Skip to main content
sharethis

วันที่ 27 เม.ย. 2551 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ "อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานในยุคโลกาภิวัฒน์" โดยเริ่มต้นด้วยการกรณีศึกษาจากผู้ใช้แรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน จากนั้นจึงมีการแลกเปลี่ยนและระดมข้อเรียกร้องของแรงงานภาคเหนือเนื่องในโอกาส "วันแรงงานสากล" นำโดย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนแรงงานนอกระบบ ตัวแทนสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ และตัวแทนสหภาพ Hoya


 


หลังจากที่มีตัวแทนจากแรงงานนิคมอุตสาหกรรมลำพูนมาพูดถึงปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นในนิคมฯ อ.เสาวลักษณ์ ชายทวีป อาจารย์คณะศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่สนใจศึกษาเรื่องแรงงาน ออกมาบอกว่า ถ้าเทียบกับในระดับภูมิภาคแล้ว การต่อสู้ของแรงงานในกรุงเทพฯ มีมายาวนานกว่า องค์กรเข้มแข็งกว่า รวมถึงความใกล้ชิดสื่อมวลชนก็มีมากกว่า


 


ประเด็นเรื่องอุปสรรค์ของการต่อสู้แรงงานในระดับภูมิภาค อ.เสาวลักษณ์ มองว่า มาจากการที่ความกดดันทางเศรษฐกิจอาจจะยังมีไม่มากพอ ในชีวิตประจำวันของคนทำงานยังมีกำลังซื้อมากพอจะหาแบรนด์เนมของปลอมมาบริโภค ซึ่งถือว่าเป็นการตอบสนองในระดับปัจเจกได้


 


อ.เสาวลักษณ์แสดงความเห็นถึงวิถีทางแก้ไขไว้ว่า เราควรจะคิดว่าทำอย่างไรถึงจะรวมกลุ่มกันได้ อาจจะต้องมีการอาศัยมิติของการส่งออก มาเชื่อมโยงกับการต่อรอง มีการสร้าง อัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) ของคนงาน เพื่อที่จะอยู่กับสหภาพได้อย่างมีทิศทาง


 


ทางด้าน อ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกมาพูดถึงเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างแรงงานกับชุมชน โดยบอกว่ามีจุดเชื่อมกันอยู่ที่การที่คนในชุมขนให้ค่าคนที่เข้ามาทำงานในเมืองดูเป็นคนพิเศษกว่าคนที่อยู่ในชุมชนทำงานภาคเกษตรอยู่เช่นเดิม การเป็นคนงานเหมือนได้เลื่อนชั้นทางสังคม เหมือนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ โดยที่ทางคนในชุมชนเองก็ไม่ได้รู้เลยว่าคนงานในโรงงานมีความยากลำบากอย่างไร เลยไม่มีใครคอยสนับสนุนการต่อสู้


 


อ.นงเยาว์ บอกในประเด็นเดียวกันต่อว่า ในเชิงวัฒนธรรมเมื่อคนงานถูกมองเหมือนกับเป็นคนที่ได้เลื่อนชนชั้น ต้องการถูกเรียกว่า "พนักงาน" มากกว่าเป็น "คนงาน" และเมื่อพวกเขามีโอกาสทางเศรษฐกิจ ดำรงอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ได้ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาต่อสู้


 


จากนั้น อ.นงเยาว์ จึงได้เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่านิคมอุตสาหกรรมมีการปลดคนงานออก เราจะต้องหาทางรับมือตั้งรับกับเรื่องนี้ การปลดคนงานออกก็ชวนให้เกิดความวิตกกังวล ขณะเดียวกันก็น่าสังเกตว่าคนงานรุ่นใหม่ในนิคมส่วนมากจะจบปริญญาตรี ตรงนี้ไม่ทราบว่าเป็นผลมาจากไม่มีการรองรับการจ้างงานในระดับปริญญาตรีมากพอหรือเปล่า เรื่องนี้ก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ในแง่บวก คือคนงานที่จบปริญญาตรีมาจากสามารถเรียนรู้เรื่องสิทธิเรื่องอะไรต่าง ๆ ได้เร็วกว่า ขณะเดียวกันก็มีข้อด้อยคือ คนเหล่านี้ไม่คิดว่างานจะเป็นงานประจำของตัวเอง คิดจะมาทำชั่วคราว เมื่อมีที่ ๆ ดีกว่าก็จะออกไป


 


ในแง่ของแนวทางแก้ไข อ.นงเยาว์ เสนอว่าควรมีการรวมตัวกันของแรงงานจากต่างประเภทกัน ทั้ง แรงงานในระบบ ที่มีงานประจำ แรงงานนอกระบบ ซึ่งราคาจ้างถูกกว่าและยังขาดสวัสดิการ รวมไปถึงแรงงานต่างชาติ ที่เข้ามาทำงานแล้วยังประสบปัญหาต่าง ๆ ด้วย เราต้องมามองว่าจะเชื่อมทั้งสามส่วนนี้แล้วร่วมกันต่อสู้อย่างไร


 


นอกจากนี้ อ.นงเยาว์ ยังได้เสนออีกว่า กลุ่มเรื่องแรงงานจะเชื่อมประสานการต่อสู้ร่วมกับชุมชน บางอย่างกลุ่มแรงงานอาจต้องเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ปัญหา เช่น ในเวลาที่ชุมชนมีปัญหาเรื่องขยะ เราควรมองว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนคิดว่าการต่อสู้ของแรงงานเป็นเรื่องของตัวเองด้วย


 


จากนั้น อ. ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ จากศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ก็ขอร่วมแสดงความเห็นในวงเสวนา โดยพุดถึงประสบการณ์การศึกษาเรื่องแรงงานในปราจีนบุรี โดยบอกว่าปราจีนบุรีเป็นพื้นที่ใหม่ในเรื่องการรวมกลุ่มของแรงงาน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องของอิทธิพลมากเพราะเป็นพื้นที่ทหาร จึงถูกห้ามไม่ให้ตั้งสหภาพแรงงาน คนในพื้นที่จึงเปลี่ยนกลยุทธการรวมกลุ่มเป็นอย่างอื่น


 


อ. ศิริพร ยังได้บอกอีกว่า สิ่งที่คนงานที่นั่นคิดเอาไว้คืออยากให้เป็นสหภาพแรงงานยุคใหม่ ซึ่งหมายถึงสหภาพที่ไม่ยึดติดการสนับสนุนตามกระแสสังคม มีการพยายามระดมทุนโดยคนงานเอง มีการทำศูนย์พันธมิตรปราจีนบุรี พวกเขามีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าขององค์กร และมีแรงงานเป็นส่วนสำคัญที่สุด


 


"ในทางวัฒนธรรม เท่าที่ได้เรียนรู้จากคนงานที่ปราจีนบุรี พวกเขาอาจจะไม่ได้เกิดที่ปราจีนฯ แต่เป็นคนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามา ทั้งนี้พวกเขาก็มีความรู้ผูกพัน รู้สึกว่าอยากทำอะไรให้กับที่นี่" อ.ศิริพร กล่าวถึงประสบการณ์ที่ปราจีนบุรีในแง่การเชื่อมโยงของแรงงานกับความเป็นชุมชน  นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างกรณีของคนที่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งยังอาศัยอยู่ในชุมชนว่าดูมีความสุขกว่าคนที่ทำในโรงงาน เพราะอิสระกว่า และแม้ค่าแรงจะน้อยกว่า แต่มีค่าครองชีพน้อยกว่า ทำให้มีเงินเหลือมากกว่า


 


รศ.สมเกียรติ ตั้งนะโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกมาพูดเรื่องแรงงานกับยุคโลกาภิวัตน์ โดยเน้นพูดถึง ผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยกล่าวว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนแต่กับด้านความเป็นพลเมือง และด้านการเมือง แต่จะไม่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


 


อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พูดในประเด็นเดี่ยวกันต่อว่า สิ่งที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ซึ่งมาจาก Washington และ EU. ทำหลัก ๆ เลยมีอยู่สามอย่างคือ หนึ่ง แก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค์ต่อการค้าโลก โดยอาศัยการปรับสวัสดิการ ลดต้นทุน กดขี่ค่าแรง เวลาทำงาน รวมไปถึงความพยายามทำลายสหภาพด้วย


 


สอง คือ การแปรรูป (Privatize) ภาคธุรกิจที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิด สาม คือ การปล่อยให้เงินทุนโลกไหลไปมาได้สะดวก เพื่อลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่มีกำไร จะเห็นได้ว่ามีการ Privatize อะไรที่คาดว่าจะทำกำไรได้อย่างเดียว เช่น สื่อสารมวลชน หรือ การรถไฟ ซึ่งที่ดินทางรถไฟสองข้างทางถือเป็นที่ดินได้เปล่า จะเอาไปทำอะไรก็ได้ให้เกิดกำไร


 


รศ.สมเกียรติ มองว่าปัญญาการรวมกลุ่มของแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์นั้น มีสาเหตุมาจากแกนหลักโครงสร้างสังคมทั้งหมดในปัจจุบันที่เรียกว่าลัทธิปัจเจกนิยม (Individualism) ลัทธินี้มีความเชื่อว่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของเอกชน ความเป็นคนงาน เป็นนายจ้าง ก็เป็นปัจเจกที่แยกจากกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายมาเจอกันจึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "หมัดหมา" ซึ่งหมายถึงนายทุนที่สูบกินเลือดหมาอยู่


 


ด้านแนวทางแก้ไขปัญหา รศ.สมเกียรติ ได้เสนอไว้หลายแนวทาง หนึ่งคือการใช้เศรษฐศาสตร์ทางเลือก เช่น แนวสตรีนิยม แนวมาร์กซิสม์ แบบประเทศในแถบละตินอเมริกา หรือเศรษฐศาสตร์แบบทวิภาค (Binary Economic) ซึ่งหลักเศรษฐศาสตร์แบบทวิภาคเสนอให้เกิดการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จะสามารถแก้ปัญหาได้หลายอย่าง เพราะจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงหุ้นส่วนคือลูกจ้าง


 


นอกจากนี้ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังได้เสนอ แนวทางอื่น ๆ อย่างธนาคารแบบไร้ดอกเบี้ย ซึ่งเอกชนสามารถที่จะกู้ได้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่าผ้กู้จะต้องให้ลูกจ้างมาร่วมเป็นหุ้นส่วน และเงินที่จะเอามาลงทุนนั้นได้ก็จะต้องมีการเก็บภาษีมรดก และหลักธรรมาภิบาล โดยขยายความวิธีการนิติธรรมว่า ควรคำนึงถึงกฏระเบียบที่เป็นเป็นธรรมในเรื่องสภาพการจ้างงานและสวัสดิการด้วย


 


ในส่วนของ ภัควดี วิระภาสพงษ์ นักเขียน-นักแปลอิสระ แสดงความเห็นว่า ในปัจจุบันปัญหาเรื่องของแรงงานมักถูกทำให้เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น เวลาจะย้ายฐานการผลิตก็จะพูดถึงเรื่องความสามารถในการทางการผลิต เรียกร้องให้เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาแรงงานเป็นปัญหาเรื่องการเมืองเป็นหลัก ความพ่ายแพ้ส่วนใหญ่มาจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสม์ทำให้คนรู้สึกว่าสังคมนิยมนำมาใช้แล้วไม่สำเร็จ


 


ภัควดี เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า การต่อสู้ควรมีการเชื่อมโยงกันกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการต่อสู้ในทางการเมือง เช่น เชื่อมกับฐานของแรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคการเกษตร เชื่อมกับแรงงานต่างประเทศในกรณีที่นายจ้างจะใช้วิธีการย้ายฐานการผลิต อาจจะต้องเชื่อมโยงการสู้ไปถึงชนชั้นกลางด้วย อย่างเช่นการเรียกร้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัญหาการตั้งกองทุนบำนาญหลังเกษียณ หรือช่วยเรียกร้องในประเด็นอื่น ๆ ที่จะช่วยขยายฐานเสียงการต่อสู้


 


"ปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการอ้างความถูกต้อง หรือจริยธรรม อะไรเลย" ภควดี กล่าว "ในต่างประเทศที่มีระบบสวัสดิการอะไรพวกนี้ก็มาจากฐานเสียงของชนชั้นแรงงานเป็นหลัก ซึ่งได้ก้าวข้ามมาจากการต่อสู้เรื่องค่าแรงอีกทีหนึ่ง"


 


ภัควดี เสนออีกว่า วิธีการต่อสู้อีกอย่างหนึ่งคือการผนึกกำลังกันของประเทศที่ส่งออกแรงงาน เช่น ประเทศไทย หรือ ฟิลิปปินส์ เพื่อลดความเสียเปรียบ เพราะอย่างไรก็ตามแรงงานก็เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต


 


ทางด้านตัวแทนของแรงงาน วีนัส ดวงพรม จากมูลนิธิเพื่อนหญิง ออกมาพูดถึงปัญหาที่พบเจอในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนว่า มีการแบ่งชนชั้นวรรณะกันในโรงงานเองโดยกลุ่มนายจ้าง การที่จะให้คนงานเรียนรู้กฎหมายเพื่อรักษาสิทธิขิงตัวเอง คนงานก็เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว


 


ด้านสุขภาพของคนงาน วีนัส บอกว่า สุขภาพของคนงานก็เป็นปัญหา มีคนเป็นโรคหวัดเรื้อรังโดยส่วนใหญ่ ต่อมาก็เริ่มเป็นโรคทางสายตา ความถึงมีความเครียดสะสมจากการทำงาน นอกจากนี้คนงานยังต้องทำงานล่วงเวลาเพราะถูกบีบคั้นด้านเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเวลาออกกำลังกาย


 


ในส่วนของ อนุชา มีทรัพย์ จากสหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ ก็ออกมาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สหภาพมักจะแก้ปัญหาได้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากปัญหาเยอะมาก มีมาแบบรายวัน จึงได้แต่วิ่งตามแก้ปัญหา คณะกรรมการสหภาพฯ เองก็เหนื่อย


 


อนุชา ยังได้บอกอีกว่าสังคมมักมองภาพการเรียกร้องของคนงานไปในทางลบ "สังคมรอบข้างชอบมองว่าการชุมนุมเรียกร้องเป็นความหัวแข็ง แล้วสังคมก็จะคอยบีบว่า ทำไปทำไม บางทีก็เป็นคนรอบข้างคนงานเองอย่างพ่อแม่มาคอยบีบ"


 


ในเรื่องการเรียนรู้สิทธิของคนงาน อนุชา เผยว่า เวลาถูกใช้ไปกับการทำงานล่วงเวลามาเบียดบังเวลาที่จะใช้เรียนรู้ คนงานเองก็ถูกบีบบังคับทางอ้อมให้ต้องทำงานล่วงเวลา ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เงินเพิ่ม หรือไม่ก็มักถูกบริษัทตั้งเงื่อนไขว่าถ้าไม่ทำงานล่วงเวลาในวันนี้ก็จะตัดสิทธิการทำงานล่วงเวลาทั้งเดือน เป็นต้น


 


อนุชายังได้พูดถึงปัญหาในกระบวนการเรียกร้องอีกว่า คนงานกลัวการถูกเลิกจ้าง เพราะเลิกจ้างไปแล้วก็ไม่มีงานในสายอื่นรองรับ "พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเป้นพนักงานมีฝีมือ อายุ 35-40 ปี ถูกเลิกจ้างแล้วไม่มีวัตถุดิบ ไม่ได้รับการพัฒนาฝีมือด้านอื่น จะกลับไปทำการเกษตรที่บ้านก็ไม่มีวัตถุดิบอะไร บางคนเป็นโรคติดต่อจากโรงงานกลับไปด้วย"


 


จากนั้น นายอนุชา ก็พูดถึงเรื่องแรงกดดันจากภายนอก ทั้งแรงกดดันจากรัฐ โดยผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแรงกดดันจากชุมชนร้านอาหาร ร้านขายของ รอบข้างนิคมเอง ก็กลัวว่าตั้งหากสหภาพฯ แล้วโรงงานจะย้ายฐานการผลิต และหากจะให้สหภาพฯ ขยับไปต่อสู้ร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ก็ทำได้ยาก เพราะในปัจจุบันตัวสหภาพฯ ยังเผชิญกับปัญหา


 


"สหภาพเองก็อยากขยับฐานการต่อสู้ไปร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ แต่ปัญหาทั้งหลายที่ตัวสหภาพต้องเผชิญในปัจจุบันก็ทำให้สหภาพฯ ขยับตัวลำบากอยู่แล้ว จึงเป็นการยากที่จะขยับไปสู้กับภาคส่วนอื่น ๆ"


 


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


เสวนา - อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ (1): กรณีคนงานนิคมลำพูนและปัญหาที่ยังค้างคา , 29/4/2551

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net