Skip to main content
sharethis

 


รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว

 

 

เมื่อในวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ที่ห้องประชุมอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานีเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร และเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น ร่วมกันจัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” โดยมีองค์กรร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า โดยมีผู้เข้าร่วม กว่า 500 คน

รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวนำเรื่องการทำความเข้าใจการเมืองการปกครองบนความแตกต่างทางอัตลักษณ์ว่า สันติภาพที่จะเกิดขึ้นได้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องพูดถึงการปฏิรูประบบของรัฐในพื้นที่ด้วย ซึ่งจะต้องมองทะลุไปถึงอนาคต ไม่ได้หมายความว่า พูดจบวันนี้แล้ว จะเกิดพระราชบัญญัติปกครองการจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย แต่ต้องมองเห็นภาพอนาคตได้อย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการ คือต้องการมีโรปแมป (แผนที่นำทาง) สำหรับการปกครองปัตตานี ในระยะ 5 ปี หรือ 10 ปีและสามารถสร้างความสงบในพื้นที่ได้


เสนอโมเดลเขตปกครองพิเศษในจีน

นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล นำเสนอเรื่องเขตปกครองพิเศษในประเทศจีนว่า ปัจจุบันมีการปกครองที่มีการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอยู่จำนวน 157 เขตการปกครอง คิดเป็น 65% ของพื้นที่ประเทศ และมีประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองรูปแบบพิเศษกว่า 190 ล้านคน

สำหรับรูปแบบของเขตปกครองพิเศษในจีนนั้นแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1.เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย (Autonomy area) มีจำนวน 155 เขต ที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 1984 โดยแบ่งเป็นเขตปกครองตนเองเป็นระดับต่างๆ คือ เขตปกครองตนเองระดับมณฑล ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 เขต คือ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยเกอร์ เขตปกครองตนเองกวงสีจ้วง เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย และ เขตปกครองตนเองธิเบต

เขตปกครองตนเองระดับจังหวัด 30 เขต กระจายอยู่ในมณฑลต่างๆ รวมถึงอยู่ในเขตปกครองตนเองระดับมณฑลด้วย เช่น เขตปกครองตนเองคนไทในจังหวัดสิบสองปันนา ของมณฑลยูนนาน หรือเขตปกครองตนเองหุยในจังหวัดชางจี๋ ของมณฑลปกครองตนเองซินเจียงอูยเกอร์

เขตปกครองตนเองระดับอำเภอมีจำนวน 120 เขต กระจายอยู่ในมณฑลต่างๆ ที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ บางอำเภออาจมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่หนาแน่น 2 ชนเผ่าพอๆ กัน ก็จะจัดเป็นเขตปกครองตนเองร่วมกัน เช่นเขตปกครองตนเองชนเผ่าหยีและหุยในอำเภอต้าหลี่ มณฑลยูนนาน เป็นต้น

2 เขตบริหารพิเศษ (Special Administrative District) ภายใต้กฎหมายพื้นฐาน (The Basic Law) จำนวน 2 เขต คือ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า
 

แนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ 3 จังหวัด
นายอุดม ปัตนวงศ์ จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวอภิปราย “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?” ว่า รูปแบบการปกครองที่เครือข่ายประชาสังคมเสนอ คือ ให้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ คล้ายกรุงเทพมหานคร อาจรวมทั้ง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หรือแยกเป็น 4 องค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ เรียกว่า นครปัตตานี เป็นต้น โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว้าราชการจังหวัด ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดเดิม ซึ่งเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคนั้นให้ยกเลิก เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล และให้มีสภาของนครดังกล่าวด้วย

ขณะเดียวกันให้มีหน่วยการปกครองส่วนกลางในพื้นที่ด้วย โดยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง และให้มีสภาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำหน้าที่กำกับดูแล และให้มีสภาที่ปรึกษาสูงสุด ทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งนครและ ศอ.บต.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net