Skip to main content
sharethis
  • พูดคุยกับ ยอดพล เทพสิทธา นักวิชาการนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร กับข้อเสนอที่ว่าการเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงสำหรับการกระจายอำนาจ หากยังไม่แก้ปัญหาการปกครองส่วนภูมิภาค ทั้งการกำหนดอำนาจหน้าที่ การจัดสรรงบประมาณ และการลดทับซ้อนของหน่วยงานราชการ ก็ยากที่จะจัดการอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดได้

 

ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จัดกิจกรรมเลือกตั้งจำลองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ คู่ขนานกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565

(ที่มา: แฟ้มภาพ/วรรณา แต้มทอง/ประชาไท)

กระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในประเทศไทยดังขึ้นเป็นครั้งคราว ล่าสุดเมื่อการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่พาเอาชัชชาติ สิทธิพันธ์ ขึ้นสู่ตำแหน่งก็กลายเป็นกระแสอีกครั้ง ประชาชนในหลายจังหวัดก็อยากจะมี “ชัชชาติ” เป็นของตัวเองบ้าง แต่ตราบใดที่การบริหารของจังหวัดยังอยู่ภายใต้โครงสร้างราชการส่วนภูมิภาค การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังเป็นไปไม่ได้

ราชการส่วนภูมิภาคที่มีหน้าที่รวมไปถึงงบประมาณในการจัดสรรดูแลรวมไปถึงกุมอำนาจไว้ ไม่ให้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นสามารถบริหารดูแลพื้นที่ของตนได้อย่างอิสระ

หากอิงตาม พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม มีเพียงราชการส่วนกลางและท้องถิ่นเท่านั้นที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้บริหาร โดยราชการส่วนกลางคือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ส่วนราชการท้องถิ่นมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง

ในขณะที่ราชการส่วนภูมิภาคซึ่งมีหน้าที่บริหารงานราชการกลับขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 250 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะที่กฎหมายท้องถิ่น เช่น พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 เน้นการบริการพื้นฐาน เช่น การบำรุงรักษาทางเท้า การรักษาความสะอาด และการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน้าที่เชิงรุกยังคงอยู่ที่ส่วนกลางและภูมิภาค

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นโดยตำแหน่งแล้วสังกัดอยู่ที่ราชการส่วนภูมิภาค ในวาระของการกระจายอำนาจที่มุ่งถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาคอันเป็นเสมือนแดนสนธยานั้นอยู่ตรงไหนของโครงสร้างการปกครองของรัฐไทยในปัจจุบัน และเราควรจัดวางพวกเขาอย่างไรในความฝันของการกระจายอำนาจ

ความอีนุงตุงนังของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

 

ยอดพล เทพสิทธา (ที่มา: ปรัชญา ไชยแก้ว)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายปกครองว่าด้วยเรื่องราชการส่วนภูมิภาคได้แบ่งการปกครองตามมุมมองของกฎหมายประเทศไทยออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น หากมองการปกครองในทั้ง 3 ส่วนนั้นแล้ว ยอดพล เสนอว่าไม่ควรมองการปกครองโดยแบ่งแยกตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ แต่ควรเน้นเรื่องของการใช้อำนาจ

นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายปกครอง กล่าวว่ากรุงเทพมหานครไม่ใช่การปกครองส่วนกลางเพียงแค่เป็นเมืองหลวงเท่านั้น การปกครองส่วนกลางจริงๆ คือการปกครองตามกระทรวง ทบวง และกรม ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2533 ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยนเรศวรมีสถานะเป็นกรม ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่นนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงอยู่ในฐานะของราชการ

ส่วนกลาง เพียงแค่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดพิษณุโลก ฉะนั้นหน่วยการปกครองจึงไม่ได้อ้างอิงลักษณะทางภูมิศาสตร์ แต่อ้างอิงสถานะทางกฎหมายว่าเป็นอย่างไร

ในส่วนราชการส่วนท้องถิ่นที่ประกอบไปด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลเองก็เช่นเดียวกัน เราควรมองหน่วยการปกครองให้พ้นไปจากมุมมองทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของสถานะทางกฎหมายและอำนาจตามกฎหมาย

ราชการส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยการปกครองที่สร้างความงุนงงได้มาก เพราะ การที่มีส่วนภูมิภาคไม่ได้ยึดโยงว่าเป็น ภาคเหนือ ภาคกลาง หรือภาคใต้ แต่คือการจัดรูปแบบการปกครองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแบ่งย่อยลงไปที่จังหวัดและอำเภอ

ยอดพล กล่าวว่า “มันคือความอีนุงตุงนังของส่วนภูมิภาคที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย” ตัวอย่างง่ายๆ คือ ประเทศไทยตามกฎหมายมี 76 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ไม่มีสถานะเป็นจังหวัดเหมือนที่อื่น แต่มีสถานะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ความอีนุงตุงนังของส่วนภูมิภาคที่เกิดจากกฎหมาย เริ่มต้นจากการที่ส่วนกลางได้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จากนั้นจึงคัดเลือกคนไปปกครองยังพื้นที่ส่วนต่างๆ โดยแต่ละกระทรวงจะจัดสรรคนหรือข้าราชการไปทำงานอยู่ในหน่วยงานของตนในจังหวัดและอำเภอเสมือนส่วนกลางเป็นคนรวยที่บ้านหลายหลัง จึงต้องจ้างคนไปดูแลบ้านแต่ละหลังที่สร้างเอาไว้ เท่านั้นเอง

ราชการส่วนภูมิภาคและ ‘อำนาจฝาก’ ของผู้ว่าฯ

 

ยอดพล เทพสิทธา (ที่มา: ปรัชญา ไชยแก้ว)

อำนาจของราชการส่วนภูมิภาคอาจดูเสมือนกับว่ามีอำนาจมากมาย ยอดพลได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากเราเดินไปใช้บริการที่อำเภอ จังหวัด เราจะเห็นข้าราชการมากมายทำหน้าที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นออกบัตรประชาชนหรือมีอำนาจออกใบอนุญาตต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันราชการส่วนภูมิภาคแทบจะไม่เหลืออำนาจใดอยู่แล้ว เพราะ หลายส่วนถูกถ่ายโอนไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มากแล้ว

ยอดพลเปรียบเปรยอำนาจของราชการส่วนภูมิภาคว่าทำให้นึกถึงเพลงผู้ใหญ่ลี บทเพลงที่สะท้อนถึงอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค หน้าที่และอำนาจของราชการส่วนภูมิภาคคือการให้คำแนะนำ ที่ในปัจจุบันอาจมีความซับซ้อนขึ้นในกิจกรรมบางอย่าง เช่น อำนาจในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ที่ไม่ได้ถูกถ่ายโอนไปที่ราชการส่วนท้องถิ่น แต่หลายกิจกรรมก็ถูกถ่ายโอนไปให้ราชการส่วนท้องถิ่นแล้ว ซึ่งจะกล่าวว่าราชการส่วนภูมิภาคไม่เหลืออำนาจใดแล้วก็ไม่ได้ แต่มันเป็น “ความพร่าเลือน” ในการทำงาน

เขายกตัวอย่างการมีอยู่ของ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ ที่เสมือนกับมีอำนาจมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานอื่นใด (ที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มากมายนัก

แต่ที่เราถึงยังเห็นผู้ว่าราชจังหวัดเสมือนกับมีอำนาจในการสั่งการหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอยู่ เพราะอำนาจการสั่งการของผู้ว่าฯ มาจากกฎหมายเฉพาะฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.สาธารณสุข หรือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งพนักงานเจ้าที่ตามกฎหมายฉบับต่างๆ ก็จะถูกกำหนดโดยหนังสือสั่งการจากกระทรวงต่างๆ ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯในการสั่งการหรือแต่งตั้งข้าราชการของหน่วยงานในจังหวัด

บางทีอาจมีหนังสือสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุขที่สั่งการให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจในการประกาศสอบแต่งตั้งข้าราชการระดับ 6 ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขของจังหวัดนั้นๆ ได้ เป็นต้น ซึ่งหากมาย้อนดูตามหลักการแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะมีศักดิ์และสิทธิไม่ต่างจากเกษตรจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด หรือหน่วยงานประจำจังหวัดหน่วยงานอื่น ๆ แต่ตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินกลับกำหนดให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้ดูแลข้าราชการทั้งปวงเพียงเท่านั้น

อาจจะกล่าวได้ว่า อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเอาเข้าจริงๆ อำนาจส่วนใหญ่เป็น อำนาจฝาก และ อำนาจรับฟังคำสั่งและหนังสือสั่งการจากกระทรวงต่างๆ มากกว่า ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น “เสมือนว่ามีอำนาจ”

ยอดพลได้ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมกระทรวงต่าง ๆ ถึงให้อำนาจฝากนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ? ยอดพลได้เสนอทางวิชาการและทางกฎหมายราชการส่วนภูมิภาคมีความเป็น “overlap, overrule” ที่มีความทับซ้อน ความอีนุงตุงนัง และความอีหยังวะอยู่มาก เพราะอำนาจหลายอย่างถูกฝากไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เมื่อมีอำนาจบางอย่างก็ถูกถ่ายโอนไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กลายเป็นว่าเมื่อเกิดปัญหาหรือเหตุการณ์บางอย่างขึ้น มันจะเกิดคำถามตามมาทันที่ว่า “ตกลงใครต้องรับผิดชอบ” ยอดพลเล่าว่าในทางวิชาการมันจึงเกิดคำถามหนึ่งที่ว่า “แล้วเราจะมีส่วนภูมิภาคเอาไว้ทำไม ยกเลิกไปเลยดีกว่าไหม หรือจะยังคงเอาไว้ แต่อยู่ในฐานะตำแหน่งที่จะไม่ไปยุ่งกับกิจการใดๆ เลย”   

ที่ทางของราชการส่วนภูมิภาค หากเราอยากกระจายอำนาจ 

 

ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จัดกิจกรรมเลือกตั้งจำลองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ คู่ขนานกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 

(ที่มา: แฟ้มภาพ/วรรณา แต้มทอง/ประชาไท)

ในเรื่องของการกระจายอำนาจในประเทศไทย ยอดพลเสนอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกระจายอำนาจที่แท้จริง แต่กลับเป็นการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากกว่า เขาชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่สามารถจัดการระบบการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งเหยิงทางกฎหมายที่ยากจะปรับปรุงแก้ไข

ยอดพลยกตัวอย่างระบบการกระจายอำนาจจากประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส ซึ่งมีรูปแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคคล้ายกับประเทศไทย แต่ในประเทศเหล่านี้ส่วนภูมิภาคทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐมนตรีในท้องถิ่น และมีอำนาจที่จำกัด เช่น การดูแลทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อรักษาความมั่นคง ในขณะที่อำนาจอื่นๆ เป็นของราชการส่วนท้องถิ่น

เขาเน้นว่าราชการส่วนภูมิภาคยังมีความสำคัญในด้านความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวตามรัฐธรรมนูญ การคงอยู่ของราชการส่วนท้องถิ่นอาจมีความจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคง

“สำหรับประเทศไทยผมคิดว่าการกระจายอำนาจหรือการถ่ายโอนอำนาจสู่ราชการส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมาในอดีต ไม่ใช่การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นการกระชับอำนาจสู่ส่วนกลางมากกว่า ผู้ที่มีส่วนในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่รู้จักวิธีผูกเชือกรองเท้า พวกเขาเหล่านั้นจึงพยายามผูกมั่วๆ ซั่วๆ ยังไงก็ได้ให้แน่นที่สุด คำนึงแต่เพียงการทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ผิดกฎหมายที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น สุดท้ายมันจึงเกิดเป็นความรุงรังทางกฎหมาย ที่พอจะแก้เชือกที่ถูกผูกให้ตึงอย่างมั่วซั่วนั้น กลับกลายเป็นว่าไม่รู้จะแก้เชือกจากตรงไหนหรือแก้อย่างไร” ยอดพล กล่าว

ยอดพลกล่าวว่า แม้ว่ามีข้อเสนอให้ยุบราชการส่วนภูมิภาคและถ่ายโอนอำนาจให้กับราชการส่วนท้องถิ่น แต่เขาเตือนถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในการย้ายข้าราชการจากส่วนภูมิภาคมายังส่วนท้องถิ่น ซึ่งอาจส่งผลให้ส่วนท้องถิ่นไม่สามารถรองรับได้ เนื่องจากจำนวนตำแหน่งที่ไม่เพียงพอ

เขาเสนอว่าควรลดจำนวนข้าราชการส่วนภูมิภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มจำนวนข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามไปด้วย พร้อมทั้งส่งเสริมการถ่ายโอนอำนาจอย่างต่อเนื่อง ยอดพลเปรียบเทียบสถานะราชการส่วนภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในรูปแบบ "บอนไซ" หมายถึง การรักษาสถานะไว้แต่ไม่ให้มีอำนาจหรือขยายขอบเขตการทำงานไปมากกว่าที่กำหนด พร้อมกับการส่งมอบทรัพยากรและอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับภารกิจใหม่ๆ ที่จะเพิ่มขึ้น

การถ่ายโอนอำนาจเพื่อการกระจายอำนาจ 

ยอดพลได้พูดถึงกฎหมายการถ่ายโอนอำนาจ/หน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีกฎหมายหลักคือ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่ดำเนินงานมากว่า 25 ปี แต่ยอดพลตั้งข้อสังเกตว่า แม้ผ่านไปนาน การถ่ายโอนอำนาจยังไม่ถึงครึ่งของที่ควรจะเป็น

“การถ่ายโอนภารกิจจากราชการส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่น ผมคิดว่ายังถ่ายโอนไปไม่ถึงครึ่งหนึ่งของอำนาจ/หน้าที่ที่ราชการส่วนภูมิภาคมีอยู่เลยด้วยซ้ำ หากต้องการกระจายอำนาจ กระทรวง ทบวง กรม ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองทิ้ง” ยอดพล กล่าว

เขายังเสริมว่า การกระจายอำนาจจะเกิดไม่ได้หากไม่มีการถ่ายโอนอำนาจที่แท้จริง ซึ่งต้องเริ่มจากการแก้กฎหมายที่ยังคงอำนาจไว้กับราชการส่วนภูมิภาค “ไม่เช่นนั้น ราชการส่วนภูมิภาคก็จะเป็นเหมือนคนแก่ขี้บ่น ที่คอยบอกว่างานเยอะเหลือเกินแต่กลับไม่คิดจะแบ่งหน้าที่หรืออำนาจไปให้คนอื่น” ยอดพล กล่าว

ยอดพลเล่าต่อว่า มีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่สู่ท้องถิ่นในอดีต เช่น การจัดทำประมวลกฎหมายว่าด้วยบริการสาธารณะระดับชาติ ซึ่งช่วยให้การถ่ายโอนอำนาจมีความชัดเจนมากขึ้น โดยแบ่งแยกอำนาจ/หน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน พร้อมกับแปลงราชการส่วนภูมิภาคให้เป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

งบประมาณแค่ไหนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

นอกจากนี้ ในด้านงบประมาณในส่วนราชการท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ยอดพล ได้แบ่งงบประมาณที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้รับในปัจจุบันออกเป็น 3 ช่องทาง ประกอบด้วย

1) งบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลจัดสรรให้ (สัดส่วนการจัดสรรให้ท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 35 จากรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้) 2) งบประมาณที่ราชการส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองจากภาษีท้องถิ่น และ 3) งบประมาณพิเศษ ส่วนราชการส่วนภูมิภาคได้รับงบประมาณจากราชการส่วนกลาง แต่สำหรับยอดพลเสนอว่าต้องมีการจัดแบ่งงบประมาณควรที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นการพัฒนาประเทศมันก็จะดำเนินไปในรูปแบบเดิม

“ท้องถิ่นไหนจัดเก็บภาษีได้มากก็จะเจริญขึ้น ส่วนท้องถิ่นไหนจัดเก็บภาษีได้น้อยก็อยู่แบบนี้ไป ซึ่งผมมองว่าเราจัดสรรงบแบบนี้ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง” ยอดพล กล่าว 

ยอดพลได้ตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เมืองรองหรือจังหวัดที่จัดเก็บรายได้ได้น้อยจะสามารถพัฒนาเมืองหรือจังหวัดเหล่านั้นให้ก้าวหน้าไปได้ โดยเขาเสนอว่าเมืองใหญ่ที่จัดเก็บภาษีได้มากจนสามารถยืนด้วยขาของตัวเอง ราชการส่วนกลางอาจลดการสนับสนุนงบประมาณลง แล้วนำไปอุดหนุนเมืองรองต่าง ๆ ให้นำงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจ จนกระทั่งสามารถจัดเก็บภาษีให้เมืองนั้นสามารถยืนด้วยขาของตนเองได้เช่นเดียวกับเมืองใหญ่

แนวคิดการจัดสรรงบประมาณใหม่ที่เสนอไป ยอดพลชี้ว่าควรเรียกร้องให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวิสัยทัศน์การพัฒนาที่พร้อมรับการถ่ายโอนอำนาจจากราชการส่วนภูมิภาค เขากล่าวว่า "ราชการท้องถิ่นในบางพื้นที่ยังขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบ ขณะที่บางพื้นที่กลับมีความพยายามอย่างมาก" ปัญหานี้ทำให้ราชการส่วนภูมิภาคมีข้ออ้างว่าท้องถิ่นยังไม่พร้อมสำหรับการถ่ายโอนอำนาจ/หน้าที่ ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาในพื้นที่บางแห่งยังคงล่าช้า

ยอดพลเน้นย้ำว่าความจำเป็นในการเรียกร้องให้หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินโครงการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความพร้อมรองรับอำนาจ/หน้าที่จากราชการส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ การไม่สามารถจัดการหรือสร้างความชัดเจนให้กับการปกครองส่วนภูมิภาค ทั้งในเรื่องอำนาจหน้าที่และการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งมักจะซ้ำซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ยากต่อการจัดการอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด

กล่าวโดยสรุป หากยังไม่สามารถจัดการหรือสร้างความชัดเจนให้กับการปกครองส่วนภูมิภาค ทั้งในเรื่องอำนาจหน้าที่ การจัดสรรงบประมาณ ความซ้ำซ้อนและทับซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็คงจะเป็นเรื่องยากอีกเช่นกันที่จะจัดการกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นลำพังการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ดูจะยังไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net