Skip to main content
sharethis

เพจเฟซบุ๊ก ‘แพร่ทูเดย์’ ภายใต้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ (ส.สปช.แพร่) โพสต์ขู่ปิดเพจไม่สร้างสรรค์ คาดเพราะไม่พอใจคนวิจารณ์การจัดการน้ำท่วม ด้านทางการไม่ขอให้ความเห็น 

 

6 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อ 4 ก.ย. 2567 ระบุว่า กรณีเพจเฟซบุ๊ก "แพร่ ทูเดย์ Phrae To day" ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงาน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุเป็นข้อความว่า "กำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดเพจ ที่ไม่สร้างสรรค์ในจังหวัดแพร่อยู่" โดยประชาชนตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะทางการไม่พอใจที่มีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย และเพจเฟซบุ๊กท้องถิ่น จำนวนมากวิจารณ์แผนจัดการน้ำท่วมของจังหวัด ก่อนที่ภายหลังมีการลบโพสต์ออกไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการลบโพสต์ แต่ประชาชนบางส่วนมองว่า ทางการอาจพยายามข่มขู่หรือคุกคามสื่อที่พยายามวิจารณ์การจัดการน้ำท่วมของภาครัฐ 

น้ำท่วมแพร่ เมื่อปี 2567

สถานการณ์น้ำท่วมแพร่วิกฤต แต่ภาครัฐหายไปไหน

เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 23 ส.ค. 2567 เกิดเหตุมวลน้ำจากแม่น้ำยมไหลทะลักเข้าท่วมอย่างฉับพลันในเขต อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถอพยพไปยังที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที 

'นิรนาม' (นามสมมติ) แอดมินเพจ 'เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่' ซึ่งเป็นเพจที่รณรงค์เกี่ยวกับประชาธิปไตยในจังหวัดแพร่ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายอย่างหนักพอๆ กับเมื่อปี 2538 ที่น้ำท่วมใหญ่เมืองแพร่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบคือประชาชนต้องออกมาช่วยเหลือกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง สัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เพื่อพาไปยังที่ปลอดภัย รวมถึงการส่งข่าวแจ้งสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดให้ทราบระหว่างกันเป็นระยะๆ บนช่องทางโซเชียลมีเดียกลุ่มเฟซบุ๊ก ไลน์ และติ๊กต๊อก โดยไม่เห็นบทบาทการช่วยเหลือจากภาครัฐ

หนึ่งในประชาชนที่ออกมาวิจารณ์บทบาทการช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐ คือ อดิศร ฉลวย ผู้ทำงานภาคประชาชนจังหวัดแพร่ โพสต์ข้อความเมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ถาม ชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ บนกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะ "สมาคมคนแพร่-Hug Phrae" ถึงแผนจัดการน้ำท่วม 5 คำถาม

1. จ.แพร่ มีแผนรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมหรือไม่ ?
2. จ.แพร่ มีรายละเอียดของแผนการรปฏิบัติงานในภาวะวิกฤติ น้ำท่วม อย่างไร
3. จ.แพร่ มีการซักซ้อมการปฏิบัติ หน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไร และ เมื่อไหร่ ในการปฏิบัติงานในสภาวะวิกฤติน้ำท่วม
4. จ.แพร่ มีการแจ้งเตือน ภาวะน้ำท่วมอย่างไร ผ่านช่องทางใดบ้าง และ มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ
5. ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มีกำหนดการย้ายตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เมื่อไหร่

โพสต์ของ อดิศร ฉลวย เมื่อ 25 ส.ค. 2567

โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ใช้สื่อออนไลน์เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 305 ความเห็น โดยประเด็นส่วนมากเป็นการวิจารณ์การจัดการน้ำของจังหวัดแพร่ เช่น การวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ความล้มเหลวของระบบรัฐราชการไทย รวมไปถึงการทำงานของผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดแพร่ เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26-27 ส.ค. 2567 ปรากฏโพสต์บนเฟซบุ๊กของ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดแพร่ เขต 3 พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดแพร่ที่กำลังวิกฤต แต่กลับมีคำสั่งของภรรยาของผู้บริหารระดับสูงของศูนย์บัญชาการสถานการณ์น้ำจังหวัดแพร่ ให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านเดินทางมารับถุงยังชีพที่ตัวจังหวัดที่ไกลออกไปกว่า 100 กิโลเมตร ด้วยตัวเอง

"ขออนุญาตสื่อมวลชนช่วยนำข้อมูลนี้ไปยังผู้บริหารระดับสูงของมหาดไทยว่า ขอให้แก้ไขคำสั่งโดยด่วน อย่าทำให้ชาวบ้านลำบากไปมากกว่านี้เลย" โพสต์เฟซบุ๊กของ ‘วรวัจน์’ ระบุ

โพสต์เฟซบุ๊กของ 'วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล'

'ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดเพจที่ไม่สร้างสรรค์'

ท่ามกลางการวิจารณ์ของผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียถึงมาตรการรับมือน้ำท่วม จังหวัดแพร่ เมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก "แพร่ ทูเดย์ Phrae To Day" ภายใต้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ โพสต์ข้อความว่า "กำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดเพจ ที่ไม่สร้างสรรค์ในจังหวัดแพร่อยู่"

โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยบางส่วนมองว่า เพจเฟซบุ๊ก ‘แพร่ ทูเดย์’ กำลังคุกคามสื่อ และปิดปากผู้ที่วิจารณ์การทำงานของภาครัฐหรือไม่ ขณะที่บางส่วนมองว่าโพสต์ดังกล่าวอาจมาจากความไม่พอใจโพสต์ของ สส.วรวัจน์ พรรคเพื่อไทย ที่วิจารณ์การทำงานของภาครัฐในช่วงวิกฤตน้ำท่วม 

แคปภาพ โพสต์เฟซบุ๊กของ แพร่ ทูเดย์ Phrae To Day เมื่อ 27 ส.ค. 2567 ปัจจุบัน ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าโพสต์ถูกลบไปแล้ว

ลบโพสต์ ออกแถลงการณ์อ้างเป็นการสื่อสารในพื้นที่ของตนเอง ไม่มีอำนาจปิดเพจ หรือข่มขู่เพจอื่น

เมื่อ 28 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวสอบถามสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ ถึงโพสต์เมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานฯ ตอบว่ากำลังทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อโพสต์ลงบนเพจเฟซบุ๊ก ‘แพร่ ทูเดย์ Phrae Today’

ในวันเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 12.11 น. เพจเฟซบุ๊ก "แพร่ ทูเดย์ Phrae To Day" โพสต์ข้อความชี้แจงพร้อมภาพหนังสือฉบับจริง ดังนี้ จากกรณีที่โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก "แพร่ ทูเดย์" ที่ระบุว่า ข้อความ "กำลังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดเพจ ที่ไม่สร้างสรรค์ในจังหวัดแพร่อยู่" เมื่อคืนที่ผ่านมา (27 ส.ค. 2567) จนเป็นเหตุสร้างความไม่พอใจ เข้าใจผิดว่า หน่วยงานภาครัฐคุกคามสื่อ

แอดมินเพจฯ ขอเรียนชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊ก "แพร่ ทูเดย์" ไม่มีอำนาจปิดเพจเฟซบุ๊กอื่นๆ นอกจากเพจเฟซบุ๊กที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่เป็นคนดูแล และอ้างว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นการโพสต์ในพื้นที่เพจของตัวเอง โดยไม่มีเจตนาข่มขู่หรือก้าวล่วงเพจอื่นๆ

แอดมินระบุต่อว่า หากว่าการโพสต์ดังกล่าวในพื้นที่เพจของตัวเองไปกระทบต่อบุคคลอื่นๆ หรือสร้างความเข้าใจผิดให้กับเพจอื่นๆ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวติดต่อขอสัมภาษณ์สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ เพื่อขอความเห็นและเหตุผลที่โพสต์ข้อความขู่ปิดเพจไม่สร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบกลับว่า ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าว และขอให้สื่อมวลชนยึดชี้แจงตามหนังสือชี้แจงในเพจ ‘แพร่ทูเดย์’ เมื่อ 28 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

กังวลคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน

ด้านเพจภาคประชาชน ‘เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่’ กล่าวถึงโพสต์ของแพร่ทูเดย์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยกังวลว่าจะเป็นการคุกคามสื่อ และผู้ที่ออกมาวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

"คุณไม่มีสิทธิ์ใช้สื่อรัฐเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอข่าว การแสดงออกทางความคิดเห็น คุกคามสื่อภาคประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องจังหวัดกับการจัดการภาวะวิกฤติล่าสุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้ สื่อภายใต้หน่วยงานรัฐของจังหวัดแพร่ยิ่งต้องเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชน ไม่ใช่เอาแต่ทำพีอาร์ให้ผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานรัฐจนลืมไปว่า หน้าที่หลักของพวกคุณในตอนนี้คือการรายงานสถานการณ์น้ำ และให้ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนต้องรู้" แอดมิน เพจเฟซบุ๊ก 'เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่' กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net