Skip to main content
sharethis

มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ รายงาน


 


 


 



 



 



 


นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก (อาทู่ ปอแฉ่)  ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษา และวัฒนธรรมอ่าข่า เชียงราย สรุปผลการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมและเวทีวิชาการอ่าข่า ครั้งที่ 2 ว่า ผู้แทนชาวอ่าข่าจากประเทศไทย พม่า ลาว จีน ตลอดจนผู้รู้ ผู้นำทางพิธีกรรมอ่าข่า ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ได้เห็นชอบทำข้อตกลงร่วมกันในการปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับบางส่วนที่เคยยึดถือตามความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม หรือที่เรียกกันว่า อ่าข่าย้อง ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคปัจจุบัน โดยแนวปฏิบัติบางส่วนที่ปรับแก้ ได้แสดงให้เห็นถึงการปกป้องสิทธิเด็กและสตรีตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล


 


การทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ มาจากแนวคิดที่จะปกป้อง สืบสาน วัฒนธรรมอ่าข่า ตลอดจนเพื่อเป็นการลดภาระทางเศรษฐกิจในการประกอบพิธีกรรมตามวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยข้อตกลงมีเนื้อหาสำคัญที่ครอบคลุมถึงเรื่องแนวปฏิบัติ พิธีกรรม ความเชื่อ ข้อห้าม ต่างๆ ดังนี้


 



  • องค์ความรู้ และวัฒนธรรม เป็นเรื่องวิถีชีวิต การสืบทอดควรดำเนินการเต็มรูปแบบ แต่เนื่องจากในรอบปี การประกอบพิธีกรรมตามประเพณีอาจจะมีมาก ในบางสถานการณ์อาจมีอุปสรรคที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง ให้สามารถปรับลดลงให้เหลือเพียงการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดสามเรื่อง หรือถ้าจำเป็นอาจจะเหลือเพียงหนึ่งเรื่องก็ได้
  • หากมีการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน อาทิ การทำถนน ซึ่งอาจมีผลทำให้ต้องย้ายสถานที่สำคัญๆ เช่น ประตูหมู่บ้าน ลานสันทนาการ  สุสาน และ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ให้ดำเนินการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทางพิธีการ (หรือที่เรียกว่า เจ่วมา) เดิมการเปลี่ยนแปลงสถานที่เหล่านี้ จะกระทำไม่ได้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำพิธีการคนใหม่
  • การตักน้ำเพื่อนำไปประกอบพิธีกรรม อาจไม่จำเป็นต้องนำมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเพียงแห่งเดียว ในกรณีที่บ่อน้ำนี้แห้ง สามารถนำน้ำมาจากลำธารอื่น หรือ ต่อน้ำจากที่อื่นเข้ามายังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้
  • การทำพิธีศพสำหรับผู้ที่เสียชีวิตแบบผิดปกติ เช่น จากไฟไหม้ หรือถูกยิงโดยอาวุธปืนหรือหน้าไม้ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับผู้ที่เสียชีวิตในกรณีทั่วไป 
  • การทำพิธีศพซึ่งมีหลายระดับ ให้สามารถดำเนินการแบบง่ายๆ ได้ เช่น ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ในการประกอบพิธีจำนวนมาก แต่อาจจะใช้แค่หมู 1-2 ตัว (เป็นแนวทางที่ประยุกต์มาจากอ่าข่าพม่า)
  • ข้อตกลงนี้ถือว่าการสังหารชีวิตทารกฝาแฝดเป็นสิ่งต้องห้าม 
  • ให้เลี้ยงดูสัตว์ที่ไปเกิดลูกในป่า โดยไม่จำเป็นต้องกำจัด เหมือนที่ผ่านมา
  • ในครอบครัวที่ไม่มีลูกชาย ให้ผู้หญิงสามารถประกอบพิธีกรรมได้
  • ให้ผู้หญิงที่หย่าร้างกับสามี สามารถกลับมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมของตนได้ ไม่ว่าชั่วคราว หรือตลอดไป
  • กรณีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ และไม่จำเป็นต้องประกอบพิธีกรรมใดๆ เพื่อแก้ไข

 


เพื่อให้การปรับเปลี่ยนมีผลนำไปใช้จริง จะมีการตั้งคณะทำงานด้านวัฒนธรรมขึ้นมา ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งไทย พม่า ลาว และจีน เพื่อทำงานทั้งทางวิชาการและการรณรงค์เผยแพร่ต่อไป


 



 



 


นายไกรสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับภาษาที่ใช้ในการเขียนข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ เป็นภาษาเขียนอ่าข่าที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่โดยคณะทำงานจากทั้ง 4 ประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดภาษาเขียนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะรณรงค์ให้การสนับสนุนการใช้ภาษาเขียนอ่าข่าดังกล่าว ที่ผ่านมา ภาษาอ่าข่าเป็นระบบภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน จนกระทั่งผู้เผยแพร่ศาสนาชาวอเมริกันได้นำตัวอักษรภาษาอังกฤษมาเขียนถ่ายทอดเสียงภาษาอ่าข่า เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาในคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ และต่อมาได้มีการพัฒนาตัวเขียนออกไปหลายรูปแบบ จึงได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาภาษาเขียนอ่าข่าที่เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้สะดวกในการติดต่อสื่อสาร


 


นายมิโหย่ ตัวแทนอ่าข่าจากพม่า กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติบางส่วนตามวัฒนธรรมดั้งเดิมนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น ได้หวนกลับมาตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติตามวัฒนธรรมอ่าข่าดั้งเดิม


 


นายอาเยอว ตัวแทนอ่าข่าจากจีน เห็นว่า ที่ผ่านมา ข้อปฏิบัติในบางเรื่องได้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทำลายคุณค่าของวัฒนธรรมอ่าข่าดั้งเดิม โดยบุคคลหรือองค์กรที่ต้องการชักชวนให้คนอ่าข่า เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น การปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติบางเรื่องตามวัฒนธรรมดั้งเดิมในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นการจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวอ่าข่า


 


"แนวปฏิบัติทางวัฒนธรรม ก็เหมือนกับกฎหมายข้อบังคับทั่วๆไป ซึ่งต้องมีการแก้ไข ปรับเปลี่ยน ให้ทันกับยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติบางเรื่องของวัฒนธรรมอ่าข่าก็เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อทำให้วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของวิถีชีวิต มีความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในแต่ละยุค"


 


นายอาเยอว กล่าวว่า การปรับแก้แนวทางปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ มีการพูดคุยกันมาก่อนแล้ว ในการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมและเวทีวิชาการอ่าข่า ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2551 ที่หมู่บ้านแสนใจพัฒนา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งภายหลังจากการจัดงานครั้งแรก มีผลให้ชาวบ้านอ่าข่าจากพม่าจำนวน 2 หมู่บ้านที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ หันกลับมาปฏิบัติตามแนวทางวัฒนธรรมดั้งเดิมอีกครั้ง


 


Leo Alting Von Geusau นักวิชาการชาวดัตช์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอ่าข่า เคยอธิบายความหมายของอ่าข่าย้องว่ามีความหมายรวมถึง ศาสนา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎข้อบังคับ ซึ่งครอบคลุมแง่มุมชีวิตคนอ่าข่าทุกด้านทุกระดับ อาทิ เกี่ยวกับการแผ้วป่าถางไร่ การปลูกหรือเกี่ยวข้าว การปลูกสร้างบ้าน การล่าสัตว์เลี้ยงสัตว์ การทำอาหาร การมีลูก การเลี้ยงลูก รวมไปจนถึงการเรียกชื่อคนในครอบครัวเดียวกัน เครือญาติ สายตระกูลเดียวกัน ตลอดจนการแต่งงาน การระงับข้อพิพาท และการปฏิบัติต่อคนภายนอก ข้อกำหนดตามอ่าข่าย้องนี้ ยังมีความละเอียดลงไปถึงการดำเนินพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และการประกอบพิธีกรรมต่างๆ


 


Cornelia Ann Kammerer นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เคยศึกษาเรื่องเล่าพื้นบ้านอ่าข่าว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งคนเมือง (ล้านนาไทย) จีน ลาหู่ ลีซู และอ่าข่า ได้เดินทางไปรับเอาวัฒนธรรมและประเพณีปฏิบัติจากผู้สร้าง โดยคนอ่าข่าใส่วัฒนธรรมและประเพณีที่ได้รับไว้ในตะกร้าที่สานไว้อย่างแข็งแรงแน่นหนา ในขณะที่ตะกร้าของคนกลุ่มอื่นๆ สานไว้อย่างหลวมๆ ทำให้วัฒนธรรมประเพณีที่รับมาตกหล่นหายไปในระหว่างทางกลับบ้าน ส่วนวัฒนธรรมและประเพณีที่คนอ่าข่ารับมา ไม่ตกหล่นสูญหายเลยแม้แต่น้อย คนอ่าข่าที่นับถือวัฒนธรรมดั้งเดิมมักจะบอกว่า ประเพณีวัฒนธรรมอ่าข่านั้นมีความละเอียด ซับซ้อนและมีจำนวนมาก และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบแผนที่บรรพบุรุษเคยกระทำมา ทำให้คนอ่าข่ารุ่นหลังที่ไม่มีความรู้ หรือไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมเดิมได้อย่างถูกต้อง หันไปนับถือศาสนาอื่น


 


อ่าข่า คือชื่อที่ใช้เรียกตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ตะวันตกเฉียงเหนือของลาว และทางตอนเหนือของไทย มีจำนวนประชากรรวมกว่า 2.5 ล้านคน รายงานทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ปี 2545 ระบุว่า มีชาวอ่าข่าอาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวน 68,653 คน โดยอาศัยอยู่ที่ จ.เชียงรายมากที่สุด (59,782 คน) นักภาษาศาสตร์จัดให้ภาษาอ่าข่าอยู่ในตระกูลภาษาธิเบต-พม่า


 


งานมหกรรมวัฒนธรรมและเวทีวิชาการอ่าข่า ครั้งที่ 2 หรือ Khanqgm Aqkaq Pafdzan  2 จัดขึ้นระหว่างวันที่  13-15 ก.พ ที่ผ่านมา ที่บริเวณบ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน มีศิลปินนักร้องชาวอ่าข่าจากประเทศไทยและพม่าเข้าร่วมแสดงด้วย โดยผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนตำบลวาวี และแม่สลองใน ชมรมอ่าข่าไทย มูลนิธิรักษ์อ่าข่า มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิโครงการหลวง 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net