Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 

หลัง จากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้นำทางความคิดและผู้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา และผลของมันไปในทางต่างๆ กัน


ทัศนะ ที่จะนำมากล่าวต่อไปนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ผิดอย่างสำคัญ แม้จะเชื่อว่าผู้แสดงทัศนะเช่นนั้นได้แสดงต่อสาธารณชนไว้ด้วยเจตนาดี แต่ด้วยความเคารพกันฉันมิตร ที่เมื่อเห็นข้อผิดก็ต้องคอยเตือนว่าความเห็นของท่านมีข้อควรได้รับการวิพากษ์เช่นกัน

อาจารย์เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์ชื่อก้องแห่งค่ายธรรมศาสตร์ประกาศมติของท่านว่า “อย่าใช้รัฐประหารแก้คอร์รัปชั่น เมื่อใดใช้รัฐประหารแก้คอร์รัปชั่นมันจะทำลายความชอบธรรมของกระบวนการ ยุติธรรมทั้งหมด นี่เป็นราคาที่แพงมากๆ...”

เป็นความจริงที่ว่าไม่ควรใช้รัฐประหารแก้คอร์รัปชั่น เหมือนมะเร็งระยะลุกลามไม่อาจปราบได้ด้วยการผ่าตัด แต่ที่อาจารย์เกษียรกล่าวว่า การรัฐประหารจะทำลายความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมที่ปราบคอร์รัปชั่นนั้น ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป เพราะการรัฐประหารทุกครั้งแม้จะอ้างว่าเพื่อกำจัดคอร์รัปชั่น  
 
แต่กระบวนการยุติธรรมไม่จำเป็นต้องกลายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ และการรัฐประหารไม่แน่ว่าจะสามารถทำลายความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมเสมอไป

ทั้งนี้เพราะความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้อยู่ที่อำนาจการเมืองที่มารองรับ ไม่ว่าเป็นอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราช อำนาจเผด็จการ หรืออำนาจปวงชน
 
แต่อยู่ที่คุณภาพความมีเหตุผลของคำวินิจฉัย และความเชื่อมั่นว่าผู้ตัดสินคดีเป็นอิสระ ฟังความสองฝ่าย เปิดโอกาสให้ต่อสู้อย่างเต็มที่ พิจารณาคดีโดยเปิดเผย และไม่มีประโยชน์ได้เสียในคดี

คราวที่คณะทหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อ พ.ศ.2490 หรือพลเอกผินยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2494 และรักษาความสงบไว้ได้ พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงที่จะเคารพกฎหมายและรักษากฎหมาย ศาลก็ยอมรับอำนาจปกครองของคณะรัฐประหาร และต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพล ป. เมื่อ พ.ศ.2500 และรักษาความสงบไว้ได้ โดยประกาศว่าจะเคารพกฎหมายและรักษากฎหมาย ศาลก็ยอมรับอำนาจนั้นอีกเช่นกัน

แต่การรับรองอำนาจของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจสำเร็จและรักษาความสงบไว้ได้ ไม่ได้แปลว่าศาลต้องเป็นเครื่องมือหรืออยู่ใต้อำนาจบังคับของคณะรัฐประหารแต่อย่างใด
 
ดังจะเห็นได้ว่า ต่อมาเมื่อพลเอกสุรจิต ลูกน้องคนสำคัญของท่านจอมพลสฤษดิ์ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนในคดีกินป่า ศาลก็นำเอาหลักที่คณะทหารประกาศว่าจะเคารพกฎหมายนั่นแหละมาใช้ในการพิพากษา ให้รัฐมนตรีติดคุกเพราะฉ้อราษฎร์บังหลวง
 
ว่ากันว่าท่านจอมพลผ้าขาวม้าแดงพยายามใช้อิทธิพลทุกวิถีทางเพื่อช่วยลูกน้อง แต่ก็ไม่เป็นผล อดีตรัฐมนตรีท่านนั้นถูกจำคุกจนถึงแก่กรรมในคุกนั่นเอง

ครั้นคณะ รสช. ยึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ก็อ้างว่าเพื่อแก้คอร์รัปชั่น และประกาศตั้งกรรมการยึดทรัพย์รัฐมนตรี แต่ครั้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2534 ศาลก็พิพากษาว่าคำสั่งยึดทรัพย์ของ รสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการตั้งคณะบุคคลที่ไม่ใช่ตุลาการมาใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเสียเอง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจชี้ขาดเช่นนั้นเป็นอำนาจเฉพาะของฝ่ายตุลาการ
 
คำพิพากษานี้แหละที่ส่งผลให้คราวนี้ผู้ยึดอำนาจการปกครอง (คปค. หรือ คมช.) ไม่กล้าใช้อำนาจยึดทรัพย์เสียเอง ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ

ถ้าศาลทำตัวเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐประหารโดยตัดสินคดียึดทรัพย์อย่างปราศจากเหตุผลรองรับ ไม่คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาอย่างพอเพียง มติของอาจารย์เกษียรก็คงจะน่าฟัง
แต่ถ้าศาลตัดสินอย่างมีเหตุผลแจ้งชัด คำพิพากษาก็จะยืนอยู่ได้ด้วยตัวของมัน ยืนอยู่ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอำนาจรัฐประหาร ในกรณีเช่นนี้มติของอาจารย์เกษียรก็ไม่อาจจะรับฟังได้ไปทั้งหมด

พร้อมกันนั้นอาจารย์เกษียรยังได้เสนอต่อไปว่าคำตัดสินคดีนี้ “ฟาดเข้าไปกลางหัวใจทุนนิยม เพราะรัฐสามารถเข้าไปยึดทรัพย์สินของเอกชนได้ เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู จะทำให้ไม่มีกลุ่มทุนใหญ่ที่ไหนกล้าอีก เพราะจะได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า โอ้โห..ทำมาหากินแทบเป็นแทบตาย แต่แป๊บเดียวโดนยึดเป็นหมื่นล้าน”

การนำเสนอความคิดแบบเหมาเอาง่ายๆ เช่นนี้ออกจะดูเบาระบบกฎหมายและคุณภาพในการให้เหตุผลขององค์คณะผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้เกินไป และน่าตกใจที่เป็นความเห็นของนักรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพราะไม่แยกแยะเหตุผลของเรื่องเกี่ยวกับคดีนี้ให้ดี

โดยเฉพาะการที่ไม่แยกแยะความแตกต่างระหว่างการใช้อำนาจรัฐ “ปล้น” หรือยึดทรัพย์ของเอกชนเอาตามอำเภอใจ กับ “การเรียกคืนทรัพย์” ที่ผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะใช้อำนาจแผ่นดินฉกฉวยเอาโดยใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบกลับมาเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักกฎหมายที่มีมาช้านานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่คราวประกาศใช้กฎหมายปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 

หลักกฎหมายนี้เองที่ศาลเคยปรับใช้เมื่อ พ.ศ.2539 ในการยึดทรัพย์สินของอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมท่านหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ มีทั้งเงิน ทั้งหุ้น อาคาร บ้านและที่ดินงอกขึ้นมาเป็นเงิน 69 ล้านบาทโดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าได้มาโดยชอบอย่างไร

หลักกฎหมายเดียวกันนี้ได้พัฒนาต่อมาเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และเป็นหลักที่ศาลใช้ตัดสินในคดีอดีตนายกฯ ทักษิณ และจะเป็นหลักที่ต้องใช้แก่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี แม่ทัพนายกอง และบรรดานายกเทศมนตรี และนายก อบต. โดยเสมอหน้ากัน รอแต่เพียงว่าเมื่อใดจะมีผู้กล่าวหาและนำเสนอหลักฐานต่อศาลเท่านั้น

ผู้เขียนจะไม่บังอาจยกข้อนี้เป็นข้อโต้แย้งอาจารย์เกษียรเลย ถ้าหากอาจารย์เกษียรไม่ได้เป็นนักอ่าน และไม่เคยรับรู้ว่าระเบียบโลกปัจจุบัน ตกอยู่ภายใต้ภาวะคุกคามของนักธุรกิจการเมืองที่เข้าควบคุมครอบงำรัฐ ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ จนทำให้ทั่วโลกชวนกันต่อต้าน ถึงขนาดสหประชาชาติประกาศใช้อนุสัญญาต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงเมื่อ พ.ศ.2546 และโดยที่เชื่อว่าอาจารย์เกษียรรู้หรือควรได้รู้นี้เองจึงต้องเตือนความจำด้วยความเคารพว่า หลักเกณฑ์ที่ศาลใช้ในคดีนี้เป็น “การยึดทรัพย์ของผู้ถืออำนาจสาธารณะ”ตามกฎหมายที่วางข้อห้ามไว้แล้วล่วงหน้า ไม่ใช่ “การยึดทรัพย์ของเอกชน” ตามอำเภอใจ

ตามอนุสัญญา ซึ่งมีประเทศต่างๆ เป็นภาคีและให้สัตยาบันแล้วถึง 140 ประเทศนี้ ถือหลักว่าหากเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนได้มาโดยชอบ หรือโดยมีหลักฐาน “พอเชื่อได้ว่า” ได้มาโดยมิชอบ แม้จะไม่ถึงขนาดจะ “พิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยได้ว่า” ได้มาโดยมิชอบ ก็ให้ยึดทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกตินั้นเป็นของแผ่นดินได้ ตามหลักการเรียกคืนทรัพย์สินของแผ่นดิน เป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืนแก่ผู้มีสิทธิดีกว่า ไม่ใช่การลงโทษทางอาญา
 
ในแง่นี้อาจารย์เกษียรควรจะช่วยศาลทำความเข้าใจแก่สาธารณชน ไม่ใช่กล่าวลอยๆ ว่า “คำตัดสินวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้ฟาดเข้าไปกลางหัวใจทุนนิยม....รัฐสามารถเข้าไปยึดทรัพย์สินของเอกชนได้” 

ด้วยความเชื่อในความมีใจเป็นธรรมของอาจารย์เกษียร ผู้เขียนได้แต่หวังว่าการเน้นและลำดับข้อความข้างต้นนี้ มาจากผู้สัมภาษณ์ที่อาจทำให้บริบทของข้อความบางส่วนขาดหายไป

ในที่สุดผู้เขียนต้องชมอาจารย์เกษียณที่เตือนให้ตุลาการระมัดระวังในการใช้อำนาจตุลาการ หรือที่กล่าวว่าควรตั้งตนอยู่ใน Judicial Review ในฐานะเป็นกลไกถ่วงดุลระบอบประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากที่คอยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของราษฎรเป็นสำคัญ และต้องระวังไม่ก้าวล่วงเข้าไปในแดนอโคจรของการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่มีหลักกฎหมายและหลักเหตุผลรองรับอย่างหนักแน่น เพราะมิฉะนั้นก็จะสูญเสียความชอบธรรมของฝ่ายตุลาการไป

แต่อาจารย์เกษียรก็ไม่ควรลืมไปว่า เมื่ออำนาจบริหาร หรืออำนาจนิติบัญญัติได้ใช้อำนาจของตนเกินขอบเขต อำนาจ ตุลาการก็ต้องมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเข้ามายับยั้งหรือถ่วงดุลอำนาจเช่นนั้นอย่างมีเหตุผล ด้วยการดึงให้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติกลับเข้าสู่กรอบของกฎหมาย กรอบของเหตุผล และความเป็นธรรม 

การใช้อำนาจเช่นนี้แหละที่เขาเรียกกันว่า ตุลาการภิวัฒน์ หรือ Judicialization ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงแต่ว่ามาเกิดในประเทศไทยช้าไปนิดเท่านั้นเอง
 
แต่ปัญหาเรื่องตุลาการภิวัฒน์นั้นเราคงต้องหาโอกาสถกเถียงกันในวงเวทีสาธารณะในโอกาสต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net