Skip to main content
sharethis

4 องค์กรประชาสังคมออกแถลงการณ์ขอรัฐไทยยุติผลักดันผู้ลี้ภัยสงครามพม่าชายแดนกาญจนบุรีและราชบุรีกลับไปเผชิญอันตราย เสี่ยงขัด กม.ระหว่างประเทศและในประเทศ พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานและเตรียมแผนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

11 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (11 พ.ค. 2567) เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.), เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG), เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) และเครือข่ายเพื่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา (MRN) ร่วมออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตรายในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี

แถลงการณ์นี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ และสำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ปีกการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เปิดฉากสู้รบกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพพม่า บริเวณพื้นที่เมืองพญาตองซู รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามบ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

แถลงการณ์ระบุว่าผลจากการสู้รบดังกล่าวส่งผลให้มีประชาชนหนีภัยการสู้รบจากฝั่งเมียนมาเข้ามาบ้านบ้องตี้ ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ประเทศไทย ประมาณ 2,300 คน โดยกระจายไปพักด้วยกันตามบ้านของเครือญาติฝั่งไทย อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทางการไทยได้ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางแล้วมากกว่า 1,000 คน ทำให้ผู้ที่กลับไปประเทศต้นทางต้องไปอาศัยหลบตามป่าเขาเนื่องจากบ้านของพวกเขาถูกทำลาย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500 คน เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง คนท้อง และผู้ป่วย นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมประเมินว่าอาจมีผู้ลี้ภัยเข้ามาที่ชายแดนไทยอีกประมาณ 7,000 คน หากสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่สงบลง

นอกจากพื้นที่เขตกาญจนบุรี แถลงการณ์ชี้ด้วยว่า พื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้มีผู้ลี้ภัยสงครามอพยพเข้ามาฝั่งไทย  โดยเข้ามาอาศัยกับเครือญาติในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหินตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่ได้มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามแนวทางบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าวตามที่ระบุในแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (SOP) โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และสถานการณ์ตอนนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 ดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยจำนวน 610 คน กลับประเทศเมียนมาโดยไม่สมัครใจ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ร่วมกันแถลงการณ์ จึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อมาตรการของรัฐไทยที่ดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง และการดำเนินการผลักดันกลับไม่ได้มีการประเมินที่เป็นกลาง ไม่ได้รับความยินยอมโดยสมัครใจ ซึ่งอาจขัดต่อหลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และไทยได้ร่วมลงนามเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 (CAT) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (CRC) และกฎหมายในประเทศ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบกรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 ซึ่งล้วนแต่ย้ำหลักการไม่ส่งกลับบุคคลใดก็ตามไปเผชิญอันตรายในประเทศต้นทาง

ขณะที่ไทยได้แสดงเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามหลักวาระทั้งในและต่างประเทศ และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัย รวมถึงเมื่อ 23 เม.ย. 2567 รัฐบาลไทยได้ประกาศคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ได้มีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ โดยที่ประชุมได้ประเมินว่าสถานการณ์สู้รบในเมียนมายังมีความไม่แน่นอน และสรุป 3 หลักการที่จะใช้บริหารจัดการการรับมือการสู้รบในเมียนมา คือ

1.ยึดมั่นการรักษาอธิปไตยของไทยเป็นเรื่องหลัก ดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ 2.ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทยดำเนินกิจกรรมในการต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามปกติ และ 3. ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการ

ภาคประชาสังคมเสนอ 4 ข้อ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในกาญจน์ และราชบุรี

องค์กรที่ร่วมกันออกแถลงการณ์ได้เสนอ 4 ข้อต่อรัฐบาลไทยในการจัดการผู้ลี้ภัยในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี ดังต่อไปนี้ 1.ขอให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรีเป็นการทันที

2.ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบ อาทิ สมช. กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เร่งกำหนดระเบียบ และแนวปฏิบัติตามมาตรา 13 และประสานงานกับหน่วยงานในท้องที่โดยเร็ว

3.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติ และกลไกดูแลคัดกรองกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในระดับพื้นที่ และจัดเตรียมแผนการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมตามแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ตามหลักการที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567

4.ขอให้รัฐบาลไทยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในการให้การปกป้อง และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เดินทางมาโดยลำพังและเด็กที่พัดพรากจากครอบครัว ในด้านที่อยู่อาศัย สาธารณสุข โภชนาการ การศึกษา การคุ้มครองเด็ก และการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์
เรียกร้องให้ยุติการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตรายในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี

รัฐบาลไทยต้องยุติการผลักดันส่งกลับผู้หนีภัยความสงบชาวเมียนมาไปสู่อันตรายและเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในพื้นที่จังหวัดชายแดน ตามแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมากำหนดไว้ โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรี

จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) เข้ามาในประเทศไทยในพื้นที่ บ้านบ้องตี้บน ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จำนวนประมาณ 2,300 คน โดยกระจายกันอยู่กับเครือญาติในชุมชนฝั่งไทย และยังมีรายงานจากในพื้นที่ว่ามี ผภ.สม.ถูกผลักดันกลับไปแล้วมากกว่า 1,000 คน โดยยังมีผู้หนีภัยความไม่สงบยังคงหลบซ่อนอยู่ตามแนวชายชายแดน เนื่องจากที่พักอาศัยถูกเผาทำลาย ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500 คน เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง คนท้อง และผู้ป่วย ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงจากความไม่สงบในเมียนมา คาดการณ์ว่าจะมีผู้อพยพอีกมากกว่า 7,000 คน ที่อาจหนีภัยความไม่สงบข้ามชายแดนเข้ามาในพื้นที่ฝั่งไทยอีกหากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมายังไม่ยุติลง

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่าผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่กับเครือญาติในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา และไม่ได้มีการจัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตามแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาให้กับชาวเมียนมากลุ่มดังกล่าวตามที่ถูกกำหนดไว้ในแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (SOP) ซึ่งมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ กองพลทหารราบที่ 9 ดำเนินการผลักดันผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) จำนวน 610 คน กลับประเทศเมียนมาโดยไม่สมัครใจ แม้ว่าจะได้มีการประสานกับสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง (เคเอ็นยู) เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับไว้ที่หมู่บ้านบ่อหญ้าคา ในฝั่งประเทศเมียนมา ซึ่งมีระยะห่างจากฝั่งไทย 30 กิโลเมตร ก็ตาม โดยได้มีการส่ง ผภ.สม ชุดแรกรวม 35 คน ไปเตรียมพื้นที่ในหมู่บ้านบ่อหญ้าคาแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และเตรียมเดินหน้าบังคับส่งกลับ ผภ.สม อีกจำนวน 610 คน เป็นชุดถัดไป

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.) เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG) เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) และ เครือข่ายเพื่อผู้ลี้ชาวเมียนมา (MRN) มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินการให้ความช่วยเหลือและการประเมินความปลอดภัยเพื่อการส่ง ผภ.สม. กลับคืนภูมิลำเนาในประเทศเมียนมาภายใต้สถานการณ์ในเมียนมาที่ยังแนวโน้มอาจเกิดความไม่สงบได้ทุกเวลา และการดำเนินการผลักดัน ผภ.สม.ที่ไม่ได้มีความประเมินปลอดภัยที่เป็นกลาง ไม่ได้รับความยินยอมจากผภ.สม.อาจเป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปสู่อันตราย (principle of non-refoulement) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องเคารพ หลักการดังกล่าวได้ห้ามรัฐในการปฏิเสธการเข้าบริเวณพรมแดน การดักจับ และการส่งกลับของบุคคลที่เสี่ยงจะเผชิญอันตรายและการประหัตประหาร รวมถึงเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 ระบุไว้ว่าห้ามมิให้หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคล เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะตกไปอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ ถูกกระทำให้สูญหาย

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 แต่ก็เป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 (ICCPR) อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 (CAT) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 (CRC) ซึ่งล้วนระบุถึงหลักการไม่ส่งกลับและสิทธิการได้รับความคุ้มครองของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงด้วยกันทั้งสิ้น

ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้แสดงว่าจะยึดมั่นและดำเนินการตามพันธกิจในหลายวาระทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศว่าจะให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาได้มีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่ประชุมได้ประเมินว่าสถานการณ์สู้รบในเมียนมายังมีความไม่แน่นอน และสรุป 3 หลักการที่จะใช้บริหารจัดการการรับมือการสู้รบในเมียนมา คือ

1.    ยึดมั่นการรักษาอธิปไตยของไทยเป็นเรื่องหลัก ดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ

2.    ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทยดำเนินกิจกรรมในการต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามปกติ

3.    ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็นหัวใจในการดำเนินการ

ภาคีเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการดังต่อไปนี้:

1.    ขอให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินการส่งกลับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา หรือ ผภ.สม. โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรีเป็นการทันที เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยคำนึงถึงหลักการไม่ส่งกลับไปสู่อันตรายเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 13 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

2.    ขอให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. 2565 เร่งกำหนดระเบียบ และแนวปฏิบัติตามมาตรา 13 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ และดำเนินการต่อไป

3.    ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติ และกลไกดูแลคัดกรองกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาในระดับพื้นที่และจัดเตรียมแผนการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมตามแนวทางการบริหารจัดการผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาตามหลักการที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯได้ให้ไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567

4.    ขอให้รัฐบาลไทยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กในการให้การปกป้อง และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เดินทางมาโดยลำพังและเด็กที่พัดพรากจากครอบครัว ในด้านที่อยู่อาศัย สาธารณสุข โภชนาการ การศึกษา การคุ้มครองเด็ก และการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989

วันที่ 11 พฤษภาคม 2567

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (คปฐ.)
เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (MWG)
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP)
และ เครือข่ายเพื่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา (MRN)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net