Skip to main content
sharethis

ประชาไท -เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 50 ที่ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ประกอบด้วยผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ข้าราชการ นักวิชาการ มีนางกรรณิการ์ บันเทิงจิตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและประชามติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่วมรับฟัง


 


นางกรรณิการ์ กล่าวว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรรมาธิการยกร่างฯ มีความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ลึกซึ้งเท่าๆ กัน เพราะมาจากตัวแทนที่หลากหลาย ถ้าจะให้ถกเถียงจนตกผลึกเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลาน้อย ที่ผลักดันได้ขณะนี้ คือ เสนอให้เป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ จากนั้น ค่อยผลักดันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาจจะให้กระทรวงต่างๆ นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้


 


นางกรรณิการ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอทั้งหมด จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 15 มีนาคม 2550 การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดสงขลา ที่ใช้เวลานานในการเรียนรู้และปฏิบัติ จนตกผลึกทางความคิด แต่สมาชิกสถาร่างรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถมาเรียนรู้ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลาได้


 


ทั้งนี้ ในวงเสวนามีการแสดงความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอพียง โดยยกตัวอย่างการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาชนในจังหวัดสงขลา เช่น กลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ดำเนินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เป็นต้น โดยเสนอให้บรรจุในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ


 


นายพงษ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติภาคใต้ สรุปว่า วงเสวนาเห็นความจำเป็นที่จะต้องบรรจุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยความพอเพียง จะต้องสัมพันธ์กับความเข้มแข็งของชุมชน ดังนั้นรัฐต้องไม่ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน ต้องสนับสนุนวิถีของชุมชน และสร้างความเป็นธรรมในสังคม


 


"การระบุแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงลงไป เพราะต้องการปลดปล่อยชุมชนให้เป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากการเมือง และเศรษฐกิจจากส่วนกลาง เช่น องค์กรชุมชนที่บ้านคลองเปียะมีการดำเนินงานที่เป็นอิสระ รัฐต้องสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตามวิถีทางของชุมชน รวมทั้งสิทธิของชุมชนด้วย นอกจากนี้ ในวงเสวนายังเสนอให้ภาคประชาชนมีสิทธิใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีของราษฎรด้วย" นายพงศ์เทพ สรุป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net