Skip to main content
sharethis

เนื่องด้วยเรื่องพลังงาน กำลังเป็นประเด็นปัญหาสำคัญร่วมของโลกในเวลานี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดเวทีเสวนาว่าด้วย สถานการณ์พลังงานโลกและการปรับตัวของไทย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ประเด็นที่เสวนากันมีทั้งในเรื่องการประเมินและคาดการณ์สถานการณ์น้ำมัน และในส่วนของภาคไฟฟ้าซึ่งก็นับเป็นส่วนสำคัญของพลังงาน เพราะต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในระบบการผลิต


 


ในที่นี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาที่มุ่งเน้นไปยังภาคไฟฟ้าของไทยเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นเวทีการนำเสนอผลการศึกษา(และมีผู้วิจารณ์)  คือ เรื่อง "พลังงานหมุนเวียนและทางเลือกในองค์ประกอบพลังงานของไทย" และเรื่อง "การปฏิรูปภาคการไฟฟ้าของไทย: บทวิเคราะห์และความท้าทายในอนาคต" 


 


นอกจากนี้ยังมีวงอภิปรายอีก 1 รายการ ว่าด้วยเรื่อง "สถานการณ์พลังงานโลกและการปรับตัวของไทย" โดยจะแยกนำเสนอไปตามลำดับ


 


 


พลังงานหมุนเวียนและทางเลือกในองค์ประกอบพลังงานของไทย


โดย ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ผู้วิจารณ์  รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


เป้าหมายการศึกษาของ "ชโลทร" ก็เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง การคาดการณ์แนวโน้ม / การกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานในอนาคตของหน่วยงานด้านพลังงานของไทย กับ หน่วยงานด้านพลังงานระดับนานาชาติ ซึ่งมักใช้วิธีวิเคราะห์ในลักษณะการฉายภาพอนาคต (Scenario Analysis) อย่างแพร่หลาย โดยให้ความสำคัญกับ "ปัจจัยเสี่ยง" ในระดับโลก คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)


 



  1. สำรวจแผนพลังงานไทย

 


ในเบื้องต้นผู้ศึกษาได้ทำการศึกษาแผนงานนโยบายการใช้พลังงานในอนาคตของภาครัฐ ซึ่งพบว่ามีอยู่ 3 ส่วน คือ แผนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2550-2554  ที่เป็นแผนระยะสั้น และแผนพลังงานทดแทน 15 ปี  ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังจัดทำขึ้นเพิ่มเติม เพิ่งมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2551


 


แต่ส่วนที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานคือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2550-2564 (PDP 2007) เป็นแผนแม่บทกำหนดกรอบการลงทุนในการขยายระบบการผลิตไฟฟ้าของไทยในระยะ 15 ปี และจะมีการปรับปรุงแผนใหม่ในทุกๆ 3-4 ปี  แผนนี้จัดทำขึ้นโดยฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยแผนฉบับล่าสุดอ้างอิงค่าประมาณความต้องการไฟฟ้าในอนาคตจากรายงานของอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งได้วิเคราะห์แผนต่างๆ ไว้ให้เลือก 9 แผน ใน 3 กรณีคือ กรณีฐาน กรณีความต้องการต่ำ และกรณีความต้องการสูง ซึ่งพิจารณาร่วมไปกับทางเลือกของแผนการลงทุน 3 แนวทางคือ 1) ทางเลือกที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด 2) ทางเลือกที่พิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินเฉพาะที่เป็นไปได้  3) ทางเลือกที่จำกัดการก๊าซธรรมชาติเหลว 10 ล้านตันต่อปี และซื้อไฟฟ้าต่างประเทศเพิ่ม ท้ายที่สุดได้เลือกที่ 2 มาเป็นแผนหลัก


 


 


สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP 2007  แยกตามประเภทเชื้อเพลิง ในปี 2006 และ 2021


 


 
















































 


สัดส่วนเชื้อเพลิงที่


ใช้ผลิตไฟฟ้า


2006


2021


GWh             (ร้อยละ)


 GWh              (ร้อยละ)


ถ่านหินและลิกไนต์


24,468            (17.89)


 49,937              (16.81)


น้ำมันเตาและดีเซล


 7,885              (5.77)


     566                (0.91)


ก๊าซธรรมชาติและ LNG


94,398            (69.02)


207,454             (68.83)


นิวเคลียร์


    -                     -


 29,458               (9.92)


พลังน้ำ


 7,950              (5.81)


   3,861               (1.30)


พลังงานหมุนเวียน


 2,065              (1.51)


   5,797               (1.95)


รวมการผลิตภายในประเทศ


136,766            (100)


297,073               (100)  


การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ


5,152                  -


 28,627                   -


 


รวมการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด


 


141,919               -


 


325,700                  -


 


 


 



  1. การคาดการณ์แนวโน้มพลังงานระยะยาวในระดับนานาชาติ

 


หลายหน่วยงานที่ทำการศึกษาเรื่องพลังงานในระดับโลกมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพอนาคต (Scenario) ต่างๆ โดยมีจุดร่วมในการนำปัจจัยเสี่ยงเรื่อง การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) เขามาเป็นตัวแปรสำคัญด้วย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นวาระใหญ่ของโลก ในการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งล่าสุด ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซียเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ที่ประชุมก็มีมติให้ประเทศภาคีเร่งดำเนินการเจรจาเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางกำหนดและจัดสรรพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ สำหรับช่วงหลังพิธีสารเกียวโต ให้สำเร็จภายในปี 2009 ซึ่งแนวโน้มการเจรจาน่าจะมีความเข้มงวดในการปล่อยก๊าซมากกว่าเดิมมาก


 


ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องลดให้อยู่ในระดับต่ำสุดตามการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC) คือ ก๊าซเรือนกระจกรวมของโลกต้องเริ่มลดลงภายใน 10-15 ปี และลดลงจนเข้าสู่ระดับที่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของการปล่อยในปี 2000 โดยภายในปี 2020 ประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมจะต้องลดการปล่อยลง25-40% ของปี 1990 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก สะท้อนถึงระดับความเร่งด่วนและความรุนแรงของปัญญา


 


สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้หน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ ต้องฉายภาพอนาคตของภาคพลังงานโลก โดยหยิบยกประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาไว้ด้วย ซึ่งผู้ศึกษาได้หยิบยกเปรียบเทียบรายงานการคาดการณ์สถานการณ์พลังงานระยะยาว 3 ฉบับ ได้แก่ World Energy Technology Outlook 2050  (WETO-H2), World Energy Outlook 2007 (WEO 2007), Energy Technology Perspectives 2008 ซึ่งทั้ง 3  ฉบับก็มีการวิเคราะห์ในกรณีสมมติต่างๆ โดยตั้งบนเงื่อนไขเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความเอาจริงเอาจังของประชาคมโลกในเรื่อง climate change ที่แตกต่างกันไปใน Scenario แต่ละฉาก อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาให้น้ำหนักกับรายงานของ WETO-H2 ในการเปรียบเทียบกับแผนของไทย ซึ่งรายงานของ WETO-H2 มีดังนี้


 


รายงาน WETO-H2 เป็นผลการศึกษาร่วมกันของสถาบันวิจัยด้านพลังงานในยุโรป 6 แห่ง มีเป้าหมายคาดการณ์สถานการณ์พลังงานโลกในอนาคต จนถึงปี 2050 ภายใต้ข้อสมมติภาพอนาคตสำคัญ 3 กรณี คือ


 


(1)   สมมติแนวโน้มทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยียังคงอยู่ในลักษณะเดียวกับปัจจุบัน รวมไปถึงแนวโน้มเชิงนโยบายของประชาคมโลกที่ต้องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยกลุ่มประเทศยุโรปเป็นผู้นำ


-          ความต้องการพลังงานขั้นต้นของโลกจะเติบโตในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ จากประมาณ 1.7% ต่อปี ไปสู่ประมาณ 1.4% ต่อปี


-          ความต้องการพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน การใช้พลังงานน้ำและชีวมวลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ขณะที่พลังงานลมและแสงอาทิตย์ก็เพิ่มอย่างรวดเร็ว


-          มีการนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ( English) และเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาใช้อยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำ


-          ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ในปี 2030 และปี 2050 จะอยู่ที่ประมาณ 33 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และ 44 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์


 


(2)   สมมติว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของ CO2 ในบรรยากาศที่ระดับ 500 ppm


-          ความต้องการพลังงานขั้นต้นของโลกเติบโตในอัตราต่ำกว่ากรณีฐานพอสมควร


-          ความต้องการพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลปรับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงเล็กน้อย ขณะที่การน้ำมันลดลงมากและปริมาณการใช้ถ่านหินลดลงมากที่สุด แม้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีในกักเก็บคาร์บอนมาใช้มากขึ้นก็ตาม


-          ความต้องการแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2050 สัดส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์เมื่อเทียบกับความต้องการพลังงานทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 21% ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดอยู่ที่ 20.5%


-           ปริมาณการปล่อย CO2 ในปี 2030 และปี 2050 จะอยู่ที่ระดับ 29 และ 25 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต่ำกว่ากรณีฐานอย่างมาก


 


(3)   สมมติว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสามารถนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริงจังราวปี 2030 และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นขณะเดียวกันแง่ของนโยบายแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมมติให้มีความเข้มงวดน้อยกว่ากรณี (2) เพราะเทคโนโลยีมีต้นทุนสูงกว่า


-          ความต้องการพลังงานขั้นต้นของโลกเติบโตในอัตราต่ำกว่ากรณีฐานพอสมควร


-          การใช้พลังงานในรูปไฮโดรเจนเพิ่มสูงกว่าทั้ง 2 กรณีข้างต้นอย่างมาก โดยปี 2050 ใช้ไฮโดรเจนประมาณ 13% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย โดยที่ 50% ของพลังงานในการผลิตไฮโดรเจนจะมากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ 40% จะมากจากพลังงานนิวเคลียร์


-          ปริมาณการปล่อย CO2 ในปี 2030 และปี 2050 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 32 และ 27 พันล้นตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต่ำกว่าในกรณีฐานอย่างมากเช่นกัน


 


 


3. ภาพอนาคต การผลิตไฟฟ้าของไทย ปี 2021


 


ผู้ศึกษาใช้ข้อมูลของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน หรือ PDP 2007 เป็นฐานการวิเคราะห์ โดยนำมาเปรียบเทียบกับผลการคาดการณ์ของการผลิตไฟฟ้าของโลกและทวีปเอเชีย ในรายงาน WETO-H2 ร่วมกับข้อมูลศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ศึกษาไว้ในปี 2550 ในการกำหนดทางเลือกแบ่งเป็น A B และ C


 


กลุ่ม A : เป็นการวิเคราะห์ภาพอนาคตที่เกิดจากการเปรียบเทียบสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าของไทยตามแผนพีดีพี กับ สัดส่วนของทวีปเอเชียและของโลกในรายงาน WETO-H2  ผลการวิเคราะห์พบว่า ในอดีตช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าของไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 0.0002% เป็น 1.510% แม้ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของโลกซึ่งอยู่ที่ 2.167% แต่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย


 


ส่วนตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต 15 ปีข้างหน้าตามแผนพีดีพีนั้น กำหนดให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 1.510%  เป็น 1.951% ซึ่งแตกต่างอย่างมากในการคาดการณ์ในระดับเอเชียและระดับโลก ที่ประมาณการณ์ว่าในปี 2020 เอเชียจะมีการขยายตัวพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 4.717% ส่วนทั้งโลกจะขยายตัวสูงถึง 5.437% เป็นอย่างต่ำ


 


ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า แผนพีดีพีของไทยคาดการณ์การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในระดับต่ำมาก ผู้ศึกษาจึงได้เสนอให้เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็น 5% ในอีก 15 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะสามารถลดการผลิตไฟฟ้าโดยนิวเคลียร์ หรือถ่านหินได้จำนวนมาก


 


หากวิเคราะห์ภาพฉายอนาคตย่อยก็จะได้เป็น 2 ส่วน คือ 1. พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตเพิ่มถูกนำไปใช้ทดแทนการผลิตไฟฟ้าด้วยนิวเคลียร์ หรือ 2. พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตเพิ่มได้ถูกนำไปใช้ทดแทนกับไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้า


 


 


 


กลุ่ม B : เป็นการวิเคราะห์ภาพอนาคตที่เกิดจากข้อมูลอ้างอิงของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยจากรายงาน สกว. ซึ่งระบุว่าในปี 2016 ไทยจะมีศักยภาพสูงสุดในการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เท่ากับ 31,620 และ 39,468 GWh ตามลำดับ


 


ผลการวิเคราะห์ได้สรุปให้มีภาพฉายอนาคต 3 ส่วนหลัก คือ


 


(1) สมมติให้มีการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ถึงระดับ 50% ของศักยภาพสูงสุด เพื่อที่จะไม่ต้องมีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในไทย


 


สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทยในปี 2021 จะเป็นดังนี้


 






















ถ่านหินและลิกไนต์


16.20%


น้ำมันเตาและดีเซล


0.20%


ก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลว


73.76%


พลังน้ำ


2.83%


พลังงานหมุนเวียน


7.02%


นิวเคลียร์


0.00%


 


 


(2) สมมติให้มีการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ถึงระดับ 50% ของศักยภาพสูงสุด เพื่อจะไม่ต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน


 


สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทย ในปี 2021 จะเป็นดังนี้


 






















ถ่านหินและลิกไนต์


10.30%


น้ำมันเตาและดีเซล


0.20%


ก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลว


73.76%


พลังน้ำ


2.83%


พลังงานหมุนเวียน


7.02%


นิวเคลียร์


5.90%


 


 


(3) สมมติให้มีการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ถึงระดับ 75% ของศักยภาพสูงสุด เพื่อที่จะไม่ต้องมีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ และไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้น


 


สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของไทย ในปี 2021 จะเป็นดังนี้


 






















ถ่านหินและลิกไนต์


10.17%


น้ำมันเตาและดีเซล


0.21%


ก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลว


75.89%


พลังน้ำ


2.91%


พลังงานหมุนเวียน


10.83%


นิวเคลียร์


0.00%


 


 


 


กลุ่ม C : เป็นการวิเคราะห์ภาพอนาคตที่เกิดจากผลการเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มของการปล่อยก๊าซ CO2 ของไทยตามแผนพีดีพี กับอัตราการเพิ่มในกรณีของทวีเอเชียและของโลกตามรายงาน WETO-H2 โดยอัตราการเพิ่มการปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคการผลิตไฟฟ้าไทยในระยะ15 ปีตามแผนพีดีพี 2007 พบว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วมากจาก 66 ล้านตันเป็น 128 ล้านตัน หรือเพิ่มถึง 95% ขณะที่ตัวเลขปริมาณการปล่อยในกรณีของเอเชียและโลก การปล่อย CO2 จากภาคไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเพียง 32-44%


 


ส่วนการคำนวณการปล่อย CO2 ต่อหัวนั้น ของไทยอยู่ที่ 4.2 ตันต่อคนต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 4.5 ตันต่อคนต่อปีเพียงเล็กน้อย และยังสูงกว่ากลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกและเอเชียใต้อย่างมาก หากประชาคมโลกกำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องลดการปล่อยเมื่อไร ไทยจะลำบากเพราะปล่อยในอัตราสูงมากแล้ว ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงเสนอการวิเคราะห์ภาพในอนาคตในลักษณะการกำหนดขีดจำกัดการปล่อยก๊าซ CO2 ในภาคการผลิตไฟฟ้าไทยในปี 2021 ให้เพิ่มขึ้นจากการปล่อยในปี 2006 ไม่เกิน 30%


 


ความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทำได้ใน 2 ทางคือ


 


(1) ยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินและลิกไนต์ทั้งหมด ภายในปี 2021 ซึ่งในกรณีนี้พบว่าพลังงานไฟฟ้าที่ไทยจะต้องเสียไปจาการหยุดใช้เชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิดอยู่ที่ประมาณ 49,937 GWh ซึ่งสามารถทดแทนได้โดยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในระดับเทียบเท่ากับ 70% ของศักยภาพสูงสุด


 


(2) ยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงลิกไนต์ หยุดการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้าเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน และ ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงบางส่วนภายในปี 2021 ซึ่งในกรณีนี้จะพบว่าไฟฟ้าที่ไทยจะต้องเสียไปจากการหยุดและลดการใช้ดังกล่าว จะอยู่ที่ 59,001 GWh ซึ่งสามารถทดแทนได้โดยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในระดับเทียบเท่า กับ 83% ของศักยภาพสูงสุด


 


ผู้ศึกษาเห็นว่าทางเลือกที่ 1 น่าจะเป็นไปได้ยาก จึงเน้นไปที่ทางเลือกที่ 2 ซึ่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไทย ในปี 2021 จะเป็นดังนี้


 






















ถ่านหินและลิกไนต์


4.32%


น้ำมันเตาและดีเซล


0.21%


ก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลว


69.40%


พลังน้ำ


2.95%


พลังงานหมุนเวียนน


12.17%


นิวเคลียร์


10.95%


 


 


บทสรุป


 


"ประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนเพียงพอที่จะเลือก


การไม่พึ่งนิวเคลียร์ หรือ ไม่เพิ่มการพึ่งถ่านหิน หรือ จัดการปัญหา climate change ในระดับหนึ่ง


 ถ้าจะเปลี่ยนจากคำว่า "หรือ" เป็น "และ"


 ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้มีศักยภาพเพียงพอ


ซึ่งต้นทุนการผลิตอาจจะสูงแต่ได้คืนในแง่ต้นทุนสิ่งแวดล้อม


ต้นทุนทางสังคม และการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"


 


 



เนื่องจากการวิเคราะห์ในครั้งนี้ ได้กำหนดข้อสมมติหลายประการที่สอดคล้องกับข้อสมมติของแผนพีดีพี 2007 จึงมีผลให้ตัวเลขสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหลายประเภทมีค่าใกล้เคียงกับแผนพีดีพี โดยข้อยกเว้นหลักๆ คือ ในแหล่งพลังงาน 3 ประเภท ที่เห็นจุดเน้นการวิเคราะห์ ได้แก่ ถ่านหิน-ลิกไนต์ นิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน ผลการวิเคราะห์พบว่า ภายใต้ Scenario ต่างๆ ที่นำมาพิจารณา เราอาจปรับลดการผลิตพลังงานไฟฟ้าถ่านหินในปี 2021 จาก 49937 GWh ลงเหลือเพียง  11613-49937 GWh (สัดส่วน 4-17%) ตามแต่กรณี และปรับลดการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ในปี 2021 จากระดับ 29458 GWh ลงเป็น 0-29456 GWh (สัดส่วน 0-11%) ตามแต่กรณี การลดการพึ่งพิงถ่านหิน นิวเคลียร์นี้เป็นผลมาจากการเพิ่มการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนจาก 2% ให้เป็น 5-12%


 


ผลจากการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบพลังงานทั้งหมด จะทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 จากภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยในปี 2021 ลดลงจากระดับ 128 ล้านตันตามแผนพีดีพี 2007 เป็น 86-128 ล้านตันตามแต่กรณี


 


ผลจากการวิเคราะห์ที่หลากหลายนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอยู่อีกมาก ถ้าสังคมไทยและภาครัฐไทยจะให้ความใส่ใจและดำเนินการส่งเสริมอย่างจริงจัง ผลการวิเคราะห์ชี้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนเพียงพอที่จะอนุญาตให้เราเลือกที่จะไม่พึ่งพิงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือ ไม่เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน หรือ จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระดับหนึ่ง


 

แน่นอนว่า ทางเลือกเหล่านี้อาจจะทำให้ภาคพลังงานของไทยมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนบางประเภทอาจมีตนทุนสูงกว่าการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือนิวเคลียร์ แต่ต้องไม่ลืมว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ ย่อมจะมาพร้อมกับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ลดลง ต้นทุนทางสังคมที่ต่ำลง และความเสี่ยงของภาคธุรกิจพลังงานที่ต่ำลง ทั้งในแง่ของความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และความเสี่ยงต่อกระแสของโลกที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net