Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 7 ม.ค.51 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุติการให้ใบเหลืองใบแดงโดยทันที ยอมรับผลการลงคะแนนของประชาชนในจังหวัดนั้น


 


"การตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงในสถานการณ์ที่บ้านเมืองต้องการความสมานฉันท์ โดยที่


บ้านเมืองแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ย่อมง่ายที่จะเกิดการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ การตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงจึงมีแต่สร้างความร้าวฉานในสังคม ตอกย้ำการแบ่งฝ่ายและการเล่นพรรคเล่นพวก สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ และการตัดสินเช่นนี้โดยอ้างว่าต้องเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการ (ซึ่งมีเพียงไม่กี่คน) จะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเพราะผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษและประชาชนที่สนับสนุนจะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว โดยเฉพาะฝ่ายที่ได้ใบแดง"


 


นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยยังระบุถึงกรณีที่มีนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เร่งสอบสวนการยุบพรรคนอมินี โดยเห็นว่าในสภาพที่สังคมมีความเห็นแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย ขอให้สังคมยุติการส่งเสริมความแตกแยกนั้นด้วยการเรียกพรรคนั้นพรรคนี้เป็นพรรคนอมินี เพราะแต่ละพรรคต่างมีฐานะเป็นนอมินีขององค์กร หรือสถาบันหรืออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น การนำเอาประเด็นยุบพรรคกลับมาอีกก็คือการทำให้ความแตกแยกดำรงอยู่ต่อไป และจะเพิ่มขึ้น ทำให้ทางเลือกของผู้ได้รับการลงโทษตีบตันมากขึ้น เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้ามากขึ้น สังคมไทยจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองมากขึ้น สันติสุขจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินนี้


 


 


0000


 


 







 


 


คำแถลงของศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย


คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


7 มกราคม 2551


 


           


 


จากการติดตามศึกษาวิธีการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งและพฤติกรรมการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ก่อนวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จนถึงช่วงต้นปี 2551 ศูนย์ฯ ได้พบประเด็นสำคัญบางประการที่สังคมไทยควรสนใจดังนี้


           


1.  การรณรงค์โฆษณาว่าต้องเลือกคนดีเป็นผู้แทน คำถามคือ รู้ได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นคนดี เพราะคนดีหรือไม่ดีต้องใช้เวลาในการทำความรู้จัก หรือได้ร่วมงานกันเป็นเวลาพอควร ดังนั้น การรณรงค์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดปัญหามากกว่า การพิจารณาเลือกผู้แทนและเลือกพรรคการเมืองควรดูที่นโยบาย ดูความรู้ความสามารถ ทัศนะทางการเมือง และดูที่ผลงานของผู้สมัครและพรรคการเมืองนั้นในอดีตว่าเขาทำงานเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ชุมชนและประเทศชาติมากเพียงใด ขณะเดียวกัน ก็ควรพิจารณาว่าเขาได้กระทำสิ่งที่ผิดสิ่งใดบ้างที่เป็นเรื่องเสียหายทั้งต่อส่วนรวมและส่วนตัว


 


2.  การรณรงค์โฆษณาว่าประชาชนต้องไม่ขายเสียง เพราะนักการเมืองที่ซื้อเสียงต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก เมื่อเขาได้รับเลือกตั้ง เขาจะเข้าไปถอนทุนคืน เขาจะทุจริตคอรัปชั่น ปล้นชาติ ปล้นประชาชน เป็นการรณรงค์ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจถูกเพียงครึ่งเดียว แน่นอน คนจ่ายเงินเพื่อซื้อเสียงย่อมมีจุดมุ่งหมายที่จะถอนทุนคืนด้วยการทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนจึงไม่ควรเลือกคนเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ควรรณรงค์ให้ประชาชนทราบว่า สิทธิในการลงคะแนนไม่ใช่สินค้าไว้ขาย การลงคะแนนไม่ใช่เรื่องของการขอเงินหรือแจกเงิน การจ่ายเงินและการรับเงินมีส่วนทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในวันข้างหน้า


 


แต่คนที่ทำการทุจริตคอรัปชั่นไม่ว่าในวงการไหนก็เกิดได้ทั้งสิ้น ข้าราชการคอรัปชั่นโดยไม่ต้องเสียเงินเข้าไปทำงานในตำแหน่งนั้น หลายคนมิได้คิดที่จะทุจริตคอรัปชั่นตั้งแต่แรก ต่อเมื่อมีอำนาจ มีตำแหน่งรับผิดชอบโครงการต่างๆ มีโอกาส และคิดว่าไม่มีใครรู้ หรือคิดว่าทำร่วมกัน ก็ช่วยกันปกปิดได้ หรือเห็นเงินก้อนใหญ่ เกิดอยากได้ จึงกระทำความผิด


 


เช่นเดียวกัน นักการเมืองที่ไม่ได้ซื้อเสียงก็มีไม่น้อย แต่เมื่อได้รับเลือกก็สามารถทุจริตคอรัปชั่นได้ทั้งนั้น หากมีโอกาสหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวมา วิธีแก้ไขคือ จะต้องสร้างกลไกการตรวจสอบควบคุมนักการเมืองตลอดจนคนทำงานในทุกอาชีพทำงานอย่างโปร่งใส เข้มงวด จนคนเหล่านั้นไม่สามารถกระทำความผิดได้ต่างหาก และหากพบว่าทำความผิด ก็จะต้องได้รับการลงโทษอย่างจริงจังและทันที เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่างหาก ส่วนการให้การศึกษา มีการอบรมและปลูกฝัง มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นเพียงหนทางหนึ่ง ไม่ใช่หนทางเดียวอย่างที่เน้นกันอยู่ในช่วงที่ผ่านมา


 


ผลการสำรวจการซื้อสิทธิขายเสียงพบว่ายังคงมีอยู่ในแทบทุกอำเภอ และมีในแทบทุกพรรค มีทั้ง


ผู้สมัครลงมือเอง หรือคนอื่นๆ กระทำให้ มากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งการต่อสู้เข้มข้น ยิ่งมีโอกาสในการซื้อเสียงได้ กระทั่งมั่นใจว่าจะไม่มีใครรู้หรือมีคนคอยช่วยเหลือก็ยิ่งมีการจ่ายเงินมาก กระทั่งมีการสั่งการโดยหน่วยราชการและกรมกองบางหน่วย แม้กระทั่งใช้พระสงฆ์ ฯลฯ ศูนย์ฯ ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งว่าประชาชนที่จะเปิดเผยว่าได้รับเงินหรือไม่ และมีคำสั่งจากหน่วยราชการบางหน่วยให้เลือกบางพรรคและบางหมายเลข จะไม่เปิดเผยข้อมูลในทันที แต่หลายรายจะค่อยๆ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในสัปดาห์ที่ 3-4 หลังการเลือกตั้งผ่านไป ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต หรือพวกเขาคิดว่าการเลือกตั้งจบแล้ว จึงสามารถบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น          


 


การออกคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาบางหน่วยงานให้เลือกพรรคและหมายเลขบางหมายเลขและการโจมตีพรรคการเมืองบางพรรคต่อหน้าคนในบังคับบัญชาหลายร้อยคน มีคนในยินกันทั่ว แต่ไม่มีการรายงานว่าได้เกิดการกระทำผิดกฎหมายใดๆ จะตีความว่าอย่างไร พฤติกรรมเช่นนี้หากได้รับการยกเว้น แต่อีกส่วนหนึ่งกลับถูกฟ้องร้องและลงโทษเพราะมีหลักฐานชัดเจน คือปัญหาการเมืองอันไม่เป็นธรรมที่จะต้องมีการแก้ไขต่อไป


 


การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งออกสำรวจการกระทำทุจริตผิดกฎหมายการเลือกตั้ง และรับเรื่อง


ร้องเรียน ประเด็นมีว่ามีการกระทำผิดมากมายที่ไม่ได้รับรายงาน หรือสำรวจไม่พบหรือมีผู้ร้องเรียน แต่กรรมการแต่ละจังหวัดมีเพียงไม่กี่คน ขณะที่แต่ละจังหวัดมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชาชนและหน่วยงานต่างๆมากมาย โอกาสที่จะตัดสินไม่รอบด้านหรือเล่นพรรคเล่นพวกจึงมีได้ทั้งสิ้น


 


ดังนั้น การตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงในสถานการณ์ที่บ้านเมืองต้องการความสมานฉันท์ โดยที่


บ้านเมืองแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ย่อมง่ายที่จะเกิดการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ การตัดสินให้ใบเหลืองใบแดงจึงมีแต่สร้างความร้าวฉานในสังคม ตอกย้ำการแบ่งฝ่ายและการเล่นพรรคเล่นพวก สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ และการตัดสินเช่นนี้โดยอ้างว่าต้องเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการ (ซึ่งมีเพียงไม่กี่คน) จะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเพราะผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษและประชาชนที่สนับสนุนจะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว โดยเฉพาะฝ่ายที่ได้ใบแดง


 


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยุติการให้ใบเหลือง


ใบแดงโดยทันที ยอมรับผลการลงคะแนนของประชาชนในจังหวัดนั้น ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เร่งสอบสวนการยุบพรรคนอมินี ศูนย์ฯ เห็นว่าในสภาพที่สังคมมีความเห็นแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย ขอให้สังคมยุติการส่งเสริมความแตกแยกนั้นด้วยการเรียกพรรคนั้นพรรคนี้เป็นพรรคนอมินี เพราะแต่ละพรรคต่างมีฐานะเป็นนอมินีขององค์กร หรือสถาบันหรืออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น การนำเอาประเด็นยุบพรรคกลับมาอีกก็คือการทำให้ความแตกแยกดำรงอยู่ต่อไป และจะเพิ่มขึ้น ทำให้ทางเลือกของผู้ได้รับการลงโทษตีบตันมากขึ้น เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้ามากขึ้น สังคมไทยจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองมากขึ้น สันติสุขจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินนี้


 


การยอมรับผลการเลือกตั้งและการยุติปัญหาการยุบพรรคมิได้หมายความว่ายอมรับให้สิ่งที่ผิดกลายเป็น


สิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นการยอมรับเพราะสำนึกว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่เราไม่อาจลงโทษเพียงบางกลุ่ม เกิดความไม่เป็นธรรม เป็นการยอมรับเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และเพื่อสร้างความสมานฉันท์และเสถียรภาพทางการเมือง จนกว่าสังคมนี้จะค้นหาวิธีการตรวจสอบการกระทำผิดในการเลือกตั้งที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้มากกว่านี้ จนกว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองจะสิ้นสุดภาวการณ์เผชิญหน้า  และทุกฝ่ายเรียนรู้ที่จะเคารพกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตยมากกว่านี้ในอนาคต


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net