Skip to main content
sharethis

14 พ.ย.50  ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.), กลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก (กปก.) , Bangkok Food not Bomb, กลุ่มศึกษาสังคมเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มจัดตั้งสโมสรนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กลุ่มสังคมวิจารณ์และกลุ่มDemocracy Community จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ประมาณ 10 คน สวมใส่ชุดสีขาว รวมตัวกันที่หน้าบริเวณรัฐสภา เพื่อประกาศเจตนารมณ์เรียกร้องนักกิจกรรมหนุ่มสาวและนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่รวมพลังคัดค้าน พ.ร.บ. ความมั่นคง โดยมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ กล่าวปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ผ่านเครื่องขยายเสียง นอกจากนี้ยังมีป้ายข้อความว่า "ความมั่นคงของมนุษย์ มิอาจสร้างได้ด้วยปืนหรือรถถัง"


 


ทางกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมคนหนุ่มสาว 8 องค์กร ได้มีการแสดงละครล้อเลียนการเมือง โดยมีเนื้อหาสะท้อนว่า ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านต่อไปจะมีอำนาจที่เหนือกว่ากฎหมายทั้งปวง เท่ากับว่าเป็นการให้ความชอบธรรมในการฆ่าประชาชน ซึ่งคำว่า "ฆ่า" ในที่นี่ไม่ได้มีความหมายว่า การฆ่า ทำร้ายให้ถึงแก่ความตาย แต่หมายความว่าถ้าประชาชนอยู่อย่างไร้สิทธิและเสรีภาพ ไม่มีสิทธิแม้แต่แสดงความคิดเห็น ประชาชนอยู่ก็เหมือนตาย  โดยการแสดงนั้นมีอาสาสมัคร 2 คน คนหนึ่งอยู่ในชุดทหารถือปืน ส่วนอีกคนเป็นตัวประกันโดนปืนจ่อหัว และถือป้าย พ.ร.บ.ความมั่นคง = License to kill


 



 


พงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า พ.ร.บ. ความมั่นคง เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวไทย ซึ่งพวกเขาต้องการให้มีการระงับกฎหมายฉบับนี้ก่อนที่ประชาชนจะลุกฮือกันต่อต้าน


 


อนุธีร์ เดชเทวพร  ตัวแทนชมรมศึกษาสังคมเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาดูให้ดีว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นมีขึ้นมาเพื่อประชาชน หรือเพื่อผู้ปกครองกันแน่


 


วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เลขาธิการจากกลุ่ม YPD ได้กล่าวว่า ต้องการเห็นความเท่าเทียมกัน อยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจาการที่ทุกฝ่ายเรียนรู้กัน และเรียนรู้ที่จะอยู่บนความแตกต่างร่วมกัน นั่นคือ การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง


 


"การรณรงค์คัดค้านในวันนี้ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบจนเกิดการยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง และต่อไป พ.ร.บ.ความมั่นคงจะผ่านจริงๆ เชื่อว่าถ้าประชาชนมีหัวใจที่ไม่อยู่ภายใต้เผด็จการ ภาคประชาชนเติบโตทางความคิดที่ตระหนักในอำนาจของตัวเอง ต่อให้เราอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการขนาดไหน ก็ไม่มีใครสามารถมาบังคับเราได้" วรภัทรกล่าว


 


 


 


 






 


แถลงการณ์ร่วม 8 องค์กรเยาวชนคนหนุ่มสาว


คัดค้านการออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ


 


            สืบเนื่องจากร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้รับหลักการไปในวาระแรกแล้วนั้น เป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนไทยและเครือข่ายนักวิชาการได้เคยออกมาคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่ว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อพลเมืองไทย


 


            เนื่องเพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวถือว่าไม่มีความชอบธรรมตามหลักนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงการปกครองด้วยกฎหมายโดยประชาชน และเพื่อประชาชนแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ จะพบว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีปัญหาสำคัญๆ ดังต่อไปนี้


 


1.       อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ในหลายมาตราเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน คุกคามสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นการทำลายหลักการถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการโดยสิ้นเชิง โดยให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการนิยามความมั่นคงของชาติแก่ กอ.รมน. แต่เพียงผู้เดียว


2.       มาตรา 15 ซึ่งให้อำนาจ กอ.รมน.ในการออกข้อกำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดการปฏิบัติการได้ และในมาตรา 17 ให้อำนาจ กอ.รมน.โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการสั่งห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ที่กำหนดได้ ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งหมดนี้เท่ากับว่าให้อำนาจ กอ.รมน. มีอำนาจเหนือกฎหมายทั้งปวง ตลอดจนรัฐธรรมนูญ เสมือนหนึ่งว่าเป็นผู้มีอำนาจนิติบัญญัติเสียเอง


3.       ร่าง พ.ร.บ. นี้ขัดต่อหลักนิติรัฐที่ว่าด้วยการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องด้วยในมาตรา24ระบุไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา ๑๗ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ร้ายแรงมาก ทั้งในเรื่องของการดำเนินชีวิตปกติประจำวัน และในการใช้สิทธิชุมนุมทางการเมือง อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่20 , กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อที่ 21 ได้ให้การรับรองไว้


4.       มาตรา 21 ซึ่งระบุว่าบรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และมาตรา 22 ซึ่งระบุให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและทางวินัย ในการปฏิบัติตามกฏหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นการทำลายหลักนิติรัฐที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ทั้งหมด ไม่ต้องรับการพิจารณาความผิดจากฝ่ายตุลาการ เท่ากับว่าเป็นกกหมายที่รับรองการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายหลักการประชาธิปไตยสากล


5.       ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ระบุว่า ในการดำเนินนโยบายที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จะต้องมีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ ดังนั้นหากพ.ร.บ.นี้ผ่านออกมาโดยไม่มีการออกเสียงประชามติ เท่ากับว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักการตามรัฐธรรมนูญที่เคยได้พยายามชี้นำและกดดันทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการประชามติ เท่ากับว่าเป็นการกลืนน้ำลายตัวเอง และถือเป็นการกระทำที่น่าอัปยศอดสูยิ่ง อันจะสร้างประวัติศาสตร์อันมัวหมองแก่รัฐสภา รัฐบาล และกองทัพ และหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมเอาผิดต่อการละเมิดรัฐธรรมนูญเช่นนี้ อำนาจตุลาการอันศักดิ์สิทธิก็จะพลอยเป็นที่มัวหมองเสื่อมศรัทธา เป็นที่ติฉินนินทาไปด้วย


องค์กรเยาวชนคนหนุ่มสาวตามรายนามข้างท้าย ขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลยุติความพยายามทั้งปวงที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยไม่มีเงื่อนไข ขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพึงสำนึกในคุณวุฒิและเกียรติภูมิของตัวเองที่จะถูกจารึกความเลวร้ายไว้ในประวัติศาสตร์สังคมไทย


 


และขอแสดงความชื่นชมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้ง 20 ท่าน ที่ลงคะแนนเสียงไม่รับหลักการกฏหมายนี้ ที่ได้ยืนหยัดทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน


 


เชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่


14 พฤศจิกายน 2550


หน้ารัฐสภาอันทรงเกียรติที่มีไว้สำหรับผู้แทนปวงชนที่มาจากการเลือกตั้ง


 


ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD.), กลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊ก(กปก.) , Bangkok Food not Bomb


กลุ่มศึกษาสังคมเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มจัดตั้งสโมสรนักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


กลุ่มสังคมวิจารณ์และกลุ่มDemocracy Community จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net