Skip to main content
sharethis

ฟ้ารุ่ง ศรีขาว


 


สัญลักษณ์กับการต่อสู้ เป็นของที่ปรากฏคู่ๆ กัน "สี" ก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงถึง "ความเป็นพวก" และ "คนละพวก" ด้วยคุณสมบัติที่คนเราสามารถมองเห็นได้แต่ไกล เข้าใจง่ายและไม่ต้องอาศัยภาษาในการอธิบายตลอดเวลา สีจึงถูกใช้อย่างกว้างขวางที่สุดและขาดไม่ได้ในการสร้างความเป็นเอกภาพหรือกระบวนการรณรงค์วงกว้าง


 


ข้อวิจารณ์ต่อทุกสีจากนักสิทธิมนุษยชน


ก่อนจะเข้าไปสัมผัสกับสัญลักษณ์หลากสี ขอเริ่มต้นด้วยคำวิจารณ์ของ "สุณัย ผาสุก" ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ Human Right Watch ซึ่งแสดงทรรศนะต่อกลุ่มประชาชนที่มีหลากหลายสีสัน พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อสถาบันของ "คนมีสี"


สุณัยบอกว่า แรกเริ่มเดิมทีคู่ขัดแย้งหลักจะเป็นคู่ความขัดแย้ง "แนวดิ่ง" ระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ตอนนี้กลายเป็นมีคู่ความขัดแย้ง "แนวราบ" ระหว่างประชาชนกับประชาชนที่สวมใส่เสื้อสีแตกต่างกัน ด้วยปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวที่เห็นได้เด่นชัด


คนเสื้อเหลือง มารวมตัวกันด้วยหลายองค์ประกอบหลายเหตุผล มีความรักต่ออะไรหลายๆ อย่างที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือ "เกลียดทักษิณ" และไม่มีใครเชื่อมั่นในวิถีทางการเลือกตั้ง ซึ่งมีดีกรีตั้งแต่อ่อนไปถึงแก่ บางคนก็เสนอเป็นสัดส่วนของผู้แทนให้มีที่มาทั้งจากการเลือกตั้งและมาจากการแต่งตั้ง หรือบางคนบางกลุ่มในเสื้อเหลืองก็ไม่มีความศรัทธาและไม่ต้องการการเลือกตั้งเอาเสียเลย


ส่วน คนเสื้อแดง ซึ่งไปทุบรถนักการเมืองที่หน้ารัฐสภา ในวันที่มีการโหวตเลือกคุณอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนว่าคนเสื้อแดงไม่สามารถปฏิเสธความผิดกฎหมายและต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เขากลับมีคำพูดค่อนข้างชัดเจนมากกว่าคำอธิบายของคนเสื้อสีอื่นๆ จากคำให้สัมภาษณ์ของคนแดงซึ่งบอกว่า พวกเขาไม่พอใจที่คุณอภิสิทธ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเขารักรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของเขา ซึ่งผ่านการเลือกตั้งเข้ามา และ "เชื่อว่าการเลือกตั้งเท่านั้นคือทิศทางของประเทศ" พร้อมกับมีความรู้สึกว่า คุณอภิสิทธิ์เป็นผู้นำทางการเมืองของอีกฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่พวกเขานิยมชมชอบ เป็นการส่วนตัว นี่เป็นถ้อยคำที่ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการอะไร


สุณัยกล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งของประชาชนเพิ่มขึ้นทวีคุณ เพราะแต่ละสีเสื้อ เชื่อว่าตัวเอง "รักชาติ" มากกว่าฝ่ายอื่นๆ และปัญหาคือแต่ละฝ่ายมีการตีความความรักชาติที่แตกต่างกัน แม้จะเลือกใช้สีสัญลักษณ์ และให้ความหมายไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนกลับพูดตรงกันคือ ต่อสู้เพื่อชาติ


 


"สีกากี" ในฐานะองคาพยพของรัฐ (บาล)


สุณัยเริ่มต้นจาก "สีกากี" โดยเขามองว่า สีกากีเป็นภาคส่วนหนึ่งในองคาพยพของรัฐบาล ไม่ว่าใครจะขึ้นมากุมอำนาจ สีกากีก็พร้อมไปอยู่ข้างนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายบริหาร สีกากีก็ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายเดียวกับคนเสื้อแดง แต่อีกไม่นานหลังจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้ว สีกากีก็คงจะฮึ่มๆ กับคนเสื้อแดงได้เหมือนกัน "เป็นวัฒนธรรมที่ใครกุมอำนาจก็ไปอยู่ฝ่ายนั้น เพราะสีกากีตอบโจทย์คนที่คุมอำนาจรัฐ มากกว่าจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร โดยที่สีกากีสนใจผู้ที่จะมาปกครองราษฎร มากกว่าจะสนใจตัวราษฎร"


 


"สีเขียว"กับบทบาท "หมอตำแย" และ "แม่นม" ของ "รัฐบาลอภิสิทธิ์"


สำหรับสีเขียว ซึ่งเป็นองคาพยพของรัฐบาลเช่นเดียวกับสีกากี แต่มีวิธีการทางการเมืองที่แตกต่างกัน "สุณัย" มองว่าสีเขียวมีวาระของตัวเองตั้งแต่แรก โดยใช้สีเหลืองและสีแดงเป็นเครื่องมือในการควบคุมทิศทางของตัวเอง


"กองทัพไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพียงแต่รูปแบบการแทรกแซงในยุคนี้ใช้วิธีการแตกต่างจาก คมช.ที่เคยใช้รถถัง ขณะที่กองทัพในยุคนี้เป็น อีกสีหนึ่งที่ไม่ทำตามคำสั่งของรัฐบาลและได้ใช้เงื่อนไขความขัดแย้งของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย มาดำเนินการทางการเมือง และผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สามารถขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้เลย หากไม่มีทหารมาคอยพยุง ดังนั้น รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์จึงเหมือนเป็นทารกที่มีสีเขียวเป็นหมอตำแยทำคลอด โดยสภาพของทารกเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ไม่สามารถดำรงชีพได้ด้วยตัวเอง ต่อไปนี้สีเขียวก็จะเล่นบทบาทเป็นแม่นม ซึ่งมีอิทธิพลต่อทารักอย่างยิ่ง"


 


สีขาว "ตรวจสอบ" หรือ สีขาว "โหนกระแส"


ในมุมมองของ "สุนัย" ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วกลุ่มการเมืองที่ใช้สัญลักษณ์ "สีขาว" เป็นกลุ่มที่มีภาระหนักที่สุด เพราะต้องพิสูจน์ตัวเองว่า เป็นสีข่าวอย่างจริงจัง เป็นสีข่าวแบบ active ไม่ใช่ขาวแบบ passive โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างยุติธรรมเพื่อต่อต้านความรุนแรง ไม่ใช่พอหมดกระแสความขัดแย้งระหว่างสีเหลืองและสีแดงแล้ว สีขาวก็หายไป แต่พอมีกระแสความขัดแย้งบนหน้าสื่อ สีขาวก็กลับมาอีกที


คนที่มีความชอบธรรมในการโบกธงสีขาว ต้องมีความรับผิดชอบซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายสีขาวยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่มีความเป็นกลางในการแสดงบทบาทปฏิเสธทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและฝ่ายเสื้อแดง โดยสีขาวได้แสดงอาการปฏิเสธฝ่ายเสื้อแดงมากกว่าเสื้อเหลือง


"สีขาวต้องพิสูจน์ความเป็นกลางและตรวจสอบ ต้องพูดถึงทุกสี เช่น สีเขียว ใช้ความขัดแย้งของสีอื่นมาเป็นเครื่องมืออย่างไร สีกากี รับใช้อำนาจรัฐอย่างไร ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าเป็นฝ่ายสีขาวแล้วโก้ ขณะที่ความจริงแล้ว การเป็นฝ่ายสีขาวมีภาระความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองหนักที่สุด"


ดอกไม้หลากสีในสวนเดียวกัน-ปรากฏการณ์ "การเมืองบนสีเสื้อ" ที่เห็นเด่นชัดในรอบกว่า 4 ปีมานี้


 


สีเหลือง กับความหมายลึกล้ำนำใจปวงชน


"เสื้อสีเหลือง" พร้อมข้อความ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" ปรากฏครั้งแรกในการจัดรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" เพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยที่ "สี" มาก่อน "ชื่อองค์กร" ซึ่งตามมาภายหลังจากการรวมตัวกันของ 5 แกนนำในนามอย่างเป็นทางการว่า "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เสียอีก


"สนธิ" ประสบความสำเร็จในการจับ "อารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวของคนไทย" ในการแสดงความ "จงรักภักดี" ต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันสูงสุดอันเป็นที่เคารพรักและ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย เนื่องจากสีเหลืองที่สนธิเลือกใช้ในการต่อสู้ เป็นสีสัญลักษณ์ของวันจันทร์ โดยนัยที่ผู้เลือกนำมาสื่อสารต้องการหมายถึงวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์


เสื้อเหลือง ของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังมีข้อความสั้นๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ "กู้ชาติ" เพื่อแสดงให้เห็นว่า การขับไล่รัฐบาล ซึ่งต้องมีข้อหาคอรัปชั่นครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการทะเลาะกันเรื่องส่วนตัวระหว่าง "สนธิ ลิ้มทองกุล" กับ "ทักษิณ ชินวัตร" ควบคู่กับความเห็นของฝ่ายตรงข้าม ที่ระบุว่า สนธิสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าจะเป็นเรื่องของชาติ


อย่างไรก็ตาม นอกจากสีเหลืองแล้ว ในเวลาต่อมากลุ่มพันธมิตรฯ ก็เลือก "สีฟ้า" เข้ามาเป็นสัญลักษณ์ในขบวนการรณรงค์ของกลุ่มด้วย โดยมีนัยที่จะแสดงถึงสีที่ตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกับความหมาย จากถ้อยความถึงสาธารณะที่สนธิระบุว่า ได้รับผ้าพันคอสีฟ้าและเงินจำนวนหนึ่งจากสตรีผู้สูงศักดิ์


สำหรับการผูกโยงระหว่างกระบวนการเคลื่อนไหวกับสถาบันเบื้องสูงเห็นได้ชัดเจนจากการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของสนธิ บนเวทีพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2551


...พี่น้องไม่สังเกตหรือ เหตุการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นมา ตั้งแต่วันที่เขาหนีไปต่างประเทศ นปก.เริ่มตั้งขบวนเพื่อมาไล่ตีพวกเรา หลายต่อหลายอย่างและทหารอยู่เฉย ทำไมทหารต้องอยู่เฉย เพราะทักษิณ ชินวัตร อ่านเกมออกว่า ถ้า หากมีการรังแกประชาชนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทหารซึ่งพวกเราเป็นลูกของพ่อหลวงแม่หลวง ทหารภายใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องออกมาแสดงจุดยืนข้างประชาชน


เพราะฉะนั้นแล้ว พี่น้องฟังให้ดีๆ ก่อน เขาก็ต้องทำให้ทหารพูดออกมาตลอดว่าเป็นกลาง เมื่อทหารไม่เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แต่ทหารบอกว่าเป็นกลางและบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ไป รัฐบาลชุดใหม่ก็มา โดยที่ไม่สนใจว่ารัฐบาลชุดไหนก็ตาม ทำร้ายทำลายประเทศชาติอย่างไร ทำร้ายทำลายสถาบันกษัตริย์ ทำร้ายทำลายประชาชนอย่างไร ขอเป็นกลางไปตลอด นี่คือการทำได้สำเร็จของระบอบทักษิณ...


...เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อผมอ่านคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มันเท่ากับยืนยันข้อสงสัยซึ่งผมมีมานานแล้ว และพี่น้องเห็นหรือยังที่ผมบอกพ่อแม่พี่น้องหลายวันมาแล้ว เหมือนกับผมมีญาณวิเศษ ผมบอกพ่อแม่พี่น้องว่ายังไง


ผมบอกพ่อแม่พี่น้องว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีกำลังอยู่ในอันตราย พ่อแม่พี่น้อง


ทำไมคนอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ จะดูไม่ออกหรือวา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากพระราชทานเงิน จริงๆ แล้วไม่ใช่สามแสนบาท มาถึงวันนี้ร่วมแปดแสนบาทแล้ว โดยพระราชทานไปตามโรงพยาบาลต่างๆ แล้วรับคนไข้ทุกคนเข้าอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พระองค์เข้าไปดูแลหมด คุณอนุพงษ์ดูแค่นี้ คุณยังดูไม่ออกหรือว่า พระองค์ท่านเป็นห่วงลูกของพระองค์ท่าน..


...3 วันที่แล้วที่ผมบอกว่าพวกเราต้องรวมใจรวมสติกันให้ดี และต้องพิจารณาให้ดี ถ้าวันไหนจะต้องหลั่งเลือดเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั่วประเทศ ถ้าวันไหนเราต้องลุกขึ้นมาสู้ตำรวจ และแม้กระทั่งทหารเราก็ต้องสู้ พี่น้อง เพราะผมพูดแล้วใช่ไหม ผมพูดแล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงโทมนัส มีทุกข์อยู่ในพระราชหฤทัย พระองค์ท่านไม่มีใครเหลืออีกแล้ว นอกจากพวกเราเท่านั้นเอง..


...ผมไม่ใช่คนขี้ขลาดตาขาว และผมไม่ใช่คนสู้ไม่เป็น คนมีปัญญาอย่างผมสู้ไม่เป็นหรือไง เป็นอยู่แล้ว และสู้ได้รุนแรงหนักหน่วงด้วย แต่เมื่อผมคิดตรงนี้ทีไร ผมเห็นพระเจ้าอยู่หัว ผมเห็นพระราชินี แล้วผมบอกว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้ว เท่ากับผมทำลายพระองค์ครับ พี่น้องครับ ยศ แม่ก็ไม่มี สายสะพายเครื่องราชฯ ก็ไม่มี เหรียญตราก็ไม่มี มีแต่ใจที่รักชาติ รักบ้าน รักเมือง รักพระมหากษัตริย์เท่านั้นเอง ไอ้พวกมึง มีทั้ง พล.ต.อ. พล.อ. ได้พระราชทานกระบี่แตะบ่า ได้เครื่องราชฯ ได้จุลจอมเกล้า ได้หมดทุกอย่าง ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา มึงยังรักในหลวง พระราชินี ไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของพวกกูเลย...(ถอดคำปราศรัยโดย www.prachatai.com - http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/1496 เน้นคำโดยผู้เขียน)


- มุมมองสื่อนอกกับการเชื่อมโยงจากภาพลักษณ์


"...ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่าพันธมิตรฯ สามารถที่จะดำเนินการประท้วงได้ โดยจะได้รับการยกเว้นโทษ และช่วยเหลือในการคว่ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะพันธมิตรฯ ได้รับการหนุนหลังจากปัจจัยที่ทรงพลังในการต่อต้านทักษิณจากราชสำนักและกองทัพ.."


จากบทความ "Bangkok airport protests were fun, says Thailand's new foreign minister" โดย Thomas Bell ใน www.telegraph.co.uk 21 ธ.ค.2551 แปลโดย www.prachatai.com (http://blogazine.prachatai.com/user/headline/post/1614 )


 


สีแดงพร้อมความหมายแฝงเปลี่ยนแปลงตามนัย


มาถึงต้นตำหรับ "เสื้อแดง" ตัวจริง ก่อนที่จะมีกระแสการอธิบายว่า "เนวิน ชิดชอบ" เป็นผู้ก่อตั้ง "คนเสื้อแดง"


สมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา หรือชื่อที่รู้จักคุ้นเคยกันในแวดวงนักเคลื่อนไหวกิจกรรมเพื่อสังคมว่า "หนูหริ่ง" ผู้เริ่มการรณรงค์สวมเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพื่อเป็นการต่อต้านรัฐประหารและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550


สมบัติเล่าถึงเหตุผลที่เลือก "สีแดง" ว่า เริ่มต้นจากภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คิดว่าสถานการณ์คงจะไปถึงการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างแน่นอน จึงได้ศึกษาดูว่าวิธีการรณรงค์เรื่อง "การลงประชามติ" ของทั่วโลกว่า เขาทำยังไง ซึ่งพบว่านอกจากจะใช้วิธีการสื่อสารด้วยข้อความสั้นๆ แล้วยังมีการใช้ "สี" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ประกอบด้วย 2 สี คือ 1) สีเขียว มาพร้อมกับคำว่า Yes หมายถึง การลงประชามติรับเรื่องที่ถูกเสนอ เช่น รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือรับเรื่องใดๆ ก็ตาม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ส.ส.ร.ก็ใช้สีเขียวในการรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติด้วย ขณะที่ 2) สีแดง มาพร้อมกับคำว่า No หมายถึง การลงประชามติด้วย ขณะที่2) สีแดง มาพร้อมกับคำว่า No หมายถึง การลงประชามติไม่รับเรื่องนั้นๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เลือกใช้สีแดงมาเป็นสัญลักษณ์ในการรณงรงค์ไม่รับร่างรัฐธรมนูญ 2550 เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีที่มาไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นผลอันเกิดจากการรัฐประหาร และ ต่อมาพอถึงจุดหนึ่ง สีแดงที่เคยเป็นตัวสัญลักษณ์ในการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มต่างๆ ที่ท้องสนามหลวง ใน "ปีก" ที่ไม่เอาการรัฐประหาร รวมทั้งภาคการเมืองด้วยจากปรากฏการณ์ที่ผู้ดำเนินรายการ "ความจริงวันนี้" ซึ่งสังกัดพรรคพลังประชาชน จัดงานรวมพลคนเสื้อแดง ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี นั่นเป็นครั้งแรกที่ "เสื้อสีแดง" ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการเมืองในวงกว้าง


สมบัติเล่าย้อนกลับไปว่า เมื่อเลือกสีแดงแล้ว ก็จัดการทำให้สีแดงปรากฏผ่านเสื้อผ้า หรือุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการรณรงค์ เริ่มต้นจากกิจกรรม "แดงไม่รับ(ร่างรัฐธรรมนูญ 2550)" และ "วันอาทิตย์สีแดง" เดิมทีเดียวเป็นกิจกรรมของกลุ่มตนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ชื่อ "พลเมืองภิวัตน์" หนึ่งในแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. ที่ปักหลักอยู่ท้องสนามหลวง รวมทั้งดาวกระจายไปที่ต่างๆ ตามโอกาส


สมบัติพูดพร้อมเสียงหัวเราะว่า จำได้ทีแรกพรรคพลังประชาชนเปิดตัวด้วยการสวมเสื้อสีน้ำเงิน แต่พอพรรคพลังประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เปลี่ยนมาสวมเสื้อแดง ซึ่งอาจเป็นผลต่อเนื่องจากการที่บางคนเคยเป็นแนวร่วมด้านรัฐประหารที่สนามหลวง แต่ปรากฏการณ์แบบนี้ก็ทำให้ดูเป็นเอกภาพดีในแง่การรณรงค์ใช้สีไปในทิศทางเดียวกัน แม้ข้อความสั้นๆ ที่แตกต่างกันจะมาทีหลัง เพราะขึ้นอยู่กับว่าเป็นการรณรงค์ของกลุ่มไหนและประเด็นอะไร


"เหมือนกับโลโก้เครื่องดื่มยี่ห้อไมโลหรือโอวัลติน ที่ใช้ "สี" เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาทางการตลาดและเทคนิคการณรงค์ ที่ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจได้ง่าย มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สีแดงก็มีความหมายมากกว่าการไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น"


ส่วนที่มีคนบอกว่ากลุ่มคนเสื้อแดง เริ่มมาจาก เนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น เขามองว่า อาจจะเป็นไปได้ที่คุณเนวินจะมีบทบาทในการจัดตั้งมวลชนในภาคอีสานบางส่วน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาได้มารวบรวมคนในกรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุม และคุณเนวินเองก็ไม่ใช่คนที่จัดการรณรงค์ใช้สีแดงตั้งแต่แรก


นอกจากนั้นยังมีเกร็ดเล็กๆ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจาก นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ซึ่งหนูหริ่งเปิดเผยให้ฟังว่า หมอเหวงเคยทักท้วงด้วยความห่วงใยว่า "ขอให้ระวังการใช้สีแดง เพราะเป็นสีที่เคยถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็น red army ขอให้คิดดีๆ ด้วยและเราเองก็มีฝ่ายตรงข้ามที่จ้องจะโจมตีอยู่แล้ว" ผมตอบคุณหมอเหวงไปว่า ผมไม่ได้คิดแบบนั้นเพราะถ้าคิดแบบนั้นโลโก้เครื่องดื่มยี่ห้อโค้กก็คงใช้สีแดงไม่ได้ และโค้กคงถูกเหมารวมว่าใช้สีของคอมมิวนิสต์ อีกทั้ง ผมไม่ใช่ซ้ายเก่า ผมไม่มีภาพของสังคมนิยม แต่ก็ยอมรับว่ามีคนพยายามจะจุดประเด็นโจมตีเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุดก็ปลุกไม่ขึ้น


- เบื้องหลังถอดเสื้อแดง สวมเสื้อขาว


สมบัติ : ผมไม่เห็นด้วยที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบิน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับบางฝ่ายที่เรียกร้องให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อผมมาคุยกับพรรคพวกฝ่ายเสื้อแดงด้วยจุดยืนแบบนี้ ผมก็ถูกฝ่ายเสื้อแดงบางคนมองว่า "ไปเข้าทางพันธมิตรฯ" หรือ "ยอมอ่อนข้อให้พันธมิตรฯ" ซึ่งผมไม่ต้องการให้เกิดความสับสน จึงตัดสินใจถอดเสื้อแดง-สวมเสื้อขาว แล้วไปเดินรณรงค์กับกลุ่มไม่เอาความรุนแรง ซึ่งตอนนั้นก็ถูกวิทยุชุมชนคนแท็กซี่เอาบทความไปด่าออกอากาศ บางคนก็อีเมล์ หรือโทร.มาตำหนิ ผมโดนด่าครบทุกรูปแบบ


- จะกลับไปสวมเสื้อแดงอีกหรือไม่


สมบัติ : ทุกวันนี้ก็สวมเสื้อทุกสี ขึ้นอยู่กับสีไหนซักแห้งก่อนกัน (หัวเราะ) ผมคิดว่า ทุกคนสามารถมีสีเป็นของตัวเองได้ ประเด็นมีเพียงว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรด้วยความเคารพสีอื่นๆ ผมเห็นด้วยกับวิธีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยใช้สีเสื้อและการรวมตัวกันในกรอบของกฎหมาย แต่ต้องมีประเด็นและข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผล ส่วนวิธีการปิดล้อมรัฐสภา หรือไปทุบรถคนอื่นนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายและไม่สมเหตุสมผล ผมอาจจะสวมเสื้อแดงไปร่วมชุมนุม หากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเพียงแต่ต้องการจะแสดงออกทางการเมืองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด ๆ เช่น อาจไม่เห็นด้วยที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แม้มาในระบบรัฐสภา แต่ก็ข้ามมาจากพรรคการเมืองอีกปีกหนึ่ง ซึ่งพวกเขาไม่ได้เลือก และในที่สุดเมื่อคนเสื้อแดงแสดงออกโดยปราศจากอาวุธและความรุนแรงแล้ว ก็ต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดนี้ทำงานต่อไป เพราะจะบังคับให้เขายุบสภาหรือลาออกภายใน 3-7 วัน ก็เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล อย่างน้อยนายกฯ มาจากระบบรัฐสภาก็เป็นประชาธิปไตยมากกว่าการมากับรถถัง และที่สำคัญ เมื่อแกนนำคนเสื้อแดงประกาศนัดหมายชุมนุมแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสาธารณและชีวิตมวลชน ไม่สามารถอ้างว่าพวกเขามาชุมนุมกันเอง อีกทั้งแกนนำไม่ควรเคลื่อนย้ายที่ชุมนุม หรือปลุกความโกรธแค้นเกลียดชังจนควบคุมอารมณ์กันไม่อยู่ เช่น คืนวันที่ 1 ก.ย. เหตุการณ์คนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนออกจากสนามหลวงไปปะทะกับคนเสื้อเหลืองถึงขั้นเสื้อแดงเสียชีวิต 1 คน ถ้าเป็นแบบนี้ผมก็ไม่สวมเสื้อแดงเข้ารวมชุมนุมด้วยแน่นอน


 


สีกากี ทนได้ทุกหน้าทนได้ทุกฤดู


ปิดท้ายด้วยเสียงจาก "สีกากี" โดย พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น. ในฐานะผู้ทำหน้าที่รองโฆษก บช.น. ซึ่งได้ใช้ถ้อยคำ "สีทนได้" สื่อสารกับสาธารณะ ในสถานการณ์การเมือง ที่เขตนครบาลมีการชุมนุมสารพัดม็อบ


พล.ต.ต.อำนวย : "สีทนได้" มาจากการที่มีการชุมนุมทั่วไปในเขตกทม. ผมในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกของกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็มีหน้าที่แถลงข้อมูลข่าวสารชี้แจงข้อเท็จจริง ชี้แจงข้อกฎหมายและออกมาห้ามปราม รวมถึงแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการชุมนุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่าใช้ความรุนแรง แต่ถ้าหากการชุมนุมมีการทำนอกกรอบรัฐธรรมนูญ มีความรุนแรง เจ้าหน้าที่ ก็มีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ แต่ผมก็โดนโต้กลับมาทุกครั้ง


มีอยู่วันหนึ่งที่ผมพูดว่าสีทนได้ เพราะมีสื่อฯ ถามขึ้นมาว่าโดนพันธมิตรฯ ด่ามาอีกแล้ว ผมก็บอกว่าทนได้ ยังไงก็ต้องทน เพราะต้องทำหน้าที่ ต้องรักษากฎหมาย ต้องทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ บ้านเมืองมีความจำเป็นต้องมีขื่อมีแป ซึ่งก็คือกฎหมายจะต้องศักดิ์สิทธิ์ ถ้ากฎหมายเป็นแค่กระดาษเปื้อนน้ำหมึก ใช้บังคับกับใครหรือกลุ่มใดไม่ได้ นั่นคือประเทศแย่แล้วครับ กฎหมายจะต้องใช้บังคับอย่างเสมอภาค และใช้บังคับกับทุกคนทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย


ที่ผ่านมาผมชี้แจงอะไรไปก็โดนโต้กลับมาทุกครั้ง ผมบอกว่าผมทนได้ ทนได้เหมือนกับโฆษณาตัวหนึ่งที่ว่า สีทนได้ทุกหน้า ไม่ว่าจะหน้าร้อน ฝน หนาว และเขาถามว่า ท่านรองฯ (รอง ผบช.น.) เป็นสีอะไร ผมก็ไม่ใช่สีแดง ไม่ใช่สีเหลือง หรอกครับ เพราะเป็นสีกากี สีของตำรวจนี่แหละต้องมีความอดทนที่จะทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรม รักษากฎหมาย เพราะอุดมคติของตำรวจข้อหนึ่งบอกว่า ต้องอดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากนะครับ นั่นก็เลยเป็นที่มาของสีทนได้


- ตำรวจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เมื่อครั้งที่ พันธมิตรฯ บุกไปสถานที่ต่างๆ แล้วตำรวจไม่ได้ป้องกันอย่างเต็มที่


พล.ต.ต.อำนวย : สมไหมละ ก็เพราะการคอยจ้องจับผิดตำรวจว่าทำเกินกว่าเหตุ จนตำรวจต้องเอามือไขว้หลัง สมไหมละ แล้วต่อไปถ้าเป็นแบบนี้นะ ป.ป.ช.มาชี้มูลว่าตำรวจผิด ตำรวจชั่ว ตำรวจเลว ตำรวจทรราช ตำรวจทำร้ายประชาชน ก็จะไม่มีตำรวจคนไหนที่จะกล้าไปขวางม็อบที่ไปลุยที่ไหนก็แล้วแต่ เพราะพอตำรวจยื่นมือไปปั๊บ ก็บอกว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ


แล้วกฎหมายควบคุมฝูงชนก็ไม่ออกมาให้ใช้ แล้วนี่คืออันตรายของประเทศไทยนะผมบอกให้นะ บ้านเมืองนี้ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะมาควบคุมกราชุมนุม เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่มีกฎหมายคือเครื่องมืออันสำคัญไม่มีเครื่องมือให้ แล้วตำรวจจะกล้าทำงานหรือ? พอตำรวจยื่นโล่ไป ถ้าเขา (ผู้ชุมนุม) ผลักโล่-ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าบังเอิญส่งโล่ไปโดนจมูกเขากลายเป็นตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ทำร้ายประชาชน ถูกออกจากราชการถามว่าตำรวจคนไหนจะทำงานต่อไป แล้วตอนนี้ตำรวจนครบาลตำรวจชั้นประทวนขอย้ายตัวเองไปต่างจังหวัด 1,300 กว่าคนแล้ว ผมถามว่าใครจะทำงาน?


ผมยกตัวอย่าง ตำรวจจากต่างจังหวัดมารอนแรมมานอนค้าง ทิ้งบ้านทิ้งช่องทิ้งลูกทิ้งเมีย มานอนกลิ้งริมถนน ตำรวจต่างจังหวัดถูกเกณฑ์มาหมด(ในช่วงที่มีการชุมนุม) รู้ใช่ไหม? วันดีคืนดีพอม็อบเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นระบบ เคลื่อนไหวก่อความวุ่นวาย ตำรวจก็ลุกขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ ถูกแทงบ้าง ถูกแทงนี่ปักหน้าอกเลยนะครับ ถูกยิงบ้าง ถูกรถพุ่งชนบ้าง อะไรบ้างก็แล้วแต่ ตำรวจก็เจ็บ ฝ่ายโน้นก็เจ็บ ไอ้ที่ตำรวจเจ็บไม่เคยมีใครถามถึงเลย ทั้ง ป.ป.ช. ทั้งกรรมการสิทธิฯ มีใครเคยถามถึงไหม ตำรวจเจ็บเป็นยังไง ใครไปดูแลตำรวจบ้างเคยไหม


แต่พอฝ่ายประชาชนที่ก่อความวุ่นวาย ซึ่งตำรวจไประงับเหตุจนบาดเจ็บ กลายเป็นตำรวจเป็นทรราช ทำเกินกว่าเหตุ จะต้องถูกสอบสวนจะต้องถูกออก ตำรวจเหล่านั้นก็ท้อ ถูกไหมครับ ฉะนั้น ถึงได้ขอย้ายออกไปต่างจังหวัด ผมถึงได้โดดออกมาปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ ผมฟ้องเรื่องอำนาจ ป.ป.ช. ผมบอแค่ว่ากินผมไม่ลงหรอก


- ข้อสงสัยว่าแก๊สน้ำตาที่ตำรวจนำมาใช้ในวันที่ 7 ต.ค. เป็นประเภทชิงตัวประกัน ไม่ใช่แก๊สน้ำตาประเภทสลายฝูงชน


พล.ต.ต.อำนวย : ใครเป็นคนพูด? ผมไม่รู้ ผมไม่เห็น ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และผมไม่มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องแก๊สน้ำตา แต่ผมมีความรู้ในระดับหนึ่งว่าแก๊สน้ำตาก็คือแก๊สน้ำตา นมเลี้ยงทารกก็คือนมเลี้ยงทารก แก๊สน้ำตาไม่ใช่ระเบิด ไม่มีอำนาจทำลายล้างประหัตประหาร ต่างประเทศเขาก็ยิงกันทุกประเทศทั่วโลก ผมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ซึ่งก็มีบทสรุปว่าการสลายการบุมนุมต้องใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงบทสรุปของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเองก็สรุปว่าต้องใช้แก๊สน้ำตา


ส่วนประเภทของแก๊สน้ำตาที่มีการใช้ในวันที่ 7 ต.ค.2551 นั้น สเปกของแก๊สน้ำตาจะเป็นตัวบอกอยู่แล้วว่าชนิดไหนสลายฝูงชน ชนิดไหนชิงตัวประกัน ซึ่งตำรวจชุดที่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 ต.ค. เป็นชุดที่เขาเรียกว่า ปจ.หรือ ปราบจลาจล ชุดนี้ยิงแก๊สน้ำตาประเภทชิงตัวประกันของอรินทราชไม่เป็น เพราะคนละหน้าที่ เป็นตำรวจคนละชุดกันระหว่างอรินทราชกับปราบจลาจล


ตำรวจชุดอรินทราชไม่ได้ออกมาในวันนั้น (7 ต.ค.) ซึ่งแก๊สน้ำตาประเภทชิงตัวประกันที่ยิงเข้าไปแล้วสามารถทำให้ทะลุทะลวงเข้าไป เพื่อระเบิดข้างใน (อาคาร) นั้นเป็นของอรินทราช "แก๊สน้ำตาของเขาใช้ยิงเพื่อเบิกทางเข้าไป แล้วใช้อาวุธจริงยิง คนละเรื่องกัน คนละทีมกัน ในเมื่อคนละทีมก็ใช้อาวุธคนละแบบอยู่แล้วโดยสภาพ แต่เพื่อความชัดเจนก็ต้องถามเจ้าของหน่วย" พล.ต.ต.อำนวยชี้แจง


"สีทุกสี" สามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนได้มากกวาจะเป็นเพียงการ "เสียดสี" แต่ละสี นอกจากจะมีคุณสมบัติขับเน้นตัวเองแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ขับเน้นสีอื่นๆ ให้มีความชัดเจนด้วย "สะท้อนประเด็นในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำให้ความหลากหลายกลายเป็นสีเดียวกันทั้งหมด" แต่การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสีต่างๆ น่าจะเป็นโจทย์ที่รอคำตอบว่า "เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยปล่อยให้แต่ละสีทำหน้าที่ต่ำตัวเองและทำหน้าที่ต่อคนอื่นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความตระหนักรู้" ว่าสีของตัวเองจะไม่สามารถมีตัวตนอยู่ได้ หากปราศจากการขับเน้นของสีอื่นๆ


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net