Skip to main content
sharethis

ร่วมประชุม สผ.แฉอีไอเอโครงการโรงถลุงเหล็ก


 


วันนี้ (16 พ.ค.) เวลาประมาณ 13.00 น.ชาวบ้านกลุ่ม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มอนุรักษณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก และกลุ่มรักบ้านเกิด ต.อ่าวน้อย กว่า 400 คน ได้เดินทางมุ่งหน้าไปยัง สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ผู้ตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการโรงถลุงเหล็กบริษัทเครือสหวิริยา เนื่องจากในวันนี้จะมีการประชุมพิจารณาผลการปรับปรุงอีไอเอฉบับดังกล่าว พร้อมขอเข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจ้งข้อมูลผลกระทบที่ได้รับ


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ สผ.ได้มีการเตรียมเปิดประตูให้ขบวนชาวบ้านเข้าไปนั่งพักในบริเวณสนามหญ้า แต่ไม่เปิดให้เข้าไปในอาคารสำนักงาน โดยมีการนำกำลังตำรวจกว่า 150 นาย จาก สน.บางซื่อทั้งในและนอกเครื่องแบบมาดูแลความสงบ ด้วยการยืนเป็นกำแพงขวางทางเข้าออกด้านหน้าอาคาร และบางส่วนกระจายตัวอยู่โดยรอบ


 


ส่วนชาวบ้านกลุ่ม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ ได้มีการชูป้ายและปราศรัยถึงความเดือดร้อนที่ได้รับทั้งจากการก่อสร้างโครงการและกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งนี้ ภายหลังการเจรจาได้มีการอนุญาตให้ตัวแทนชาวบ้าน 20 คนเข้าชี้แจ้งข้อมูลในที่ประชุมร่วมกับตัวแทนเจ้าของโครงการ


 


ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมพิจารณาอีไอเอ โครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยาวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่มีการยื่นแก้ไขเพิ่มเติมหลังการมีการทักท้วงจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งจากตัวแทนของบริษัทเครือสหวิริยา และจากชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการซึ่งจะมาเล่าข้อเท็จจริงในพื้นที่ แต่หากจะให้มีการล้มเลิกการประชุมในวันนี้ไม่อาจทำได้เนื่องจาก อาจทำให้การพิจารณาอีไอเอล่าช้า เกินเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 75 วันนับตั้งแต่วันยื่นพิจารณา


 


ดร.เกษมสันต์ กล่าวต่อว่า จากข้อทักท้วงของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ข้อมูลที่เสนอเพิ่มเติมยังมีไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ป่าพรุ ความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ผลกระทบของโครงการต่อระบบนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศชายฝั่ง ในเรื่องแหล่งวางไข่ของปลาทู ซึ่งเจ้าขอควรมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มารองรับขอมูลเหล่านี้ รวมทั้งการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนในระยะ 5 กิโลเมตร มีแต่เอาหรือไม่เอาโครงการ ไม่มีการเสนอข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม


 


"ยังไม่จบ เรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ" ดร.เกษมสันต์กล่าวแสดงความคิดเห็น


 


ทั้งนี้ การประชุมเริ่มต้นเมื่อเวลา 13.30 น. โดยการแยกให้ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านในนาม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ 20 คน เข้าร่วมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่คัดค้านต่อที่ประชุมก่อน และให้ตัวแทนเจ้าของของบริษัทเครือสหวิริยาและผู้จะมาร่วมให้ข้อมูล รออยู่ในห้องรับรองอีกห้องหนึ่ง


 


นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวมูลให้ข้ถึงที่ดินในโครงการขั้นที่ 1 ซึ่งมีพื้นที่เขตพื้นที่แนวสายพานลำเลียงสู่โครงการใหม่รวมอยู่ด้วย จำนวน 58 แปลง ว่าเป็นพื้นที่ที่ได้มาโดยถูกต้องเพียง 2 แปลง ส่วนอีก 56 แปลงซึ่งคิดเป็นพื้นที่กว่า 400 ไร่เป็นพื้นที่ป่าสงวน โดยมีหนังสือคำสั่งจาก สนง.ที่ดินจังหวัดประจวบฯ ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ให้ตรวจสอบและให้ดำเนินการเพิกถอนที่ดินดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีการยื่นอุทธรณ์จากบริษัทเจ้าของโครงการรวมทั้งธนาคารนครหลวงไทย เนื่องจากทางบริษัทได้นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้กับธนาคารนครหลวงไทยในมูลค่ากว่า 9.71 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการผู้ชำนาญควรทำการควรสอบที่ดินดังกล่าวเพิ่มเติมก่อนมีการอนุมัติอีไอเอ


 


ในส่วนการทำสายพานลำเลียงถ่านหินที่จะต้องผ่านหมู่บ้านชุมชนหลายหมู่บ้านซึ่งมีทั้งเสียงที่ดังและฝุ่นละอองพิษประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่อง และไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพราะทางโครงการปิดเป็นความลับตลอดมาเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการคำนึงถึงผลกระทบในการขอใช้ที่ดินในเขตป่าคุ้มครอง ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าคลองแม่รำพึง) ที่ควรมีการศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ เพราะจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนโดยรวมได้


 


ด้านนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดกล่าวเสนอให้มีการทำรายงานผลกระทบสุขภาพ และชุมชน ควบคู่ไปกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ว่าอย่าร่วมบิดเบือนประเด็นความขัดแย้ง โดยอยากให้มองเรื่องนี้สองด้านไม่ควรมองแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก ในส่วนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการก็ขอให้พิจารณาโครงการอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงเห็นด้วยกับหลักการแล้วปล่อยผ่านไป ไม่เช่นนั้นโครงการนี้คงต้องทำให้เกิดการนองเลือดต่อไปอีกแน่


 


ส่วนนายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้นำตัวอย่างน้ำฝนที่ขุ่นมีตะกอนสีแดงลอยอยู่บรรจุในขวดใสขนาด 1.25 ลิตร ซึ่งเก็บเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.51 บริเวณบ้านเลขที่ 69 หมู่ 1 ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน มาเป็นตัวอย่างยืนยันตามที่มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเครือสหวิริยาอ้างว่าน้ำในบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการขั้นที่ 1 สามารถนำมารับประทานได้ว่าไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมรายชื่อพร้อมเลขบัตรประจำตัวประชาชนของของชาวบ้านในพื้นที่ 4 ตำบลที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย ต.ธงชัย ต.กำเนิดนพคุณ ต.แม่รำพึง ต.องค์ประสาท ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการนำมาให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูล


 


หลังจากที่ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านในนาม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ จบการนำเสนอข้อมูลแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว ในเวลาประมาณ 16.30น.ตัวแทนของบริษัทเครือสหวิริยาผู้ยื่นเสนออีไอเอของโครงการโรงถลุงเหล็กได้เข้าให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นลำดับต่อมา จากนั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้ร่วมกันพิจารณาการรายงานจากทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวมีชาวบ้านกลุ่มคัดค้านในนาม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ ชุมนุมรอรับฟังผลอยู่บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน สผ.ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตรึงกำลังบริเวณประตูทางเข้าออกอาคารโดยตลอดเช่นกัน


 


กระทั่งเวลา 18.30 น.นายชนินทร์ ทองธรรมชาติ รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะประธาน คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ได้ลงมาพบชาวบ้านที่ยังชุมนุมรอฟังผลการประชุมอยู่บริเวณหน้าอาคารและไม่ยอมเดินทางกลับจนกว่าจะได้รับทราบข้อสรุป โดยนายชนินทร์ เปิดเผยผลการพิจารณาอีไอเอในครั้งนี้แก่ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านในนาม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ ว่า อีไอเอฉบับดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ


 


อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวไม่ได้สร้างความมั่นใจแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมว่าจะไม่มีการอนุมัติอีไอเอกันในภายหลังโดยไม่ให้ชาวบ้านรับรู้ จึงมีการซักถามถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในเรื่องอีไอเอฉบับดังกล่าว และได้มีการยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ก่อนที่จะมีการพิจารณาอีไอเอในครั้งต่อไป จะต้องรอให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 67 ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ข้อ 2.ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามที่ระบุในอีไอเอฉบับสมบูรณ์ที่มีการยื่นต่อ สผ.ให้ชาวบ้านได้รับรู้ได้รับรู้ควบคู่ไปด้วย โดยเปิดช่องให้งดเว้นการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นวิธีการในเชิงเทคนิคที่ไม่สามารถเปิดเผยได้


 


3.เมื่อมีกระบวนการตามข้อ 1 และ 2 แล้ว การรับฟังความคิดเห็นจะต้องมีรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น โดยการร่างแผนการรับฟังความคิดเห็นต้องเปิดให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วม


 


นายสุพจน์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวว่า หลังการพูดคุย ตัวแทนคณะกรรมการผู้ชำนาญการของ สผ.รวมทั้งนายชนินทร์ได้รับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ทาง สผ.รับว่าจะทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันตามข้อเสนอดังกล่าวและให้หยุดกระบวนการต่างๆ ไว้ชั่วคราว


 


นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ทางบริษัทเครือสหวิริยาไม่ยอมรับว่าพื้นที่ใกล้เคียงโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กเป็นพื้นที่ป่าพรุนั้น ทางตัวแทนจากสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สผ.ได้แสดงความเห็นให้มีการตรวจวิเคราะห์ดินบริเวณดังกล่าวใหม่ ซึ่งนายสุพจน์คาดว่ากระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน และจะเป็นส่วนหนึ่งให้กระบวนการพิจารณาอีไอเอฉบับนี้ยืดออกไป


 


"จริงๆ แล้วชาวบ้านก็เหนื่อยกับการต่อสู้ 2-3 ปีมาแล้ว การที่อีไอเอไม่ผ่านในวันนี้ก็ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจอยู่บ้าง แต่มันก็เหมือนไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร เพราะอีไอเอไม่ได้ถูกยกเลิกเป็นเพียงแค่ชะลอ ต่อไปถ้าเริ่มต้นใหม่อีไอเอจะผ่านเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะบอกว่าชาวบ้านประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่ เพราะแค่ยื้อให้ยืดเวลา ไม่ได้แปลว่าอีไอเอไม่ผ่าน อีไอเออาจจะผ่านก็ได้ในอนาคต" นายสุพจน์แสดงความคิดเห็น


 


นายสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากชาวบ้านไม่มาแสดงตัวเป็นสักขีพยานถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันนี้ อีไอเอก็อาจถูกอนุมัติไปแล้ว เพราะการพิจารณาอีไอเอในวันนี้ทางกลุ่มเจ้าของโครงการยังได้เตรียมการจัดตั้งฝ่ายคัดค้านเข้ามาร่วมพูดคุยและรับฟังโครงการ ซึ่งเรียกได้ว่าครบองค์ประกอบของการพิจารณา หากมีการจัดฉากให้ฝ่ายคัดค้านย้อมรับการก่อสร้างโครงการ นอกจากนั้น ที่ผ่านมาโครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากข้าราชการในพื้นที่ ทั้งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย


 


ส่วนการกลับไปตั้งรับกับสถานการณ์ในพื้นที่ นายสุพจน์กล่าวว่า ชาวบ้านน่าจะต้องระวังอันตรายกันหนักขึ้น หลังจากที่กลุ่มทุนได้ทุ่มทุนไปมากเพราะหวังว่าการพิจารณาอีไอเอในวันนี้จะผ่าน แต่ส่วนหนึ่งก็ยังคาดหวังกับการที่ได้เดินทางยื่นเรื่องให้กับคุณรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาธิบาล กรณีการคอรัปชั่นรวมถึงการใช้อิทธิพลต่างๆ ว่าจะมีการตรวจสอบเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่


 


บุกสภาพยืนหนังสือรสนา พร้อมร้องถูกดักทำร้าย


 


ก่อนหน้านี้ เมือเวลา 10.30 น.วันที่ 16 ก.ค. ชาวบ้านกลุ่ม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ นำโดย นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการพิจารณาอนุมัติการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการโรงถลุงเหล็กสหวิริยา ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตของชุมชน


 


นอกจากนี้ นางจินตนา ยังได้ให้ข้อมูลต่อนางรสนาเกี่ยวกับอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดกลุ่ม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อมฯ ถูกกลุ่มอิทธิพลลอบทำร้ายในระหว่างการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน โดยเล่าว่า ทางกลุ่มตั้งใจที่จะเดินทางไปยื่นต่อ สผ.เพื่อเสนอเอกสารหลักฐานว่าโครงการไม่สมควรผ่านอีไอเอ เพราะมีปัญหาเอกสารสิทธิในที่ดินที่จะก่อสร้างโครงการและโครงการนี้ยังสร้างความแตกแยกในชุมชน แต่ระหว่างทางมีรถกะบะยี่ห้อมิตซูบิชิ ไทรทันสีขาว ทะเบียนป้ายแดงหมายเลข ก 0900 รวมทั้งรถโตโยต้าวีโก้สีดำทะเบียน กข 3398 ชุมพร และรถตู้โตโยต้าไฮเอช สีบรอนซ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าอยู่ในกลุ่มของคณะผู้บริหารบริษัทสหวิริยา ได้ติดตามขบวนชาวบ้านมาตั้งแต่ อ.บางสะพาน และเมื่อขบวนของชาวบ้านเดินทางถึง อ.กุยบุรี รถทั้ง 3 คัน ได้แซงขึ้นหน้า แล้วโรยตะปูเรือใบและขว้างปาลูกตะกั่วขนาดใหญ่ บริเวณถนนเพชรเกษมจนทำให้รถบัสที่ชาวบ้านนั่งมาจำนวน 4 คันได้รับความเสียหาย กระจกแตก และมีชาวบ้านหลายคนได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้ได้แจ้งความร้องทุกข์ที่สน.กุยบุรีไว้แล้ว


 


นางจินตนา กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามต่อสู้ แต่กลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นกลุ่มสมานฉันท์พยายามทุกวิถีทางสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อสีเขียวเลียนแบบกลุ่มอนุรักษ์ฯ ใช้อาวุธ และใช้รถมอเตอร์ไซด์วิ่งก่อกวนชาวบ้านในพื้นที่ ล่าสุดมีการซื้อชาวบ้านที่บ้านกรูดหัวละ 3 หมื่น ส่วนที่บางสะพานหัวละ 5 พันบาท เพื่อมาเป็นพวก ส่วนการที่รัฐบาลบอกว่าโรงถลุงเหล็กเป็นความเจริญ ทางกลุ่มไม่อยากให้มองเช่นนั้น เพราะความเจริญควรมองที่ชุมชนเข้มแข็งมีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งทรัพยากรชุมชนที่ร่วมกันดูแล วันนี้รัฐบาลพยายามให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นศูนย์พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ขอยืนยันว่าชาวบ้านที่นี่กำลังลดภาวะโลกร้อนให้กับประเทศและช่วยรัฐบาลตรวจสอบโครงการทุจริตคอรัปชั่น จึงอยากให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน


 


 "แม้ฝ่ายกลุ่มทุนจะพยายามจัดฉากว่าชาวบ้านเลิกล้มการต่อต้านแล้ว แต่ที่จริงแล้วขัดแย้งยังมีอย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไปเซ็นให้สามารถนำเข้าเครื่องจักรจากจีนมาได้ยิ่งทำให้ฝ่ายกลุ่มทุนมั่นใจว่าจะดำเนินโครงการต่อได้" นางจินตนา กล่าว


 


ด้านน.ส.รสนา กล่าวว่า หาก สผ.อนุมัติรายงานดังกล่าว ทางกมธ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำอีไอเอจาก สผ.มาชี้แจง เพราะประชาชนมีสิทธิเรียกร้องสิทธิและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตัวเองซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งพื้นที่ที่เอกชนจะก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กยังมีปัญหาอยู่ รัฐบาลไม่ควรเร่งรีบอนุมัติสร้างโครงการ หากรัฐบาลเพิกเฉยต่อการคัดค้านของประชาชนและเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป นอกจากการตรวจสอบของกมธ.แล้ว ส.ว.อาจจะยื่นกระทู้ถามรัฐบาล หากไม่สามารถดำรงความยุติธรรมให้ประชาชนได้สังคมจะลุกเป็นไฟ


 


...................................................................


 


ที่มาของข่าวบางส่วน: เว็บไซต์คมชัดลึก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net