Skip to main content
sharethis

คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กับปัญหาการสั่นคลอนสิทธิ ลิดรอนประชาธิปไตย" โดยมี นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นายสมชาย หอมลออ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และนายเถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร ภายในงานได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)



นายธิติพันธุ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง (ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....) มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้มีสถานะชัดเจน โดยให้ กอ.รมน.เป็นผู้วินิจฉัยและตีความผู้ที่เป็นภัยต่อความสงบสุข รวมทั้งจำกัดสิทธิประชาชนไม่ให้ฟ้องร้องคดีปกครอง หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ควรรวบรวมรายชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 212 (รายละเอียดข้อกฎหมายตามล้อมกรอบ) หรือไม่



นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงนับพันฉบับ แต่มีที่สำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งใช้ทับซ้อนกัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างกฎอัยการศึก กับ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนทำให้เจ้าหน้าที่สับสนในการใช้อำนาจ หากมี พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ออกมาบังคับใช้อีก 1 ฉบับ จะเพิ่มความสับสนมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และน่าเชื่อว่า นายกฯ ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. คงไม่มีเวลาจะมาดูแลปัญหาความมั่นคง สุดท้ายอำนาจก็จะตกอยู่กับผู้บัญชาการกองทัพบก ในฐานะรอง ผอ.กอ.รมน.



ด้าน รศ.ดร. สุรชาติกล่าวว่า ผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยา คือ เรากำลังก้าวเข้าสู่ระบอบทหารมีอำนาจทางการเมืองค่อนข้างมาก กฎหมายความมั่นคงจะส่งผลให้ กอ.รมน. ถูกยกขึ้นมาเป็นหน่วยงานถาวร เทียบเท่าทบวงความมั่นคง การกำหนดนโยบายความมั่นคงจะซ้อนกันระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับ กอ.รมน.



นอกจากนี้ ทางผู้จัดสวนาได้เชิญให้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิเคราะห์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งมักถูกเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่ามีเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ นักวิชาการจากพื้นที่กล่าวว่า การร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงน่าจะมาเหตุผลการเมืองอื่นๆมากกว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่ ขณะเดียวกันคนในพื้นที่เองมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีต่อทหารนัก คือไม่ใช่ทหารไม่สำคัญหรือไม่เสียสละอย่างสูงในแก้การแก้ปัญหา แต่สำหรับประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้แล้ว แนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญคือเรื่องความยุติธรรมหรือนิติธรรม ดังนั้น ถ้า พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาแล้วขัดกับหลักนิติธรรมหรือไม่เคารพสิทธิประชาชน ตามเนื้อหาที่ระบุในมาตรา 21 และมาตรา 22  (รายละเอียดดูล้อมกรอบ) ตรงนั้นกลับคือปัญหา


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า พื้นที่ 3จังหวัดเวลานี้มีกฎหมาย 3 ฉบับ บังคับใช้คือ ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา กฎอัยการศึก และ พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คิดว่ามากพอและมีเงื่อนไขที่ดูแลได้ แต่ถ้ามีกฎหมายมั่นคงอีก ความรับผิดชอบขงเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายจะไม่มีเลย เพราะนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดพลาดโดยปริยายคือเปิดโอกาสทำได้เต็มที่ ไม่ต้องยับยั้งชั่งใจ ทั้งที่ต้องใช้นิติธรรมเท่านั้นในการแก้ไขปัญหา


 


ส่วนหากจะมีกฎหมายมาใช้แก้ไขปัญหา 3 จังหวัด ควรอิงกับที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เคยเสนอ คือมีกฎหมายเฉพาะที่พูดถึงการจัดการแบบพิเศษทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม สำหรับกฎหมายความมั่นคงโดยสรุปแล้วไม่ช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ใต้เลย


 


นายสวาท อุปฮาท ประชาชนเครือข่ายสมัชชาคนจน ระบุว่า ในนามสมัชชาคนจนคัดค้านกฎหมายนี้ตั้งแต่แรก เพราะขนาดในภาวะที่เป็นประชาธิปไตยคนจนยังอ่อนเปลี้ยเสียขาแล้วอะไรจะเกิดขึ้นถ้ากฎหมายนี้ผ่าน ในนามคนจนจึงรับไม่ได้ เพราะคนจนเดินได้ทีละก้าวเพื่อสิทธิ แต่กลับกำลังจะเกิดกฎหมายที่มาปิดฝาโลงให้คนจน


 


ทั้งนี้ ถ้าต้องการความมั่นคงของชาติต้องปกป้องสิทธิคนจน ไม่ใช่แย่งชิงอำนาจไปจากคนจน แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ระบุเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้หลายเรื่อง แต่ถ้า พ.ร.บ.ความมั่นคงบังคับใช้ รัฐธรรมนูญก็ไม่มีความหมาย ถ้ากฎหมายนี้ผ่านคงไม่ไปลือกตั้งเพราะไม่มีความหมายอะไร


 


"คนจนใช้ถนนเป็นเวทีต่อสู้และใช้ค่อนข้างมากมาเป็นสิบปี ปัญหาก็ยังอยู่และมีเพิ่ม แต่ พ.ร.บ.นี้ยังให้อำนาจไปจัดการคนคนหนึ่งหรือคนกลุ่มคนหนึ่ง รับไม่ได้ คิดว่าทุก พ.ร.บ.ที่เข้าสภาต้องเอาออกให้หมด คิดไม่ออกว่าทำเพื่ออะไร เห็นแต่ตรากฎหมายเพื่อคนส่วนใดส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่เพื่อประชาชนแน่นอน และไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยด้วย ขอเรียกร้อง ยุบสนช.ไปเลย และคืนอำนาจสู่ประชาชน" นายสวาทกล่าว


 






ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง 


มาตรา 21 บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง


 


มาตรา 22 ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ถ้าได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และพอสมควรแก่เหตุ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่


 


ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับผู้ที่ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยอนุโลม


 


รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550


มาตรา 212 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้


การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่ บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net