่นนี้ยังคงรัดตรึงพันธนาการแนวคิดในการจัดการป่าของรัฐไว้อย่างเหนียวแน่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งใดที่มีคนอาศัยอยู่ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการประกาศจำเป็นต้องอพยพออก ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเกินความคาดหมายเท่าไรนักเมื่อการอพยพคนออกจากป่า ส่วนใหญ่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจึงมักเป็นชาวเขา ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลองลาน จ.กำแพงเพชร กรณีวังใหม่(ผาช่อ) จ.ลำปาง กรณีห้วยวาด จ.ลำปาง หรือกรณีปางแดง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น และที่ลึกไปกว่านั้นเพราะกลุ่มชาวเขาเหล่านี้มักเป็นผู้ไม่มีปากเสียง ง่ายต่อการจัดการจากเจ้าหน้าที่


 


และแน่นอนว่า ผลพวงจากการอพยพชุมชนเหล่านั้นออกมาจากป่าล้วนประจักษ์ชัดเจนว่าความล่มสลาย ชุมชนแตกดับล้วนเกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่มีพื้นที่ใดที่รัฐสามารถจัดการหรือแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นยุคปัจจุบันนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องทบทวนแนวคิดการจัดการป่าอย่างจริงๆจังๆ และคงต้องทบทวนด้วยว่าการอพยพคนออกจากป่านั้นใช่วิธีการอนุรักษ์ที่แท้จริงและยั่งยืนหรือไม่.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net