Skip to main content
sharethis

วานนี้ (2 ก.ย.52) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน (เวทีภาคกลางและปริมณฑล)” ณ ห้องประชุมจุมภฎพันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปปก – รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเวทีที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากการสัมมนาในเรื่องเดียวกัน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา

พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Act) กล่าวถึงภาพรวมของปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยว่า ขบวนการต่อสู้เรื่องที่ดินได้มีการเคลื่อนไหวมานานกว่า 30 ปี โดยมีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เป็นหัวหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกหน้าหนึ่งของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน

ในส่วนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) ซึ่งเป็นขบวนการต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนั้น ได้ก่อตัวมาเมื่อประมาณปี 2544 เป็นต้นมา เริ่มจากการสรุปประสบการณ์การทำงาน ถอดบทเรียนการต่อสู้เรื่องที่ดิน และการจัดกิจกรรมอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอร่วมกัน จนที่สุดได้เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)” ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนสาเหตุของที่มีขบวนการภาคประชาชนลุกขึ้นมาปฏิรูปที่ดินด้วยตนนั้น เนื่องจากว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินแต่ไม่เพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ตอกย้ำว่า ประเทศไทยมีคนที่มีที่ดินไม่เพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ อาจารย์ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอกรณีตัวอย่างการกระจุกตัวของที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินทั้งหมดในเขตกรุงเทพฯ อยู่ในมือของ 50 คนแรกที่มีที่ดินมากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนของคนที่มีที่ดินมากที่สุด 50 คนแรก และ 50 คนหลัง มีส่วนต่างกันมากกว่า 2 แสนเท่าตัว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตัวเลขดังกล่าวนี้ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของการกระจายการถือครองที่ดินในประเทศไทย

พงษ์ทิพย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นของการแก้ไขปัญหาที่ดินเอกชนว่า คปท. ได้มีการเสนอให้รัฐแก้ไขปัญหานี้ โดยการหางบประมาณมาจัดซื้อที่ดินแปลงที่มีกรณีพิพาท แล้วนำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดทำเป็นโฉนดชุมชน ให้กลุ่มผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยบริหารจัดการต่อไป ส่วนที่ดินของรัฐนั้น คปท. เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนให้ชาวบ้านผู้ประสบปัญหาสามารถอยู่ได้ต่อไปในเขตป่า สามารถประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ โดยการรับรองสิทธิ์คนเหล่านี้ด้วยวิธีการออกโฉนดชุมชน เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นการป้องกันปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น การถูกไล่ออกจากพื้นที่ การข่มขู่คุกคาม การทำลายอาสิน การฟ้องร้องในทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ส่วนวิธีแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน พงษ์ทิพย์กล่าวว่า รัฐควรเร่งหามาตรการให้หลากหลายที่จะทำให้ที่ดินเกิดการกระจายการถือครองที่ดิน และควรผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นและนำไปใช้ได้จริง ซึ่งวิธีการหนึ่งที่พอมองเห็นและทำได้ในตอนนี้ก็คือ การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ที่ดินไม่เกิดการกระจุกตัวเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในส่วน คปท. ได้เสนอให้มีการหักงบประมาณ 2% จากภาษีข้างต้นนี้เข้าไปไว้ในส่วนกองทุนธนาคารที่ดิน และธนาคารที่ดินจะเป็นผู้บริหารจัดการเงินส่วนนี้ โดยจะนำไปซื้อที่ดินให้กับผู้ที่ประสบปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยต่อไป

ไพโรจน์ พลเพชร  ผู้ประสานงานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้กล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่เกิดคือ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค หรืออาจกล่าวได้ว่า ปัจจัย 4 คือชีวิต ซี่งถ้าเรามองย้อนกลับไปถึงที่มาของ 4 ปัจจัยนี้จะเห็นว่า ล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดมาจากที่ดินทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า หากไม่มีที่ดินปัจจัย 4 ก็จะไม่เกิด ดังนั้น ที่ดินจึงเปรียบเสมือนกับชีวิต แต่ ณ ปัจจุบัน นิยามของที่ดินได้ถูกทำให้เปลี่ยนไปจากเดิมจนกลายมาเป็น “ที่ดินคือสินค้า” ปัญหาที่ตามมาก็คือการปั่นราคา การปล่อยขายที่ดินเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุดังกล่าว สิ่งที่ต้องปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน ณ ตอนนี้ก็คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนต้องเร่งฟื้นแนวคิดเรื่องที่ดินแบบเดิม คำถามก็คือ ตอนนี้รัฐไทยทำอะไรได้บ้างที่ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ผ่านมาถือเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินได้เลยแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยการเร่งออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ ได้กลายเป็นชนวนนำไปสู่การเปลี่ยนมือที่ดินเป็นจำนวนมากหลังได้รับโฉนดที่ดิน

ดังนั้น เมื่อผลได้ปรากฏชัดเจนแล้วว่า มาตรการรัฐที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินได้สำเร็จ รัฐจึงควรสนับสนุนให้ชุมชนได้แก้ไขปัญหาของตนเองภายใต้ความเหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ และถ้าปล่อยให้ชุมชนบริหารจัดการที่ดินด้วยตัวเองแล้ว จะสามารถบรรลุผลอย่างน้อยที่สุด 3 ประการคือ 1.ทำให้มีการกระจายสิทธิ์การถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม 2.ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน 3.ประเทศไทยจะสามารถรักษาพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสมกับการทำการผลิตแต่ละชนิดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการรักษาแหล่งผลิตอาหารให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ไพโรจน์ กล่าวต่อถึงอุปสรรคของการแก้ไขปัญหาที่ดิน คือ 1.ชุมชนมีความเชื่อว่า สามารถบริหารจัดการที่ดินได้เองโดยใช้รูปธรรมที่เห็นในพื้นที่เป็นตัวชี้วัด ในขณะที่รัฐกลับเชื่อว่า รัฐคือผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินได้ดีที่สุด 2.ช่องโหว่ของกฎหมายไทย โดยเฉพาะกฎหมายที่ดิน ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินได้จริง ภาพที่เห็นในปัจจุบัน คือ เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน การถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม การไล่ล่าชาวบ้านออกจากพื้นที่ แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 จะได้รับรองให้ชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการที่ดินทำกินด้วยตนเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองการการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นทุกอย่างของชุมชนโดยชุมชน แต่ถึงที่สุดแล้วกลับปฏิบัติไม่ได้จริง

ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นของการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนซึ่ง คปท.เห็นว่า 1.ระเบียบนี้ควรถูกปฏิบัติใช้ตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีมาก่อนหรือหลังการออกระเบียบฯ นี้ก็ตาม 2.ระเบียบฯ นี้ควรถูกนำไปปฏิบัติใช้กับที่ดินทุกประเภทหากชุมชนนั้นๆ มีความพร้อมที่จะจัดทำโฉนดชุมชน แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการออกระเบียบฯ นี้แล้วก็ตาม จะต้องมีการนำเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายบางมาตรา เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการ “โฉนดชุมชน” ซึ่งถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ ถือเป็นทางเลือกทางรอดที่ทุกส่วนต้องมีการผลักดันร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนนี้ จะถูกจัดขึ้นอีก 3 ครั้งใน 3 ภาคคือ 3 กันยายน 2552 ที่ภาคอีสาน 7-8 กันยายน 2552 ที่ภาคเหนือ และ 11 กันยายน 2552 ที่ภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net