Skip to main content
sharethis

 


 


ประชาไท - 3 ก.พ. 2550 เมื่อวันที่ 1 กพ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานเครือข่ายชนเผ่าเพื่อรัฐธรรมนูญ ได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง "ข้อเสนอชนเผ่าและชาติพันธุ์กับการปฏิรูปการเมืองไทย" ขึ้น ณ ห้องประชุมสถานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การปฏิรูปการเมืองไทย รวมทั้งผลักดันให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองกับการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นการร่วมวางแผน กำหนดทิศทาง เนื้อหาและกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนชนเผ่าต่อการร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนและสิทธิชนเผ่า


 


โดยในช่วงบ่าย ได้มีการเสวนาในหัวข้อ "วิพากษ์จุดอ่อนจุดเด่นของรัฐธรรมนูญปี2540 กับสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนและสิทธิชนเผ่า ประเด็น สิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ" ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2540 เช่น มาตรา 44,45,46,56,79 ที่ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคประชาชน


 


นายสุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าเนื้อหาเรื่องสิทธิพลเมืองมีมากที่สุดตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมาและมีการถ่วงดุลอำนาจรัฐมากที่สุดเพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ แต่สิ่งที่เราเผชิญมาเป็น 10 ปี กลับเจอปัญหาเกิดขึ้นมามากมาย มีการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม


 


"ในรัฐธรรมนูญระบุถึงเรื่องสิทธิชุมชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐจริง แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการมีส่วนร่วมกับรัฐยังไม่เกิด ซึ่งมีกฎหมายหลายมาตรากลับโดนเหมือนมีกุญแจปิดล็อกเอาไว้ ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ กลายเป็นว่าสิทธิขาดอยู่ที่รัฐ รัฐเป็นเจ้าของ ทำให้พัฒนาการเรื่องสิทธิชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจริง"


 


นายสุมิตรชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ได้มองประชาชนว่าจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ยังมีทัศนคติว่า รัฐเป็นเจ้าของสิทธิและอำนาจนั้น โดยดูได้จากกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ที่ระบุห้ามคนเข้าไปปฏิสัมพันธ์หรือมีกิจกรรมในป่าอย่างเด็ดขาด ซึ่งตนเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ตลกมาก เพราะฉะนั้น จะต้องมีการปลดล็อก ให้มีการกระจายอำนาจ และการมีส่วนของประชาชนอย่างแท้จริง


 


"ถ้ากรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปีล่าสุด มองเห็นตรงนี้ คิดว่าไม่จำเป็นต้องร่างใหม่ก็ได้ เพียงแต่เน้นให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ให้เกิดกฎหมายลูกขึ้นมา มันก็จะเกิดขึ้นเอง"


 


นอกจากนั้น นายสุมิตรชัย ยังกล่าวอีกว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นวิกฤติของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็คือปัญหาการวางกลไกถ่วงดุลในการตรวจสอบอำนาจรัฐ สส.,นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการสร้างกลไกขึ้นมาใหม่ทั้งหมดแต่ก็ยังมีจุดบอด และจุดด้อย ซึ่งเราต่างก็เห็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าในเรื่องจำนวน ที่มาหรือจำนวนของ ส.ส.,ส.ว.รวมไปถึงในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นว่ายังเกิดช่องโหว่ให้รัฐได้ใช้อำนาจเข้าไปใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างขาดความสมดุล จนทำให้ปัญหาระดับโครงสร้างได้รับผลกระทบ โดยดูได้จากกรณี โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หรือพืชสวนโลก เป็นต้น


 


 



จอนิ โอ่โดเชา


ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.)


และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.)


 


นายจอนิ โอ่โดเชา ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.) และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ผ่านมานั้นอะไรๆ ก็ดูดี ซึ่งเขาก็มีส่วนในการร่าง เคยเสนอในแผนแม่บทว่าต้องมีกฎหมายลูกอย่างนี้ๆ แต่พอทำจริง สว.ก็ไม่เอาด้วย เพราะกลัวกระทบต่อผลประโยชน์ของตัวเอง จนทำให้พี่น้องเราต้องออกมาเดินขบวน ก็เดินไปเดินมาจนเหนื่อย 


 


"ที่ผ่านมา ในรัฐธรรมนูญบอกว่า ประชาชนมีสิทธิ มีส่วนร่วม ท้องถิ่นมีอำนาจ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีหลายอย่างที่หมกเม็ดเอาไว้เพื่อเป็นการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของรัฐมากกว่าการให้อำนาจของภาคประชาชน มุ่งแต่จะส่งเสริมให้คนเข้าไปมีเงินเดือน นั่งเครื่องบินฟรี แต่ไม่ได้เข้าถึงวิถีชีวิตจริงๆ หรอก"


 


นายจอนิ กล่าวอีกว่า เราต้องฟื้นกฎเกณฑ์ธรรมชาติท้องถิ่น เศรษฐกิจท้องถิ่น เราต้องจุดประกายให้ชาวบ้านดูว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ส่วนใหญ่เราจะต้องทะเลาะกันในเรื่องของผลประโยชน์ ชาวบ้านเราส่วนใหญ่จะไม่เห็นทางออก


 


"รัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นข้อดีก็มีเยอะแยะ แต่ถ้าข้อไหนไม่ดีก็ตัดทิ้ง เพิ่มกฎหมายลูกเข้าไปให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรได้ไม่ต้องมี"เว้นแต่...ทั้งนี้ตามข้อกฎหมายบัญญัติ" ซึ่งถ้าเราไม่เตะถ่วง เอาจริง เดือนเดียวก็ร่างเสร็จ"


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net