Skip to main content
sharethis

วานนี้ (18 ส.ค.52) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จัดการสัมมนา “ชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย” ณ ห้องประชุม พอช.ชั้น 1 เพื่อนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าเรื่องโฉนดชุมชนหรือการจัดการสิทธิที่ดินรวมโดยชุมชน รวมทั้งระดมความคิดเห็นต่อร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสิทธิการใช้ประโยชน์จากโฉนดชุมชน ก่อนที่ร่างดังกล่าวจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนกันยายนนี้ โดยเปิดให้ภาคประชาสังคมหลายภาคส่วน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เครือข่ายสลัมสี่ภาค ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นายสาธร วงศ์หนองเตย ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในฐานะตัวแทนของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ยังไม่เป็นทางออกที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐบาลเมื่อมีการเสนอแนวคิดการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องนำมาเชื่อมโยงประเด็นเพื่อการแก้ปัญหา นอกจากนี้ในเรื่องโฉนดชุมชนยังมีประเด็นที่ต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ ต่อด้วยเรื่องธนาคารที่ดินเพื่อการแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ นายสาธรยังได้ให้ความหมายเกี่ยวกับโฉนดชุมชนตามแนวคิดของภาครัฐว่า เป็นการรับรองสิทธิในที่ดินแปลงใหญ่เพื่อให้ชาวบ้านทำกินในเขตทับที่อุทยานหรือที่ดินของรัฐ โดยรับรองสิทธิการทำอยู่ทำกิน ให้สิทธิเป็นกรรมสิทธิ์รวมขององค์กรชุมชน ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่ากรณีใดก็ตาม หากมีการสละสิทธิการใช้ประโยชน์ให้ที่ดินกลับไปเป็นของส่วนรวม และการดำเนินการมีคณะกรรมการของชุมชนในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมต่างๆ

ส่วนรัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ออกกฎระเบียบมาช่วยให้การจัดการสิทธิที่ดินรวมโดยชุมชนทั้งที่ทำอยู่แล้วหรือจะเริ่มดำเนินการให้มีความถูกต้องและยังยืน อย่างไรก็ตามความคิดนี้อาจไม่ตรงกันซึ่งก็ควรมีเวลาในการทำความเข้าใจพูดคุยร่วมกัน

ด้านนางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า เรื่องโฉนดชุมชน เป็นแผนการจัดการที่ดิน ที่ช่วยในการดูแลทรัพยากรและฐานการผลิต ไม่ได้เน้นเพียงแค่เรื่องสิทธิ แต่เป็นเหมือนแผนพัฒนา ซึ่งขณะนี้ พอช. ให้ความสนใจในเรื่องการทำข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาในเรื่องนี้มีหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกรมที่ดิน กรมอุทยาน กรมป่าไม้ ฯลฯ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปจัดการดูแลได้ยาก นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องโฉนดชุมชน ทำให้คนเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านจะไปยึดที่ดินของรัฐมาทำที่ส่วนตัว และสร้างกระแสให้สังคมตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ การทำโฉนดชุมชนเป็นเรื่องที่มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องลักษณะของพื้นที่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเดิม แนวความคิดและแนวทางการจัดการ แต่มีส่วนที่ร่วมกันคือ การจัดการที่ดินร่วมกันโดยชุมชน เพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดิน และร่วมกันพัฒนาที่ดินในด้านต่างๆ 

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้นางสาวพรรณทิพย์กล่าวว่า เป็นเหมือนการประชุมเตรียมการ ซึ่งตามแผนงานจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ประมาณวันที่ 12 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ในช่วงของวันที่อยู่อาศัยโลก โดยเน้นเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยร่วมกันของชุมชน และกติกาการอยู่ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ก่อนหน้าการสัมมนาครั้งใหญ่ดังกล่าวจะมีการจัดการสัมมนาในระดับภูมิภาค 5 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันตก และสุดท้ายคือ ภาคตะวันออกและกรุงเทพฯ เพื่อการเรียนรู้รูปธรรมร่วมกัน และเป็นการออกมาสื่อสารสู่สังคม

ในส่วนความเห็นต่อร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสิทธิการใช้ประโยชน์จากโฉนดชุมชน นางสาวพรรณทิพย์กล่าวว่า ถือเป็นการเปิดพื้นที่ แต่ดูจากร่างที่เห็นจะเป็นการรวมศูนย์อยู่ตรงคณะกรรมการ ซึ่งน่าจะจะมีการกระจายสู่ความร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่น ในเรื่องการทำข้อมูลที่ดินทั้งตำบล ข้อมูลแหล่งน้ำ รวมทั้งทำพิกัดพื้นที่ให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังกล่าวแสดงความห่วงใยว่าหากระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าวระบุข้อมูลรายละเอียดที่มากเกิดไป อาจทำให้การดำเนินการทำได้ยาก เพราะในพื้นที่มีความหลากหลายมาก ทั้งนี้น่าจะทำให้เป็นแนวทางมากกว่า

นอกเหนือจากปัจจัยเชิงนโยบาย ในเรื่องของระเบียบสำนักนายกฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องโฉนดชุมชนแล้ว ในส่วนของท้องถิ่นก็เป็นส่วนสำคัญ ตาม พ.ร.บ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่ง พอช.พยายามทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีรูปธรรมการทำงานมากขึ้น โดยการทำข้อบัญญัติท้องถิ่นของหลายๆ ชุมชน ในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน โดยมีนักกฎหมายเป็นที่ปรึกษา และออกพร้อมๆ กันหลายๆ พื้นที่เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเลือกพื้นที่ของภาคต่างๆ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไป

ทังนี้ การสัมมนาในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย 5 ภาค เพื่อหารือแนวทางการจัดสัมมนาระดับภาค ในการขับเคลื่อนเรื่องโฉนดชุมชน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนและท้องถิ่นเป็นแกนหลัก ซึ่งมีหัวข้อในการพูดคุยประกอบด้วยความเห็นเกี่ยวกับการจัดการที่ดินรวมโดยชุมชนในรูปโฉนดชุมชนท้องถิ่น แต่ละภาคจะมีกระบวนการจัดการที่ดินโดยชุมชนท้องถิ่นอย่างไรในช่วยระยะเวลา 2-3 เดือนที่จะถึงนี้ และพื้นที่รูปธรรมในการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนท้องถิ่น พื้นที่ที่มีความพร้อมจะมีการทำงานร่วมกันอย่างไร นอกจากนี้ยังร่วมกันวางแผนการเตรียมเนื้อหาและกระบวนการจัดสัมมนาในระดับภาคด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net