Skip to main content
sharethis

คุยกับ‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ คณะผู้ริเริ่มร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ…. โดยเน้นย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร คือทางออกของกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และฝากไปยัง ส.ส.ในสภา รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้ช่วยพิจารณานโยบายนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประกาศไว้ในตอนหาเสียง ขอให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย 

ทำไมถึงกลับมาขยับประเด็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร กันอีกครั้ง

ถ้าพูดถึงเรื่องร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ที่เราขับเคลื่อนมา มันก็นานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้หยุดนะ ยังมีการขับเคลื่อนกันมาต่อเนื่องในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น เราทํางานในรูปแบบของสภาลมหายใจเชียงใหม่ และอีกหลายๆ กลุ่ม ก็ยังขับเคลื่อนกันอยู่

ในอดีตเราเคยยื่น พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ให้กับสภา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 แล้วหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้น ทำให้ ร่าง พ.ร.บ. นี้ถูกปัดตกไปในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จนมาถึงรัฐบาลชุดนี้ เราคิดว่าสถานการณ์ช่วงนี้น่าจะเหมาะ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เราในนามภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ร่วมกับประชาชนชาวเชียงใหม่ ก็ได้มีการยื่นร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ให้กับทางสภาผู้แทนราษฎรกันอีกครั้ง โดยตอนนั้นมีคุณปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจากประธานสภาผู้แทนราษฎร มารับที่หน้าลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

ประเด็นการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร หลักๆ มีเรื่องไหนที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนบ้าง?

ประเด็นหัวใจสําคัญ คือเรื่องเงินงบประมาณ และการกระจายอํานาจ เราคิดว่าจังหวะนี้น่าจะเหมาะด้วยเหตุสองประการคือว่า

หนึ่ง บรรยากาศโดยภาพรวมทางการเมืองก็เปิดมากขึ้น มีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลใหม่

สอง มีพรรคการเมืองที่รับเรื่องกระจายอํานาจเป็นนโยบายของพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชนในปัจจุบัน) และพรรคเพื่อไทย ที่ก็เคยประกาศว่าจะมีการผลักดันจังหวัดที่มีความพร้อมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ในส่วนของภาคประชาชนก็เรียกร้องเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งเราเห็นว่าจังหวะนี้ น่าจะเป็นจังหวะที่จะขับเคลื่อนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร

ที่อยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เพราะปัญหามันอยู่ที่การรวมศูนย์มากเกินไป?

ใช่แล้ว เราวิเคราะห์กันมาโดยตลอด เรามองว่าการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้อยู่ที่กรุงเทพฯ มันไม่เวิร์คสําหรับการพัฒนาเติบโตของจังหวัดต่างๆ ที่มันเติบโตอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เชียงใหม่ ต้องถือว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศ หรือในด้านเศรษฐกิจก็เติบโตค่อนข้างเยอะ รองจากกรุงเทพฯ อยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศเลย เพราะฉะนั้น พอมันเติบโตอย่างนี้  ในขณะเดียวกัน  มันก็จะมีปัญหาเยอะขึ้นมาด้วย มีปัญหามากมายที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยระบบรัฐรวมศูนย์  มันจึงต้องเปิดให้มีการจัดการบริหารที่มันสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่โดยให้ประชาชนในจังหวัดได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น 

ซึ่งตรงนี้ เป็นหลักการใหญ่ที่เราคิดว่ามีความจําเป็น ถ้าจะตอบโจทย์ในอนาคตของเชียงใหม่ ที่ทําให้การพัฒนามีความเข้มแข็ง มีความยั่งยืนไปในทิศทางที่คนเชียงใหม่ต้องการ  มันต้องเป็นแนวนี้อยู่แล้ว ในขณะที่เรายังพบว่าระบบราชการที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มันไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าระบบราชการมันรวมศูนย์ตรงกลาง แต่ว่ามาแยกส่วนกันทํางานในระดับพื้นที่ ในระดับจังหวัด  ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในจังหวัดเชียงใหม่ มีหน่วยงานจากส่วนกลางมาตั้งอยู่ประมาณ 150 กว่าแห่ง แต่ว่าการทำงานก็ต่างคนต่างทํา ต่างคนต่างฟังคำสั่งจากส่วนกลาง แล้วก็เอาแผนงานนโยบายจากกรุงเทพมาทํา ซึ่งแบบนี้เราก็เห็นเลยว่ามันไม่สามารถแก้ปัญหาได้  เพราะว่าการมองอะไรที่มันแยกส่วนไปมากขนาดนี้  มีงบประมาณของตัวเอง มีคนของตัวเอง  แล้วก็มีแผนตัวเอง  แต่มันไม่สามารถแก้ปัญหาภาพรวมได้ 

และที่สําคัญคือ ถ้าจะพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนในอนาคต  มันต้องมีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งขณะนี้เราเก็บงบประมาณทั้งหลาย ก็ถูกส่งเข้าส่วนกลางหมด ส่งเข้ากรุงเทพฯ หมดเลย  หลังจากนั้น ทางกรุงเทพฯ ส่งงบประมาณกลับมาให้นิดเดียว  ยกตัวอย่าง เทศบาลก็ได้งบประมาณ 1,000 ล้าน อบต.ก็มี 2,000 ล้าน แค่จะทําระบบขนส่งมวลชนสักสายหนึ่ง ยังทําไม่ได้เลย ฉะนั้น เชียงใหม่มันควรจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี ควรจะมีแผนการพัฒนาที่มันมีความต่อเนื่อง มีความยั่งยืนในทุกทุกด้าน  ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมทั้งหลาย ดังนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนเชียงใหม่จะต้องมีการบริหารจัดการตนเองได้แล้ว

ช่วงเวลานี้ถือว่าคนเชียงใหม่ตื่นตัวมากแล้วใช่มั้ย กับประเด็นเชียงใหม่มหานคร และการกระจายอำนาจ?

ใช่ครับ อย่างที่บอกไปนั่นแหละว่า เชียงใหม่มีกลุ่มต่างๆ เยอะมาก มีการรวมตัวกัน พยายามที่จะลุกขึ้นมาวิเคราะห์ปัญหา แล้วก็ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของด้วยตัวเองในทุกเรื่องเลยนะครับ  เพราะฉะนั้น เราจะเห็นกลุ่มประชาชนที่รวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกร รวมตัวกันเป็นกลุ่มดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ทําเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ทําเรื่องการศึกษาทางเลือก ทําเรื่องดูแลสุขภาพ มีกลุ่มเด็กกลุ่มเยาวชน กลุ่มเครือข่ายพระสงฆ์ เครือข่ายพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็พยายามที่จะลุกขึ้นมา เรียกร้องเรื่องสิทธิชุมชนที่จะสามารถจัดการตัวเองได้ตามแนวทางของกลุ่มชาติพันธุ์  หรือว่าการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นต้น เท่าที่เราได้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยน ทุกคนจะเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจเป็นหลัก ทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนสามารถกําหนดชะตาชีวิตของตัวเอง กําหนดแผนพัฒนาจังหวัดของตัวเอง

ซึ่งตรงนี้ เราจะเห็นชัดเจนเลยว่า ทุกกลุ่มจะมีลักษณะการเรียกร้องเหมือนกัน จนทำให้เราเห็นภาพอันนี้แล้วก็เริ่มมีการขับเคลื่อนในภาพรวมร่วมกัน โดยที่สุดแล้ว ถ้าจะทําให้ได้สำเร็จ ก็จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร เกิดขึ้น จึงจะสามารถพัฒนาตามแนวทางที่ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ก็เลยมาร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในช่วงปีที่ผ่านมา

ตอนนี้ทางเครือข่ายได้ขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร กันอย่างไรบ้าง?

ที่ผ่านมาเราได้มีการประชุมกันมาหลายครั้ง  ก็มีทั้งรูปแบบของสภาพลเมืองเชียงใหม่ แล้วก็มีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งก็จะมาจากหลายๆ ฝ่ายมาขับเคลื่อนร่วมกัน มีการประชุมมาหลายครั้ง  แล้วก็มีการยื่นหนังสือ ยื่นร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ไปที่รัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ทางรัฐสภาได้ดูร่างทั้งหลายแล้ว ซึ่งตามระเบียบใหม่ก็คือว่า สภาจะต้องจะเห็นร่างนี้ก่อน แล้วก็ทําจดหมายตอบกลับลงมาว่าอนุญาตให้ระดมรายชื่อเป็นหมื่นรายชื่อ ผู้ที่จะสนับสนุนกฎหมายโดยประชาชน ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ได้ยื่นเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลผ่านผู้แทนพรรคเพื่อไทยด้วย

ในส่วนกระบวนการทำงานของเรา ตอนนี้ก็แบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ก็จะมีการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่อําเภอ เปิดเวทีพูดคุยเพื่อความเข้าใจทั้งฟังเสียงของชาวบ้าน เรื่องร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร กับประชาชนในทุกอําเภอ อันนี้คือแผนที่วางไว้ ซึ่งก็มีการขยับไปหลายพื้นที่ ตั้งแต่โซนเหนือ โซนกลาง และโซนใต้ ซึ่งเราตั้งใจจะให้เสร็จสิ้นประมาณเดือนตุลาคมซึ่งให้สอดคล้องกับที่เราเคยยื่นเดือนตุลาคมเมื่อปี 2556 เราก็จะยื่นอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เหมือนกัน

นอกจากนั้น ทางสภาพลเมืองเชียงใหม่ ก็รับผิดชอบอีกส่วนหนึ่ง ก็คือ กลุ่มเครือข่ายประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนขับเคลื่อนอยู่ ก็จะเชิญชวนแกนนําของเครือข่ายทุกเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อวางแผนว่าเราจะมีเวทีพูดคุยเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานครร่วมกัน รวมไปถึงการรณรงค์ให้มีการลงชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.นี้ ซึ่งเราตั้งใจจะให้จบภายในเดือนตุลาคม

อยากส่งสารหรือส่งเสียงไปถึง ส.ส.ในสภา หรือรัฐบาลชุดใหม่นี้ ให้กลับมาสนใจให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร นี้อย่างไรบ้าง?

เข้าใจว่าพรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็มีนโยบายเรื่องนี้ แต่ว่าที่เด่นชัดก็จะเป็น พรรคก้าวไกล (เดิม) ซึ่งตอนนี้ก็เป็นพรรคประชาชน ที่มีนโยบายหาเสียงเรื่องการกระจายอํานาจที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งเรื่องการนโยบายเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศไทย

อีกส่วนหนึ่งเราเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเองก็เคยประกาศนโยบายว่า อาจจะมีนโยบายที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มีความพร้อม จังหวัดใหญ่ต่างๆ ที่มีความพร้อม ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี  และเราเข้าใจว่าพรรคภูมิใจไทยก็เคยพูดเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น อยากจะเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า จริงๆ นโยบายเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนมีความเรียกร้องต้องการในทุกจังหวัด แต่โอเค ถ้าเราจะเริ่มในจังหวัดที่พร้อมก่อน  ก็คงไม่ขัดข้อง ในแง่ของประชาชนโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เอง เราคิดว่าจังหวัดเชียงใหม่มีความพร้อมมากที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีการตั้งเป็นสภาพลเมืองที่จะทํางานควบคู่ไปกับตัวแทนต่างๆ เหล่านี้  ที่จะร่วมกันมีแผนพัฒนาเชียงใหม่ร่วมกัน มีการตรวจสอบถ่วงดุล มีผู้แทน รวมทั้งการสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชนไปพร้อมๆกัน 

ซึ่งก็อยากจะฝากไปยังรัฐบาลว่า อยากให้ออกนโยบายเรื่องนี้โดยเร็วเพราะถือว่าเป็นความต้องการของประชาชนที่หลายๆ จังหวัดเองก็มีความพร้อม  แล้วก็กําลังขับเคลื่อนกันอยู่ และอยากจะฝากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยก็แล้วกัน ให้ช่วยพิจารณานโยบายนี้ ซึ่งเพื่อไทยครั้งหนึ่งก็เคยประกาศไว้ในตอนหาเสียง ก็อยากให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย 

ที่สำคัญ อยากฝากให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกคน ได้ช่วยกันติดตาม และได้ร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้ เรามีร่าง พ.ร.บ.เรียบร้อยแล้ว ทุกคนสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่สภาพลเมืองเชียงใหม่ หรือที่เครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ กันด้วยนะครับ ตอนนี้เรามีเพจเรื่องนี้ ก็สามารถติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนและก็มาร่วมลงชื่อ ร่าง พ.ร.บ.นี้ร่วมกันได้

สามารถอ่านร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ…. ได้ที่นี่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net