Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถึง 2 ครั้ง ทุกครั้งชาวบ้านหวังว่าการเมืองจะช่วยดับไฟใต้แต่ แต่สถานการณ์ก็ยังเหมือนเดิมเรื่อยมา


 


การเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลสอบตกเกือบหมดในชายแดนใต้ ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่กระแสโนโหวตครั้งนั้น ทำให้การเลือกตั้งล้มเหลว จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549


 


การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้ จะเป็นความหวังดับไฟใต้ให้คนในพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน ที่แน่ๆ ภาคประชาสังคมชาวชายแดนใต้ นำโดย "นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน" ในฐานะแกนนำเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่นไม่รอฟังปากคำว่าที่ ส.ส.แถลงนโยบายดับไฟใต้ เพื่อตัดสินใจลงคะแนนแล้ว


 


ที่ผ่านมา เขานำ 40 องค์กรชาวบ้านในเครือข่ายกำหนดประเด็นร่วมกัน แล้วพลิกกลับจับว่าที่ ส.ส.ในพื้นที่มาฟังข้อเสนอ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 นี้ แทนจะฟังชาวบ้านฟังการหาเสียงอย่างอย่างเดียว



เขามีแนวคิดอย่างไร เครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ที่สำคัญจะผลักดันแนวคิดแก้ปัญหาความไม่สงบที่กลั่นกรองมาจากหัวคิดชาวบ้านให้ไปต่อข้างหน้าได้อย่างไร ในยุคทหารเป็นใหญ่ อ่านบทสัมภาษณ์เขาได้ 
 


 


000


 


นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน


แกนนำเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น


 


ที่มาที่ไปของการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนครั้งนี้ที่มีต่อการเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นอย่างไร และเหตุใดจึงตั้งเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา


กลุ่มนี้เกิดมาจากความรู้สึกที่เห็นการเมืองในระบบผู้แทนที่เขาเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้ว ความเป็นประชาธิปไตยมีมากกว่านั้น การเมืองภาคประชาชนมีส่วนสำคัญที่เรียกว่าประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่บ้านเราดูภาพรวมแล้วมีน้อยมาก


 


การมีส่วนร่วมของการเมืองภาคพลเมืองหรือการเมืองแบบภาคประชาสังคม หรือที่เรียกว่า Civil Society หรือ Civil Citizen Politic ไม่ค่อยได้ทำงานกันจริงจังในเมืองไทย มีแต่การเมืองในระบบตัวแทนเท่านั้น


 


ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน จากปัญหาที่เกิดขึ้น เราหวนมาคิดว่า หลังจากที่เราอยู่กันแบบเดิม ปล่อยให้มีการเมืองระบบตัวแทนหรือการเมืองของนักการเมืองอย่างเดียว ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เพราะนักการเมืองที่มาจากระบบเลือกตั้ง ซึ่งเรารู้แล้วว่า ระบบการได้มานั้นขาดการตรวจสอบที่ดี ทำให้การได้มาแบบฉ้อฉล มีการซึ้งเสียง ทุจริตสารพัดแบบอย่างที่เราทราบกันมา


 


เพราะฉะนั้น เมื่อตัวแทนของประชาชนเข้าไปอยู่ในสภาจึงไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้แทนที่แท้จริง เพราะระบบที่ได้มานั้นไม่มีการคัดสรรผู้แทนที่มีคุณภาพพอสมควร ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถสะท้อนปัญหาทางการเมืองของสามจังหวัดได้อย่างตรงไปตรงมา หรืออย่างกล้าหาญ


 


แม้ในระบบพรรคก็มีส่วนที่ดี แต่ส่วนที่ไม่ดี คือ ไม่สามารถอดส่งความเห็นของตนได้อย่างอิสระ เพราะเกรงจะกระทบพรรค หรือหัวหน้าพรรค หรือแนวนโยบายพรรค จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 ปี ที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของนักการเมืองใน 3 จังหวัด ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ในสายตาของประชาชน แทบไม่มีเลย


 


สังเกตเห็นจากการที่ประชาชนเริ่มตื่นตัว การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 2548 คนที่เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลสอบตกเกือบหมด หมายความว่า ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนเลย หลังจากคุณอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่รัฐบาลสมัยนั้นมาย่ำยีประชาชนในเหตุการณ์กรือเซะและการสลายการชุมนุมที่ตากใบ


 


นั่นคือที่มา ซึ่งเราเห็นว่า เป็นการปล่อยให้นักการเมืองทำงานโดยผ่านพรรคการเมือง จึงเป็นเหตุให้เราปล่อยให้ทำงานในรูปแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว


 


ในฐานะที่ทำงานเป็นเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) และองค์กรภาคประชาชนด้วย เครือข่ายเรามีการเคลื่อนไหวทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่หาเอ็นจีโอซักองค์กรหนึ่งในสามจังหวัดที่ทำงานเรื่องการเมืองไม่เห็นเลยและไม่เคยมีด้วย เหมือนกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีองค์กรเช่นนี้มาก ทำงานเป็นเครือข่ายทางด้านการเมืองภาคพลเมือง ทั้งนักวิชาการและเอ็นจีโอ


 


เราเป็นองค์กรหนึ่งในภาคประชาสังคม เราอยากให้มีกลุ่มเล็กๆ ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ให้ชาวบ้านได้รับการเรียนรู้ทางการเมือง ยกระดับมาอีกชั้นหนึ่ง เราจึงตั้งเครือข่ายขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคประชาชน ประมาณ 20 กว่าคน นั่งพูดคุยในเวทีต่างๆ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มานั่งร่วมด้วยในครั้งแรก


 


จากนั้นมาพวกเราดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดเป็นระยะๆ โดยคาดหวังว่า อยากให้องค์กรนี้ เป็นองค์กรกึ่งถาวร ในอนาคตอาจเป็นองค์กรที่ถูกกฎหมาย ที่อยากให้เป็นหลักเป็นฐานใน 3 จังหวัดบ้าง


 


เผอิญช่วงนี้จะมีการเลือกตั้งขึ้นมา ทางกลุ่มเลยชวนกันมาคุยว่า น่าจะให้การศึกษากับประชาชนซึ่งยังทำได้ไม่มากในโอกาสนี้ เราน่าจะเปลี่ยนบทบาทของ ส.ส.ใหม่ จากเดิมที่ ส.ส.มาแถลงนโยบาย มาหาเสียงหรือมาบอกว่าตัวเองจะทำอะไร วันนี้เราเปลี่ยนใหม่ คือ เราบอกว่าคุณต้องมาฟังประชาชนในระดับรากแก้วคิดบ้าง ว่า เขาอยากได้อะไร เขามีปัญหาอะไร และเขาอยากเห็นการเมืองของเขาเป็นอย่างไร เศรษฐกิจของเขาเป็นอย่างไร สังคม วัฒนธรรมเป็นอย่างไร


 


โดยจะจัดเวทีนี้ขึ้นมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาชนได้มาคุยกันแล้ว ถึงประเด็นที่จะเสนอ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จะมีกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายทั้งหมด 40 กลุ่มหรือองค์กรเข้าร่วม


 


ในวันนั้น เราจะเชิญนักการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งใน 3 จังหวัด รวมทั้งบางส่วนของจังหวัดสงขลา มาร่วม ฟังการนำเสนอของภาคประชาชน สิ่งที่คิดว่าจะเป็นนโยบาย หรือปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาของเขาเอง รวมทั้งเสนอประเด็นที่ขับเคลื่อนในแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว


 


เช่นกันในภาพรวม ที่อยากเห็นและคาดหวังว่า การเมืองในสามจังหวัดเป็นอย่างไร โดยนักการเมืองอาจมาตกลงเป็นสัญญาประชาคมร่วมกับองค์กรภาคประชาชนว่า สามารถรับข้อเสนอได้หรือไม่ ในข้อใด ตรงกับนโยบายพรรคการเมืองที่คุณร่างมาหรือไม่ ถ้าไม่ตรงก็เอาไปเสริมหรือไปผลักดันในทางการเมืองต่อไปได้หรือไม่


 


แล้วถ้าหลังเลือกตั้ง นักการเมืองบางส่วนอาจเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่สำหรับปัญหาในพื้นที่ก็ควรจะก้าวข้ามล้ำพรมแดนของความเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลนั้นไป เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศ เราต้องถอดเสื้อความเป็นฝ่ายออกไป แล้วมาพูดอย่างพี่น้องกันว่า เราจะแก้ปัญหาสามจังหวัดอย่างไรดี


 


นั่นคือที่มา โดยของกลุ่มเรา ชื่อว่า เครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น แต่ตอนนี้กรรมการ รวมทั้งวัตถุประสงค์ยังไม่นิ่ง เพราะตั้งขึ้นมาอย่างรีบในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ส่วนประกอบหลักมาจากสามส่วน คือ ภาคประชาชน ภาคนักวิชาการ และคนที่ทำงานภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ


 


ในจำนวน 40 กลุ่มที่จะเข้าร่วม เรามาดูชื่อที่มีอยู่ทั้งหมดแล้ว ไม่มีองค์กรไหนที่ทำงานเรื่องการเมืองเลย เราเป็นองค์กรแรกที่จับเรื่องนี้ ซึ่งเริ่มต้นที่สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) แต่เมื่อคุยกันไปสองรอบ เราเห็นว่า ยมท.เล็กเกินไป เราจึงประสานกับสามกลุ่มดังกล่าว


 


ประกอบกับตอนนี้เรามองว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สอดคล้องกับการเสริมความเข้มแข็งของประชาชน ซึ่งเรามีข้อเสนอให้นักการเมืองในเรื่องนี้ด้วยคือตามรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 87 วรรคสี่


 


โดยมาตราดังกล่าวมีเนื้อความว่า ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง และจัดให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เพื่อช่วยเหลือการดำเนินกิจกรรมสาธารณะของชุมชน รวมทั้งสนับสนุนและการดำเนินการของกลุ่มประชาชน ที่รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายทุกรูปแบบ ให้สามารถแสดงความคิดเห็นและเสนอความต้องการของชุมชนในพื้นที่


 


จะเห็นได้ว่า มาตรานี้เขียนไว้ค่อนข้างกว้าง และเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำที่ต้องผลักดันต่อไป เพราะกฎหมายลูกยังไม่ออกมา รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุน เพราะประชาชนที่รวมกลุ่มกันหรือ กลุ่มต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมามีเนื้อหาและวัตถุประสงค์ทางการเมืองภาคพลเมือง สามารถขอสนับสนุนจากรัฐเพื่อทำงานส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็งในด้านการเมืองได้เลย แทนที่จะขอเงินจากนักการเมือง


 


นี่จะเป็นอันหนึ่งในระยะยาว สามารถกำจัดอิทธิพลของนักการเมืองจากการเลือกตั้งอย่างเดียวได้ โดยประชาชนเริ่มฉลาดขึ้น เริ่มไหวตัวทันทางการเมือง และสามารถควบคุมนักการเมืองได้ดีกว่าปัจจุบัน


 


การตั้งกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองขึ้นมาจะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ภาคใต้บ้าง


แน่นอนว่า กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายมีวัตถุประสงค์ของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าทำงานในแนวดิ่งอย่างเดียว คือ ทำงานในกลุ่มอย่างเดียว แล้วเชื่อมตรงในระดับประเทศ จะทำให้ขับเคลื่อนเขาลำบาก แต่ถ้ามารวมเป็นเครือข่ายในแนวราบก่อน สามารถจะสร้างพลังได้มากทีเดียว


 


แต่การจะได้พลังนั้น อย่างน้อยต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ถ้ารัฐไม่เอื้ออำนวย ความเข้มแข็งของภาคประชาชนก็ไปได้ช้า อย่างไรก็ตามถ้าประชาชนเข้ามาเป็นกลุ่มเครือข่ายอย่างนี้แล้ว การมีเวทีขึ้นมาก็จะเป็นการให้การศึกษาแก่กลุ่มเหล่านั้นอย่างดี


 


จุดประสงค์เราไม่ใช่แค่ให้นักการเมืองมารับพันธะสัญญาหรือสิ่งที่เป็นความต้องการของชาวบ้านเท่านั้น นักการเมืองเองต้องสร้างเครือข่าย แล้วมุ่งประเด็นผลักดันทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาเขาผลักดันในกลุ่มของเขาเอง ไม่ได้เป็นเครือข่ายแบบนี้


 


วันนี้เราจับมือกันขับเคลื่อนภาคประชาสังคมก็ไม่ทิ้งการเมืองระบบผู้แทน เพราะเป็นเรื่องของอำนาจรัฐที่ แต่ไม่อยากให้ระบบผู้แทนมันเละเหมือนเดิม อยากให้มีการพัฒนาอีกระดับหนึ่ง แต่จะพัฒนาได้นั้นกลุ่มการเมืองต้องเข้มแข็งตอบ พรรคการเมืองต้องเข้มแข็งตามด้วย ถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็งด้วย นักการเมืองก็ใช้ความฉลาดของตัวเองมาซื้อเสียง กดดันประชาชนเหมือนเดิม แล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง


 


การตั้งกลุ่มขับเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาดูจะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวหรือเปล่า เพราะดูในข้อเสนอของเครือข่ายแล้ว ข้อเสนอแบบนี้มีบางคนรับไม่ได้


เป็นเรื่องธรรมดา ข้อเสนอเหล่านั้นจะพิจารณากันอีก จะใช้คำอธิบายอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งก็จริงอยู่ว่ามันเสี่ยงและอาจถูกเพ่งเล็ง แต่มันก็ไม่มีอะไรจะเสียมากไปกว่านี้แล้ว เพราะที่ผ่านมาในสามจังหวัดทุกคนที่ทำงานเคลื่อนไหว ไม่ว่าด้านสิทธิหรือด้านอื่นๆ ก็ถูกเพ่งเล็ง มาตลอด


 


วันนี้เราคงต้องก้าวข้ามความหวาดกลัวตรงนั้นไปได้แล้ว เพราะที่อยู่วันนี้ก็หวาดกลัวอยู่แล้ว ความปลอดภัยในชีวิตของแต่ละคนแต่ละวัน ไม่รู้ว่าตัวเองจะถูกกระทำเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นผมว่าเรื่องคงเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว


 


การได้มาพูดกัน เป็นทางออกที่สันติวิธีที่สุดแล้ว การที่พวกเขาได้มาเจรจามารวมกลุ่มกัน เพื่อให้รัฐบาลได้เห็นความต้องการของพวกเขา


 


การที่เขาจะลงไปสู้ใต้ดิน แล้วทำให้เกิดอย่างที่เห็นอยู่นั้น เพราะพี่น้องอีกกกลุ่มที่เขาไม่สนใจวิธีทางนี้ เขาใช้วิธีการของเขา ถ้ารัฐไม่เปิดโอกาสให้ปัญญาชนหรือกลุ่มภาคประชาชนมาทำงานตรงนี้ รัฐก็ต้องเสี่ยง ถ้าไม่เสี่ยงจะอยู่แบบเดิมๆ แก้ปัญหาแบบเดิมๆ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้


 


วันนี้มีกลุ่มชาวบ้านออกมา เขาพร้อมที่จะเสี่ยงตัวเอง เสนอให้รัฐ รัฐก็ต้องพร้อมที่จะเสี่ยงโดยเอาข้อเสนอของเขาไปผลักดันต่อไป แต่ถ้ารัฐไม่ยอมทำอย่างนั้น ก็แล้วแต่รัฐ นโยบายรัฐที่ไม่ได้มาจากภาคประชาสังคมและไม่ฟังประชาชน มันก็เลยพังอย่างที่ผ่านมา


 


วันนี้เราเปลี่ยนมุมใหม่ ทำนโยบายจากล่างขึ้นสู่ข้างบน แทนที่จะมาจากข้างบนลงสู่ล่าง ซึ่งตลอด 60 ปีที่ผ่านมาที่มีระบอบประชาธิปไตยในไทย เป็นการเมืองของระบบเจ้าขุนมูลนายหรือของชนชั้นกลาง แต่ไม่มีการเมืองสำหรับคนระดับรากหญ้าหรือรากแก้วเลย


 


เรายังมีหลายเรื่องที่ต้องเขียนให้ชัด เช่น ที่บอกว่าการปกครองตนเองนั้น มันก็เป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งต้องมาเรียงอีกว่า อาจเป็นอีกหลายสิบปี หรืออาจไม่เกิดเลยในยุคสมัยของเราก็ได้ เป็นทางออกรูปแบบหนึ่งที่มาจากต่างประเทศ แต่ในระดับบ้านเราอาจแค่ปรับเปลี่ยนการปกครองเล็กน้อยในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพเท่านั้น


 


ยกตัวอย่างอาจเป็นเขตปกครองพิเศษก็ได้ อาจพูดถึงการเป็นตัวแทนที่ชาวบ้านได้รับการตอบสนองมากขึ้น ให้เขาดูแลทรัพยากรมากขึ้น มีการยอมรับเชิงอัตลักษณ์ ส่งเสริมให้เขา มีอิสระมากขึ้นในองค์กรปกครองท้องถิ่น มีการกระจายอำนาจมากขึ้น โดยเริ่มที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน


 


เราไม่แข็งหรือฟันธงว่า ต้องแยกหรือปกครองพิเศษหรือเป็นอิสระอย่างเดียว แต่เป็นขั้นตอนที่เราต้องคุยกันว่า ถ้ารัฐทำได้ในระดับต้นอย่างนี้ก็โอเคแล้ว ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ทำอย่างเราเขียนในแผนไว้ มันอาจไปไม่ถึง อาจเป็นแค่ระดับต้นอย่างเดียวก็ได้ แต่นั่นคือ สิ่งที่องค์กรภาคประชาชนคิดร่วมกัน


 


นั่นเป็นเลือกหนึ่งที่คิดว่าดีที่สุดตอนนี้


ใช่ และเราไม่ได้คิดเอาแต่สิ่งที่ดีที่สุดขึ้นไว้ก่อนเลย ต้องเริ่มเป็นระยะ บางทีคุณอาจต้องปรับปรุง ศอ.อต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่มีอยู่ด้วย โดยให้มีองค์กรภาคประชาชนมาคานอำนาจ และให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย ไม่ใช่ตั้งที่ปรึกษาโดยที่การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยมาก


 


เมื่อความคาดหวังของประชาชนต่อการเมืองในระบบเลือกตั้งมีน้อย การเสนอครั้งนี้คาดหวังไว้มากน้อยแค่ไหน


นี่คือการทำงานครั้งแรกของเรา เพราะช่วงจังหวะทำให้เกิด เราไม่คิดว่าจะเวิร์ค คงคาดหวังได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคมาฟังประชาชนก็ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว คุณเริ่มสนใจความเห็นของประชาชน แต่ถ้าผู้สมัคร ส.ส.ไม่ให้ความสำคัญเลย เราก็จะได้ประเมินได้ระดับหนึ่ง ประเด็นที่สอง อย่างน้อยเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ระหว่างภาคประชาชนกับ ส.ส. ซึ่งนั่นคือก้าวต่อไปในระยะยาว เราตั้งใจจะทำงานในระยะยาว


 


เราไม่ได้บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของ ส.ส.อย่างเดียว แต่การเมืองภาคประชาชนสำคัญกว่า ประเทศที่เจริญแล้วเขาผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องนี้มาเป็นร้อยปี ส่วนเราแค่หกสิบปีเองล่มลุกคลุกคลานมาตลอดและทุกสิบปีก็มีรัฐประหาร ประชาธิปไตยบ้านเราจึงไม่ค่อยเปิด เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นเวทีการเรียนรู้ ที่เขารับรู้ว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนไม่ได้โง่แล้ว


 


ปัญหาความมั่นคงขณะนี้ คนที่มีบทบาทมากคือทหาร ดังนั้นข้อเสนอเหล่านี้เมื่อ ส.ส. รับแล้ว ประเมินหรือไม่ว่าจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน


เรามีข้อเสนอหนึ่งคือให้ภาคพลเรือนมาเป็นผู้นำ ต้องให้ทหารกลับกรมกองให้ได้ วันนี้ทหารเข้ามาเพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก มีอำนาจล้นฟ้า ทำอะไรก็ไม่เคยเกรงใจประชาชน เพราะคิดแบบทหาร ฝ่ายปกครองหรือนักการเมืองยังใกล้ชิดประชาชนมากกว่า ย่อมรู้ความต้องการของประชาชนมากกว่า ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว


 


การเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างน้อยจะลดอุณหภูมิความรุนแรงของการเผชิญหน้าหรือสงครามแบบนองเลือดออกไป เพราะแน่นอนนักการเมืองที่เข้ามา ต้องฟังประชาชนบ้าง


 


อย่างน้อยข้อเสนอหนึ่งของเรา คือ ยกเลิกกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อาจเป็นสิ่งที่เขาทำไม่ได้ในช่วงแรก แต่อย่างน้อยให้รู้ว่าประชาชนคิดอะไรได้บ้าง ต้องเตรียมเรื่องนี้ไว้ เพราะประชาชนคิดอย่างนี้ แต่จะทำได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง


 


คุณจะหากฎหมายที่เบากว่านี้มีมาให้เขาก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่ใช่ พ.ร.บ.(พระราชบัญญัติ) ฮิตเลอร์ คือร่างพระราชบัญญัติการรักษาความั่นคงภายในราชอาณาจักร เพราะมันคือเหล้าเก่าในขวดใหม่แค่นั้นเอง เนื้อความไม่ต่างจากที่ผ่านมา ยังมีบางมาตราที่ยกเว้นความผิดของผู้กระทำผิดอยู่ เพียงแต่ทำให้เป็นกฎหมายที่ใช้ได้ทั่วประเทศเท่านั้น


 


ที่เราเรียกกฎหมายฮิตเลอร์ เพราะคิดว่าคนที่จะได้รับผลกระทบมีมาก โดยเฉพาะคู่แข่งทางการเมือง อย่าลืมว่าการปฏิวัติทุกครั้ง ฝ่ายที่ถูกปฏิวัติก็เจ็บแค้น หวังจะแก้แค้นทางการเมืองด้วยเช่นกันถ้ามีอำนาจ


 


ผมคิดว่าระยะแรก นักการเมืองจะช่วยอะไรไม่ได้ กฎหมายนี้คงต้องหยุดระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการผลักดันว่า ประชาชนพร้อมที่จะดูแลตัวเองแล้ว รัฐอย่ามายุ่งมากให้เขาจัดการกันเองได้หรือไม่ ให้เขาคุยกันเอง มีเวทีของเขาบ่อยๆ ในที่สุดการเมืองแบบนองเลือดหรือศึกสงครามจะได้ลดลง เป็นการเมืองแบบสันติวิธีมากขึ้น


 


ผมว่าประชาชนเบื่อกับการที่ประชาชนตายลงทุกว่า ไม่ว่าฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้ก่อการ เพราะมันก็คือมนุษย์ ต้องมาตายในเรื่องไม่เป็นเรื่องทำไม ชีวิตมนุษย์มีความศักดิ์สิทธิ์ มีค่า เราจะปล่อยให้ชีวิตของมนุษย์ตายแบบใบไม้ร่วงนี้ได้อย่างไร


 


เพราะฉะนั้นตอนนี้เราปฏิเสธ ไม่เอาทั้งทหารและฝ่ายก่อการ เราอยากให้มีการเมืองของภาคประชาชนที่เขาเน้นสันติวิธี คุณก็จำกัดขอบเขตของคุณไป หรือไม่ก็ชาวบ้านต้องหาทางอื่นที่ไม่กลัวคุณแล้ว เพราะกลัวจนไม่กลัวแล้ว ในวันนี้ต้องข้ามความหวาดกลัวนั้นให้ได้ แล้วจะมีโอกาสของภาคประชาชนบ้าง


 


3 ปีที่ผ่านมา ทหารเข้ามาอยู่เขาน่าจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง


ทหารคงไม่ได้เรียนรู้ แต่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้ามาดูแลน่าจะเรียนรู้เหตุการณ์ที่ผ่านว่า 3 ปีที่ผ่านว่า คุณใช้แนวทางในการปราบ การใช้ความมั่นคงเป็นตัวชี้นำมันไม่สำเร็จแน่นอน 3 - 4 ปีที่ผ่านมาเพียงพอแล้วกับชีวิตคนที่ตายไป 2,600 กว่าคนแล้ว จะบอกว่ามาถูกทางแล้วทุกทีคงไม่ใช่แล้ว ต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ มันน่าจะลองดูซักตั้ง


 


ผมว่าประชาชนจะยินดี เพราะวันนี้คุณไปทางเดียวตลอด คือ ไม่เจรจา มีแต่กดดัน ปราบปราม จับกุม ในเชิงงบประมาณก็เห็นอยู่ว่าไม่ให้สถานการณ์ดีขึ้น แถมยังทำให้หนักขึ้น ความร้าวฉาน แตกแยกระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมมีมากขึ้น ความรู้สึกไม่ปลอดภัยมีมากขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือความรู้สึกที่ร้าวลึกที่ทำให้คนสองวัฒนธรรมมีความแตกแยกกันได้ถึงขนาดนี้


 


วันนี้ผมยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายทำ ไม่ว่าฝ่ายรัฐหรือฝ่ายก่อการ รัฐเองกุมงบประมาณมหาศาล มีกองกำลัง นโยบาย แต่ก็ยังใช้วิธีเดียวกับเขา ก็เลยยิ่งทำให้สถานการณ์หนักไป


 


วิธีการคือประชาชนต้องลุกขึ้นมา


ประชาชนต้องลุกขึ้นมาแสดงพื้นที่ของตัวเองว่า พอเถอะเรื่องนี้ ขอให้เขาแก้กันเองบ้าง พวกคุณแก้ไม่สำเร็จ คุณต้องมีแคมเปญของคุณว่า แก้มา 4 ปี มีคนตายมา 2,600 คน แล้ว พอหรือยัง หยุดบ้างได้หรือไม่ ขอเวทีให้ภาคประชาชนบ้าง คุณถอยไปห่างๆ ได้หรือไม่ แล้วให้เขามานั่งคิดแทนบ้าง เพราะเรายังหวังว่ารัฐบาลภาคประชาชนที่ขึ้นมาคงจะไม่เลวร้ายกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาแน่นอน


 


น่าจะให้โอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้พวกเราเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมมากขึ้น แต่ตรงนี้เราไม่ได้คาดหวังมากว่าจะเป็นที่พึ่งของภาคประชาชนได้ทั้งหมด อย่างน้อยเป็นการจุดประกาย อาจจะมีกลุ่มอื่นที่เข้มแข็งกว่านี้ก็ได้ ก็อย่างที่บอกเอ็นจีโอในชายแดนภาคใต้ไม่มีเลยที่ทำงานการเมือง


 


ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น


เพราะพื้นที่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ทุกอย่างต่ำลง เมื่อเป็นอย่างนี้ความคาดหวังหรือ ความเข้าใจของคนระดับผู้นำก็ไม่ต่างอะไรกับประชาชนทั่วไป อย่างที่บอกว่า ผู้แทนเป็นอย่างไรประชาชนก็เป็นอย่างนั้น เพราะประชาชนยังไม่มีการยกระดับก็เลยได้ผู้แทนแบบนี้


 


เมื่อไหร่ประชาชนได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น บวกผลพวงจากการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอหรือคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหรือในภาคประชาสังคมถึงมีน้อย แต่ก็น่าจะทำให้ดีขึ้น ยกเว้นกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนซึ่งเขามีการรวมกลุ่มเข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มผลไม้ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งเขาได้รับความเดือนร้อนในวิถีชีวิตของเขา


 


แต่เราอยากให้กลุ่มเหล่านี้มาคิดในวงกว้างของสามจังหวัดด้วย ถ้าคิดหรือแก้เฉพาะในกลุ่มตัวเอง มันก็แก้ปัญหาได้ไม่ยั่งยืน เราจึงจัดเวทีให้ทุกกลุ่มมาคิดถึงประเด็นร่วมของสามจังหวัดด้วย นั่นคือสิ่งที่จะสร้างพลังและจะมีอำนาจต่อรอง เพราะกลุ่มคนเล็กๆ แต่มีเครือข่ายใหญ่มีการเคลื่อนไหว 30 - 40 กลุ่ม รัฐบาลและนักการเมืองก็ต้องฟัง


 


ประเมินหรือไม่ว่าจะได้รับการตอบสนองตามที่เราคาดหวังมากน้อยแค่ไหน


เราไม่ได้คาดหวังมาก เพราะเป็นเวทีฝึกหัด แต่ไหนๆ ทำแล้วก็ต้องให้มีการกดดัน เราตั้งต้องเฝ้าระวังและคอยตรวจสอบว่าสิ่งที่เราเสนอไป เขาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างไร เราต้องหาพื้นที่ทางสื่อเสนอสิ่งที่เราคิดด้วย เพื่อให้คนทั้งประเทศรับทราบ ไม่ใช่ให้ส.ส.อย่างเดียว การออกสื่อไปก็เป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่ง และเราจะติดตามการทำงานของเราเป็นระยะๆ ด้วย


 


ที่สำคัญที่สุด การจัดเวทีครั้งแรก แล้วมีการเรียนรู้ระหว่างนักการเมืองกับภาคประชาชน นี่คือวัตถุประสงค์ของเรา ต่อไปต้องมีเวทีสม่ำเสมอ แสดงความคิดเห็นเรื่อยๆ แรงกระเพิ่มก็จะกลับไปสู่นักการเมืองหรือรัฐบาลมากขึ้น


 


เราต้องเชิญ ส.ส.เข้ามาตลอด เพราะเขาเป็นผู้แทนของเรา ที่ผ่านมาเมื่อเข้าไปในสภาแล้วก็ไม่มีเวทีให้เรา หรือถ้าเขาบอกว่าไม่มีเวทีให้เราก็ไม่เป็นไร เราจะจัดเวทีให้เลย มีเรื่องอะไรก็พูดคุยกัน ไม่ต้องไปหาหัวคะแนน


 


ความฝันของเราในอนาคต คือพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญเองในอนาคตก็ต้องมีการแก้ไข ตอนนี้คนในสามจังหวัดอยากสะท้อนแนวคิด ความต้องการและความรู้สึกผ่านนักการเมืองของเขาด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มเราจะไปเป็นนักการเมืองเอง


 


ส่วนคนที่มีความสามารถผ่านเรียนรู้ในเวทีของเราจะไปต่อยอดตั้งพรรคการเมืองของท้องถิ่นขึ้นมาได้ นั่นคือความหวังของเรา ถ้ารัฐธรรมนูญบอกว่าสามารถตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นได้


 


ปัจจุบันพรรคการเมืองเล็กๆตายหมด เพราะบางทีมีผู้สมัครเล็กน้อย มีนโยบายสวยหรู แต่ไม่มีแขนขา เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องมีสาขาพรรคทุกภาคของประเทศ ซึ่งนั่นคือการล็อกทางการเมือง สุดท้ายพรรคการเมืองใหญ่ที่มีทุนเยอะเท่านั้นที่สามารถทำอย่างนั้นได้


 


แต่พรรคการเมืองเล็กๆ เป็นพรรคท้องถิ่น ถ้าจะส่งลงสมัครในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะต้องการเป็นพรรคที่แสดงจุดยืนความเป็นมลายูหรือชาติพันธุ์อะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่มีทุนและกฎหมายยังไม่เอื้อ เขาก็ไม่มีที่จะแสดงออก


 


เราหวังว่า กลุ่มการเมืองภาคประชาชนจะมีส่วนสร้างหรือผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ในอนาคตได้ ให้สามารถมีพรรคการเมืองท้องถิ่นได้ เช่น คนภาคอีสานอาจตั้งพรรคลาวในแผ่นดินไทย หรือพรรคของคนมอญ ไทยใหญ่ หรือมลายูพัฒนา เป็นต้น แต่ชื่อพรรคเหล่านี้เขาไม่อนุญาตให้ตั้ง


 


ต่างกับในสหรัฐอเมริกา ที่คนสามารถแสดงความเป็นชาติพันธุ์ของเขาได้ เช่น คนฝรั่งเศสในอเมริกา คนแม็กซิกันในอเมริกา คนโปแลนด์ในอเมริกา เป็นต้น มันเป็นสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน


 


แต่ตรงนี้เราสามารถให้การเรียนได้รู้ว่า ประชาชนสามารถตั้งพรรคได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบทุน เป็นพรรคที่สะอาด ไม่ใช่พรรคที่นักการเมืองเป็นคนออกเงิน แต่ประชาชนเป็นคนออกเงินให้นักการเมือง นี่คือความหวังสูงสุดของเรา


 


ถ้าพูดตามพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ก็จะบอกว่านี่คือการเมืองแบบอิสลามจริงๆ เป็นการเมืองที่ปราศจากการทุจริต  นักการเมืองที่ได้มานั้นเป็นคนดีจริงๆ ประชาชนยอมรับและพร้อมจะเดินตามเขา แม้จะเป็นคนจน เราเห็นมาแล้วในประวัติศาสตร์อิสลาม ที่บรรดาสาวกต่างๆ ของท่านศาสดาเป็นแบบอย่างให้ คนเหล่านี้ไม่มีเงิน แต่มีความเป็นผู้นำ มีความดีของเขา สามารถที่จะทำให้ประชาชนเดินตามเขาได้ เรากำลังรอผู้นำแบบนี้ ถ้าได้ แน่นอนจะเปลี่ยนโฉมพรรคการเมืองแบบใหม่ได้ที่ไม่ใช่การเมืองแบบทุนนิยมที่ต้องใช้เงินมาบริหารจัดการถึงจะได้นักการเมือง


 


ผมทำงานเป็นหมออยู่ในพื้นที่มา 15 - 16 ปีแล้ว เป็นคนภาคกลาง เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นมีนักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรียนด้วย เห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของเขา เพราะความเป็นมุสลิมด้วยกัน เลยคิดว่าต้องไปช่วยพัฒนาให้เขา


 


ผมเห็นความด้อยคุณภาพและความล้าหลังในการพัฒนาของคนสามจังหวัดในหลายประเด็น คิดว่าอาชีพตัวเองน่าจะมีประโยชน์ ที่เลือกมาที่นี่คิดว่าตัดสินใจไม่ผิด พอลงมาก็เริ่มงานกลุ่มสาธารณสุขพบประชาชนบ้าง พยายามส่งเสริมสุขภาพของประชาชน


 


ต่อมาเข้าร่วมกับสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) ซึ่งเป็นองค์กรเก่าแก่ในพื้นที่ ทำหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย ชีวิตความอยู่ ด้านความเป็นผู้นำ ในระยะหลังเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ องค์กรนี้ได้แปรเปลี่ยนมาช่วยเรื่องสิทธิมนุษยชน


 


มองดูแล้วชายแดนใต้เป็นพื้นที่สงบมาก ในช่วงไม่มีปัญหาผมว่าเป็นพื้นที่อุดมคติทีเดียว นิสัยใจคอคนก็ดี แต่มีปัญหาการเมืองที่สะสมมานาน


 


มาถึงวันนี้การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คงจะเป็นการพัฒนาทางการเมือง จะแก้ปัญหาแบบตาบอดคลำช้างไม่ได้ เรื่องเศรษฐกิจก็หางช้าง การศึกษาก็เป็นงาช้าง มันต้องแก้รวมทั้งหมด โดยแก้ปัญหาการเมืองเป็นตัวนำ ถ้าการเมืองนิ่ง แก้ปัญหาถูกทิศทาง ปัญหาอื่นที่ตามมาก็จะแก้ได้หมด


 


การแก้ปัญหาตอนนี้ เรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการศึกษาพิเศษ แต่ในเรื่องการเมืองกลับไม่มีคำว่าพิเศษ แต่จะให้เหมือนต่างประเทศเขาบอกทำไม่ได้ แล้วทำไมอย่างอื่นต้องมีความพิเศษด้วย พอเรื่องการเมืองกลับไม่ได้


 


มันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เมื่อคุณคิดว่าคนที่นี่คือคนมลายู นับถือศาสนาอิสลาม แล้วอยู่ในประเทศไทย ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนในพื้นที่ เขาก็ต้องมีความคิดอะไรที่เป็นของตัวเขาเอง ก็ต้องมานั่งฟังความคิดเขา เราต้องการให้เขาแสดงออกว่าต้องการอะไรที่แท้จริง เราต้องการรีดความคิดของเขาออกมาให้ได้ ว่าเขาต้องการอะไร


 


คุณเป็นนักการเมืองก็เอาไปใช้ต่อ ถ้าตอบสนองเขาก็ยินดีและกระตือรือร้นที่จะเข้ามาร่วมในแนวทางนี้ ส่วนแนวทางทางการเมืองแบบนองเลือดเขาก็คงไม่สนใจ มันก็หยุดไป ในที่สุดมันก็ล้มหายตายจากไปเอง เราไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะคนที่นิยมความรุนแรงนั้น ในที่สุดประชาชนก็ไม่เอาด้วย


 


แต่วันนี้ไม่มีทางเลือกอื่น มีแต่นองเลือดกัน การเมืองแบบสันติวิธีไม่มีให้เขาเลย เขาก็จำใจที่ต้องอยู่ภายในเวทีตะลุมบอนของพวกคุณ ส่วนหญ้าแพรกก็แหลกลาน วันนี้เขาไม่อยากไปเข้าร่วมเวทีแบบนั้นแล้ว เขาอยากไปอีกทางหนึ่ง เป็นทางเลือกที่สาม


 


ช่วงที่ทำงานเป็น กอส.(กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) พบว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการขับดันเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ คือต้องขับเคลื่อนทางการเมืองเป็นหลัก ถ้าขับเคลื่อนเรื่องอื่นจะช้า เรื่องการศึกษากว่าจะเคลื่อนได้ก็ต้องคนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนความคิดใหม่ได้ อีกกี่ปี 30 ปีไม่รู้จะได้หรือเปล่า ซึ่งท่ามกลางบรรยากาศอย่างนี้ก็ไม่รู้จะสร้างได้หรือไม่


 


ผมหวังว่าผลการศึกษาของ กอส.รัฐบาลใหม่จะเอามาปัดฝุ่น เพราะคิดว่ายังไม่ล้าสมัย แต่บางอย่างมันอาจไม่ตรงกับสมัย ก็มาปรับให้ตรงกับสถานการณ์ แต่เรื่องภูมิหลัง สาเหตุยังทันสมัยอยู่เพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อสามปีมานี้เอง เพราะฉะนั้น คุณสามารถเอามูลเหตุปัญหาในผลการศึกษาของ กอส.มาดูได้ มันมีประโยชน์ ไม่ต้องไปคิดใหม่ เพราะมีคนคิดแทนให้แล้ว


 


เพียงแต่ว่า เวลาจะแก้ปัญหาจริงๆ อาจต้องมาฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม เพราะ กอส.ก็มาจากประชาชนเหมือนกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net