Skip to main content
sharethis

เหลียวมองประวัติศาสตร์อีสาน เพื่อประเมินอนาคตการเมืองไทย เขาบอกว่าปัจจัยทางการเมืองอีสานคือ ความใฝ่ฝันทางการเมือง และร้อยปีที่ผ่านมา อีสานไม่เคยเปลี่ยน ถูกละเลยจากส่วนกลาง และยังคงใฝ่ฝัน....

 


 

"ความน่าเสียดายของการทำงานทางวิชาการ ก็คือหลังจากชาวบ้านโหวต เราไม่มีกลุ่มที่ทำวิจัยที่ไปถามหน้าคูหาเลือกตั้งว่า ถ้าท่านโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น โหวตเพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก พูดง่ายๆ ว่าพวกที่ทำการวิจัยนั้นไม่มีกรอบทัศนคติที่เปิดกว้างที่จะอยากเข้าใจความ คิดจริงๆ ของคนในแผ่นดินนี้ ถ้า เพียงถามว่า ที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญนี้ เพราะยังนิยมทักษิณใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะว่า ท่านชอบ ส.ส. ในพื้นที่ของท่าน หรือว่า ท่านคิดว่าไม่เอา คมช. และรัฐบาลทหาร เพียงแค่สามตัวเลือก จะตอบปัญหาของแผ่นดินนี้ได้หมดเลย ตอนนี้เราพลาด สิ่งที่เราทำได้ก็คือแค่ประมาณว่า เกิดอะไรขึ้นในแผ่นดินนี้"

 

ธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์เอ่ย เมื่อประชาไทขอให้เขาช่วยอธิบายความ "เป็นพิเศษ" ของภาคอีสานในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งยังส่งผลต่อเนื่องมายังปัจจุบันดังจะเห็นจากผลการโหวตโน ให้กับรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด และความเป็นพิเศษของอีสานจะยังส่งผลต่อเนื่องไปยังการเมืองไทยระยะใกล้ คือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมที่จะถึง และ....อืม....อาจจะยาวนานต่อไปอีกหากเรายังหาคำตอบไม่ได้ว่าอะไรคือ "ความแตกต่าง" ที่ภาคอีสานมีในพื้นที่การเมืองไทย

 

นอกเหนือจากการตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เขา...ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการ หนังสือ "ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1" ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองหน้าสำคัญของไทยและฉายภาพการเมืองของภาค อีสานที่มีต่อการเมืองส่วนกลางในระยะสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาไทจึงขอให้ธำรงศักดิ์ ให้คำในแง่มุมประวัติศาสตร์ของอีสานต่อเรา....ทั้งนี้ เพราะ ความปั่นป่วนและเข้าใจยากทางการเมืองไทยที่ดำรงอยู่ บางที อาจจะไม่ใช่แค่การชี้เป้าไปที่อะไรๆ ในที่แจ้ง เช่น สถาบันทหาร หรือนักการเมืองชั้นต่ำ แต่อาจบางที มันหมายถึงความเข้าใจ ที่คนไทยไม่เคยมีให้แก่กัน อาจหมายถึงนักวิชาการ ที่ออกมาพูดเยอะแยะ แต่กลับขาดการวิจัยในประเด็นที่สำคัญ เช่นผลการ Vote No ที่ผ่านมา

 

0000000

 

ความฝัน - ความปรารถนาทางการเมือง: โลกพระศรีอาริย์ และ Vote No

อีสานเป็นแดนสำคัญในฐานการเมืองแบบประชาธิปไตยของการเลือกตั้ง เพราะอีสานมีขนาด 1 ใน 3 ของประเทศ ประชากรก็มีจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ผลของการโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญมากที่สุดของอีสาน ผมคิดว่ามันน่าจะเกี่ยวกับปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจของคนชนบทในอีสาน ที่จะไปสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเรียกว่า ความฝันหรือความปรารถนาทางการเมือง

 

เมื่อเราพิจารณาว่า คนอีสานได้ชื่อว่าเป็นภาคที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุด แต่ก็ได้ชื่อว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภาคต่างๆ ของประเทศไทย ดังนั้นปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจของภาคอีสานจึงเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่จะทำให้คนอีสานสามารถที่จะลุกขึ้นมากระทำอะไรก็ได้หากรัฐบาลใดก็ตามไม่ดูแลอย่างพอเพียง

 

ผมอยากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ภาคอีสาน เอา 100 ปีก็พอ อีสานเราเรียกว่า "ลาว" แต่ในกลุ่มของภาคอีสานทั้งหมดเราลืมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ไปหมดเลย เมื่อเราใช้คำว่า ลาว เราลืมเขมร เราลืมส่วย เราลืมคนเวียดที่อยู่ในเขตชายแดน เราลืมคนที่เรียกว่า คนโคราช คนในเมืองที่เรียกกันว่า คนจีน ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงว่าอีสานคือ ลาว เราใช้คำที่มันอธิบายทั้งหมดของภาคอีสานจริงหรือเปล่า ถ้าในเมื่อมันมีกลุ่มชาติพันธุ์เต็มไปหมด มันเป็นหนึ่งเดียวหรือ

 

ในความเป็นจริงอีสานไม่ใช่หนึ่งเดียว แน่นอนว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้วอีสานอาจจะดูเป็นหนึ่งเดียวในยุคสมัย ร.5 ที่ผมบอกว่า 100 ปีนั่นหมายความว่า มันเกิดเหตุการณ์สำคัญในช่วงทศวรรษ 2440 ที่เราเรียกว่า "กบฏผีบุญ"

 

กบฎผีบุญ จะมีพื้นที่ของการเคลื่อนไหวศูนย์กลางอยู่แถวอุบลราชธานีและจำปาศักดิ์ แล้วก็ค่อยๆ แผ่ไปยังเขตตอนในของภาคอีสาน แต่แผ่มาไม่ถึงโคราช ไม่ถึงขอนแก่น อุดรฯ

 

กบฎผีบุญ คือกระบวนการต่อต้านการทำลายระบบทางการเมืองภายในภาคอีสานตามจารีตในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น กรุงเทพฯ แสดงตนเป็นเจ้าอาณานิคมในการผนวกดินแดนต่างๆ เข้ามาเป็นของตัวเองเหมือนกับที่อังกฤษและฝรั่งเศสกระทำ ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสเจรจาตกลงว่าให้พื้นที่ราบของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เป็น buffer state (รัฐกันชน) ตรงจุดนี้เองทำให้กรุงเทพฯ ใช้ช่วงจังหวะดังกล่าว ผนวกทั้งภาคอีสาน เหนือและใต้มาเป็นส่วนหนึ่งที่เราเรียกว่าประเทศไทย

 

กระบวนการต่อมาคือกระบวนการทำลายระบบการเมืองการปกครองแบบสืบสายโลหิตของแต่ละหัวเมือง เจ้าเมืองที่สืบสายโลหิตกันมาถูกกำจัดออกไปในนามของการมี "ผู้ว่าราชการจังหวัด" ซึ่งถูกส่งไปจากกรุงเทพฯ

 

ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกบฏผีบุญคือปัจจัยที่ตัวผู้ปกครองเดิมพยายามลุกขึ้น ทวงสิทธิอำนาจของตนเองไม่ให้สูญหายไป แต่การลุกขึ้นทวงสิทธิอำนาจนี้มีปัจจัยสนับสนุนอยู่สองปัจจัย ปัจจัยที่หนึ่งก็คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สภาพการณ์ตอนนั้นคนอีสานพูดกันเสมอว่าเหตุใดตัวเองจึงจน จึงถูกรังแกจากข้าราชการที่มาจากต่างบ้านต่างเมือง ความจน ทำอะไรก็ไม่ได้ผล ปลูกข้าวขายข้าวก็ไม่ได้ราคา ไม่ต่างกันเลย ร้อยปียังแร้นแค้นยังถูกรังแกอยู่จากข้าราชการ จากใครก็ตามที่ส่งมา นั่นคือปัจจัยปัญหาเศรษฐกิจ

 

ปัจจัยที่สองที่ตามมา คือ ปัจจัยของการใช้คติว่าด้วย "โลกพระศรีอาริย์" คติทางด้านความเชื่อทางศาสนาเข้ามาบวก ว่า เรากำลังแสวงหาความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่ง ดังนั้นภาคอีสานจึงเป็นภาคที่มองความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งบนพื้นฐานที่ไม่มีราก ฐานของปัจจัยเศรษฐกิจเลย ถ้าเราเชื่อมในยุคนั้น มีนาปลูกข้าวพอกินหรือเปล่า หลังจากพอกินแล้ว เหลือพอจะขายนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนไหม ถ้าในปัจจุบัน คำถามก็คือ อีสานมีฐานของอุตสาหกรรมหรือแหล่งเงินที่ทำให้คนอีสานสามารถทำเงินได้มากๆ ไหม ถ้าไม่ต้องอพยพมาจากเขตของตัวเอง คนอีสานจึงเป็นแรงงานอพยพชั่วคราวตามฤดูกาลเยอะที่สุด

 

เพราะฉะนั้นจากปัจจัยของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างอำนาจส่วนกลางกับกลุ่มอำนาจ ท้องถิ่นพร้อมด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและอุดมคติว่าด้วยพระศรีอาริย์มันจึงก่อ ให้เกิดกลุ่มคนที่บอกว่า เราจะรวมอีสานให้เป็นหนึ่งเดียวไม่ขึ้นต่อกรุงเทพฯ ในนามของกบฎผีบุญ รวมทั้งอาจจะรวมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงด้วย เพราะกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาว แต่กบฏครั้งนั้นถูกปราบด้วยกองกำลังอาวุธสมัยใหม่จากกรุงเทพฯ ที่มีทางรถไฟไปถึงโคราช และแป๊บเดียวสามารถที่จะใช้ปืนไฟรุ่นใหม่ยิงฝ่ายกบฎแหลกราญ ราบเป็นหน้ากลอง

 

ในกรณีของกบฎผีบุญ ฐานของมันจริงๆ คือปัญหาเศรษฐกิจของคนอีสาน ที่ตนเองรู้สึกว่า ความยากจนแร้นแค้นมากจริงๆ แต่ในกระบวนการที่น่าสนใจมากกว่าก็คือว่าอะไรที่เขาใช้สื่อสารให้คนชนบทที่ห่างไกล ไม่มีเส้นทางคมนาคม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายฝ่ายกบฎผีบุญได้ หมอลำ เขาใช้หมอลำออกเดินสาย สี่สาย เป็นหมอลำเล่าเรื่อง ถ้าเราเคยฟังหมอลำเล่าเรื่องของภาคอีสานนะ เขาจะเล่า แล้วมีแคนตัวหนึ่ง แล้วมีคนชายหญิงร้อง ว่าผ่านความเจ็บช้ำอย่างไรมาอย่างไร

 

อีสาน - กบฏผีบุญ - ก๊กการเมืองท้องถิ่น

จาก กบฎผีบุญ มา มีความต่อเนื่อง ปัญหาเศรษฐกิจสูงขึ้นมาจากปัญหาเศรษฐกิจคือ มันทำให้ชาวบ้านฝันถึงอุดมคติของโลกพระศรีอาริย์ ความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งที่นักการเมืองจะหยิบฉวยไปใช้ และปัญหาอีกอันหนึ่งคือกลุ่มการเมืองในท้องถิ่น กบฎผีบุญเกิดจากปัญหาที่ส่วนกลางทำลายกลุ่มการเมืองในท้องถิ่น และนี่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเรียกว่าก๊กต่างๆ คือก๊กทางการเมืองในท้องถิ่นพวกนี้ก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดเหมือนกัน เลยปัจจัย

 

จริงๆ ผมเองก็ยังมองไม่เห็นว่าในภาคอีสานใครจะเปลี่ยนแปลงจินตนาการให้มันกลายเป็น จริงได้โดยปัจจัยทางภูมิประเทศ เพราะฉะนั้นปัญหาความไม่แน่นอน ความผันผวนที่มาจากภาคอีสาน คงต้องดำเนินต่อไป ในขณะเดียวกัน คนภาคอีสาน อาจยึดโยงกับตัวผู้นำที่เป็นก๊ก แต่ว่าตัวผู้นำก็อาจจะแปรเปลี่ยนได้เหมือนกัน

 

ผู้นำแปรเปลี่ยนเพราะแต่ละคนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจากอำนาจส่วนกลาง ถ้าในยุคร้อยปีที่แล้ว อำนาจส่วนกลางคือ กรุงเทพฯ ซึ่งทำลายกลุ่มผู้นำทางจารีต ดังนั้นผู้นำจึงต้องต่อสู้ด้วยกำลังเพื่อรักษาสถานภาพของตนเองไว้ได้ แต่แพ้เพราะถูกปราบด้วยอาวุธ กลุ่ม ส.ส. อีสาน เป็นก๊ก ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้นำในกรุงเทพฯ ที่เป็นรัฐบาล แต่กลุ่ม ส.ส. อีสานก็แพ้ด้วยการถูกกำจัดชีวิต ดังนั้น หลังจากนั้นมากลุ่มก๊กอีสานก็พยายามที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลางให้ ได้

 

พอมาถึงวันนี้ คือ ก๊กของอีสานถูกเชือดหมดเลยเพราะว่าเป็นฐานของทักษิณ ดังนั้น กลุ่มเหล่านี้อาจจะไม่ได้ภักดีต่อใครเลย แต่ต้องต่อสู้เพื่อให้ตนเองสามารถอยู่รอด นี่ในส่วนของผู้นำ แต่จะถูกกำจัดอย่างไรเราก็ไม่รู้ เป็นเรื่องอนาคต หรือว่าสามารถอยู่รอดได้ แต่ฉากที่เราเห็นสองฉาก ถูกกำจัดหมดด้วยความรุนแรง

 

หลังจากกรณีของกบฎผีบุญ และอีสานถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นประเทศไทย ปรากฏการณ์ต่อมาที่เราในฐานะนักศึกษาจะจดจำกันมากที่สุด ก็คือ ส.ส. อีสานในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง 4 ส.ส. อีสาน เตียง ศิริขันธ์ แห่งสกลนคร ทองอินทร์ ภูริพัฒน์จากอุบลราชธานี จำลอง ดาวเรือง จากมหาสารคาม และถวิล อุดล จากร้อยเอ็ด 4 ส. ส. อีสานที่เราจดจำได้ก็เพราะว่าหลังจากมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ และต่อมาเมื่อทหารครองเมือง เขาก็ถูกฆ่าในยุคของตำรวจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เราจึงรู้จักว่า 4 คนนี้มีอุดมคติ ต่อสู้เพื่ออีสานและมีชื่อเสียงอันโดดเด่น แต่ผมไม่มั่นใจว่าคนอีสานรู้จัก 4 คนนี้หรือเปล่า แม้แต่คนในจังหวัดของเขาเอง

 

แน่นอนว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องไม่รู้จักแน่ เพราะไม่มีกระบวนการสืบทอดองค์ความรู้ แต่ผมเกิดคำถามว่า ในยุคนั้น 4 ส.ส. อีสานอาจจะมีชื่อเสียงในเขตจังหวัดของตัวเอง เป็นที่นิยมชมชอบในเขตจังหวัดของตัวเอง แต่ 4 ส.ส. อีสานนี้สามารถผนึกอีสานทั้งหมดหรือไม่ เรากลับมองเห็นว่า บทบาทของ 4 ส.ส. อีสาน รวมทั้ง ส.ส. คนอื่นที่เราไม่ได้กล่าวถึง ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน แต่กลับเป็นบทบาทของส.ส. จากภาคอีสานที่มาผนึกกับกลุ่มอำนาจส่วนกลาง นั่นคือ ก๊กของปรีดี พนมยงค์ ที่เคลื่อนไหวกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

นั่นหมายความว่า ปรีดี พนมยงค์ หรือกลุ่มเสรีไทย เป็นกลุ่มที่อยู่เหนือพื้นที่ มันมี ส.ส. ที่มีบทบาทเข้ามาผนึกแล้วก็กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองในส่วนกลาง คนเหล่านี้มีบทบาทอยู่ในเชิงปัจเจกบุคคลมากกว่าที่จะสามารถสร้างรวมทั้งหมด ของภาคอีสานหรือเกือบทั้งหมดให้กลายเป็นหนึ่งเดียวได้ ดังนั้น เวลาเรามอง 4 ส.ส. อีสาน ที่เสียชีวิตไปแล้ว ผมคิดว่าเราลืมปัจจัยตรงนี้ เราลืมภาพรวมตรงนี้ เราคิดว่าเขาเป็นตัวแทนของภาคอีสานทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น

 

แล้ว ส.ส. อีกจำนวนหลายสิบคนล่ะเขาทำอะไร เขาก็อยู่กับฝ่ายรัฐบาลที่แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่ 4คน นี้ไม่สามารถแปรเปลี่ยนได้ วิธีการของรัฐบาลเผด็จการทหารก็คือ กำจัดมันซะ หลังจากนั้นเราไม่เคยมี ส.ส. อีสานคนใดที่เราจะกล่าวถึงได้อีกเลย แม้อาจจะกล่าวถึงได้เป็นบางท่าน แต่ก็เป็นบทบาทของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ฝ่ายซ้าย เช่น ไขแสง สุกใส หรืออย่างมากก็แค่มีก๊กหรือมุ้งของตนเองเล็กๆ เท่านั้น และนี่เองที่เมื่อถัดจาก 4 ส.ส. อีสานก็จะพบว่า ส.ส. อีสานหายไปหมด เรารู้จักเป็นบางคนๆ ที่เป็นหัวหน้าก๊ก แต่ทั้งหมดเราไม่รู้จักและไม่เคยมีภาพรวมของการผนวกก๊กให้กลายเป็นภูมิภาค ได้

 

ทำไม ส.ส. อีสานจึงไม่สามารถเป็นก๊กใหญ่ หรือผนวกรวมเป็นภูมิภาค

ประการแรก โดยบุคลิก ลักษณะทางประชากร มีความหลากหลายมาก จะบอกว่านี่เป็นลาว นี่เป็นเขมร นี่เป็นอะไรล่ะ มันก็ไม่ได้เป็นตัวแทนทั้งหมด นั่นคือลักษณะความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประการที่สอง กลุ่มคนที่เป็น ส.ส. ส่วนใหญ่เป็นเชื้อจีนด้วยซ้ำไป เราจะอธิบายอย่างไรว่าเป็นตัวแทนของคนอีสาน แต่ทั้งหมด กระบวนการสามารถควบคุมชาวบ้าน สามารถสัมผัสกับชาวบ้านในเขตภาคอีสานได้ จึงเป็นกระบวนการทางปัจจัยเศรษฐกิจที่แต่ละก๊ก มีการสร้างเครือข่ายของตนเองลงไป เพราะปัญหาพื้นฐานจาก 100 ปี ที่แล้วจนถึงปัจจุบันอีสานเป็นเหมือนเดิม คือเป็นเขตเศรษฐกิจล้าหลังที่สุดของประเทศไทย เป็นเขตเศรษฐกิจที่ยากจนที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเขตที่หอมหวลที่สุดของการเมืองในการเลือกตั้ง

 

อีสานกับการพัฒนา ความจน ความจริง ความทรงจำ

อีสาน ดูเหมือนจะได้รับการพัฒนามากที่สุดในยุคของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์อ้างอิงตัวเองว่าเป็นอีสาน อีสานในยุคของจอมพลสฤษดิ์นั้น ชาวบ้านรู้สึกว่าได้รับการดูแลอย่างมาก เริ่มมีถนนหนทางเข้าไป เริ่มมีการขุดบ่อน้ำประปา ทำเขื่อน เริ่มมีไฟฟ้า การขนส่ง

 

แต่จริงๆ แล้วกระบวนการทั้งหมดที่เรียกว่ากระบวนการพัฒนาอีสาน มันเป็นกระบวนการปราบคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ที่ทุ่มทุนงบประมาณจำนวนมากลงมาสู่อีสาน ตั้งแต่เกิดสงครามเดียนเบียนฟู ในปี 2497 ที่ฝรั่งเศสแพ้ในเวียดนาม นับจากปีนั้นมา สหรัฐฯ ได้ทุ่มทุนจำนวนมากลงสู่ภาคอีสานเพื่อใช้อีสานเป็นเสมือนกันชนของการแผ่ขยาย ลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะกรณีของเดียนเบียนฟูนั้นมันก่อให้เกิดความปั่นป่วนในลาว กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ในลาวได้เคลื่อนไหวเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ เวียงจันทน์ลาวจึงปั่นป่วนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เช่น ตั้งแต่ปี 2500 มามีการยึดอำนาจในลาวเต็มไปหมด ฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายซ้ายในลาวก็มีพื้นที่มั่นของตนเองที่อยู่ทางด้านชาย แดนต่อกับเวียดนาม ดังนั้นยุทธศาสตร์ของสหรัฐก็คือการบล็อคการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ไม่ให้ ขยับขยายลงสู่ทางตอนใต้ คือ ไทย กัมพูชา และเวียดนามใต้

 

ด้วยเหตุนี้ เงินที่รัฐบาลไทยคุยนักคุยหนาว่าตนเองเน้นการพัฒนาภาคอีสานทั้งในยุคของจอม พลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร มันเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ มีความคิดว่า ถ้าชาวบ้านมีเศรษฐกิจดี น่าจะเป็นเกราะป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจจะดีได้ ต้องส่งเสริมการเพาะปลูกพืชที่ขายในตลาดโลกได้ จะขายพืชในตลาดโลกได้ก็ต้องมีถนน จากปัจจัยว่าด้วยยุทธศาสตร์ของการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค อินโดจีนและไทย รัฐบาลไทยจึงได้ประโยชน์ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

นอกจากอ้างอิงว่าตนเองเป็นคนอีสานแล้ว เงินจำนวนมากที่ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย ก็หลั่งไหลไปสู่ภาคอีสาน นี่คือประชานิยมโดยไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาลไทยเลย ใช้เงินจำนวนหนึ่งของรัฐบาลไทยและจำนวนมากของสหรัฐฯ ชาวบ้านจึงรู้สึกว่า จอมพลสฤษดิ์ทำให้อีสานสามารถลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ผลมันออกมาเป็นอย่างนั้น

 

แล้วคนอีสานจำจอมพลสฤษดิ์ได้ไหม จอมพลสฤษดิ์มีอนุสาวรีย์ในภาคอีสานไหม มี...ที่ขอนแก่น แต่ชาวบ้านอีสานร่วมกันอย่างหลั่งไหลเพื่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ ใช่ไหม...ไม่ใช่!! เพราะอนุสาวรีย์นี้สร้างหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ สิ้นไปแล้ว 20 ปี โดยพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้ต้องการฟื้นฟูบทบาททหารและอ้างอิงความเป็นคนอีสานโดยใช้จอมพลสฤษดิ์ มาเป็นเครื่องมือ

 

แต่อนุสาวรีย์ของจอมพลสฤษดิ์ คนก็ไม่รู้จัก คำถามก็คือว่า บุคคลที่เราเรียกว่า ชาวอีสานรู้สึกเคารพนับถือและพูดถึงมากยิ่ง เช่น จอมพลสฤษดิ์ ก็ถูกทำให้หายสาบสูญไปได้ เพราะจอมพลสฤษดิ์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ถูกยึดทรัพย์จากกองมรดก ฐานคอร์รัปชั่น กระบวนการยึดทรัพย์นั้นยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ โดยลูกน้องคนสำคัญที่สุดของจอมพลสฤษดิ์เอง คือ จอมพลถนอม กิตติขจร

 

กระบวนการยึดทรัพย์นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นทันทีที่จอมพลถนอมขึ้นมาครองอำนาจหลังจากจอมพลสฤษดิ์ตายในช่วงปลายปี 2506 แต่กระบวนการยึดทรัพย์นั้นใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี กว่าที่จะประกาศให้มีการยึดทรัพย์และหลังจากนั้นยังมีการยึดทรัพย์เป็นระลอกๆ เหตุการณ์ยึดทรัพย์นั้นใช้เวลาอย่างน้อยๆ ก็ 10 ปี ที่ข่าวของจอมพลสฤษดิ์ด้านคอร์รัปชั่น และด้านบรรดาเมียๆ ได้สลายบุคลิกภาพของความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ลง ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อรัฐบาลจอมพลถนอม

 

กระบวนการยึดทรัพย์นั้นใช้เวลายาว เพราะเมื่อจอมพลถนอมขึ้นมาสู่อำนาจนั้น คนมองจอมพลถนอมแตกต่างไปจากจอมพลสฤษดิ์ ประชาชนมองว่า จอมพลสฤษดิ์นั้นเป็นผู้ที่ตัดสินใจฉับไว เข้มแข็ง และปรารถนาดีต่อประเทศ แต่จอมพลถนอมถูกมองว่าอ่อนแอ ตัดสินใจไม่เด็ดขาด แต่กระบวนการยึดทรัพย์ที่ยาวนานก็ค่อยๆ เผยข้อมูลให้เห็นว่าคนที่ท่านคิดว่า ดี เลิศ ประเสริฐยิ่งของท่าน เช่นจอมพลสฤษดิ์นั้น เลวแค่ไหน เป็นการนำเสนอแบบซีรียส์ จะฉายแบบหนังสั้นไม่ได้ นี่คือการฉาบแบบซีรีส์จนชาวบ้านชาวเมืองซึมซาบไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่า อ๋ออออ... ที่แท้เป็นแบบนี้นี่เอง บอกว่า ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว...รับเงินประเทศไปหมดเลยนะคนเดียว ภาพลักษณ์ในมุมกลับจากกระบวนการยึดทรัพย์ที่ยาวนานและปัญหาของจอมพลสฤษดิ์ ด้านคอร์รัปชั่นและเมียน้อยเมียหลวงนั้น ทำให้เกิดภาพลักษณ์ด้านบวกของจอมพลถนอม แม้ว่าดูอ่อนแอ ประนีประนอม แต่ก็ซื่อสัตย์ ประเทศเราต้องการคนซื่อสัตย์อย่างนี้ เห็นไหม ท่านยังไม่ไว้หน้าพี่ของท่านเลย

 

 

ก๊ก ส.ส. อีสาน จากยุคเริ่มต้นประชาธิปไตย ถึงยุคไทยรักไทย และอนาคต

ถ้าเราย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์การเมืองอีสาน เราจะพบว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในอีสานทั้งหมดต้องมีผู้นำที่เป็นคนในภาค อีสาน นี่เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะต้องหาคำอธิบายมากยิ่งขึ้น ผมขอกลับไปว่า ทำไมอีสานจึงยังจงรักภักดีต่อไทยรักไทย หรือต่อทักษิณ คำถามนี้มีคำถามซ้อนมาอีกคำถามหนึ่งว่าจงรักภักดีต่อไทยรักไทยและต่อทักษิณ จริงหรือ

 

ตอบ คำถามแรกว่า ทำไมจึงภักดีต่อไทยรักไทย หรือต่อทักษิณ ผมคิดว่าถ้าเรามองดูจากพรรคไทยรักไทย พรรคนี้ไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองที่พยายามตั้งตัวเองให้เป็นพรรครัฐบาล ในอดีตเลย ยกตัวอย่างได้โดยเฉพาะพรรคที่มาจากทหาร หมายความว่าใครก็ตามที่ปรารถนาจะขึ้นตำแหน่งนายกฯ ในกระบวนการที่จะต้องมีการเลือกตั้ง ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือจะต้องดูดก๊กการเมืองต่างๆ ในพื้นที่ของภาคอีสาน เข้ามาให้ได้มากที่สุด

 

อีสานที่เราเห็นว่าเป็นไทยรักไทยนั้น ถ้าเราย้อนกลับไป 6 ปี ในการเลือกตั้งเมื่อ ปี 2544 เราจะพบว่า ไทยรักไทย ไม่ได้ครองพื้นที่อีสานทั้งหมด ไทยรักไทย ไม่ได้ที่นครพนมเลยสักที่นั่ง ไม่ได้ที่อำนาจเจริญเลยสักที่นั่ง ถ้าเราบอกว่า อีสานผูกพันกับไทยรักไทย นี่เป็นกรณีตัวอย่างของสองเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำโขงที่สุด และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีสานที่สุด เมื่อมันมีช่องว่างอยู่แล้ว จะอธิบายว่า เพราะคนอีสานรู้สึกว่าทักษิณเป็นผู้นำของเขาใช่ไหม ไม่ใช่เลย แต่ทักษิณพัฒนาความเป็นผู้นำของเขาผ่านกระบวนการดูดก๊กต่างๆ ในอีสานเข้ามา

 

พื้นที่แรกที่สำคัญมากที่สุด ที่ทำให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นนายกฯ คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคความหวังใหม่ของชวลิตคือพรรคที่ได้ที่นั่งในอีสานเป็นจำนวนมาก เพราะพรรคความหวังใหม่ก็คือการดึงก๊กต่างๆ มาอยู่ใต้ร่มธงของตัวเองได้ เมื่อทักษิณต้องการบ้างก็ดูดความหวังใหม่ของชวลิต ยงใจยุทธมา และถ้าเรามองย่อไปอีกเราจะพบว่า มันมีก๊กของนครราชสีมาในนามของพรรคชาติพัฒนา ก๊กของพรรคกิจสังคม ของกลุ่มพินิจ จารุสมบัติที่หนองคาย ก๊กของบุรีรัมย์ ก๊กกลุ่มอีสานใต้ มันรวมก๊กได้จึงสถาปนาพรรคไทยรักไทย ที่ดูเหมือนครอบครองพื้นที่ทั้งหมดได้ โดยไทยรักไทยใช้เวลาจากการเลือกตั้ง 2544 ค่อยๆ พัฒนาและดูดก๊กต่างๆ แล้วทำให้สถานะที่ดูเหมือนคงที่อยู่ด้วยการเลือกตั้งที่ไม่ประสบผลในปี 2548

 

นี่ จึงเป็นพัฒนาการของการดูดก๊ก แต่ทว่า ฐานของก๊กเหล่านี้สามารถแปรเปลี่ยนได้ ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่ากลุ่มก๊กต่างๆ ต่างหากที่สามารถควบคุมเสียงของตนเองได้ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการอะไรก็ตาม หัวหน้าก๊กเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นที่อธิบายตรงนี้ก็เพื่อตอบคำถามที่สองว่า ไทยรักไทย หรือ ทักษิณ เป็นที่ชื่นชอบอย่างจีรังยั่งยืนของคนภาคอีสานจริงหรือ

 

ถ้าให้ผมฟันธงนะครับ ผมคิดว่าความชื่นชอบนี้สามารถแปรเปลี่ยนได้ และทักษิณสามารถหายไปจากความทรงจำของเขาได้ในอนาคต ตัวอย่างที่ผมอยากยกมากที่สุดเลย อยากยกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ้างอิงตัวเองว่าเป็นคนนครพนมทางสายแม่ เมื่อจอมพลสฤษดิ์สามารถใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2500 ได้ จอมพลสฤษดิ์ ต้องเล่นเกมการเมืองประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งในปีนั้น เพราะข้ออ้างในการยึดอำนาจจอมพล ป. คือ เป็นการเลือกตั้งสกปรก ในปี 2500 วิธีการของจอมพลสฤษดิ์ ก็คือให้มีการเลือกตั้งก่อน พอเลือกตั้งทราบผลจอมพลสฤษดิ์จึงตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ชื่อ ชาติสังคม แล้วก็ดูด ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของตนเอง ส.ส. ถิ่นไหนเป็นฐานที่สำคัญที่สุด.... กลุ่มอีสาน

 

ทำไม ส.ส. อีสานจึงเป็น ส.ส. ที่แปรเปลี่ยนได้เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับนักการเมืองในภาคอื่นๆ

ผมคิดว่ามาจากปัญหาบางประการซึ่งจะกล่าวต่อไป และในพื้นที่ของอีสานนั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ดูดมา ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พรรคชาติสังคมอย่างแน่ชัด มันมี "มุ้ง" ของ ส.ส. อีสานเต็มไปหมดเลย เพื่อต่อรองทางการเมือง สิ่งหนึ่งที่จอมพลสฤษดิ์ สามารถปราบ หรือกำราบมุ้งต่างๆ ให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนเอง ให้เชื่อฟังตนเองได้ เป็นเพราะมุ้งของ ส.ส. อีสาน เป็นมุ้งที่เล็กๆๆๆ ไม่เคยมีมุ้งใหญ่อันเดียวของภาคอีสานเลย

 

ผมอยากเปรียบเทียบว่า ถ้าประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนึ่ง มีมุ้งหนึ่งที่ใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ อีสานไม่เคยมีมุ้งอย่างนี้เลย นั่นหมายความว่าในยุคของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์อยากขึ้นดำรงตำแหน่งโดยกระบวนการการเลือกตั้ง วิธีการที่ทักษิณทำไม่ต่างจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำคือ ดูดก๊ก ดูดมุ้งต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มธงของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในนามของคณะปฏิวัติ ปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ล้มการเมืองแบบการเลือกตั้ง แล้วก็บอกว่าต่อไปเราจะทำการปฏิวัติ ส.ส. มันไม่ดี ระบบการเมืองแบบการเลือกตั้งมันยังใช้ไม่ได้ เพราะ ส.ส. ขายตัว จอมพลสฤษดิ์อาจจะด่าถูก และกลุ่มที่ถูกด่าที่สุด คือกลุ่มภาคอีสาน เพราะนั่นคือคนที่เข้ามาอยู่ในร่มธงพรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์ และเล่นเกมต่อรอง เล่นเกมป่วน เพราะฉะนั้นเวลามีการวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมือง โดยนัย ที่คนอาจจะไม่ค่อยแบ่งแยกเวลาบอกว่า นักการเมืองขายตัว ถ้าเราลองดูถึงระดับของนักการเมืองแต่ละภาคจะพบว่า ส.ส. ที่แปรเปลี่ยนพรรคได้ดีที่สุดเลย เป็น ส.ส. จากภาคอีสาน นั่นแหละเขาด่าตรงนั้น

 

มองมุมกลับ ทำไม ส.ส. ภาคอีสาน จึงไม่เลือกสังกัดพรรคประชาธิปัตย์บ้าง หากว่าเขาสามารถแปรเปลี่ยนพรรคการเมืองได้รวดเร็ว แต่ประชาธิปัตย์กลับไม่เคยที่จะสามารถจะดึงมุ้งในภาคอีสานได้

ปัจจัยหนึ่งของ ส.ส. กลุ่มการเมืองในเมืองไทย คือ เมื่อมีคนที่พร้อมทางด้านการเงินเศรษฐกิจและชื่อเสียงจากจังหวัดต่างๆ เมื่อคนเหล่านี้พร้อม จะรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะเข้าสู่วงการเมือง การเข้าสู่วงการเมืองโดยไปอยู่ภายใต้ลำดับปลายแถวของพรรคการเมืองที่สถาปนา แล้ว มีการวางใครอยู่ลำดับขั้นไหน แบบเวลาเข้าไปเป็นพระสงฆ์ ต่อให้ท่านอายุมาก ถ้าท่านไม่มีกำลังอำนาจอำนาจที่มากพอ ท่านก็ถูกจัดลำดับอยู่ปลายแถว หรือว่าท่านเข้าไปอยู่ที่กลุ่มๆ หัวแถว แต่ก็ไม่เสียงรอบข้างที่จะสนับสนุนท่านในคณะกรรมการบริหารได้

 

ลักษณะบุคลิกของ ส.ส. อีสานมีลักษณะปัจเจกชนนิยมสูงมาก และปรารถนาความสำเร็จอย่างรวดเร็ว นั่นคือลักษณะของกลุ่มที่เข้ามาเป็นกลุ่มผู้นำทางการเมือง ถ้าเราเรียก ส.ส. พวกนี้ว่าเป็นกลุ่มผู้นำทางการเมือง เราก็ต้องคิดว่า เหตุใดต้องรอคอยให้นานนัก และในกระบวนการทางการเมืองไทย ยังเป็นกระบวนการที่ใครๆ ก็สามารถก่อกำเนิดพรรคขึ้นมาได้ พรรคเล็กพรรคน้อย มีเสียงไม่มาก อย่างน้อยกลุ่มผู้นำพรรค 2-3 คนก็อาจได้ตำแหน่งทางการบริหารได้ แทนที่จะเป็นมุ้งที่อยู่ภายใต้พรรคการเมืองหนึ่ง ก็เป็นมุ้งของตนเองที่หาทางเข้าเป็นมุ้งภายในรัฐบาลให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย นี่เป็นบุคลิกของ ส.ส. อีสานด้วยซ้ำ

 

จาก กรณีของยุคจอมพลสฤษดิ์ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติล้มกระดานของเกมประชาธิปไตยการเลือกตั้ง และสภาผู้แทนราษฎร จอมพลสฤษดิ์อยู่ในฐานะของผู้นำคณะปฏิวัติ อีก 5 ปีต่อมา อ้างอิงตัวเองเสมอว่าเป็นคนจากภาคอีสานและสนใจภาคอีสานอย่างสุดซึ้ง จอมพลสฤษดิ์จะแสดงตนในการเดินทางไปเยี่ยมเยียนประชากรทั่วแผ่นดิน อย่างที่ตัวเองต้องทนอดมื้อกินมื้อ ต้องทนนอนในเต๊นท์ ลุยโคลน ทำไมลักษณะของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งอยู่ในอำนาจแบบเบ็ดเสร็จต้องเล่นภาพประชานิยม เล่นภาพในการเข้าถึงชาวบ้าน เขาไม่ได้เข้าถึงชาวบ้านทุกวี่ทุกวัน เพราะจอมพลสฤษดิ์นั้น ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวิมานสีชมพูกับภรรยาต่างๆ ดังนั้น เวลาเปิดฉากลงพื้นที่ เขาต้องไปด้วยความต้องอดทนอดกลั้นในการเยี่ยมเยียนไพร่ฟ้าประชาราษฎร นี่คือ วิธีการของนักการเมืองเผด็จการแบบทหารที่อยู่ห่างจากพื้นที่การเลือกตั้ง เพราะถ้าใครก็ตามที่เป็น ส.ส. เขาเลือกจะคลุกอยู่กับชาวบ้าน จนชาวบ้านไม่รู้สึกแปลกถ้าคนเหล่านี้จะมาเยี่ยมเยียน

 

ถ้าพูดอย่างกว้างเลย เช่น ชวน หลีกภัย ไปเยี่ยมเยียน ภาคไหนๆ มันก็กลายเป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองอย่างนี้ต้องทำ แต่คนที่ดูมีอำนาจบารมีและดูห่างไกลต้องใช้วิธีการ ดังนั้น การไปเยี่ยมเยียนครั้งหนึ่งมันจึงมีฉากของการตีฆ้องร้องป่าวและโหมประโคมถึง กิจกรรมอันแสนจะทนทุกข์ทรมานเช่นนี้ ดังนั้น เวลาผมเห็นทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเยี่ยมเยียนไพร่ฟ้าประชาราษฎร ผมเห็นวิธีการเดียวกัน นี่คือ วิธีการของจอมพลสฤษดิ์ เผด็จการที่สุดใช้ นี่คือวิธีการที่จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บอกว่าผมไม่ได้เป็นนักการเมือง ผมเป็นทหาร ทักษิณ ชินวัตร พยายามบอกว่าผมไม่ใช่นักการเมือง ผมเป็นนักบริหาร เหมือนกันหมดเลย ดังนั้นฉากที่เราจะเห็นก็คือต้องอาบน้ำนุ่งผ้าขาวม้า นอนกับวัด มันเป็นวิธีการเดียวกันที่จอมพลสฤษดิ์ใช้ จอมพลถนอมใช้ ตลอดเวลา นี่คือกระบวนการสร้างจินตนาการรวมหมู่ให้กับชาวบ้านว่าเป็นผู้นำที่ดูแลอาณา ประชาราษฎรอย่างยิ่ง มันเป็นละครบทหนึ่งที่แตกต่างจากนักการเมืองทั่วๆ ไป ดังนั้นนี่คือกระบวนการซื้อใจคนชนบท

 

ซึ่งแน่นอนว่าได้ผล เช่นกรณีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นภาพเดียวกันคือภาพที่ห่างไกลจากพื้นที่การเลือกตั้ง ทักษิณไม่ได้เป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็น ส.ส. เขต แต่เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ มีความหมายว่าท่านลอยตัวอยู่ข้างบนได้ ดังนั้นเมื่อเล่นบทนี้ ชาวบ้านก็เลยรู้สึกอิ่มเอิบใจที่คนมาเยี่ยมเยียนอย่างจริงจัง รวมถึงการพัฒนาที่จับต้องได้ชัดอย่างกรณีของจอมพลสฤษดิ์ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร แต่ชาวบ้านรู้สึกได้ว่าตนเองได้รับการเอาใจใส่

 

เรื่องเมนูนโยบาย ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามในประเทศไทย รวมทั้งพรรคทหารที่เราเรียก คมช. นั้นต่างก็ใช้เมนูนโยบายประชานิยมเหมือนกัน ถ้าเราตัดรายละเอียดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ออก เราจะพบว่าทำเหมือนกัน 30 บาทรักษาทุกโรค ใช่ไหม โอเค...ไม่ต้อง 30 ก็ได้ เพียงแต่ว่าวิธีการโปรโมทนั้นเป็นมือคนละระดับ

 

ถ้าเราบอกว่า ชาวบ้านอีสานที่การลงประชามติไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ หมายถึงการยอมรับไทยรักไทย คือ การที่ยังนิยมในนโยบายของแนวทางพรรคนี้ คำถามก็คือว่า ภาคใต้ การที่เขาโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวนมาก ก็แปลว่าเขาเห็นชอบด้วยกับนโยบายของประชาธิปัตย์คงเดิมใช่ไหม แล้วกรุงเทพฯ ล่ะ เกือบ 50-50 เลย รับและไม่รับ จะแปลความหมายว่ายังไง เพราะพวกไม่รับ ยังจงรักภักดีต่อนโยบายของไทยรักไทยและทักษิณ ใช่ไหม

 

ผมว่าในกรณีนี้คำตอบมันอาจจะเป็นสองระดับ ซึ่งความ น่าเสียดายของการทำงานทางวิชาการ ก็คือหลังจากชาวบ้านโหวต เราไม่มีกลุ่มที่ทำวิจัยที่ไปถามหน้าคูหาเลือกตั้งว่า ถ้าท่านโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น โหวตเพราะอะไร ที่เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก พูดง่ายๆ ว่าพวกที่ทำการวิจัยนั้นไม่มีกรอบทัศนคติที่เปิดกว้างที่จะอยากเข้าใจความ คิดจริงๆ ของคนในแผ่นดินนี้ ถ้าเพียงถามว่า ที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญนี้ เพราะยังนิยมทักษิณใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะว่า ท่านชอบ ส.ส. ในพื้นที่ของท่าน หรือว่า ท่านคิดว่าไม่เอา คมช. และรัฐบาลทหาร เพียงแค่ สามตัวเลือก จะตอบปัญหาของแผ่นดินนี้ได้หมดเลย ตอนนี้เราพลาด สิ่งที่เราทำได้ก็คือแค่ประมาณว่า เกิดอะไรขึ้นในแผ่นดินนี้

 

"ทักษิณ" ใน "อีสาน" กับการเลือกตั้งที่จะถึง

กรณีของทักษิณซึ่งดำเนินไปในทางเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ คำถามของผมก็คือ แล้วทักษิณจะมีอนุสาวรีย์ในอีสานได้หรือไม่

 

ทักษิณ ดูดก๊ก ก๊กควบคุมเสียง ดังนั้นในกระบวนการเรื่องรัฐธรรมนูญ เราจึงยังเห็นสภาพเดิมๆ ในภาคอีสาน ก๊กทุกก๊กไม่ว่าจะแยกตัวออกไปบ้างไปจัดเป็นกลุ่มใหม่ แต่ภายใต้ปัญหาเดียวกันก็คือ ถูกบล็อคหมดสิทธิทางการเมือง ดังนั้น เขาเรียกว่ามันเป็นเกมร่วมกันในบางด้าน อีกเกมหนึ่ง หนึ่งเกมร่วมคือร่วมกับทักษิณ อีกเกมหนึ่ง คือทำยังไงให้ตัวเองอยู่รอดทางการเมืองได้ ก๊กต่างๆ นี้กำลังเล่นสองเกม ก๊กในอีสานเหล่านี้ โดยบุคลิกทางการเมืองตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย พร้อมที่จะแปรเปลี่ยน แต่ตอนนี้แปรเปลี่ยนไม่ได้เพราะถูกตัดคอพร้อมกันทั้งหมด ดังนั้นจึงมีปัญหาร่วมและปัญหาแต่ละส่วนของตัวเอง ปัญหาร่วมคือ ทำอย่างไรให้ดูเหมือนทรงพลัง แต่ปัญหาส่วนตัวคือทำอย่างไรให้ตน หรือก๊กของตน ยังมีพื้นที่ในการเมืองของเวทีสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

ทีนี้ถ้าให้ผมคาดการณ์ข้างหน้าผมก็ต้องคาดการณ์ว่า สถานการณ์ของการดูเหมือนต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่าง กลุ่มไทยรักไทยกับกลุ่มทหารจะต่อสู้ขัดแย้งกันไปอีกอย่างน้อยๆ ก็สามปีห้าปี เพราะพวกที่ถูกตัดสินถูกตัดสิทธิ 5 ปี ในสามปี ห้าปี มันมีความหมายว่าสถานการณ์จะอปกติอยู่อย่างนี้ และสภาพอปกตินี้มันจะยิ่งทำให้ทหารมีปัจจัยของการอ้างอิงปัญหาทักษิณต่อการ ดำรงอำนาจของตนเอง มันเหมือนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. ก็หนีไปอยู่ญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วตนจะกลับมา มันก็มีความหมายว่า กลุ่มของจอมพล ป. ยังมีพาวเวอร์หรือไม่มีพาวเวอร์ ไม่มีใครทราบ แต่แค่ตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าก๊กให้สัมภาษณ์ข้ามทวีปมา ก็เป็นปัจจัยให้ทหารสามารถกระชับอำนาจเพราะมีข้ออ้างว่า มีการที่กลุ่มอำนาจเก่าจะดำเนินการป่วนเมือง มีการต่อท่อส่งเงินมาให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชนในประเทศไทย มีความพยายามก่อให้เกิดปัญหาของการระเบิดในเขตประเทศไทย อ้างได้ทุกอย่าง เช่น จอมพล ป. บอกว่า จะไปสอนหนังสือที่แคลิฟอร์เนีย มันทำให้ผมนึกถึงฉาก 50 ปีที่แล้ว กับฉากของวันนี้ไม่ต่างกันเลย แต่ฉาก 50 ปีที่แล้ว มีความต่างตรงที่ว่า ฐานกำลังจริงๆ ของจอมพล ป. คือทหาร ยังมีทหารที่จงรักภักดีจอมพล ป. อยู่อีกหรือไม่ นี่คือสิ่งที่กองทัพกลัว

 

แต่ปัญหาของทักษิณตอนนี้อยู่ตรงที่ว่าทักษิณมีเงินแน่ชัด ยิ่งทักษิณแสดงตนว่าสามารถซื้อทีมฟุตบอลที่อังกฤษได้ เกมอย่างนี้เป็นเกมที่เขาเรียกว่าเตะฟุตบอลเข้าขาทหาร ทักษิณจะรู้สึกว่าตนเองได้เปรียบ ที่สามารถเล่นเกมฟุตบอลที่อังกฤษ แต่ในด้านกลับกันในพื้นที่ประเทศไทย "นั่นไง เงินซ่อนอยู่ที่ไหนอีกจำนวนมาก แล้วเงินเหล่านี้จะหลั่งไหลมาสร้างความไม่สงบและแตกแยกในแผ่นดินของประเทศไทย" นี่ คือ ข้อแตกต่างระหว่างจอมพล ป. กับทักษิณ ชินวัตร แต่ทั้งหมดเหมือนกัน คือ ทหารใช้ปัจจัยของตัวบุคคลเหล่านี้เป็นปัจจัยของการดำรงอำนาจทางการเมือง ทั้งจอมพล ป. และผมคิดว่ารวมถึง ทักษิณ คิดว่าตนเองสามารถเล่นเกมนี้ได้เปรียบ แต่กองทัพมีประสบการณ์มานานนับปีในการเล่นเกมยาวทางการเมือง ทหารได้เปรียบ แต่แน่นอน ทักษิณก็ต้องสู้ ดังนั้น เกมนี้จึงต้องยาว เพราะทักษิณสู้และมีปัจจัยที่จะสู้ เมื่อทักษิณสู้ เกมมันก็กลับมาสู่ที่ภาคอีสาน ในขณะที่หากเราเล่มเกมพลิกฝ่าย พลิกภาคใต้ได้แล้ว อาจจะพลิกกรุงเทพฯ ได้ต่อไป อาจจะพลิกภาคกลาง ภาคเหนือแล้วอีสานทีหลัง นั่นหมายความว่าภาคอีสานมีมุ้งที่จงรักภักดีต่อทักษิณ มุ้งเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกเขี่ยไปทีละมุ้งๆ ถ้ามุ้งถูกเขี่ยมีความหมายว่า ฐานเสียงของชาวบ้านก็จะต้องหลุดไปเป็นยวงๆ ในแต่ละเขตด้วย

 

เริ่มจากมุ้งต่างๆ ก็พยายามเอาตัวรอดทางการเมือง เพราะการสามารถดำรงสถานภาพของการเป็นผู้นำทางการเมืองในระบบได้ มีความหมายว่ายังสามารถรักษาธุรกิจของตนเองไว้ได้ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่น หรือในระดับชาติ แต่ถ้าตนไม่มีพื้นที่ทางการเมืองในเวทีสภาฯ มีความหมายว่า ตนไม่สามารถปกป้องธุรกิจของระบบเครือข่ายได้เลย

 

ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ตอนนี้เราบอกว่ามี ส.ส. สังกัดไทยรักไทย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่ก็มีคนอีกหลายคนที่กำลังพร้อมจะลงสนาม ซึ่งก็ต้องชิงฐานชาวบ้านกัน แต่การต่อสู้แย่งชิงฐานชาวบ้านกัน เป็นการต่อสู้ของคนที่จะกลายเป็นผู้นำทางการเมือง แต่ปัจจัยของการต่อสู้ ยังเป็นปัจจัยเดียวกัน คือทำให้ชาวบ้านคิดหรือรู้สึกว่าตัวเองจะอยู่ดีกินดี ทุกคนใช้ปัจจัยนี้หมด ส่วนการจะแปรเปลี่ยนฐานเสียงได้แค่ไหนนั้นมันก็เป็นกลยุทธ์ที่ซับซ้อนไปอีก

 

ถ้าเราบอกว่าเงินซื้อได้ไหม ทุกคนที่เราเห็นๆ หลายฝ่ายก็ใช้ แต่ทำไมชาวบ้านถึงให้คนนี้ ไม่ให้คนนี้ แสดงว่าต้องมีอะไรมากกว่านั้นในการยึดโยงความสัมพันธ์กันอยู่ บุญคุณ อุดมคติ หรืออะไร เราไม่รู้ แต่หลายฝ่ายใช้ปัจจัยอุดมคติเหมือนกัน จะบอกว่าเพราะชาวบ้านรับจากคนนี้ ไม่รับจากคนนี้ก็ไม่ได้ ชาวบ้านรับหมดแหละ ดังนั้นผมจึงมองว่า ภาพรวม ของมันก็คือปัญหาทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของคนอีสาน ผมคิดว่าภาคอีสานเป็นภาคที่ถูกละเลยจากรัฐบาลกลางมากที่สุด เพราะนับตั้งแต่ไม่มีคอมมิวนิสต์อีกแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปดูแล ปกป้อง คุ้มครอง อีกต่อไป ที่ผ่านมาอีสานได้รับการกล่าวขวัญถึงเพราะคอมมิวนิสต์ ถนนที่เข้าไปทุกที่ไม่ใช่เพื่อชาวบ้าน แต่เพื่อคอมมิวนิสต์หมดเลย

 

ไทยรักไทยหรือทักษิณไม่ใช่ประเด็น และก๊กทางการเมืองไม่ได้สำคัญมากไปกว่า ความใฝ่ฝัน

เมื่อ มองไปข้างหน้าแล้วเราไม่แน่ใจใช่ไหมว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงก๊กต่างๆ ทางการเมืองจากพรรคไทยรักไทยเก่าจะยึดโยงกันเอาไว้ได้หรือเปล่า

 

ก๊กเหล่านี้ ผมว่ายังยึดโยงไม่ได้เพราะถ้าเราเปรียบเทียบกับผีบุญนี่คือการต่อสู้ของ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น เขาต้องต่อสู้เพื่อรักษาสถานภาพของพวกเขาในฐานะผู้นำทางการเมืองของท้องถิ่น ไว้ ดังนั้น เขาจึงต้องยึดโยงกับชาวบ้านบนฐานของเศรษฐกิจและโลกพระศรีอาริย์ ความใฝ่ฝันต่อไป แน่นอนมีคนพยายามที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่ง แต่คู่แข่งเหล่านี้ มีทั้งภาพรวมและภาพย่อยที่จะต้องไปสนับสนุนเขา มุ้งต่างๆ ก๊กต่างๆ เขามีภาพรวมที่มีประสบการณ์มาแล้วอย่างน้อยๆ ก็ 4 ปี 6 ปี ว่าด้วยจินตนาการเงินกำลังจะไหลมา แต่ไม่รู้ไหลไปแล้วหรือยัง (หัวเราะ) แต่มันทำให้ทุกคนมีความหวัง การทำให้คนมีความหวัง คือการบรรลุแล้วที่ทำให้คนถึงโลกพระศรีอาริย์ในจินตนาการของตนเอง

 

สิ่งหนึ่งที่ก๊กของกลุ่มอีสานยอมสยบต่อทักษิณ นอกเหนือจากชัยชนะปี 2544 แล้ว ผมคิดว่า นอกจากเหนือจากปัจจัยทางการเงินที่คิดว่าสู้กันไม่ได้แล้ว ผมคิดว่า คนเหล่านี้มองเห็นอะไรบางอย่างที่สามารถใช้ประโยชน์จากทักษิณได้เพื่อดำรง สถานภาพของก๊กตัวเองไว้ได้ คือทักษิณไม่ใช่แค่ดูดเอาไป แต่เขาใช้ทักษิณในการดำรงก๊กของเขาอยู่ได้ เพราะว่ามันเป็นภาพจินตนาการที่เข้ามาสู่อีสาน ว่าด้วยความฝันอุดมคติ ผมว่าตรงนี้ที่ทำให้อีสานยืนหยัดได้มากที่สุด

 

ดังนั้นตรงจุดนี้ผมอยากเน้นว่ามันไม่ใช่เพียงก๊กทางการเมือง แต่ก๊กทางการเมืองเขาต้องต่อสู้เพื่อรักษาสถานภาพบนการมีพื้นฐานปัจจัยทาง เศรษฐกิจและอุดมคติของโลกพระศรีอาริย์อยู่ เราจะเห็นภาพเชื่อมโยงในรอบร้อยปี ที่ผ่านมาไม่ได้แตกต่างกันนะ.....นี่คืออีสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net