Skip to main content
sharethis

หลายเสียงจากร้านน้ำชาในพื้นที่ชายแดนใต้ หลังสถานการณ์ในพื้นที่กลับมาร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง พวกเขาคิดอย่างไร โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ยิงคนในมัสยิดที่นราธิวาส และยิงพระที่ยะลา

ที่มา: โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา, 13 มิถุนายน 2552

หาก “สภากาแฟ” คือเสียงจาก “รากหญ้า” ในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย “ร้านน้ำชา” ก็คือแหล่งรวมทุกๆ ความเห็นของพี่น้องชาวไทยมุสลิมตั้งแต่ระดับหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน
 
หลังสถานการณ์ร้อนระอุขึ้นอีกครั้งที่ชายแดนใต้ คนที่ปลายด้ามขวานคิดกันอย่างไร โดยเฉพาะกับสองเหตุการณ์อุกอาจ...ยิง 10 ศพในมัสยิดที่เจาะไอร้อง นราธิวาส และสังหารพระขณะบิณฑบาตที่ยะลา
 
ร้านน้ำชาแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ชาวบ้านตั้งประเด็นกันว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดถี่ขึ้นในระยะนี้ ล้วนเกิดขึ้นหลังจากข่าวเกี่ยวกับ “คดีตากใบ” เผยแพร่ออกไป คดีนี้คนในพื้นที่เฝ้ามองมาตลอดว่าจะมีความยุติธรรมหรือไม่ เมื่อผลออกมาแบบที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ผิด จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ
 
“หลังจากคดีตากใบ ดูเหมือนว่าเหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นทุกวัน เช้ายิงครู เย็นยิงชาวบ้าน เกิดลักษณะนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในระยะหลังก็ดูจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางแผน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่นราธิวาส (ยิง 10 ศพในมัสยิด) รัฐจะพยายามบอกว่าขบวนการทำ แต่เหมือนจะยิ่งสร้างศักยภาพให้กับฝ่ายขบวนการหรือเปล่า” เป็นเสียงของชาวบ้านที่วิเคราะห์กัน
 
วงน้ำชาที่นราธิวาส ยังแสดงทัศนะเกี่ยวกับเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามสังหารพระสงฆ์ที่ จ.ยะลา เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาด้วย

“กรณียิงพระ ก็ดูเหมือนจะเข้าทางคนร้าย การที่เจ้าหน้าที่บอกว่าขบวนการเป็นคนทำเรื่องที่นราธิวาส แล้วจากนั้นก็มาเกิดเหตุยิงพระอีก ทำให้ดูเหมือนว่ากลุ่มขบวนการมีศักยภาพเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อยกระดับ ทั้งๆ ที่กลุ่มขบวนการไม่ต้องทำอะไรมากเลย”

ส่วนร้านน้ำชาในอำเภอรอบนอกของปัตตานี ชาวบ้านที่นั่นฟันธงว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ยิง 10 ศพในมัสยิด แล้วมาเกิดเหตุการณ์ยิงพระ แบบนี้คือการล้างแค้นกันแล้วอย่างแน่นอน และหวั่นว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะสงบยาก

“เมื่อวานยิงอิสลาม วันนี้ยิงพุทธ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่มีวันสงบ ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ แต่ถึงตอนนี้คนร้ายได้ประโยชน์ไปแล้ว เพราะรอให้เกิดสถานการณ์แบบนี้มานานแล้วเพื่อเชื่อมโยงกับสถานการณ์”

สิ่งที่ชาวบ้านคิดจากวงน้ำชาในปัตตานี คล้ายคลึงกับวงน้ำชาอีกแห่งหนึ่งใน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชาวบ้านที่นั่นวิเคราะห์กันต่อไปด้วยว่าน่าจะเป็นการกระทำของ “มือที่สาม”

“หลังจากเกิดเหตุยิงในมัสยิด แล้วมีการยิงพระอีก มันเข้าข่ายการล้างแค้น และเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์มาจากมือที่สามที่สวมรอยสร้างสถานการณ์แล้วป้ายสีให้กับกลุ่มขบวนการ จนทำให้ฝ่ายนั้นได้คะแนนไป”
 
วงน้ำชาที่สะบ้าย้อย ให้น้ำหนัก “มือที่สาม” เอาไว้แบบนี้...

“แน่นอน...ชาวบ้านต้องเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด อิสลามไม่มีทางที่จะทำ และเหตุการณ์ยิงพระ คนพุทธก็ไม่ทำแน่นอน แสดงว่าต้องมีมือที่สามทำให้ทั้งสองศาสนาแตกแยก และดึงความรู้สึกระหว่างคนจากสองศาสนามาเล่นเกมเพื่อผลประโยชน์ในพื้นที่ เพราะเมื่อความรู้สึกของคนจากสองศาสนาเกิดความขัดแย้งกันแล้ว ปัญหาในพื้นที่ก็จะบานปลายและอาจรุนแรงกว่าในอดีต ทางเดียวที่จะหยุดสถานการณ์ได้ คือต้องจับกุมคนที่เป็นมือที่สามให้ได้”

ทางด้านเสียงจากร้านน้ำชาใน จ.ยะลา ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามไปที่การออกหมายจับผู้ต้องหา 3 คนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระบุว่าเป็นผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุยิงครูท้อง 8 เดือน แต่ก็ยังเชื่อมโยงกับการก่อเหตุคาร์บอมบ์ใน อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และเหตุบุกยิง 10 ศพในมัสยิดด้วย 

“3 คนที่ถูกออกหมายจับใช่ของจริงหรือเปล่า อาจเป็นการสร้างกระแสของเจ้าหน้าที่ก็ได้ โดยเฉพาะเหตุกราดยิงในมัสยิด หากเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการ ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1-2 วัน ในพื้นที่จะเงียบ ชาวบ้านมักรู้ตัวก่อน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีอะไรมาสะกิดเลย ทุกอย่างในพื้นที่เป็นไปอย่างปกติ กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน”

เป็นความเห็นของชาวบ้านที่นั่น และแน่นอนว่าหลายต่อหลายความเห็นเป็นความคาใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
“ทำไมเหตุการณ์ที่สร้างความไม่เข้าใจว่ารัฐหรือขบวนการทำ แทบหาคำตอบไม่ได้ แต่หลายๆ ครั้งที่การก่อเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว เจ้าหน้าที่กลับจับคนร้ายได้ทันที แต่เหตุการณ์แบบนี้กลับจับไม่ได้ ทั้งที่มีทหารตำรวจอยู่เต็มพื้นที่ จะไปไหนก็มีแต่กำลังเจ้าหน้าที่เต็มไปหมด”
 
เจ้าของร้านน้ำชาแห่งหนึ่งซึ่งได้ยินได้ฟังความคิดความเห็นของลูกค้ามาตลอดหลายวัน สรุปให้ฟังว่า ชาวบ้านมักพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความไม่เข้าใจ และตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ด่วนสรุปเกินไปหรือไม่ว่าฝ่ายโน้นฝ่ายนี้เป็นผู้ลงมือ
 
“เท่าที่ฟังดู ชาวบ้านอยากให้เจ้าหน้าที่จับคนร้ายให้ได้โดยเร็วที่สุดมากกว่า และต้องไม่จับแพะ เพราะถ้าเป็นแพะจะยิ่งทำให้บาดแผลยิ่งลึก แก้ไขปัญหาได้ยากขึ้น ทุกคนพูดตรงกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้น่าสะเทือนใจกว่าในอดีต” 
 
นี่คือบางส่วนเสี้ยวของเสียงจากรากหญ้าที่ชายแดนใต้ ซึ่งผู้รับผิดชอบทั้งหลายน่าจะได้สดับตรับฟัง และแม้ว่าในความเห็นเหล่านั้นจะเจือไปด้วย “ความเชื่อ” แต่หลายๆ ครั้ง “ความเชื่อ” ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่า “ความจริง”…มิใช่หรือ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net