Skip to main content
sharethis

วันนี้ (10 ธ.ค.52) สืบเนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล (10 ธ.ค.) กลุ่มนักศึกษาสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม และกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเงา” ได้เปิดตัวพร้อมออกคำประกาศเจตนารมณ์ ประกาศจะทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเหมือนดังเป็นเงา

คำประกาศเจตนารมณ์ ชี้แจงว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทย ถูกตั้งคำถามต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนไทย และการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่มีพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่อ้างว่าเกิดจากแรงผลักดันและการเรียกร้องของประชาชนที่มุ่งหวังจะให้มีกลไกอิสระทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เมื่อเกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น หลายกรณีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ได้ออกมาให้ความช่วยเหลือ

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเงา” จึงถูกตั้งขึ้นด้วยความหวังว่า จะเป็นแรงผลักดันในเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ อันจะต้นทุนหนุนเสริมประชาธิปไตยให้มั่นคงลง เพื่อเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่สังคมใหม่ที่ยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ รวมทั้งสิทธิอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ และเป็นสังคมที่เชิดชู “ปฏิญญาสูงสุดของสามัญชน” ที่ต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด อิสรภาพในความเชื่อ และอิสรภาพที่จะดำรงอยู่อย่างปราศจากความหวาดกลัวและความขาดแคลน (ดูคำประกาศฉบับเต็มที่ล้อมกรอบ)

คำประกาศเจตนารมณ์ของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเงา”
 
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยความบอบช้ำย่อยยับของมวลมนุษยชาติ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองคำประกาศเจตนารมณ์แห่ง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (The Universal Declaration of Human Rights 1948, UDHR) อันมีคำปรารภที่ยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติว่า
 
“โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัวและสิทธิเท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นหลักมูลเหตุแห่งอิสรภาพและความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
 
โดยไม่นำพาและเหยียดหยามต่อมนุษยชน อันยังผลให้มีการกระทำอย่างป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรง และได้มีการประกาศว่า ปฏิญญาสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูดและความเชื่อถือ และอิสรภาพที่จะพ้นจากความหวาดกลัวและความต้องการ
 
โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักบังคับของกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนตกอยู่ในบังคับ ให้หันเข้าหาขบถ ขัดขืนต่อทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย
 
โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมวิวัฒนาการแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างนานาชาติ
 
โดยที่ประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูลในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์ และสิทธิในความเท่าเทียมกันของบรรดาชายและหญิง และได้ตกลงใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นด้วยในอิสรภาพอันกว้างขวางยิ่งขึ้น
 
โดยที่รัฐสมาชิกต่างปฏิญาณจะให้บรรลุถึงซึ่งการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามทั่วสากลต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูล โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ
 
โดยที่ความเข้าใจร่วมกันในสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อให้ปฏิญญานี้สำเร็จผลเต็มบริบูรณ์
 
เป็นที่ทราบทั่วกันว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมออกเสียงสนับสนุนการประกาศเจตนารมณ์แห่งปฏิญญาสากลฯ ฉบับนี้ และยังเป็นที่ทราบทั่วกันว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลาย ฉบับ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women - CEDAW)กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights - ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - ICERD) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities)
 
ด้วยพันธกรณีแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้ น่าจะทำให้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนไทยมีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง
 
แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น สังคมไทยกลับตกอยู่ในความเงียบ ผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิจำนวนไม่น้อยถูกโดดเดี่ยว ความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกทำให้บกพร่อง ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ถูกทำลายลงต่อหน้าต่อตานักสิทธิมนุษยชนไทย หลายต่อหลายเหตุการณ์มีเสียงเรียกร้องให้นักสิทธิมนุษยชนออกมากอบกู้ศักดิ์ศรีและเยียวยาความเป็นมนุษย์ให้แก่พวกเขา ทว่าเสียงเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงเสียงอันแผ่วเบาที่สุดท้ายถูกปล่อยให้เลือนหายไปในสายลม จนเกิดคำถามและข้อกังขาต่างๆ มากมายต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนไทย และการทำงานขององค์กรต่างๆ ที่มีพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (The National Human Rights Commission of Thailand) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่อ้างว่าเกิดจากแรงผลักดันและการเรียกร้องของประชาชนที่มุ่งหวังจะให้มีกลไกอิสระทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนคนธรรมดาให้ปรากฏเป็นจริงตามที่มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพอย่างกว้างขวางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้
 
เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล “เรา” กลุ่มนักศึกษาสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม และเสรีชนผู้ปรารถนาจะเห็นมนุษย์ทุกผู้นามในดินแดนนี้และบนโลกนี้ ได้รับการประกันอิสรภาพอย่างกว้างขวางและดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันตามคำปรารภของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขออาสาเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่จะร่วมทำลายความเงียบในห้วงวิกฤตสิทธิมนุษยชนไทย ด้วยการเคลื่อนไหวเป็น “เงา” เดินตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในนาม “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเงา”
 
ด้วยความหวังว่า เมล็ดพันธุ์แห่งสิทธิมนุษยชนที่ถูกหว่านลงแล้วในดินแดนนี้ จะแพร่พันธุ์เติบโตอย่างสมบูรณ์ เป็นต้นทุนหนุนเสริมให้ประชาธิปไตยที่แท้ได้ปักหลักหยั่งรากอย่างมั่นคงลงในดินแดนนี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านมิติแห่งยุคสมัย นำเราก้าวไปสู่ “สังคมใหม่” อันเป็นสังคมซึ่งยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว รวมทั้งสิทธิอันเท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นหลักมูลเหตุแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก และเป็นสังคมซึ่งเชิดชู “ปฏิญญาสูงสุดของสามัญชน” ที่ต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด อิสรภาพในความเชื่อ และอิสรภาพที่จะดำรงอยู่อย่างปราศจากความหวาดกลัวและความขาดแคลน
 
ด้วยเจตจำนงอันบริสุทธิ์เสรี
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเงา
10 ธันวาคม 2552

 

 

 

 
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
 
อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2550
บทบัญญัติมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1.ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอ ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
2. เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
3. เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
4. ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณี
ที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
5. เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ ต่อรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
6. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
7. ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และองค์การอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน
8. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
9. อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน
ส่วนรวมของชาติและประชาชนประกอบด้วย และมีอำนาจเรียก
 
อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ ดังนี้
มาตรา 15
1. ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่า
ประเทศ
2. ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฎว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
3. เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
4. ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
5. ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยราชการ องค์การเอกชน และ องค์การอื่นใดด้านสิทธิมนุษยชน
6. จัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยต่อสาธารณชน
7. ประเมินผลและจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อรัฐสภา
8. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
9. แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
10. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
 
กฎหมายระหว่างประเทศไทยรัฐไทยเข้าร่วมเป็นภาคี
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights)
อนุสัญญาการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ พ.ศ.2522 (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against woman)
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ.2532 (Convention on the Rights of the Child Adoped and opened for signature, ratification and accession by General Assembly resolu)
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net