Skip to main content
sharethis

วาระการประชุมเอเปค 16-18 พ.ย.นี้ ประชาไทสรุปเสวนา ‘APEC 2022 ฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด เอื้อรัฐแย่งยึดทรัพยากรประชาชน’ จัดโดยราษฎรหยุด APEC2022 ภาคประชาสังคมร่วมสื่อสารข้อเท็จจริงอีกด้าน-ร่องรอยปัญหาที่การประชุมเอเปคอาจเก็บซ่อนเอาไว้

  • 'กรรณิการ์' FTA Watch มองการประชุมเอเปค เหมือน 'หมาป่าในหนังแกะ' วาดฝันวาทกรรมสวยหรู แต่เนื้อในเก็บซ่อนใบเบิกทางการปลูกพืช GMO-การนำเข้าขยะจากต่างประเทศสู่ไทย
  • 'ธารา บัวคำศรี' จากกรีนพีซ ตั้งข้อสงสัย คณะกรรมการขับเคลื่อน BCG มีแต่กลุ่มทุนผูกขาด มีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิ-สิ่งแวดล้อมระดับโลก ไร้การมีส่วนร่วมประชาชน
  • 'กฤษฎา' มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ชี้นโยบายป่าคาร์บอนในโมเดล ‘BCG’ เอื้อกลุ่มนายทุนยักษ์ใหญ่ฟอกเขียว เป็นใบเบิกทางให้รัฐแย่งยึดที่ดินชาวบ้านจำนวนมาก ประเคนสัมปทานให้นายทุนใช้ปลูกป่าขายคาร์บอนเครดิต หวั่นซ้ำเติมปัญหานโยบายทวงคืนผืนป่า คสช.
  • 'เฉลิมศักดิ์' มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มองข้อกังวลต่อนโยบาย BCG ด้านสาธารณสุขมีความย้อนแย้ง-ผลักดันสิทธิบัตรยา ทำคนในประเทศ-ผู้ป่วยบัตรทองเข้าไม่ถึงเวชภัณฑ์

บรรยากาศการเสวนา (ที่มา: ทะลุฟ้า)

ในวาระการประชุมความร่วมมือเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่าง 16-18 พ.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคปี 2565 คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ "Open. Connect. Balance." และนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาผลักดัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จัดเสวนาในหัวข้อ "APEC 2022 ฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด เอื้อรัฐแย่งยึดทรัพยากรประชาชน" เมื่อ 10 พ.ย. 2565 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประเทศไทย หรือ FCCT ได้สื่อสารข้อเท็จจริงอีกด้านที่สังคมยังไม่เคยทราบ และเผยให้เห็นร่องรอยปัญหาที่การประชุมเอเปคเก็บซ่อนเอาไว้ 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ

‘หมาป่าในหนังแกะ’

คำว่า ‘หมาป่าในหนังแกะ’ เป็นคำพูดที่กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch กล่าวในระหว่างงานเสวนาที่ FCCT เหตุที่เธอใช้คำนี้เนื่องจากเมื่อดูที่ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อของนโยบาย ‘BCG’ หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เต็มไปด้วยข้อความสวยหรู แต่เมื่อมาดูที่เนื้อในนั้นกลับแนวนโยบายที่เป็นปัญหา และกระทบประชาชนเป็นวงกว้าง

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch (ที่มา: ทะลุฟ้า)

กรรณิการ์ กล่าวว่า ในนโยบาย BCG มีการบรรจุเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเปิดทางให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการดัดแปลงยีนในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาทางการตลาด เนื่องจากบางประเทศมีการห้ามนำเข้าสินค้าจากพืชจีเอ็มโอ หรือมีกฎหมายให้ติดฉลากให้ชัดเจน นอกจากนี้ พืชจีเอ็มโอผลกระทบจากการบริโภคยังมีอยู่ในระหว่างการถกเถียงเรื่องปัญหาสุขภาพอีกด้วย 

รองประธาน FTA Watch มองด้วยว่า เป้าหมายนโยบาย BCG ทั้ง 4 ด้าน อาทิ ‘บริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน’ เพื่อหมุนเวียนขยะในประเทศไทยและในระดับโลก จะเป็นการเปิดช่องทางให้นายทุนไทยนำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อนำมารีไซเคิลมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว  

ส่อง คกก. ‘BCG’ ที่ประดับประดาด้วยกลุ่มทุนผูกขาด

กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ชวนสังคมมองและตั้งคำถามว่า เราจะเข้าใจปัญหาการประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเปคได้อย่างไร เนื่องจากสาธารณชนไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อตกลง และนโยบาย เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เคยถูกเผยอย่างชัดเจนและอะไรคือวาระสำคัญๆ เช่น เรื่องคาร์บอนเครดิตในทางธุรกิจ เรื่องป่าไม้ และอื่นๆ ดังนั้น กฤษฎา เสนอว่า การมองปัญหาเอเปค ไม่ใช่เพียงแค่การดูที่รายละเอียดวาระข้อตกลงการประชุมเท่านั้น เพราะข้อตกลงมักจบลงที่คำสวยหรู แต่ควรดูที่ตัวกระทำการ (Actor) ที่อยู่ในเวทีเอเปค

สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย BGC ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร 2 คณะ ชุดใหญ่ คณะกรรมการบริหาร นายกฯ เป็นประธาน โดยมีคณะกรรมการอีก 9 คนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และเอกชนยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย ขณะที่คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG จำนวน 29 คน โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน 

กรรณิการ์ รองประธาน FTA Watch กล่าวถึงคณะกรรมการ BCG ว่าเป็นโมเดลเดียวกับคณะกรรมการประชารัฐ ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหารโดย คสช. ปี 2557 มีด้วยกันหลายสาขา หลายกลุ่ม และทำหลายเรื่องด้วยกัน เธอระบุว่า หนึ่งในนั้นคือการพยายามผลักดันไม่ให้มีการระบุฉลากบนอาหารต่างๆ ว่ามีการใช้สารเคมี หรือสิ่งเจือปนอะไรที่ทำให้เกิดการแพ้ แม้ว่าสุดท้ายจะเกิดการต่อต้าน และทำให้คณะกรรมการยอมถอยเรื่องดังกล่าว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และคนจากคณะกรรมการชุดนี้ กำลังจะเป็นกลุ่มคนเดียวกับที่อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG 

"กลุ่มคนหน้าตาคล้ายๆ แบบนี้ก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในคณะกรรมการ ทั้งคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการ ขับเคลื่อน BCG" กรรณิการ์ กล่าว และระบุต่อว่า สัดส่วนของคณะกรรมการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนผูกขาดทั้งนั้น 

"เอเปคนอกจากจะเป็นการประชุมระดับนานาชาติในช่วงทศวรรษหลังที่ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย ซึ่งต่างจากหลายที่อาเซียนยังมีอาเซียนภาคประชาชน… อีกหลายเวที ยูเอ็นก็ต้องมีอยู่แล้ว องค์การการค้าโลกยังมีการเชิญภาคประชาชน เป็นธุรกิจล้วนๆ"    

ด้านธารา บัวคำศรี เผยว่า กลุ่มคนที่จะอยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG เป็นกลุ่มคนอภิมหาเศรษฐีในประเทศไทย และแต่ละคนต่างมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติทั้งสิ้น เขาอภิปรายพร้อมยกตัวอย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการผลิตขยะพลาสติกอันดับ 1 ไทยยูเนียน บริษัทแปรรูปอาหารทะเลอันดับ 1 ของไทย แต่เป็นแนวหน้าต่อการละเมิดสิทธิประมง และมีประเด็นการใช้แรงงานทาส ด้านบริษัท ปตท. จำกัด มีประเด็นการลงทุนโดยไม่มีหลักธรรมาภิบาลจากการทำธุรกิจกับกองทัพพม่า โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย (ที่มา: ทะลุฟ้า)

ด้านพชร คำชำนาญ กล่าวสรุปประเด็นว่า จากการอภิปรายจากทั้งกรรณิการ์ และธารา สัดส่วนคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG เป็นกลุ่มองค์กรที่เป็นอันดับต้นๆ ทั้งระดับโลกที่ปล่อยคาร์บอน และทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสุดท้าย ประชาชนจะได้อะไรนโยบาย BCG มันเป็นการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ 

หมายเหตุ - สามารถเช็กรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG ในด้านต่างๆ โดยคลิกลิงก์นี้

หนึ่งในเวทีฟอกเขียว-‘คาร์บอนเครดิต’ ใบเบิกทางแย่งยึดที่ดินประชาชนให้นายทุน

โมเดล BCG มีการผลักดันเรื่องนโยบายป่าคาร์บอน หรือแผนการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้มีการทดแทนคาร์บอนที่กลุ่มทุนใหญ่ปล่อยออกมา ซึ่งเรื่องนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักกิจกรรมว่าเป็นเวทีฟอกเขียวให้กลุ่มทุนพลังงาน และเกษตรขนาดใหญ่

เช่นเดียวกัน กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) เห็นสอดคล้องว่า เอเปคเป็นเวทีฟอกเขียวให้กับกลุ่มทุนผูกขาดในประเทศไทยเพื่อสร้างความชอบธรรม และภาพลักษณ์ในเวทีนานาชาติ และเพื่อให้ตัวเองสามารถดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

เว็บไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นิยาม 'การฟอกเขียว' คือการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุเลย

กฤษฎา ระบุต่อว่า บริษัทใหญ่โดยเฉพาะด้านพลังงานฟอสซิล และกลุ่มทุนการเกษตรขนาดใหญ่ เริ่มใช้วิธีการฟอกเขียวโดยการเอาธรรมชาติมาลงทุน ยกตัวอย่าง กรณีบริษัทจะลงทุนในการปลูกป่า และเอาป่าที่ปลูกดังกล่าวมานับเป็นคาร์บอนเครดิต และหักลบกับสิ่งที่ตัวเองปล่อยก๊าซออกมาอย่างมหาศาล เมื่อไม่อยากลดรายได้ของตัวเอง เพราะไม่อยากลด หรือไม่คิดจะลด ก็จะไปเอาการลงทุนที่อื่นโดยเอาธรรมชาติมาแบก 

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) (ที่มา: ทะลุฟ้า)

กฤษฎา ยกตัวอย่างกรณีศึกษาประเทศยูกันดา ที่กลุ่มทุนนอร์เวย์อยากลงทุนปลูกป่าคาร์บอนเครดิตที่ยูกันดา ก็ติดต่อให้รัฐบาลยูกันดาไล่ที่ชาวบ้าน เพื่อให้กลุ่มทุนปลูกป่า โดยมีสถาบันวิชาการมาวิจัยให้ว่าดูดคาร์บอนได้เท่าไร เพื่อเอาไปแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต จากนั้นกลุ่มทุนดังกล่าวจะนำเอาคาร์บอนเครดิตไปขายให้กระทรวงพลังงานสวีเดน เพื่อให้ทางการสวีเดนนำไปใช้หักลบว่าจะปล่อยคาร์บอนได้อีกเท่าไร 

กฤษฎา กล่าวสรุปว่า กรณีศึกษาแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ว่าจะเป็นทั้งยูกันดา และสวีเดน ไม่ได้ทราบเรื่องราวเลย แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ และคนที่ได้รับการถ่ายโอนผลประโยชน์คือนายทุนที่เอาคาร์บอนเครดิตไปขาย 

กฤษฎา ระบุต่อว่า สำหรับรัฐบาลไทย เมื่อไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมรายใดลง จึงนำเอาภาคการป่าไม้มาแบกรับ รัฐบาลประกาศเลยว่าเราจะต้องปลูกป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2037 เราจะต้องมีป่าเพิ่มอีก 11 ล้านไร่

รัฐบาลบอกต้องมีการปลูกป่า โดยให้กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรชายฝั่ง เป็นหัวหอกเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า เพิ่มคาร์บอนเครดิต และเมื่อ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้เอกชนมาทำสวนป่าในพื้นที่ป่าสงวน เพื่อเป็นคาร์บอนเครดิต อย่าง บริษัท ปตท. มีเป้าหมาย 3 หมื่นกว่าไร่ หรือเชลล์อีก 3 หมื่นกว่าไร่ ซึ่งมีคำถามว่าจะพื้นที่ตรงไหนมาปลูก เพราะทุกที่ล้วนแต่มีชุมชนเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์อยู่ทั้งนั้น  

ทั้งนี้ พชร ได้เสริมข้อห่วงกังวลด้วยว่า นโยบายป่าคาร์บอน เพื่อนำมาทำคาร์บอนเครดิต อาจทำให้ปัญหานโยบายทวงคืนผืนป่ารุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะว่ารัฐบาลก็จะไปแย่งยึดที่ดินของประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อนำมาเป็นสัมปทานให้นายทุนปลูกป่าเป็นคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ สถิติระบุว่ามีประชาชนเป็นเหยื่อจากคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ นับตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน จำนวน 46,000 คดี  

สิทธิบัตรยา-สิทธิการเข้าถึงเวชภัณฑ์ หนึ่งในข้อห่วงกังวลเอเปคครั้งนี้

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีความกังวลเรื่องสิทธิบัตรยาว่าจะถูกผลักดันในการประชุมเอเปคครั้งนี้ โดยเขายกตัวอย่างช่วงโควิด-19 เป็นกรณีศึกษา เพราะเมื่อการประชุมเอเปคเมื่อครั้งที่แล้ว ชาติสมาชิกมีการพูดคุยประเด็นนี้ และรับทราบปัญหาว่าเรื่องการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 มันมีความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียม เขาอยากให้มีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามันย้อนแย้ง เพราะประเทศร่ำรวยและเป็นสมาชิกเอเปคสามารถกักตุนวัคซีนในปริมาณ 2-3 เท่าต่อจำนวนประชากรในประเทศ ขณะที่ประเทศยากจนบางคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนสักเข็ม

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (ที่มา: ทะลุฟ้า)

สมาชิกมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยกตัวอย่างในช่วงการประชุมขององค์การการค้าโลก ประเทศแอฟริกา และอินเดีย เสนอระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในภาวะวิกฤตโรคระบาดเป็นการชั่วคราว (TRIPs Waiver) เพื่อให้ประเทศที่ไม่ร่ำรวยเข้าถึงเวชภัณฑ์รักษาโรคโควิด-19 แต่ว่ากลับถูกชาติร่ำรวย ซึ่งเป็นสมาชิกเอเปคด้วย โหวตคว่ำข้อเสนอนี้ เพราะต้องการสงวนให้กลุ่มทุนบริษัทยาข้ามชาติ ขณะที่ไทยเลือกจะ ‘นิ่งเฉย’ ต่อข้อเสนอนี้ 

"สะท้อนหน้าไหว้หลักหลอก ฉันอยากที่จะส่งเสริมให้มีนวัตกรรม ให้คนเข้าถึงวัคซีน เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง จากพฤติกรรมที่ผ่านมาของโดยเฉพาะประเทศร่ำรวยมันสวนทางกันกับสิ่งที่เกิดขึ้น" สมาชิกมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

เฉลิมศักดิ์ จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เผยว่า สิทธิบัตรยา คือการให้สิทธิผูกขาดตลาดกับคนที่คิดค้นนวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา และจะได้สิทธิผูกขาด 20 ปี และจะตั้งราคาเท่าไรก็ได้ เพราะว่าผูกขาดเป็นเจ้าเดียวในตลาด และให้เป็นแรงจูงใจให้คนประดิษฐ์คิดค้นยาใหม่ๆ ออกมา แต่ในความเป็นจริง ระบบนี้ถูกบิดเบือนและเอาไว้ใช้แสวงหาประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่า

“สิ่งที่เขาต้องการคือการผูกขาด 20 ปี และก็ทำให้ไม่สามารถที่จะใช้มาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ในการที่จะปลดล็อกหรือจัดการปัญหาวิกฤตทางด้านสาธารณสุข เช่น ยาราคาแพงในวิกฤตโรคระบาด” เฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า แต่ถ้าปล่อยให้มีการเข้มงวดสิทธิบัตรยา จะส่งผลให้ยาแพงขึ้น ไม่แน่ใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะอยู่ได้ไหม มีเงินพอรึเปล่าที่จะซื้อยาให้ประชาชน หรือต้องเปลี่ยนเป็นระบบร่วมจ่าย

เฉลิมศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตเรื่องโมเดล BCG ที่มีการผลักดันให้เอเปคปีนี้ยอมรับนั้นมีความขัดแย้งกันเอง สมาชิกมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยกตัวอย่างกรณีใน BCG มีเรื่องของยา สมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยถ้าดูเรื่องของสมุนไพร ต้องการให้มีการผลักดันและพัฒนาสมุนไพรให้มีการใช้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งการพัฒนานี้ก็จะนำมาสู่การผลิตยา แต่ในเวลาเดียวกัน ใน BCG มีการผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะส่งผลให้มีการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และนี่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาได้อย่างไร ซึ่งเป็นย้ำให้เห็นว่าเป็นการเขียนยุทธศาสตร์ที่ขัดแย้งและย้อนแย้งกันเอง

นอกจากนี้ เฉลิมศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตต่อในเรื่องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ว่า ซึ่งถ้ายอมปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนเปิดศูนย์นี้ จะทำให้เกิดภาวะสมองไหล แพทย์จาก รพ.รัฐ จะเข้าไปในทำงาน รพ.เอกชนมากขึ้น เพื่อไปรักษานักท่องเที่ยวต่างชาติ และซ้ำเติมปัญหาภาวะขาดแคลนบุคลากรในโรงพยาบาลรัฐ ทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่เป็นแนวหน้าต้องทำงานหนักมากขึ้น และส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วยตามมา

“เรื่องเอเปคเป็นการสร้างวาทกรรมให้ดูมีความสวยงาม แต่ภายใต้มันมีสิ่งกังวลที่จะต้องจับตามอง และคอยติดตามอยู่หลายเรื่องในรายละเอียด” เฉลิมศักดิ์ ทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net