Skip to main content
sharethis

วานนี้ (31 ม.ค.) งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งเปิดตัวอย่างอลังการเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 49 โดยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เกิดผลกระทบและปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาขยะ การจราจรติดขัด มลภาวะเป็นพิษ รายได้ไม่กระจายสู่ท้องถิ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายหลังการสิ้นสุดงาน พื้นที่แสดงพันธุ์ไม้นานาชาติกำลังจะทำการปิดปรับปรุงเป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อเตรียมเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรต่อไป


นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวสรุปการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกว่า วันสุดท้ายของการจัดงานพืชสวนโลก มีนักท่องเที่ยวเข้าชมงานประมาณ 20,000-40,000 คน โดยหลังจากนี้ จำเป็นต้องปิดสวนชั่วคราว กล่าวคือ ไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาในงาน เพราะต้องรื้อสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวต่างๆ เช่น เต็นท์ขายของ ขายอาหาร ลานเบียร์ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน หลังจากนั้นก็ต้องจัดที่ให้เรียบร้อยเพื่อเตรียมจัดงานใหม่ พร้อมกับต้องปรับปรุงตกแต่งสวนเพื่อให้สามารถดูแลได้ง่ายในอนาคต เพราะไม้ดอก และดอกไม้ต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากต้องได้รับการดูแลทุกๆ 20-30 วัน ซึ่งมีความยุ่งยากพอสมควร ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง ทั้งเรื่องคนงานในการดูแลด้วย นอกจากนี้ไม้ดอกเป็นพืชที่เหี่ยวเฉาง่าย เมือมีดอกไม้เฉาแซมอยู่จะทำให้แลดูไม่สวยงาม ดังนั้น สวนที่จะจัดทำให้ชมเป็นการถาวรต้องพยายามให้มีไม้ดอกน้อยที่สุด


"เราจำใจต้องปิดเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรให้ประชาชน สถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เกษตรที่มีชีวิต แต่สิ่งที่หลายคนกังวลว่าการบริการงานอาจเกิดความไม่ทั่วถึง ตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารงานด้วย ของแบบนี้ต้องดูกันนานๆ  คนที่จะเข้ามาบริหารต้องมีความรับผิดชอบและจริงจัง ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้" นายอดิศักดิ์ กล่าว


นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากการปิดเพื่อปรับปรุงสวนแล้ว จะเปิดสวนใหม่โดยมีวัตถุประสงค์สาม ประการ คือ หนึ่ง เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร ซึ่งเรามีกิจการเกษตรที่แสดงในงานพืชสวนโลกเยอะมากที่อาจจะยังใช้ไม่คุ้มค่าภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา เช่น ไม้สน พืชผัก สมุนไพรต่างๆ ซึ่งสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรได้ในอนาคต สอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งภายในงานยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ใช่เฉพาะเพียงหอคำหลวงเท่านั้น แม้ว่าหน้าตาสวนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เนื่องจากมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างถาวรออกไป ทำให้มีพื้นที่โล่ง


และสาม ใช้เป็นสถานที่จัดงานกิจกรรม นิทรรศการต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และไม่ใช่การเกษตร เพราะเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้ สวนดอกไม้นานาชาติบางประเทศอาจคงไว้ในสภาพเติม หรือมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยการเปลี่ยนต้นไม้เป็นแบบอื่น เพราะคงไม่สามารถคงสภาพดอกไม้แบต่างประเทศเอาไว้ได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น สวนประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น


"ตอนนี้ยังไม่มีข้อยุติชัดเจนเกี่ยวกับค่าเข้าชมศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร แต่เรามีแนวคิดว่าคงต้องเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่จะเข้าชมงาน แต่ในกรณีเยาวชน เช่น นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร อาจได้รับการยกเว้นก็ได้ ซึ่งค่าเข้าชมจะถูกกว่าราคาบัตรพืชสวนโลกแน่นอน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นราคาเท่าไหร่" นายอดิศักดิ์ กล่าว


อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากนี้ ในด้านวิชาการทางกรมวิชาการเกษตรยังทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ แต่จากการหารือเบื้องต้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่าอาจต้องมีการจัดตั้งมูลนิธิ หรือองค์กรขึ้นมาดูแลศูนย์การเรียนรู้ โดยมาจากในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ องค์กรจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรข้างนอกอีกจำนวนหนึ่ง มาร่วมกันบริหารพื้นที่นี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกต่อไปหรือไม่ แต่ตนคิดว่าอาจมีหน่วยงานร่วมกันดูแลซึ่งมาจากกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานในท้องถิ่น โดยมีงบประมาณในการดูแลซึ่งมาจากเงินสิทธิประโยชน์การจัดงานพืชสวนโลก นอกจากนี้ยังมีงบประมาณที่ขอมาเตรียมการอไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และคิดว่าในปีแรกไม่น่าจะมีปัญหาในการดำเนินงาน แต่ก็ยอมรับว่าจะมีคนเข้ามาชมศูนย์การเรียนรู้ฯ น้อยกว่างานพืชสวนโลกแน่นอน ประมาณวันละ 2-3 พันคน แต่ตนคิดว่าตรงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารงานด้วย


"ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงงานตอนนี้ยังไม่สามารถคำนวณได้อย่างชัดเจน เพราะยังไม่มีข้อยุติในแนวทางการปรับปรุงว่าจะทำเพิ่มเติมส่วนไหนบ้าง โดยงบประมาณที่เกิดขึ้นจากงานซึ่งเป็นเงินรายได้ หรือเงินสิทธิประโยชน์ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุญาตให้แก่กรมวิชาการเกษตร ภายใต้ความเห็นชอบของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ซึ่งถือเป็นเงินหลวง หรือเงินที่มาจากประชาชน" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว


อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้น้ำบำรุงสวนซึ่งกำลังเป็นที่กังวลว่าอาจเกิดการแย่งน้ำจากลำคลองชลประทานนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวชี้แจง ในพื้นที่เดิมมีบ่อน้ำในการดูแลพืชอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบ่อขนาดใหญ่จำนวน 4 บ่อ และจะทำการขยายบ่อน้ำเดิม 3 บ่อ พร้อมกับขุดใหม่อีก 1 บ่อ ซึ่งจะให้น้ำประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร


"เราพยายามที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะทำกั้นน้ำเอาไว้ ในตอนกลางคืนและสูบเก็บไว้ ซึ่งเป็นช่วงที่คนใช้น้ำน้อย ตรงนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดการแย่งน้ำกับประชาชนที่ใช้น้ำในโครงการแม่แตง" นายอดิศักดิ์ กล่าว


ส่วนผลสรุปด้านรายได้จากการท่องเที่ยวงานพืชสวนโลกนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายได้ประมาณ 150-200 ล้าน ส่วนรายได้ในภาพรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 ล้าน โดยกรมวิชาการเกษตรลงทุนไปประมาณ 2,700 ล้าน แต่ผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแค่ภายในงานเท่านั้น ยังมีรายได้ทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง และจังหวัดอื่นๆ ด้วย เนื่องจากมีคนเดินทางมาท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ประมาณ 300 ล้านคน โดยมีการประมาณการจับจ่ายที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวครั้งนี้กว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัดงานพืชสวนโลกในครั้งนี้


ศ.เฉลิมพล แซมเพชร อดีตอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานพืชสวนโลกที่ผ่านมา เห็นว่าผู้จัดไม่ได้มีการคิดวางแผนล่วงหน้าว่าหากหมดช่วงงานไปแล้วจะเอาพื้นที่ไปทำอะไร เวลาออกมาอธิบายกับประชาชนก็ตอบแค่พอให้ผ่านไป จนถึงสิ้นสุดงานก็ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ชัดเจนว่าจะทำอะไรกับพื้นที่ ทั้งด้านงบประมาณ หรือหน่วยงานรับผิดชอบ ทำให้เห็นว่าการทำงานไม่ได้มีความรอบคอบ


"ผมคิดว่าไม่ควรจัดพื้นที่งานเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือศูนย์การเรียนรู้ใดๆ ทั้งสิ้น หากจะทำจริงก็ทำเป็นสวนสาธารณะจะดีกว่า เพราะหากไปทำเป็นที่ท่องเที่ยวต่อมาก็จะเกิดโรงแรม บ้านพัก ร้านค้า ต่างๆ มากมายตามมาทำให้ธรรมชาติแถวนั้นได้รับความเสียหาย พื้นที่ที่ใช้จัดงานบอบช้ำมากพอแล้ว จึงไม่ควรอะไรอีก" ศ.เฉลิมพล กล่าว


สมาชิกภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวต่อว่า หากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ตนเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะเชียงใหม่มีศูนย์การเรียนรู้เรื่องพืชหรือการเกษตรอยู่แล้ว เช่น สวนพฤกศาสตร์ หรือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ในพระราชดำริ หากทำอีกจะเกิดความซ้ำซ้อน เพราะเนื้อหาแต่ละที่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ซ้ำยังเป็นการทำให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ในเชียงใหม่ เช่น สวนสัตว์ก็มีสองแห่ง (ไนท์ซาฟารี และสวนสัตว์เชียงใหม่) ควรขยายไปจังหวัดอื่นบ้าง เพราะตอนนี้คิดว่าเชียงใหม่ก็มีอะไรมากพออยู่แล้ว


ส่วนกรณีผลกระทบจากงานพืชสวนโลกนั้น ศ.เฉลิมพล กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นงานควรมีการทำศึกษาวิจัยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากงานพืชสวนโลกด้วย เนื่องจากผู้จัดงานไม่ได้มีการเตรียมการอะไรที่ดีพอ หลายๆ อย่างก็โยนให้ท้องถิ่นต้องรับภาระ เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาการจราจร มลพิษ ฯลฯ  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ปัจจุบันเชียงใหม่มีมากพออยู่แล้ว หากจะสร้างเป็นที่ท่องเที่ยวถาวรอีกแห่ง เกรงว่าจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหามากกว่าเดิม โดยผู้จัดงานและนักท่องเที่ยวมาอยู่ไม่นานก็กลับ แต่คนในท้องถิ่นต้องทนอยู่กับปัญหานี้ตลอด


"ควรมองไปถึงว่ารายได้ทั้งหมดจากงานได้เท่าไหร่ รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวที่โม้กันนักหนาว่าจะเกิดขึ้นแก่เชียงใหม่ เกิดการกระจายรายได้มากน้อยอย่างไร และใครเป็นคนได้ประโยชน์กันแน่ เพราะหากดูลึกๆ แล้วชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ได้อะไร แต่คนที่ได้จริงๆ กลับเป็นบริษัทนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรม บ้านพัก ซึ่งเป็นของนายทุน แต่ปัญหาที่ได้กล่าวไปพวกเขาไม่ต้องมาแบกรับเหมือนที่ชาวบ้านเจอมาตลอด 3 เดือน" ศ.เฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย.


 


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net