นโยบาย (ไม่) แก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
อัจฉรา รักยุติธรรม และ กฤษฎา บุญชัย[1]

 

การแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นนโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้ในการหาเสียงมาทุกยุคทุกสมัย แต่ความยากจนก็ไม่เคยหมดสิ้นไปจากสังคมไทยจริงๆ เสียที นั่นมิใช่เพราะว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายที่เคยโฆษณาไว้ แต่เป็นเพราะการตีโจทย์ผิด เริ่มตั้งแต่การนิยามความ “ความยากจน” ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปได้

บทความชิ้นนี้จะตรวจสอบวิสัยทัศน์ว่าด้วย “ความยากจน” ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่สะท้อนผ่านนโยบายบางประการในช่วงรอบปีที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับปัญหาความยากจนของสมัชชาคนจน และวิเคราะห์ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่สะท้อนจากปัญหาและข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

ความยากจน นิยามความหมาย

เป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งทศวรรษที่ปัญหาความยากจนปรากฏขึ้นในสังคมไทย พร้อม ๆ กับการปรากฏขึ้นของวาทกรรมการพัฒนา กล่าวคือความยากจนเป็นประเด็นหลักของการแก้ไขปัญหาในการพัฒนามาโดยตลอด แต่ก็ปรากฏว่ายิ่งมีการพัฒนาก็กลับพบว่าประชากรโลกที่เป็นคนจน คนไร้ที่ดิน และคนอดอยากหิวโหยเพิ่มจำนวนขึ้นทุกที เพราะแท้ที่จริงแล้วการพูดถึงความยากจน เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของการสถาปนาวาทกรรมการพัฒนา เพื่อทำให้การพัฒนามีความสำคัญและกลายเป็นความจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

ในระดับโลกประวัติศาสตร์การพัฒนานั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากมีการจัดตั้งองค์กรสหประชาชาติขึ้นมาในปี ค.ศ.1943 และเสนอแนวคิดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วควรให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศด้อยพัฒนา สหรัฐอเมริกาซึ่งมีบทบาทสำคัญในองค์การสหประชาชาติเป็นแกนนำสำคัญในการวางแนวทาง “การพัฒนา” ให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก[2] ซึ่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี ค.ศ.1960-1970 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนา

สำหรับประเทศไทยคำว่า “การพัฒนา” ถูกใช้เป็นแนวทางหลักในการบริหารประเทศในต้นทศวรรษ 2500 นับจากการที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกในปี พ.ศ. 2504 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับนี้จัดทำขึ้นในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[3]ที่ปราศจากรัฐธรรมนูญรองรับตามระบอบรัฐสภา ในยุคนั้นมีการแพร่หลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยจึงเห็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนพ้นจากความทุกข์ยาก มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และไม่เป็นเหตุผลให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้ในการชักจูงให้ประชาชนฝักใฝ่ในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ การกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องเร่งจัดทำแผนพัฒนาฯขึ้นมาตามเงื่อนไขของธนาคารโลก

ธนาคารโลกเป็นสถาบันการเงินที่สถาปนาขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อแสดงบทบาทในการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศด้อยพัฒนา สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอันนำไปสู่การเพิ่มกำลังการผลิต รวมทั้งการให้คำแนะนำในฐานะที่ปรึกษาทางด้านการบริหารประเทศ โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปให้คำแนะนำในการกำหนดนโยบายการพัฒนา ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสถาบันทางการเงินอื่น ๆ ได้สนับสนุนเงินทุนให้แก่โครงการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างถนน พัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แหล่งทุนเหล่านี้อ้างว่าความช่วยเหลือเหล่านี้เป็นไปเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนยากจน

ภายใต้กรอบคิดเรื่อง “การพัฒนา” ดังกล่าว และการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทั้งหลาย นิยามของความยากจน และแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลไทยจึงวนเวียนอยู่ในมิติทางเศรษฐกิจโดยเน้นการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การสร้างอาชีพ และการสร้างรายได้ ดังเช่นสโลแกนที่ว่าการพัฒนานั้นมีเป้าหมายเพื่อให้มี “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ประเทศโลกที่หนึ่งให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ

ขณะที่ความช่วยเหลือจากต่างประเทศทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นในการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมจากประเทศโลกที่หนึ่ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางด้านมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการคงไว้ซึ่งอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ และยังช่วยให้อุตสาหกรรมของประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือได้ประโยชน์ในการระบายสินค้า หรือได้รับสัมปทานในธุรกิจที่ตนมีความชำนาญ ซึ่งในที่สุดได้สร้างภาระหนี้สินล้นพ้นตัวให้เกิดขึ้นแก่ประเทศโลกที่สาม ทำให้ประชาชนในประเทศโลกที่สามยังคงเผชิญภาวะอดอยากหิวโหย เจ็บป่วย และยากจน[4] McMichael[5] กล่าวว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศเองก็พยายามสร้างเงื่อนไขให้ประเทศที่กู้เงินให้ยอมรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากประเทศโลกที่หนึ่ง ที่ทำให้ประเทศโลกที่สามขึ้นอยู่กับประเทศโลกที่หนึ่ง

ขณะที่การแก้ไขปัญหาความยากจนกลายเป็นความจำเป็นของ “การพัฒนา” คนจนก็ถูกทำให้กลายเป็นปัญหาของสังคม ตามความเข้าใจโดยทั่วไปการเป็น “คนจน” มักเป็นปัญหามาจากความเกียจคร้านอันเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล คนจนจึงต้องได้รับการช่วยเหลือให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ดังที่สะท้อนจากคำขวัญที่ว่า “ไม่มีความยากจนในหมู่ชนที่ขยัน” บ้างก็อธิบายว่าการเกิดมาเป็นคนจนเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ช่วยไม่ได้”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา[6] ระบุว่า “คนจน” คือ กลุ่มคนที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (ซึ่งอาจวัดได้โดยการใช้เส้นความยากจน) โดยสามารถจำแนกได้หลายประเภท ได้แก่

คนจนดักดานและคนจนเรื้อรัง คือคนจนที่มีสภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น และที่สำคัญคือมีโอกาสในการหลุดพ้นความยากจนได้น้อย ทั้งนี้อาจเนื่องจากมีศักยภาพในการหารายได้ต่ำจากสาเหตุต่างๆ มีภาระครอบครัวสูง (เด็ก คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรังและรุนแรง) ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

คนจนทั่วไป คือคนจนที่ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานแต่มีศักยภาพในการหลุดพ้นจากความยากจนได้ด้วยตนเอง ได้แก่ การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีศักยภาพ มีที่ดินทำกิน เป็นแรงงานที่ตลาดต้องการเพราะมีทักษะ มีการศึกษาและสุขภาพดีพอสมควร

กลุ่มเสี่ยงที่จะจน ได้แก่กลุ่มคนที่ปัจจุบันไม่ใช่คนจน คือ มีปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพเพียงพอ แต่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนจนได้หากเกิดความผันแปรในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การงาน หรือสภาพสังคมเศรษฐกิจรอบตัว เช่น ประสบปัญหาตกงาน มีปัญหาการหย่าร้าง มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่หัวหน้าเป็นหญิงที่หย่าร้างหรือป่วย ซึ่งถึงแม้จะมีงานทำ มีรายได้ แต่ไม่มีการสะสมทุนทรัพย์ทางเศรษฐกิจและสังคมไว้เพียงพอ (เช่น การออมต่ำ ทุนทางสังคมต่ำ เป็นต้น) จึงไม่มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ลักษณะบางประการของคนจนในประเทศไทยตามคำอธิบายของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา มีดังนี้[7]

1. คนจนร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในชนบท
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคนจนมากที่สุดและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้อยกว่าคนภาคอื่น
3. คนจนส่วนใหญ่มีภาระการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวสูง
4. คนจนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาน้อย
5. คนจนร้อยละ 30 เป็นเด็ก
6. คนจนร้อยละ 10 เป็นคนแก่
7. ร้อยละ 20 ของครัวเรือนที่ยากจนมีหัวหน้าครัวเรือนเป็นหญิง
8. เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนจน

 

ประเทศไทยเป็นเช่นเดียวกับในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ที่ยิ่งมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไทยกลับตกต่ำลงเรื่อย ๆ ขณะที่ปัญหาความยากจนและปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ กลับปรากฏเพิ่มขึ้นทุกที จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่านิยามการพัฒนาและความยากจนนั้นเป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อเอื้อให้ผู้มีอำนาจบางกลุ่มใช้สร้างความชอบธรรมในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองเท่านั้นเอง

รายงานการพัฒนาโลก 2000/2001 ได้เสนอแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยครอบคลุมมิติอื่น ๆ ของความยากจนที่นอกเหนือไปจากตัวเงิน โดยระบุว่า “ความยากจน มิได้จำกัดแต่เพียงการมีรายได้น้อยและการบริโภคน้อยเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงการขาดโอกาสด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และโอกาสอื่นในการพัฒนาคน การไร้ซึ่งอำนาจ การขาดสิทธิขาดเสียง ตลอดจนการตกอยู่ในความเสี่ยงและความหวาดกลัว”[8]

ปี 2544 คณะทำงานวาระทางสังคม ตีพิมพ์เอกสาร “ความจริงของความจน” ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ผู้นำชุมชน และนักวิชาการเกี่ยวกับปัญหาความยากจน และบทวิเคราะห์ สังเคราะห์เหตุปัจจัยแห่งความยากจน ประเวศ วะสี เขียนคำนำของเอกสารฉบับนี้ระบุว่า “ความยากจนเกิดจากปัญหาโครงสร้างที่สลับซับซ้อน เช่น โครงสร้างทางทัศนคติที่มีต่อคนจน โครงสร้างของรัฐ โครงสร้างทิศทางการพัฒนา โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเงิน โครงสร้างการจัดการทรัพยากร โครงสร้างการศึกษา โครงสร้างการสื่อสาร โครงสร้างทางกฎหมายที่มีอคติกับคนจน โครงสร้างทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ เป็นต้น” (ประเวศ 2544:2) แต่การเชื่อมโยงความยากจนกับเงื่อนไขปัจจัยเชิงโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ดูราวกับว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่ยากลำบากเพราะต้องไปแก้ไขโครงสร้างสังคมอันสลับซับซ้อนอันเป็นภาระหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก  

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารฉบับเดียวกันนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่าความยากจนเป็นปัญหาของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการทำให้คนจนมีอำนาจ นิธิ ชี้ว่าสาเหตุสำคัญสองประการที่ทำให้ความยากจนปรากฏในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ ๑. การจัดการทรัพยากรที่รวมศูนย์ของรัฐ และ ๒.ความด้อยอำนาจของคนจน ที่เข้าไม่ถึงกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง โดยชี้ว่า “ความด้อยอำนาจของคนจนเป็นเหตุให้เขายิ่งจนลงและก็ไม่มีทางเงยหัวได้เลย” (นิธิ 2544:5) ข้อเสนอของนิธิ สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนที่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ในสังคม

 

ความยากจนของสมัชชาคนจน

การปรากฏตัวของ “สมัชชาคนจน” ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ได้ท้าทายนิยามความหมายของความยากจนแบบเดิม ๆ เมื่อสมัชชาคนจนนิยามว่า ความจนของ “คนจน” ทั้งในชนบทและในเมืองนั้นไม่ใช่การ “จนเงิน” แต่เป็นการ “จนสิทธิ” อันเนื่องมาจากทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด และทำให้เกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างภาครัฐ และธุรกิจ กับชาวบ้าน[9] คำอธิบายดังกล่าวสวนทางกับความเข้าใจโดยทั่วไปของสังคมไทยที่เคยมองว่าความยากจนเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ขณะที่คนจนนั้นน่ารังเกียจเพราะ ล้าหลัง ไร้การศึกษา เกียจคร้าน และเป็นปัญหาหรือเป็นภาระของสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของความจนมีสาเหตุเกี่ยวโยงกับระบบและโครงสร้างต่าง ๆ ในสังคม

แม้ว่าการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนและขบวนการประชาชนรากหญ้า ในช่วงแรกจะส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์ของคนจน ที่ถูกมองว่าเป็นพวกที่ถูกจ้างมาก่อกวน สร้างความวุ่นวาย เอาแต่เรียกร้องโดยไม่ทำมาหากิน ฯลฯ แต่การยืดหยัดต่อสู้และสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ การสนับสนุนช่วยเหลือจากนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ และบรรยากาศทางสังคมและการเมืองได้เปิดพื้นที่ทางสังคมให้แก่เข้าใจ “ความจน” ในมิติใหม่ ๆ โดยเห็นว่าความยากจนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาระดับปัจเจกแต่เกี่ยวพันกับปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างภาครัฐกับประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ของ “คนจน” ในสังคมไทยเป็นบวกมากขึ้น

ปัญหาของสมัชชาคนจนที่ร้องเรียนให้รัฐแก้ไขมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จัดจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.ปัญหาจากการถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นฐานชีวิต เช่น กรณีที่รัฐประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่อยู่อาศัยและป่าชุมชนของชาวบ้าน กรณีที่ชาวบ้านถูกประกาศพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับพื้นที่ทำกิน

2.ปัญหาจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นถูกทำลายอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มุ่งประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ หรือการผลิตเชิงพาณิชย์ของนายทุน เช่น ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน จากการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส จากการทำประมงพาณิชย์ของนายทุนด้วยอวนรุนอวนลาก

3.ปัญหาจากการไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงาน

4.ปัญหาจากการไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนา ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิโดยกฎหมายและนโยบายของรัฐ

 

เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สมัชชาคนจนไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาล “อุ้ม” ด้วยการแจกเงิน หรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน แต่เรียกร้องมาตรการทางกฎหมายและนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนจนเหนือทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและการทำงานของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านี้จะทำให้คนจนสามารถทำมาหาเลี้ยงชีวิตต่อไปได้ และมีอำนาจในการกำหนดอนาคตตนเองอย่างแท้จริง

การยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องของสมัชชาคนจน ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานราชการต่าง ๆ เริ่มยอมรับข้อผิดพลาดและความล้มเหลวของทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีมาตรการบางประการเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชน และมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศที่หันมาให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนมากกว่าเดิม 

กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาการดำเนินงานของรัฐบาลสมัยต่าง ๆ ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลับพบว่ายังคงวนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาความยากจนในด้านเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างงาน กระจายรายได้ ให้การศึกษา ดูแลสุขอนามัย ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิธีคิดรัฐบาลว่าด้วย “ความยากจน” ยังไม่ก้าวพ้นไปจากกรอบนิยามแบบเดิม ๆ ที่เห็นว่าปัญหาความยากจนเป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจ  ไม่ใช่ปัญหาอันเนื่องมาจากความด้อยอำนาจของคนจน วิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนจึงไม่เคยก้าวหน้าไปถึงการส่งเสริมให้คนจนมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนเอง ทำให้กฎหมายและนโยบายว่าด้วยการกระจายอำนาจและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นเพียงถ้อยความที่เขียนไว้อย่างสวยหรูอยู่ในแผ่นกระดาษ

 

เมื่อนายกฯอภิสิทธ์พูดถึงความยากจน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยกล่าวอภิปรายทั่วไปในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ …ปัญหาความยากจนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะ ในแง่มุมของเศรษฐกิจ ที่จริงเป้าหมายของเราสุดท้าย  ต้องการให้คนพึ่งตัวเองได้  สิ่งที่เป็นประสบการณ์ต่อหลายของหลายประเทศที่พิสูจน์แล้วก็คือว่าชุมชนและประชาชนต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะพึ่งตนเองได้  และสิ่งที่พิสูจน์ทั่วโลกก็คือว่าคนและชุมชนที่จะพึ่งตนเองได้นั้น  จะต้องได้รับทั้งโอกาสและอำนาจ  การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงต้องผูกอยู่กับนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องการกระจายทั้งความเจริญ  ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน  โครงการต่างๆ  การกระจายทั้งในแง่ของโอกาส  ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงานการศึกษา และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนก็คือการกระจายในเรื่องของอำนาจ ให้เขาสามารถที่กำหนดอนาคตของเขาเองได้  จะเป็นเฉพาะตัวหรือเฉพาะชุมชน หรือเฉพาะในท้องถิ่นของเขา…”[10]

และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ภายหลังจากที่มีการยุบพรรคไทยรักไทย นายอภิสิทธิ์ก็ได้กล่าวถึงกรอบความคิดที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่เขาให้ความสำคัญในฐานะ “ปัญหาอันดับหนึ่งของคนส่วนใหญ่ของประเทศ” ไว้ในเวปไซท์ www.abhisit.org 

1.  การแก้ปัญหาความยากจน แยกจากนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้   ที่ผ่านมามักจะมีการแยกนโยบายเกี่ยวกับความยากจนออกจากนโยบายอื่นๆ  โดยมองข้ามไปว่า  นโยบายเกือบทุกด้านมีผลต่อปัญหาความยากจน  ทั้งในแง่การไปแย่งชิงทรัพยากร  เปลี่ยนวิถีชีวิต  ชักจูงให้เกิดความเสี่ยง  ฯลฯ หากต้องการแก้ปัญหาความยากจนจริง  จากนี้ไปทุกนโยบายจะต้องมีการประเมินผลกระทบต่อคนยากจนด้วย

2.  การหลุดพ้นจากความยากจน คือ การมีงานทำ การมีรายได้ พึ่งตนเองได้  นั่นหมายความว่า  การเติบโตของเศรษฐกิจ และการจ้างงาน  มีความสำคัญ  โดยเฉพาะหากโอกาสของการมีงาน  มีรายได้  สอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิม  เช่น ขณะนี้ ต้องสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกมัน หรือชาวไร่อ้อย ได้ประโยชน์สูงสุดจากการผลิตพลังงานทดแทน ที่เติบโตอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง  ซึ่งจะยั่งยืนกว่า การมาไล่ตามแก้ปัญหาเรื่องการพยุงราคา  การจำนำผลผลิต  เป็นต้น

3.  จัดระบบและปรับปรุงทุกโครงการที่ให้โอกาสและลดภาระคนจน  โดยไม่คำนึงถึงการช่วงชิงทางการเมือง  โครงการที่มีความมุ่งหมายดีต้องสานต่อ  เช่น การรักษาฟรีต้องดำเนินต่อไป โดยจัดระบบงบประมาณให้มีความเพียงพอ  กองทุนหมู่บ้านก็ต้องมีการสนับสนุนให้เดินต่อไปได้อย่างรัดกุม  มีเงินไปให้ประชาชนเพื่อเพิ่มพูนรายได้ เป็นต้น

4. สร้างระบบสวัสดิการให้ทุกคน โดยถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ด้อยโอกาส  เรื่อง  การศึกษา  การรักษาพยาบาล  การมีรายได้เมื่อชรา  ไปจนถึงการจัดระบบประกันภัยให้พืชผล  โดยยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของคนไทย  ไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นรัฐบาล  ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

กรอบความคิดเหล่านี้ แม้ว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้มีรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่มุ่งเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “คนจน” โดยเฉพาะ ทั้งยังไม่มีแนวทางใดที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างให้ “ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดอนาคตตนเอง” ดังที่นายอภิสิทธิ์เคยกล่าวไว้ แต่กลับเป็นแนวการแก้ไขปัญหาเชิงสงเคราะห์ ที่ไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่จะทำให้คนยากคนจนเข้าถึงปัจจัยการผลิตและฐานการดำรงชีวิต ปราศจากแนวทางในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเหนือทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง และปกป้องฐานทรัพยากรและสวัสดิภาพของประชาชนจากการทำลายของนายทุนหรือการผลิตเชิงอุตสาหกรรม  

และที่สำคัญ กรอบความคิดเหล่านี้ก็เป็นเพียงวาทะที่ใช้ในการขายฝัน ซึ่งไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้

 

นโยบาย (ไม่) แก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นเช่นเดียวกับรัฐบาลส่วนใหญ่ที่ผ่านมาที่ไม่มีนโยบายที่จะทำให้คนจนมีอำนาจในการกำหนดอนาคตตนเองได้อย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลชุดนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่มีนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่คนจนโดยตรง นอกจากนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ[11] ที่หวังจะเพิ่มผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีให้สูงขึ้น นโยบายส่วนใหญ่เน้นการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศและทุนขนาดใหญ่ไม่แตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ[12] ในด้านการเกษตรก็ส่งเสริมการเกษตรเพื่อส่งออก และการเกษตรแบบพันธะสัญญาที่ทำให้วิถีการผลิตและวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อยขึ้นอยู่กับการกำหนดของบริษัทใหญ่ นโยบายเหล่านี้รังแต่จะทำให้คนจนตกอยู่ในภาวะพึ่งพานายทุน เสียเปรียบ สูญเสียอำนาจการผลิต เป็นหนี้เป็นสิน และสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

 

น้ำฟรี ไฟฟรี เมล์ฟรี รถไฟฟรี ไม่ใช่เพื่อคนจน

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมานโยบายบางอย่างของรัฐบาลอภิสิทธิ์เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การต่ออายุการให้ใช้น้ำและไฟฟรี การบริการรถเมล์และรถไฟฟรี และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุคนละ 500 บาท เป็นต้น เมื่อมองอย่างผิวเผินดูราวกับว่าเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากจน แต่ความจริงแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะคนจนเท่านั้น แต่คนไม่จนก็ได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ตามเกณฑ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนยากจนคือคนที่มีรายได้น้อยกว่า 1,386 บาทต่อเดือน และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคนยากจนอยู่ประมาณ 6 ล้านคน[13] ขณะที่ประชาชนที่เข้าไม่เกณฑ์ “คนจน” ได้รับประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีคนจนจริง ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ตกสำรวจและไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้

นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมเพื่อหาเสียง[14] เช่นเดียวกันกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งในกรณีนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ปี 2545, 2547, และ 2549 โดยสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า มีเพียงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เงินสงเคราะห์คนชรา และโครงการอาหารกลางวันนักเรียนเท่านั้น ที่ให้ประโยชน์แก่คนจนมากกว่าคนไม่จน ส่วนนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลทักษิณ เช่น กองทุนหมู่บ้าน พักหนี้เกษตรกร ฯลฯ ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่คนจนมากกว่าคนไม่จน และบางนโยบาย เช่น ธนาคารประชาชน และประกันสังคม เป็นนโยบายที่คนไม่จนมีโอกาสเข้าถึงมากกว่า[15]

กรอบคิดสำคัญที่ขาดหายไปในการวางนโยบายดังกล่าวคือการมองไม่เห็นว่าประชาชนไม่ว่าจะในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น หรือระดับชุมชน ล้วนมีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน มีทุนทางสังคมไม่เท่ากัน มีปัญหาไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือมีสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน การมีนโยบายเชิงเดี่ยวแบบเหวี่ยงแหจึงไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้ผู้ที่ยากจนหรือประสบความเดือดร้อนจริง ๆ ได้รับการแก้ไขปัญหา

 ซ้ำร้ายไปกว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ มีการวิเคราะห์กันว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่คนยากจน แต่เป็นเพียงการหว่านเงินเพื่อมุ่งเป้าหมายที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก นอกจากนโยบายที่อ้างว่าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยดังที่กล่าวไปแล้ว รัฐบาลยังหว่านเงินแบบที่ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่คนจนเลย นั่นคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 2,000 บาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชนชั้นกลางระดับกลางและระดับสูง ซึ่งเป็นผู้มีงานทำและมีเงินเดือนอยู่แล้ว ซึ่ง ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่านโยบายนี้หวังผลทางการเมืองเพราะให้ประโยชน์แก่ชนชั้นกลางซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์[16]

"นโยบายที่ออกมา ไม่ได้ช่วยเหลือคนจน เพราะส่วนใหญ่ จะอิงกับผู้มีงานทำ ผู้มีเงินเดือนมากกว่า...เพราะเขารู้ว่าเป็นฐานเสียงที่ชัดเจนของเขา…”

 

โฉนดชุมชน นโยบายท่าดีทีเหลว

ในบรรดานโยบายต่าง ๆ นานาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดูเหมือนกับว่านโยบายการออกโฉนดชุมชนจะตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องคนจนได้อย่างตรงใจมากที่สุด และใกล้เคียงกับปัญหาของสมัชชาคนจนมากที่สุด (ขณะที่นโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขความยากจน เป็นนโยบายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเองโดยที่คนจนไม่ได้ร้องขอ)

แนวคิดเรื่องระบบโฉนดชุมชน ได้รับการผลักดันโดยองค์กรประชาชนและนักวิชาการเป็นเวลานานนับสิบปี ในฐานะที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร และการกระจุกตัวของที่ดินเอกชนซึ่งเป็นที่ดินทำกินนอกเขตป่า ขณะเดียวกันระบบโฉนดชุมชนยังเป็นข้อเสนอเชิงรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินในเขตป่า เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินในเขตป่าอย่างยั่งยืนอีกด้วย

โฉนดชุมชน เป็นรูปธรรมประการหนึ่งของการปฏิรูปการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ เพื่อให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการที่ดินจากรัฐสู่ประชาชน ระบบโฉนดชุมชนตั้งอยู่บนหลักการว่าที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของเกษตรกรรายย่อย มิใช่สินค้าที่นายทุนจะสามารถกักตุนเพื่อปั่นราคาหรือเก็งกำไร และที่ดินควรถูกจัดการในฐานะทรัพยากรร่วมของชุมชน ที่สมาชิกในชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน  

ระบบโฉนดที่ดินชุมชน เป็นการสร้างระบบถ่วงดุลและสนับสนุนระหว่างสิทธิปัจเจกและสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินในชุมชน[17] สิทธิของชุมชนคือสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน กล่าวคือชุมชนมีอำนาจในการควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ และสมาชิกผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินให้อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน ควบคุมการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลประโยชน์ในที่ดินจะตกอยู่กับสมาชิกในชุมชน ไม่ใช่บุคคลต่างถิ่น และเก็บผลประโยชน์จากครัวเรือนที่ใช้ที่ดินเพื่อรวบรวมเป็นกองทุนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของส่วนรวม ส่วนปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มปฏิรูปที่ดินจะมีสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินภายใต้เงื่อนไขกฎเกณฑ์ของชุมชน สิทธินั้นจะคงอยู่ตราบเท่าที่มีการใช้ประโยชน์และเคารพกติกาของชุมชนเท่านั้น หากไม่เข้าทำประโยชน์หรือมีการละเมิดข้อตกลง ชุมชนมีสิทธิยึดที่ดินคืนแล้วนำไปให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ต่อไป[18]

หลักฐานแสดงสิทธิเหนือที่ดิน เรียกว่าโฉนดชุมชน ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกับโฉนดที่ดินตามกฎหมายที่มีการระบุแผนที่แสดงขอบเขต ขนาดที่ดิน และผู้ทรงสิทธิ แต่ภายในโฉนดมีการจำแนกรายละเอียดเป็นขอบเขตกรรมสิทธิ์พื้นที่ของสมาชิกรายบุคคลและขอบเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณะหรือที่ส่วนรวมของชุมชน แม้ว่าแต่ละชุมชนอาจพัฒนารูปแบบโฉนดชุมชนที่แตกต่างกันไป แต่ที่สำคัญกระบวนการออกแบบและจัดทำโฉนดชุมชนต้องเกิดจากพิจารณาร่วมกันของสมาชิกภายในชุมชน และได้รับการยอมรับจากชุมชนใกล้เคียงเพื่อมิให้มีการอ้างสิทธิซ้อนทับกันจนเกิดเป็นกรณีพิพาทตามมา[19]

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขานรับเสียงเรียกร้องโฉนดชุมชนเป็นอย่างดี ดังปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30  ธันวาคม 2551 คณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งในนโยบายเศรษฐกิจว่าด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร ระบุว่ารัฐบาลมีนโยบาย ''คุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมที่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานแล้ว เพื่อเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ฟื้นฟูคุณภาพดิน จัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปของธนาคารที่ดิน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปของโฉนดชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรในรูปของนิคมการเกษตร''[20]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ท่าดีทีเหลว เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่าง “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.....” ซึ่งร่างขึ้นโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และถูกนักวิชาการและเครือข่ายประชาชนวิจารณ์ว่าไม่ได้มีหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทย

ร่างระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีการออกโฉนดชุมชนในที่ดินของรัฐ เช่น ที่ดินในเขตป่า และที่ราชพัสดุ แต่ไม่ได้กระจายที่ดินที่กระจุกอยู่ในมือของเอกชนมาสู่คนยากจน ทำให้คาดว่าผลจากการดำเนินการดังกล่าวจะไม่แตกต่างไปจากการปฏิรูปที่ดินของรัฐไทยที่ผ่านมาภายใต้กฎหมายปฏิรูปที่ดินที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นการนำเอาที่ดินในเขตป่ามาปฏิรูปให้เกษตรกร แล้วให้เอกสารสิทธิ สปก. ซึ่งในที่สุดที่ดินที่ถูกปฏิรูปก็จะหลุดมือจากเกษตรกรไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร พ่อค้า  นายทุน หรือชนชั้นกลางทั้งในและต่างถิ่น เพราะเกษตรกรเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ขาดแคลนปัจจัยการผลิต ถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการเกษตร เพราะนโยบายการพัฒนาที่ลำเอียง ไม่ได้ดูแลช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมเท่ากับที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ

ประชาชนที่เรียกร้องโฉนดชุมชนเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐ “จัดหา”ที่ดินผืนใหม่มาจัดสรรให้แก่พวกเขา แต่ให้แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินที่พวกเขาใช้ตั้งถิ่นฐานหรือทำกินอยู่แล้ว ซึ่งที่ดินผืนนั้นเป็นของรัฐหรือเอกชน แม้ว่ารัฐจะยอมออกโฉนดชุมชนในที่ดินของรัฐ แต่ก็เป็นเพียงการอนุญาตให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ที่ดินในที่ดินเพียงชั่วคราวในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ไม่ต่างอะไรกับหลักเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในการให้เช่าที่ดินราชพัสดุ หรือสิทธิทำกิน (สทก.) ในพื้นที่ป่า ซึ่งไม่ได้ทำให้พวกเขามี “สิทธิที่มั่นคง” เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการนี้เป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะโดยรัฐบาลสมัยปัจจุบัน หรือรัฐบาลชุดใหม่[21] ความไม่มั่นใจในสิทธิเหนือที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ราษฎรอาจตัดสินใจขายสิทธิเหนือที่ดินให้แก่ผู้อื่นได้โดยง่าย ถึงแม้ว่าจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ตาม

ส่วนกรณีการเช่าที่ดินราชพัสดุ ตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ไม่ได้มีข้อห้ามการเช่าที่ดินของนายทุน ที่ผ่านมาจึงมักเกิดปัญหาว่าคนยากจนเช่าที่ดินอยู่เดิมขายสิทธิการเช่าให้นายทุน แล้วนายทุนก็นำที่ดินนั้นไปให้เช่าช่วงหรือนำไปทำธุรกิจ ซึ่งก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน[22]

 การปฏิรูปที่ดินโดยระบบชุมชนแบบที่รัฐวางระเบียบไว้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเช่นเดียวกับนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลชุดนี้ กล่าวคือเป็นเพียงนโยบายเพื่อเรียกคะแนนเสียงที่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนยากคนจนอย่างแท้จริง และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้อาจไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยที่ยากจน แต่เป็นใครก็ได้ที่มีอำนาจและอิทธิพลมากพอที่จะเข้าถึงการรับช่วงซื้อสิทธิการใช้ที่ดินที่มีการนำมาออกโฉนด

 

นโยบาย “ไทยเข้มแข็ง” “ชุมชนพอเพียง” ใครแข็ง ใครควรพอ??

นอกจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในสองด้านที่กล่าวไปแล้วข้างต้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีนโยบายและโครงการอื่น ๆ อีกที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและดูราวกับว่าจะเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่ท้องถิ่น แต่เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่แล้วก็พบว่า นโยบายเหล่านั้นเป็นไปพียงเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะสั้น และไม่ได้เกิดมรรคผลต่อคนจนแต่อย่างใด

ตัวอย่างเช่น โครงการชุมชนพอเพียง หรือชื่อเต็ม ๆ คือ “โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน มีเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ ให้ทุกชุมชนมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของภาครัฐอย่างรวดเร็ว กำหนดเป้าหมายการใช้เงินไว้ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส การพัฒนาการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมุ่งให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่มีอยู่อย่างมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ การลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน โครงการที่อนุมัติไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภท การผลิตปุ๋ย ยุ้งฉาง ลานตาก เกษตรผสมผสาน การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ/ต้นน้ำ พลังงานทดแทน เป็นต้น  

ถึงแม้ว่าโครงการชุมชนพอเพียงจะฟังดูว่าเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นใหม่ แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงการจัดสรรงบประมาณให้แก่ชุมชนตามที่เคยได้รับจากโครงการ SME ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แล้วเปลี่ยนชื่อและเงื่อนไขการใช้เงินในนามของโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อโครงการอีกครั้งในสมัยรัฐบาลนี้ 

ในทางปฏิบัติ เป้าหมายการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในหลายชุมชน ถูกแปรเป็นรูปธรรมโดยการนำงบประมาณไปซื้อตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ที่โยงได้ยากว่าตู้น้ำนั้นจะช่วยทำให้ชุมชน “เข้มแข็ง” ได้อย่างไร ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีข่าวหนาหูว่าการซื้อตู้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไปอย่างทุจริต[23] หลายชุมชนได้รับตู้น้ำทั้ง ๆ ที่เสนอโครงการอื่น เช่น การพัฒนาระบบการเกษตร หรือการทำสหกรณ์ร้านค้า เป็นต้น ขณะที่ในบางชุมชนมีเจ้าหน้าที่โครงการไปชี้นำให้ชุมชนดำเนินการตามโครงการที่ตนเองนำเสนอ โดยที่สมาชิกในชุมชนไม่ได้ร่วมกันคิดและเสนอตามแนวนโยบายของรัฐบาล[24] ในเดือนสิงหาคม 2552 โครงการชุมชนพอเพียงดำเนินการแล้วประมาณ 31,000 ชุมชน โดยใช้งบประมาณเกือบสิบล้านบาท แต่ข้อมูลการทุจริตทำให้รัฐบาลต้องระงับโครงการที่เหลือเพื่อรอผลการตรวจสอบ[25]

นโยบายไทยเข้มแข็งเป็นนโยบายล่าสุดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จะดำเนินการในปี พ.ศ.2553-2555  นโยบายนี้จะใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาททุ่มไปกับโครงการก่อสร้างด้านคมนาคม อาคารสถานที่ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น โดยอ้างว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ถูกวิจารณ์ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างฉาบฉวยเพียงในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือนายทุนจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ขณะที่แรงงานและประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์น้อยมาก เพราะการพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ กระจุกตัวอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่มีเพียงไม่กี่โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและท้องถิ่น แม้แต่โครงการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตร พื้นที่เกษตรที่จะได้รับประโยชน์ก็กระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง แต่ไม่ได้กระจายลงสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึง[26]

 

ไม่ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไม่แก้ความยากจน

หนึ่งปีที่ผ่านมาในการทำงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลเปลืองแรงไปกับการประดิษฐ์คิดค้นชื่อนโยบายต่าง ๆ ให้สวยหรูและติดหูประชาชน โดยที่ความจริงแล้วนโยบายเหล่านั้นเป็นเพียงนโยบายประชานิยมแบบเก่า ๆ ในชื่อใหม่ ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ตกถึงคนยากคนจนอย่างแท้จริง ๆ 

ตลอดหนึ่งปีของการทำงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ปรากฏว่ามีข้อเรียกร้อง ใด ๆ ของสมัชชาคนจน (รวมทั้งของขบวนการประชาชนอื่น ๆ) ได้รับการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล[27] สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ได้เหลียวแลต่อปัญหา “การจนสิทธิ” และความด้อยอำนาจของคนยากคนจนดังที่นายอภิสิทธิ์ได้เคยปราศรัยไว้เมื่อครั้งยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลกลับปล่อยให้คนจนสิทธิเหล่านี้เผชิญหน้าและรับมือกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิต่อไปไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่น ๆ ที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณานโยบายของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีนโยบายใดที่นำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะทำให้คนยากคนจนได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต มีอำนาจการต่อรอง ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และได้รับการดูแลสวัสดิภาพจากรัฐอย่างแท้จริง

มีแต่เพียง “โครงการแบบประชานิยมหาเสียง ได้แต่ทำให้ประชาชนทั้งเกษตรกร คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยเป็นหนี้ ต้องพึ่งพาธนาคารนายทุนเงินกู้ พ่อค้า นายทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมขาดความสมดุล ขาดประสิทธิภาพ แข่งขันสู้ต่างประเทศได้ยาก”[28]



[1] เอกสารประกอบการสัมมนา “ก้าวต่อไป ขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายประชาชน” วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม 2552 สวนเงินมีมา คลองสาน กรุงเทพฯ จัดโดยสมัชชาคนจน
เกี่ยวกับผู้เขียน
อัจฉรา รักยุติธรรม เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
กฤษฎา บุญชัย เป็นนักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] จามะรี เชียงทอง (2549) สังคมวิทยาการพัฒนา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, หน้า 29
[3] จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารรัฐบาลของจอมพลป.พิบูลสงคราม วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และให้นายพจน์ สารสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่วมกับพลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพลถนอม
[4] ชูศักดิ์ วิทยาภัค (2547), เอกสารคำสอน GEO 154440 ภูมิศาสตร์การพัฒนา, เอกสารอัดสำเนา, หน้า 120
[4] จามะรี เชียงทอง, อ้างแล้ว, หน้า 97-98
[5] McMichael, Philip (2000), อ้างแล้ว
[6]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา, มปท., “สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย”, (ออนไลน์)  www.tdri.or.th/poverty/report1.htm (เข้าถึง 6 ธ.ค.52)
[7] เพิ่งอ้าง
[8]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา, มปท., “สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย”, (ออนไลน์)  www.tdri.or.th/poverty/report1.htm (เข้าถึง 6 ธ.ค.52)
 
[9][9] อุเชนท์ เชียงเสน, 2550, “สิบปีสมัชชาคนจน: ข้อสังเกตบางประการ” วารสารฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 5 ฉบับที่ 2
[10] ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, 2548, “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายทั่วไป ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน” (ออนไลน์) www.ryt9.com/s/ryt9/25031 (เข้าถึง 5 ธ.ค.52)
[11] วีระศักดิ์ พงศ์อักษร, 2552, “ ‘อัมมาร’ ชี้นโยบาย ‘อภิสิทธิ์’ มีเป้าอุ้ม ‘ชนชั้นกลาง’ ย้ำยอมรับยากเรื่อง ‘คอรัปชั่น’ เป็นบทเรียนรัฐบาลในอดีต”, (ออนไลน์) www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=7899 (เข้าถึง 6 ธ.ค.52)
[12] วิทยากร เชียงกูล, 2552, “ไทยจะเข้มแข็งได้ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่”, (ออนไลน์),www.rsunews.net/Think%20Tank/TT122/NewEconomy.htm (เข้าถึง 7 ธ.ค.52)
[13]กรุงเทพธุรกิจ, 2552, “สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ปราณี ทินกร รัฐบาลหว่านเงิน ไม่เน้น คนจน”, (ออนไลน์) www. giggog.com/economic/cat5/news24241/ (เข้าถึง 6 ธ.ค.52)
[14] วิทยากร เชียงกูล, 2552, “ไทยจะเข้มแข็งได้ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่”, (ออนไลน์),www.rsunews.net/Think%20Tank/TT122/NewEconomy.htm (เข้าถึง 7 ธ.ค.52)
15 มติชนออนไลน์, 2552, “กลุ่มจับตานโยบายรัฐผ่า ‘ไทยเข้มแข็ง’ เปรียบ ‘ปะผุ’ เอาของเก่ามาทำใหม่ ไม่มีพลังพอแก้ปัญหาศก.ได้” (ออนไลน์) www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1252333649&grpid=01&catid=01 (เข้าถึง 7 ธ.ค.52)
[16] อัมมาร สยามวาลา และสมชัย จิตสุชน, 2550,“แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน: เสรีนิยม ประชานิยม หรือรัฐสวัสดิการ” เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี 2550 เรื่องจะแก้ปัญหาความยากจนกันอย่างไร วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมแอมบาสเตอร์ ซิตี้ จอมเทียน ชลบุรี ร่วมจัดโดยมูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธืสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, หน้า 21 
‘อัมมาร’ ชี้นโยบาย ‘อภิสิทธิ์’ มีเป้าอุ้ม ‘ชนชั้นกลาง’ ย้ำยอมรับยากเรื่อง ‘คอร์รัปชัน’ เป็นบทเรียนรัฐบาลในอดีต”,www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=7899
[17] เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ และคณะ, 2546, ที่ดินของชีวิต การปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน, เชียงใหม่: กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ, หน้า 49.
[18] อัจฉรา รักยุติธรรม (บก.), 2548, ที่ดินและเสรีภาพ, เชียงใหม่: Black Lead Publishing,หน้า 136
[19] เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ และคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 50
[20] แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิรูปที่ดิน 26 เครือข่าย 15 จังหวัดภาคเหนือ และคณะ แถลง ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ  วันที่ 8 กันยายน 2552
[21] พิรอบ แต้มประสิทธิ์, 2552, “วิพากษ์'โฉนดชุมชน'ชาวบ้าน-นักวิชาการอัดรัฐไม่จริงใจ” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 3 กันยายน 2552
[22] ประภาส ปิ่นตบแต่ง, 2552, “หายนะที่ราชพัสดุล้านไร่” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 15 ก.ย. 52
[23] ประชาไท, 2552, “โครงการชุมชนพอเพียงส่อทุจริตหลายพื้นที่”, (ออนไลน์),www.prachatai.com/journal/2009/07/25124
[24] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2552, “กมธ.งบฯเผยชุมชนพอเพียงทุจริตเฉียด1หมื่นล.”, http://www.bangkokbiznews.com/ (เข้าถึง 5 ส.ค.52)
[25]เดลินิวส์, 2552, “อภิสิทธิ์ ระงับโครงการที่เหลือหลังเกิด ทุจริตชุมชนพอเพียง” (ออนไลน์) http://hilight.kapook.com/view/40237 (เข้าถึง 11 ธ.ค.52)
 
[27] จากการพูดคุยกับกองเลขาสมัชชาคนจน 5 ธ.ค. 52
[28] วิทยากร เชียงกูล, 2552, “ไทยจะเข้มแข็งได้ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่”, (ออนไลน์), www.rsunews.net/Think%20Tank/TT122/NewEconomy.htm (เข้าถึง 7 ธ.ค.52)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท