Skip to main content
sharethis

 

 
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนหัวนาและราษีไศล ซึ่งตอนนี้ชุมนุมอยู่ที่บริเวณสันเขื่อนราษีไศล ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 ร่วมกันลงแขกดำนาของนางสำราญ สุรโคตร แกนนำกลุ่ม พื้นที่นาจำนวน 10 ไร่ อยู่บริเวณป่าทามหนองอึ่ง บ.นาแปะ ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งที่นาผืนนี้เป็นหนึ่งในจำนวนพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา หลังต้องชุมนุมยืดเยื้อร่วม 15 วัน ทำให้ไม่ได้กลับไปทำนา จึงมาช่วยกันดำนาให้เสร็จโดยเร็ว เตรียมตัวสำหรับการชุมนุมในระยะยาว จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ในวันที่ 20 มิถุนายน นี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะไปช่วยดำนาของนางผา กองธรรม ที่ ต.ยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด อีกด้วย
นางสำราญ สุรโคตร กล่าวว่า “วันนี้พี่น้องมาช่วยดำนาประมาณ 100 คน ตนดีใจมาก ภูมิใจจริงๆ ที่เพื่อนยังไม่ทิ้งกัน ถึงเราเป็นคนจน ก็มีความเสียสละอย่างใหญ่หลวง ซึ่งกลุ่มของเราเคยทำมาประจำ ซึ่งปีที่แล้วก็เคยไปช่วยกันเกี่ยวข้าวที่บ้านหนองแค”
นางสำราญ กล่าวต่อว่า “พี่น้องที่มารวมกลุ่ม ก็มาจากผู้เดือดร้อนที่ไปชุมนุมด้วยกัน แม้เรากำลังชุมนุมแต่ทุกคนก็มีงานต้องทำ มีนาต้องทำ ซึ่งคิดว่าเราน่าจะมาช่วยกัน ให้ไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะไร่นาของเราก็ต้องไม่ลืม ต้องมาทำ ซึ่งพี่น้องทุกคนมีความคิดเหมือนกัน ถึงลำบากแค่ไหนก็ต้องอดทนและมีความสามัคคี เพราะแต่ก่อนการลงแขกดำนาก็บอกกันให้มาช่วย แต่เดี่ยวนี้ยาก ต้องจ้างดำนา นอกจากจะรวมตัวกัน มีกลุ่มมีก้อนเป็นองค์กรชาวบ้านแบบสมัชชาคนจน ถึงจะช่วยกันได้ เราควรภูมิใจ”
ด้าน นางสุดใจ บุญหล้า บ.โนนน้อย ต.โคกหล่าม อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า “พวกเราต้องช่วยเหลือกันไปอย่างนี้ละ ซึ่งแต่ก่อนเราเดือดร้อนคนละบ้าน คนตำบล คนละอำเภอ พอมารวมตัวกัน ได้เข้าร่วมเครือข่าย นับถือเป็นพี่เป็นน้อง ก็เห็นใจกัน มีการมีงานอะไรก็ต้องช่วยเหลือ บางคนต้องเป็นตัวแทนพี่น้อง มีภาระการงานต้องไปประชุม ทำงานทำการให้พี่น้อง ไม่มีเวลามาหาอยู่หากิน ทำไร่ทำนา ก็ต้องหาเพื่อนมาช่วยกัน คนอื่นอาจจะต้องเสียเงินจ้างคนดำนา แต่พวกเราไม่ต้องจ้าง จะพยายามอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ของเราไว้”
ขณะที่ นายสมบัติ โนนสังข์ แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา ต.โนนสังข์ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า “พวกเราได้มาชุมนุมอยู่ร่วมกัน ซึ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงหน้าดำนา กล้ากำลังพอปักดำ และหลายคนทำนายังไม่เสร็จ เราก็ได้มาช่วยกันตามประเพณีของชาวอีสาน ก็แบ่งคนมาช่วยกันถอนกล้า ดำนา ไถนา”
“การวานมาลงแขก เป็นประเพณี วัฒนธรรมของชาวอีสานที่เคยทำมาเป็นประจำ ไม่เฉพาะการดำนา การเก็บเกี่ยวข้าวก็มีเหมือนกัน ภาษาบ้านเราก็คือการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ชาวสมัชชาคนจนได้รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดี เพื่อสืบทอดไปถึงลูกถึงหลาน เป็นตัวอย่างให้ลูกหลานได้เห็น และวันนี้เราได้ช่วยกันโดยไม่ได้คิดมูลค่าอะไรเลย”นายสมบัติ ย้ำ
ทั้งนี้ การดำนาเริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 8.00 น. และแล้วเสร็จในเวลา 15.00 น. อนึ่ง ในวันที่ 19 มิถุนายน นี้ ตัวแทนสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนา ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการฝาย(เขื่อน)หัวนา ที่จังหวัดนครราชสีมา และในวันเดียวกันนี้ ตัวแทนสมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล ร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝาย (เขื่อน) ราศีไศล (ชุดใหญ่) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และ วันที่ 20 มิถุนายน 2552 จะมีการชี้แจงผลการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมโครงการฝาย(เขื่อน)หัวนา ที่ สันเขื่อนราษีไศล นอกจากนี้ วันที่ 23 มิถุนายน 2552 ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด กรณีฝาย (เขื่อน) ราษีไศล ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เวลา 10.00 น. ซึ่งความคืบหน้าในเรื่องนี้จะรายงานต่อไป
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net