Skip to main content
sharethis

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ที่มีกลุ่มนักวิชาการออกมาคัดค้านกันมากว่า ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปจากเดิมจะพิจารณาในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ไปเป็นวันที่ 14 พ.ย. เพราะกรรมาธิการฯ หลายคนติดภารกิจอื่น


 


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรา 21 ว่าด้วยเรื่องเรื่องการตรวจสอบ ทางปกครอง และศาลปกครอง เหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฯ พอรับฟังได้ เพราะบางครั้งเหตุการณ์ฉุกเฉินมาก หากมีการร้องให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อาจไม่ทันสถานการณ์ ซึ่งในมาตรานี้คงได้หารือถึงการเขียนเงื่อนไข ของสถานการณ์เพิ่มเติมเข้าไปด้วย เพื่อให้ตรวจสอบทางปกครองได้


 


ส่วนมาตรา 22 เรื่องเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา วินัย หากทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สมควรแก่เหตุ และทำไปโดยสุจริตนั้น ได้หารือเป็นการภายใน มีแนวทางประนีประนอมว่า อาจจะตัดทิ้งได้ เพราะมีกฎหมายฉบับอื่นเอาโทษอยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญา เชื่อว่ากรรมาธิการฯทุกคนจะใจกว้างพร้อมรับฟัง นอกจากนี้ ขอให้กลุ่มนักวิชาการและภาคส่วนอื่นที่ออกมาเคลื่อนไหว เสนอ ความเห็นและคำแปรญัตติผ่านทางตนได้เลย จะได้ทำให้กฎหมายดีขึ้น


 


พล.ร.อ. บรรณวิทย์ เก่งเรียน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 1 ใน 20 สนช.ที่ลงมติไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวถึง การพิจารณาร่างฯของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ว่า เป็นห่วงเนื้อหาของ ร่างพ.ร.บ.โดยเฉพาะในมาตรา 21 และมาตรา 22 ที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่สามารถสอบตรวจสอบการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั้งทางแพ่ง วินัย อาญา และทางปกครองได้ ซึ่งคิดว่ากรรมาธิการฯ น่าจะปรับแก้ในส่วนนี้ เพราะการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป ควบคุมได้ยาก ถ้าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบลุกลามใหญ่โต รัฐบาลก็สามารถใช้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกรองรับอยู่แล้ว ดังนั้นพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ต่างไปจากกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในอดีต


 


อย่างไรก็ตามการจะแก้ไขตามข้อทักท้วงนั้น ตนมีความหวังน้อยมาก เพราะก่อนรับหลักการมี สนช.หลายคนไม่เห็นด้วย แต่ผลโหวตออกมาไม่รับเพียง 20 คนเท่านั้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่าเป็นการล็อบบี้มีใบสั่งจากรัฐบาลใช่หรือไม่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า "จะมองเป็นอื่นได้อย่างไร เพราะตอนที่พูดคุยกันก็มีคนเห็นเหมือนกับผมว่าคาดว่าจะมีผู้ไม่รับหลักการไม่ต่ำกว่า 40-50 คน แต่พอ คะแนนออกมา 101 ต่อ 20 ก็น่าสงสัย"


ส่วนหากร่างกฎหมายไม่มีการแก้ไขจะดำเนินการอย่างไรนั้น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวว่า สนช.ที่ไม่รับหลักการก็มีการพุดคุยกันว่า อาจต้องยื่นเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และตนยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ยืนข้างประชาชนให้ได้


 


ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สูงสุด และสมาชิก คมช. กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯให้อำนาจ ผอ.รมน.มากไปและอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของมุมมองแต่ละคน ผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคง มองอย่าง คนทำเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มองอีกอย่าง ทั้งนี้ทหารไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนดีที่เรียบร้อยอยู่แล้ว ทหารทำเพื่อความปลอดภัยของคนดี ต้องการช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คงไม่ไปไล่จับคนดี เพราะเรามีหน้าที่จัดการคนไม่ดีเพื่อให้คนดีอยู่อย่างสงบเรียบร้อย


 


"ฝ่ายมองแง่ร้ายอยากทำให้ทหารถูกมองว่าเลว แต่อยากถามว่าทหารทั่วไปเป็นคนเลวอย่างนั้นหรือ การที่ทหารจะไปทำอะไรผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ทำผิดก็ต้องถูกลงโทษอยู่แล้ว กองทัพอาจมีทหารไม่ดีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ 90 % เป็นคนดี ทำเพื่อประเทศชาติเรามีกฎหมายความมั่นคงเพื่อป้องกันคนร้ายและเหตุร้าย เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นแล้วไปตามจับ ซึ่งประเทศที่มีกฎหมาย ฉบับนี้เขาจะไม่ค่อยมีเหตุร้ายขึ้น เพราะเมื่อรู้ข่าวก็จะเข้าตรวจค้นทันที แต่ของเรา ไม่มีกฎหมายเช่นนี้ ซึ่งกฎหมายทั่วไปต้องมีการไปขออำนาจศาล ซึ่งไม่ทันกาล"


 


 


ที่มา : ผู้จัดการรายวัน


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net